ร.10พระราชทานถุงยังชีพ ปชช.รอบเขตพระราชฐาน


เพิ่มเพื่อน    

 

  ในหลวง-พระราชินี ทรงห่วงใยประชาชน พระราชทานถุงยังชีพแก่ชาวบ้านรอบเขตพระราชฐาน ที่สกลนคร เชียงใหม่ พระนครศรีอยุธยา นราธิวาส กรมสมเด็จพระเทพฯ พระราชทานห้องคลีนรูมสำหรับตรวจรักษาผู้ป่วยแบบแรงดันลบแก่ 5 โรงพยาบาลในเขตภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 
    เมื่อวันที่ 22 เมษายน พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี ทรงห่วงใย ทรงให้ความสำคัญและทรงตระหนักถึงความเดือดร้อนของประชาชนในชุมชนรอบเขตพระราชฐานที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดจากโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ในโอกาสนี้ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้เชิญถุงพระราชทานไปมอบแก่ประชาชนในชุมชนรอบเขตพระราชฐานต่างจังหวัด ดังนี้ 
    ที่จังหวัดเชียงใหม่ โดยสำนักงานพัฒนา ภาค 3 หน่วยบัญชาการทหารพัฒนา (สนภ.3 นทพ.) ร่วมกับเจ้าหน้าที่และจิตอาสาพระราชทาน เชิญถุงพระราชทานไปมอบแก่ประชาชนบริเวณรอบพระราชฐานพระตำหนักภูพิงคราชนิเวศน์ อาทิ ชุมชนบ้านภูพิงค์ หมู่ที่ 12 และประชาชนชุมชนดอยปุย หมู่ที่ 9 ต.สุเทพ อ.เมืองฯ จ.เชียงใหม่
    ที่จังหวัดสกลนคร เชิญถุงพระราชทานไปมอบแก่ประชาชนรอบเขตพระราชฐานพระตำหนักภูพานราชนิเวศน์ อาทิ ชุมชนบ้านห้วยยาง หมู่ที่ 2, ชุมชนบ้านนกเค้า หมู่ที่ 10, ชุมชนบ้านโนนสวรรค์ หมู่ที่ 8, ตำบลห้วยยางและชุมชนบ้านคงสมบูรณ์ หมู่ที่ 10 ตำบลพังกว้าง อำเภอเมืองฯ จังหวัดสกลนคร
    ที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เชิญถุงพระราชทานไปมอบแก่ประชาชนชุมชนรอบเขตพระราชฐานพระราชวังบางปะอิน อำเภอบางปะอิน จำนวน 3 ชุมชน อาทิ ชุมชนวัดกำแพง หมู่ที่ 4 ตำบลบ้านเลน อำเภอบางปะอิน และที่จังหวัดนราธิวาส เชิญถุงพระราชทานไปมอบแก่ประชาชนรอบเขตพระราชฐานพระตำหนักทักษิณราชนิเวศน์ อาทิ ชุมชนบ้านบางมะนาว หมู่ที่ 1 ชุมชนบ้านเปล  และชุมชนบ้านเขาตันหยง หมู่ที่ 4 ชุมชนบ้านบางมะนาว ตำบลกะลุวอเหนือ ยังความปลื้มปีติและสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณเป็นล้นพ้นที่ทรงห่วงใยและทรงไม่ทอดทิ้งประชาชน
    ที่ รพ.ขอนแก่น นายสมศักดิ์ จังตระกุล ผวจ.ขอนแก่น พร้อมด้วย พล.ต.ท.เจริญวิทย์ ศรีวนิชย์ ผบช.ภ.4, นพ.สมชายโชติ ปิยวัชร์เวลา นายแพทย์สาธารณสุข จ.ขอนแก่น และ พล.ต.ปราโมทย์ นาคจันทึก ผบ.มทบ.23 นำหัวหน้าส่วนราชการและบุคลากรทางการแพทย์ ร่วมประกอบพิธีรับมอบรถเอกซเรย์เคลื่อนที่แบบภาพดิจิตอล (Mobile x-ray) พระราชทาน ตามโครงการราชทัณฑ์ปันสุข ทำความดี เพื่อชาติ ศาสน์ กษัตริย์ ต่อหน้าพระบรมฉายาลักษณ์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี สำหรับการใช้ในการปฏิบัติหน้าที่ตรวจสุขภาพให้กับผู้ต้องขังที่ถูกควบคุมอยู่ในเรือนจำ และทัณฑสถานในพื้นที่ จ.ขอนแก่น, ร้อยเอ็ด, กาฬสินธุ์ และ จ.มหาสารคาม
    นายสมศักดิ์เผยว่า รถเอกซเรย์เคลื่อนที่แบบภาพดิจิตอล พระราชทานตามโครงการราชทัณฑ์ปันสุข ทำความดี เพื่อชาติ ศาสน์ กษัตริย์ จะประจำการที่ รพ.ขอนแก่น ซึ่งเป็น รพ.แม่ข่ายของเขตสุขภาพที่ 7 ที่จะออกให้บริการตรวจสุขภาพแก่ผู้ต้องขังในพื้นที่ 4 จังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนกลาง ประกอบด้วย จ.ขอนแก่น, ร้อยเอ็ด, กาฬสินธุ์ และ จ.มหาสารคาม ตามแผนการดำเนินงานที่ รพ.กำหนด ซึ่งรถเอกซเรย์เคลื่อนที่แบบภาพดิจิตอลพระราชทานคันนี้จะเพิ่มศักยภาพและประสิทธิภาพในการทำงานของบุคลากรทางการแพทย์ได้อย่างสะดวก รวดเร็ว คล่องตัว และสามารถตรวจสุขภาพให้กับผู้ต้องขังในการเอกซเรย์ปอดได้อย่างมีประสิทธิภาพด้วยระบบดิจิตอลที่ทันสมัย
พระราชทานห้องคลีนรูม
    "โครงการราชทัณฑ์ปันสุข ทำความดี เพื่อชาติ ศาสน์ กษัตริย์ เกิดขึ้นด้วยพระมหากรุณาธิคุณในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี ทรงดำรงตำแหน่งองค์ประธานที่ปรึกษา และสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าพัชรกิติยาภา นเรนทิราเทพยวดี กรมหลวงราชสาริณีสิริพัชร มหาวัชรราชธิดา ทรงเป็นองค์ประธานกรรมการโครงการฯ ทรงมีพระเมตตาต่อผู้ต้องขังในเรือนจำ โดยทรงมองเห็นว่าแม้จะเป็นผู้กระทำผิดกฎหมายบ้านเมืองและต้องมารับโทษในเรือนจำ แต่บุคคลเหล่านี้เป็นประชาชนคนไทยกลุ่มหนึ่งที่องค์พระประมุขของชาติใส่พระทัยดูแลทุกข์สุขของประชาชนอย่างเท่าเทียมในเรื่องการแพทย์และสาธารณสุข" ผวจ.ขอนแก่นกล่าว
    สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ  สยามบรมราชกุมารี องค์นายกกิตติมศักดิ์และองค์ประธานกรรมการมูลนิธิชัยพัฒนา ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้มูลนิธิชัยพัฒนาจัดตั้งกองทุนชัยพัฒนาสู้ภัยโควิด 19 (และโรคระบาดต่างๆ ) เพื่อช่วยเหลือโรงพยาบาลและบุคลากรทางการแพทย์ ในการจัดซื้อวัสดุอุปกรณ์และสิ่งของที่มีความจำเป็นในการรักษาผู้ป่วยโควิด-19 
    ต่อมาได้พระราชทานพระราชานุญาตให้มูลนิธิชัยพัฒนาใช้งบประมาณจากกองทุนชัยพัฒนาสู้ภัยโควิด 19 จัดซื้อวัสดุอุปกรณ์ที่จำเป็นคือ ห้องคัดกรอง และห้องตรวจเชื้อ พระราชทานแก่โรงพยาบาล 4 แห่ง หุ่นยนต์ปิ่นโต และกระจก ระบบสื่อสารทางไกล จำนวน 73 ชุด เพื่อพระราชทานแก่โรงพยาบาล 73 แห่งในต่างจังหวัด ซึ่งอุปกรณ์ที่พระราชทานนี้จะช่วยป้องกันบุคลากรทางการแพทย์จากความเสี่ยงในการรักษาผู้ป่วยโควิด-19
    และต่อมาได้พระราชทานพระราชานุมัติเพิ่มเติมให้ใช้เงินจากกองทุนดันกล่าว จัดซื้อห้องคลีนรูมสำหรับตรวจรักษาผู้ป่วยแบบแรงดันลบ (negative pressure) ห้องคลีนรูมนี้เป็นห้องตรวจคัดกรองเชื้อแบบความดันลบเคลื่อนที่ ออกแบบและจัดสร้างโดยสำนักวิชาวิทยาศาสตร์ สำนักวิชาพยาบาลศาสตร์ และศูนย์ความเป็นเลิศด้านวัสดุหน้าที่พิเศษขั้นสูง (COE) มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี ร่วมกับบริษัท อีคิว เทคเอ็นเนอร์ยี่ จำกัด ซึ่งห้องนี้จะสามารถจัดการอากาศที่ปนเปื้อนเชื้อจากผู้ป่วย ไม่ให้ออกไปนอกห้อง และบำบัดอากาศจนปราศจากเชื้อ ทั้งยังลดโอกาสในการแพร่กระจายเชื้อไปยังผู้ป่วยรายอื่นและบุคลากรทางการแพทย์ที่เกี่ยวข้อง 
    โดยสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี มีพระราชกระแสให้มูลนิธิชัยพัฒนา ประสานกับมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี ในการจัดสร้างและติดตั้งห้องคลีนรูมสำหรับตรวจรักษาผู้ป่วยแบบแรงดันลบ พระราชทานแก่โรงพยาบาลในเขตภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 5 โรงพยาบาล คือ โรงพยาบาลสุรินทร์, โรงพยาบาลสิรินธร จังหวัดขอนแก่น โรงพยาบาลอุดรธานี, โรงพยาบาลชัยภูมิ และโรงพยาบาลโชคชัย จังหวัดนครราชสีมา
         ทั้งนี้ ประชาชนผู้สนใจสามารถร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการให้ โดยบริจาคเงินสมทบมูลนิธิชัยพัฒนากองทุนชัยพัฒนา สู้ภัยโควิด 19 เพื่อช่วยเหลือโรงพยาบาลและบุคลากรทางการแพทย์ ในการจัดซื้อวัสดุอุปกรณ์และสิ่งของที่มีความจำเป็นในการรักษาผู้ป่วยโควิด-19 ผ่านช่องทางธนาคารไทยพาณิชย์ สาขาสวนจิตรลดา บัญชีกระแสรายวัน เลขที่ 067-300487-3 สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมโทร. 0-2447-8585-8 ต่อ 109, 121 และ 259
ภูเก็ตพบผู้ป่วยเพิ่ม 3 ราย
    สำหรับสถานการณ์การระบาดของไวรัสโควิด-19 ในจังหวัดต่างๆ นั้น ยังคงพบประปรายในบางจังหวัด เช่นที่จังหวัดภูเก็ต คณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดภูเก็ตแจ้งสถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) จังหวัดภูเก็ต ข้อมูล ตั้งแต่วันที่ 5 มกราคม-21 เมษายน 2563 จังหวัดภูเก็ตมีผู้ติดเชื้อยืนยันโรคโควิด-19 แล้วจำนวน 196 ราย (รายใหม่ 3 ราย)
    โดยผู้ติดเชื้อได้รับอนุญาตให้กลับบ้าน 150 ราย (เพิ่มขึ้นจากเดิม 17 ราย) จำหน่าย 1 ราย (จำหน่าย เนื่องด้วยเสียชีวิตจากอุบัติเหตุรถจักรยานยนต์) กำลังรักษาพยาบาลอยู่ 45 ราย ในจำนวนนี้ อาการรุนแรง 4 ราย ไม่มีผู้เสียชีวิต ที่เหลืออาการอยู่ในเกณฑ์ที่ดี
    ผู้มีอาการเข้าเกณฑ์เฝ้าระวังสะสมทั้งหมด 3,113 ราย (รายใหม่ 75 ราย) โดยยังคงรักษาพยาบาล           82 ราย ในจำนวนนี้อยู่ระหว่างรอผลการตรวจทางห้องปฏิบัติการ 37 ราย กลับบ้านแล้ว 3,031 ราย 
    และที่น่ากังวลคือที่จังหวัดสงขลา หลังจากที่มีเจ้าหน้าที่ตำรวจสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง จ.สงขลา ปฏิบัติหน้าที่ที่ด่านตรวจคนเข้าเมืองสะเดาติดเชื้อโควิด-19 จำนวน 2 ราย และแม้ว่าทางสำนักงานสาธารณสุข จ.สงขลา ได้ออกมาระบุว่าทั้งสองนายไม่เกี่ยวข้องกับกลุ่มที่เดินทางกลับจากประเทศมาเลเซียระหว่างวันที่ 18-21 เมษายนแต่อย่างใด
    แต่ล่าสุดในวันนี้ ได้มีการกักตัวเจ้าหน้าที่ประจำด่านตรวจคนเข้าเมืองสะเดา ซึ่งเป็นกลุ่มเสี่ยงจำนวน 70 คน เพื่อสังเกตอาการเป็นเวลา 14 วัน ในจำนวนนี้กักตัวอยู่ที่โรงแรมเอ็มโซโฮ ที่บ้านด่านนอกชายแดนไทยมาเลเซีย 10 คน ส่วนที่เหลือให้กักตัวอยู่ที่บ้านเพื่อความปลอดภัย
    นอกจากนี้ยังมีเจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมืองอีก 3 คนที่ถูกส่งต่อไปยังโรงพยาบาลสงขลานครินทร์ และอยู่ระหว่างรอการยืนยันว่าติดเชื้อโควิด-19 หรือไม่
    ส่วนบรรยากาศที่ด่านพรมแดนสะเดา เจ้าหน้าที่ประจำด่านตรวจคนเข้าเมืองสะเดา และเจ้าหน้าที่จากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องยังคงทำงานกันตามปรกติเพื่อคัดกรองคนไทยที่เดินทางกลับมาจากประเทศมาเลเซีย ซึ่งในวันนี้ยังคงทยอยเดินทางเข้ามาเป็นวันที่ 5 และมีจำนวนผู้ที่ลงทะเบียนเดินทางเข้ามาจำนวน 110 คนโดยเจ้าหน้าที่ได้เพิ่มมาตรการคัดกรองสูงสุด
    พล.อ.พรพิพัฒน์ เบญญศรี ผู้บัญชาการทหารสูงสุด ซึ่งเป็นกรรมการและหัวหน้าศูนย์ปฏิบัติการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน ด้านความมั่นคง (ศปม.) เปิดเผยระหว่างลงพื้นที่ตรวจด่านพรมแดนสะเดาและจุดตรวจโควิดหน่วยบริการตำรวจทางหลวงพรุพ้อ อ.รัตภูมิ จ.สงขลา ว่าได้มีการปิดด่านพรมแดนสะเดา จ.สงขลาชั่วคราวแล้วยาวไปจนถึงวันที่ 29 เมษายน เพื่อทำความสะอาดด่าน ส่วนผู้ที่เดินทางกลับจากประเทศมาเลเซียให้เปลี่ยนไปใช้ด่านปาดังเบซาร์แทนชั่วคราว และจะกลับมาเปิดด่านพรมแดนสะเดาอีกหรือไม่นั้นต้องประเมินสถานการณ์อีกครั้ง
    นายชัยสิทธิ์ พานิชพงศ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดยะลา ผู้กำกับการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินจังหวัดยะลา ออกคำสั่งศูนย์บริหารสถานการณ์ COVID-19 จังหวัดยะลา ที่ 49/2563 ลว.20 เมษายน 2563 เรื่องมาตรการป้องกันการแพร่รระบาดของโรคติดเชื่อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ว่าด้วยการให้จำหน่ายอาหารในเดือนรอมฎอน จำนวน 6 ข้อ คือ
    1.ให้ผู้ขายสามารถจำหน่ายอาหารหรือเครื่องดื่มได้เฉพาะหน้าร้านของตัวเอง 2.ห้ามใช้บาทวิถีจำหน่ายอาหารหรือเครื่องดื่มในลักษณะหาบเร่แผงลอยโดยเด็ดขาด 3.ให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นกำหนดสถานที่จำหน่าย จัดระเบียบให้ผู้ขายอาหารหรือเครื่องดื่ม โดยให้แต่ละผู้ขายเว้นระยะห่างไม่น้อยกว่า 3 เมตร และจัดการลงทะเบียนผู้ขาย
    4.สามารถจำหน่ายได้เฉพาะอาหารสำเร็จรูป หรือเครื่องดื่มเท่านั้น (ห้ามขายสินค้าประเภทอื่นๆ) 5.สำหรับสถานที่ที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นกำหนดให้จำหน่ายได้ตั้งแต่เวลา 14.00-20.00 น. และ 6.ขอความร่วมมือแต่ละครอบครัวในการออกไปซื้ออาหารไม่เกินครอบครัวละ 2 คน และห้ามมิให้นำบุตรหลานที่มีอายุต่ำกว่า 5 ขวบออกไปซื้อหาอาหาร.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"