คลังเร่งกู้7หมื่นล้านจ่ายเยียวยา


เพิ่มเพื่อน    

 “สมคิด” โอ่ไทยจะฟื้นฟูประเทศในเดือน มิ.ย.นี้ เพราะพ้นโควิด-19 “สุริยะ” ขอแบ่งเค้ก 10,000 ล้านบาทภายใต้แผน “คลัง” เปิดปฏิทินกู้แล้ว  6 เดือนที่เหลือของปีงบประมาณ 2563 กู้ 6.03 แสนล้านบาท ที่เหลือ 4 แสนล้านกู้ในปี 2564 เน้นเงินภายในประเทศ 80% ประเดิม 7 หมื่นล้านตามนโยบายแจก 5 พันบาทล็อตสอง

เมื่อวันพุธ ที่กระทรวงอุตสาหกรรม นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมให้ความช่วยเหลือวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) ที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของไวรัสโคโรนา 2019 หรือโควิด-19 โดยมีนายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รมว.อุตสาหกรรม, นายอุตตม สาวนายน รมว.การคลัง, นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) และนายกลินท์ สารสิน ประธานสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย รวมทั้งผู้เกี่ยวข้องประชุมอย่างพร้อมเพรียง
โดยนายสมคิดกล่าวว่า ได้รับทราบข้อเสนอมาตรการเยียวยาผู้ประกอบการในระยะวิกฤติจากผลกระทบโควิด-19 ซึ่งได้กำชับให้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งดำเนินการตามที่เอกชนขอมา ส่วนมาตรการภาษีที่ขอให้กรมสรรพากรยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลแก่ทุกธุรกิจเอสเอ็มอี 3 ปี ในปีภาษี ?2563-2565 นั้น ก็มอบหมายให้กระทรวงการคลังเร่งพิจารณา และให้กระทรวงอุตสาหกรรมเร่งจัดทำฐานข้อมูลขนาดใหญ่ (บิ๊กดาต้า) เพื่อใช้เป็นข้อมูลสำหรับภาคธุรกิจในอนาคต รวมทั้งต้องเริ่มจัดทำโครงการสนับสนุนเศรษฐกิจฐานราก (โลคัล อีโคโนมี) ที่เป็นการจ้างงานในพื้นที่ 
“ไทยต้องพึ่งพาตนเองให้มากขึ้น หรือระเบิดจากข้างในโดยสร้างความเข้มแข็งในประเทศ เพราะไทยจะเป็นที่แรกๆ ของโลกที่มีแผนฟื้นฟูเศรษฐกิจหลังจบโควิด เพราะมียอดติดเชื้อลดลงมาก เชื่อว่า มิ.ย.หรือ พ.ค. จะเริ่มเห็นแผนนี้ชัดเจน โดยจะทำเป็นโครงการและมาตรการขนาดใหญ่ออกมาในช่วงเดือน มิ.ย.ต่อเนื่องจากการช่วยเหลือเยียวยาประชาชน ซึ่งในส่วนนี้จะใช้เงินจาก พ.ร.ก.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินวงเงิน 1 ล้านล้านบาท ซึ่งได้จัดสรรสำหรับฟื้นฟูเศรษฐกิจของประเทศในวงเงิน 4 แสนล้านบาท”
    นายสมคิดยังกล่าวถึงเรื่องการปล่อยสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำพิเศษ (ซอฟต์โลน) ที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จะปล่อยกู้ให้ธนาคารพาณิชย์เพื่อนำไปปล่อยกู้ต่อให้เอกชนในอัตราดอกเบี้ยพิเศษ ว่าได้กำชับ ธปท.ให้ไปดูการกระจายการปล่อยสินเชื่อให้ทั่วถึง และผ่อนปรนเงื่อนไขให้ผู้ประกอบการที่ขอสินเชื่อ ซึ่งนอกจากเอสเอ็มอี ให้พิจารณาถึงผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดใหญ่ที่ประสบปัญหา เช่น ธุรกิจการบิน ธุรกิจโรงแรมและการท่องเที่ยว เป็นต้นด้วย 
    นายสุริยะกล่าวว่า กระทรวงจะของบ 10,000 ล้านบาทที่อยู่ภายใต้มาตรการฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม วงเงิน 400,000 ล้านบาท โดยกำหนดโครงการขึ้นมาหลายส่วน ทั้งการช่วยเหลือเอสเอ็มอีและช่วยภัยแล้ง ซึ่งเป็นการจ้างงานในพื้นที่ เช่น 340 ล้านบาทเพื่อจ้างเกษตรกรชาวไร่อ้อยและเครือข่าย 5,000 รายเข้าไปปรับพื้นที่ในการเตรียมทำเกษตร จ้างงานที่ถูกเลิกจ้าง 500 คน ในพื้นที่รอบเหมืองแร่เพื่อช่วยจัดหาแหล่งน้ำแก้ภัยแล้ง
    ด้านนายกลินท์กล่าวว่า เศรษฐกิจฐานรากที่จะให้ความสำคัญได้แก่การเกษตรที่มูลค่าสูง และนำสู่อุตสาหกรรมเกษตรแปรรูป แปลงเป็นสินค้ากลุ่มอาหาร เพื่อใช้บริโภคในประเทศและส่งออกได้ด้วย ซึ่งขณะนี้หอการค้าไทยมีการส่งเสริมอยู่แล้วในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา
ตั้งเป้ากู้ 6.03 แสนล้าน
    วันเดียวกัน นางแพตริเซีย มงคลวนิช ผู้อำนวยการสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) กล่าวภายหลังการประชุมคณะกรรมการนโยบายและกำกับการบริหารหนี้สาธารณะ (คนน.) ครั้งที่ 2/2563 ที่มีนายอุตตม สาวนายน รมว.การคลัง เป็นประธาน ว่ากระทรวงได้ปรับแผนก่อหนี้สาธารณะ หลังพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) กู้เงิน 1 ล้านล้านบาทมีผลบังคับใช้ โดยปีงบประมาณ 2563 ช่วงที่เหลืออีก 6 เดือน รัฐบาลจะกู้เงินตาม พ.ร.ก. 6.03 แสนล้านบาท ส่วนอีก 4 แสนล้านบาท จะกู้ในปีงบประมาณ 2564 แต่หากรัฐบาลมีแผนใช้เงินมากกว่า 6 แสนล้านบาท ก็สามารถปรับแผนเพิ่มเติมได้
     “ที่ประชุมได้เห็นชอบการก่อหนี้ใหม่ตาม พ.ร.ก.กู้เงิน 6.03 แสนล้านบาท และปรับแผนก่อนหนี้เดิม เนื่องจากมีหลายหน่วยงานขอเพิ่ม-ลดวงเงิน 2.4 แสนล้านบาท โดยจะเสนอให้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบสัปดาห์หน้า ซึ่งการปรับปรุงแผนก่อหนี้ จะทำให้ปีงบประมาณ 2563 ในช่วงที่เหลืออีก 6 เดือน ต้องมีการกู้ใหม่ 6.03 แสนล้านบาท จากแผนเดิมที่ต้องก่อหนี้ 8.94 แสนล้านบาท รวมเป็น 1.497 ล้านล้านบาท โดยในส่วนการกู้เงินตาม พ.ร.ก. สบน.จะทยอยกู้ตามความต้องการใช้เงิน โดยมีคณะกรรมการกลั่นกรองโครงการก่อน และเสนอเข้า ครม. ขณะเดียวกัน สบน.จะเตรียมการกู้เงินไว้ให้ เมื่อผ่าน ครม.จะได้เบิกจ่ายเงินกู้ทันเวลา” นางแพตริเซียกล่าว
         สำหรับการกู้เงิน จะมีทั้งการกู้เงินระยะสั้นและยาว ทั้งการออกพันธบัตรรุ่นต่างๆ การกู้เงินจากธนาคาร การกู้ระยะยาว (เทอมโลน) ตั๋วสัญญาใช้เงิน (พีเอ็น) และตั๋วเงินคลัง รวมทั้งการออกพันธบัตรออมทรัพย์ ขายให้รายย่อยประมาณ 1 แสนล้านบาท ซึ่งใช้เวลา 1-2 เดือนก่อนเปิดขาย โดยขณะนี้กำลังดูเครื่องมือว่าจะออกแบบไหนอย่างไร เพราะเป็นจำนวนที่ใหญ่กว่าปกติในช่วงครึ่งปีหลังที่ออกประมาณ 2-2.5 หมื่นล้านบาท
         นางแพตริเซียกล่าวว่า หลังจาก ครม.เห็นชอบแผนการก่อหนี้ และคณะกรรมการการกลั่นกรองเห็นชอบแผนการใช้เงินจาก พ.ร.ก.กู้เงินแล้ว หน่วยงานแรกที่จะใช้เงินทันที คือสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) เพื่อใช้จ่ายเงินเยียวยารอบที่ 2 สำหรับแจกเงิน 5,000 บาทในมาตรการเราไม่ทิ้งกัน วงเงิน 7 หมื่นล้านบาท โดยกระทรวงได้ออกจดหมายชี้ชวนถึงสถาบันการเงินให้เข้าร่วมประมูลเงินกู้แล้ว และคาดว่า สบน.จะเตรียมเงินพร้อมภายในวันที่ 5 พ.ค. เพื่อให้เบิกจ่ายเงิน 5,000 บาทรอบ 2 ในกรอบ 14 ล้านคนได้ภายในวันที่ 8 พ.ค.นี้
    “การกู้เงินก้อนแรก 7 หมื่นล้านจาก พ.ร.ก.กู้เงิน จะเป็นการกู้จากธนาคารในประเทศ โดยเปิดประมูลในวันที่ 29 เม.ย.เป็นตั๋วสัญญาใช้เงินอายุ 4 ปี อัตราดอกเบี้ยอ้างอิงระยะสั้นสำหรับการกู้ยืมเงินระหว่างธนาคารของตลาดกรุงเทพฯ หรือ BIBOR ปัจจุบันอยู่ที่ 0.97% บวก 5 ทศนิยม ส่วนการกู้เดือนต่อไปต้องดูหลายๆ อย่าง ต้องรอดูว่าจะต้องเยียวยาใครอีกเท่าไหร่อย่างไร ซึ่งยังไม่ทราบตัวเลข ถ้ามีตัวเลขออกมาก็จะสามารถดำเนินการได้ตามความต้องการ” นายแพตริเซียกล่าว
เน้นกู้ในประเทศเป็นหลัก
     สำหรับการกู้เงินตาม พ.ร.ก.กู้เงิน 1 ล้านล้านบาทให้อำนาจกู้เงินทั้งในประเทศและต่างประเทศ แต่ สบน.คงดูในประเทศเป็นหลัก โดยต้องวิเคราะห์ความคุ้มค่า คุ้มทุน วิเคราะห์สภาพคล่องในประเทศเพื่อให้มั่นใจว่าการกู้เงินตาม พ.ร.ก.จะไม่ไปช็อกตลาดจนทำให้สภาพคล่องในประเทศมีปัญหา โดยตามแผนการกู้ในประเทศจะไม่ต่ำกว่า 80% ส่วนต่างประเทศสัดส่วน 20% ต้องดูว่าที่ไหนเหมาะสม และจะดำเนินการอย่างไร ต้องดูเผื่อไว้ โดยขณะนี้ยอมรับว่ามีองค์การระหว่างประเทศมาคุยด้วยหลายแห่ง ทั้งธนาคารโลก (เวิลด์แบงก์) และธนาคารพัฒนาเอเชีย (เอดีบี) แต่ทั้งหมดต้องหารือกันก่อน
         “วงเงินกู้ 1.497 ล้านล้านบาทจะส่งผลให้เพดานหนี้สาธารณะสิ้นปี 2563 อยู่ที่ 51.84% และถ้าเป็นไปตามแผนการกู้เงินในปี 2564 จะทำให้หนี้สาธารณะ อยู่ที่ 57.96% บนสมมุติฐานจีดีพี 3% แต่คงต้องมานั่งดูตัวเลขกันใหม่ ถ้าจีดีพีไม่ได้ 3% สัดส่วนหนี้สาธารณะก็อาจเพิ่มขึ้น” นายแพตริเซียกล่าว
    สำหรับการเปิดลงทะเบียนรับเงินเยียวยา 5,000 บาท ผ่านเว็บไซต์ w ww.เราไม่ทิ้งกัน.com ในวันสุดท้ายยังมีประชาชนลงทะเบียนต่อเนื่อง โดยคาดจะมียอดลงทะเบียนกว่า 28.7 ล้านคน  โดยมีผู้ได้รับเงินแล้ว 4.2 ล้านคน มีการลงทะเบียนซ้ำซ้อน และข้อมูลไม่ตรงตามบัตรประชาชน 7 ล้านคน มีคนไม่ผ่านการตรวจสอบเบื้องต้น แต่ขอทบทวนสิทธิรับเงินได้ 10.5 ล้านคน โดยมีกลุ่มที่ต้องขอข้อมูลเพิ่ม 6.3 ล้านคน ส่วนความคืบหน้าการจ่ายเงิน ในวันที่ 24 เม.ย.จ่ายเงินเพิ่มอีก 7 แสนคน 
    สำหรับความเคลื่อนไหวทางการเมืองนั้น นายสุชาติ ธาดาธำรงเวช อดีตสมาชิกพรรคไทยรักษาชาติ (ทษช.) กล่าวถึงพระราชกำหนด 2 ฉบับที่ใช้เงิน ธปท.ดำเนินการในวงเงิน 900,000 ล้านบาท ว่าเงินสนับสนุนสินเชื่อเอสเอ็มอี 500,000 ล้านบาทในรูปซอฟต์โลน และเงินซื้อตราสารหนี้เอกชนโดยตรง 400,000 ล้านบาท ซึ่งในส่วนซอฟต์โลนเห็นด้วย เพราะเป็นมาตรการที่เคยใช้มาแล้วในรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ช่วงหลังน้ำท่วมปี 2554-2557 แต่ขอเสนอแนะให้เพิ่มเติมคือเอสเอ็มอีที่เข้าไม่ถึงระบบธนาคาร?พาณิชย์ หรือเอสเอ็มอีรายเล็ก? 
"การจัดตั้งกองทุนเสริมสภาพคล่องตลาดตราสารหนี้ภาคเอกชน (BSF) วงเงิน? 400,000 ล้านบาทนั้น ธนาคารชาติมีหน้าที่เป็นธนาคารกลาง และเป็นนายธนาคารของธนา?คารพาณิชย์ ไม่มีหน้าที่ลงไปจัดสรรสินเชื่อเอง? เพราะอาจขาดทุนเป็นภาระภาษีของประชาชน และเลี่ยงไม่พ้นการเลือกปฏิบัติ ซึ่งอาจถูกกล่าวหาใช้เงินรัฐอุ้มคนรวย อาจเกิดปัญหาคอร์รัปชัน และ?เกิดความเสี่ยงต่อความเชื่อมั่นในระบบการเงินของประเทศ”
         ด้านนายปริญญ์ พานิชภักดิ์ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ในฐานะหัวหน้าทีมเศรษฐกิจทันสมัยกล่าวว่า มาตรการของรัฐบาลที่เกี่ยวข้องกับด้านพลังงานในการช่วยเหลือพี่น้องประชาชนเรื่องลดค่าไฟฟ้าแบบขั้นบันไดถือเป็นจุดเริ่มต้นที่ดี แต่อยากให้ช่วยเหลือมากไปกว่านี้ เนื่องจากต้นทุนของราคาน้ำมันและก๊าซที่เป็นส่วนหนึ่งในการคิดค่าเอฟทีได้ลดลงมาก และอยากให้กระทรวงพลังงานพิจารณาเรื่องโครงสร้างราคาน้ำมัน โดยให้ลดหรืองดการจัดเก็บเงินเข้ากองทุนน้ำมัน 
         นางดรุณวรรณ ชาญพิพัฒนชัย รองโฆษกพรรค ปชป. กล่าวว่า ต้องการให้ภาครัฐให้การช่วยเหลือแบบครอบคลุมทุกคนแบบทั่วถึงทุกกลุ่มอาชีพ โดยใช้เกณฑ์เรื่องของรายได้สำหรับผู้ที่มีรายได้ต่ำกว่า 1,000,000 บาท/ปีทุกราย เป็นเวลา 3 เดือน โดยตรวจสอบข้อมูลจากบัตรประชาชน และจ่ายเงินแบบโอนตรงเข้าบัญชี.
 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"