ยอดติดเชื้อโควิด-19 ลดต่อเนื่อง มีป่วยใหม่ 15 ราย โฆษก ศบค.เผยน่าพอใจอย่างยิ่ง แต่ภารกิจยังไม่เสร็จสิ้น ยังลากยาวกันไปอีก บางทฤษฎีบอกว่าเป็นปี หวั่นผ่อนปรนจะซ้ำรอยสิงคโปร์ ประมาทนิดเดียวตัวเลขพุ่ง "เพจ ศบค." สดุดีทีมแพทย์ไทย-อสม. นักรบแถวหน้าสู้โควิดครบ 100 วันเต็มจนอัตราผู้ป่วยใหม่ต่ำกว่า 1% แล้ว เหลือผู้ป่วยรักษา 425 ราย “อนุทิน" ตั้งกรอบ 3 เดือนขอความชัดเจนวัคซีนโควิด "เพื่อไทย" นัดพรรคร่วมฝ่ายค้าน 23 เม.ย. เข้าชื่อเปิดประชุมสภาสมัยวิสามัญถก พ.ร.ก.เงินกู้-พ.ร.บ.โอนงบปี 63 "สุชาติ" ถามรัฐบาลดันร่าง พ.ร.บ.โอนงบทำประชาพิจารณ์ตาม ม.77 หรือยัง
ที่ทำเนียบรัฐบาล วันที่ 22 เมษายน นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค. แถลงว่า สถานการณ์ในประเทศไทย มีผู้ป่วยรายใหม่ 15 ราย ยอดผู้ป่วยสะสม 2,826 ราย หายป่วยและกลับบ้านเพิ่มเติม 244 ราย เสียชีวิตเพิ่ม 1 ราย เสียชีวิตสะสม 49 ราย โดยผู้เสียชีวิตรายที่ 49 เป็นหญิงไทย อายุ 58 ปี เป็นแม่บ้าน มีโรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง ไขมันในเลือดสูง มีภาวะอ้วน มีประวัติสัมผัสผู้ป่วยยืนยันก่อนหน้านี้ซึ่งเป็นลูกสาว มีอาการไอ ไข้ เสมหะสีขาวเหลือง มีน้ำมูก ในวันที่ 20 มี.ค. จากนั้นเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลแห่งหนึ่งใน กทม. เมื่อวันที่ 22 มี.ค. ต่อมาวันที่ 28 มี.ค. ผลตรวจยืนยันเป็นโควิด-19 ระหว่างการรักษาตัวมีอาการทรุดลงเรื่อยๆ เหนื่อยหอบ ถ่ายเหลว และเสียชีวิตในเวลาต่อมา
“ตัวเลขผู้ป่วยรายใหม่วันนี้ถือว่าน่าพอใจอย่างยิ่ง ถือเป็นความสำเร็จในระดับหนึ่ง และความสำเร็จเล็กๆ ระหว่างทาง เราต้องเก็บความสำเร็จเล็กๆ ไปเรื่อยๆ เพราะยังไม่จบสิ้น การเผชิญไวรัสโควิด-19 เป็นวิกฤติของทั่วโลก ของเราเองแม้ตัวเลขจะต่ำลงมาก็เป็นความภาคภูมิใจของทั้งประเทศ แต่ภารกิจยังไม่เสร็จสิ้น ยังทอดยาวกันไปอีก หลายคนบอกว่าอีกหลายเดือน และบางทฤษฎีบอกว่าเป็นปี การลากยาวมีความสำคัญอย่างยิ่ง ผลของการทำงานวันนี้จะแสดงผลในอีก 14 วันข้างหน้า ต้องให้ความสำคัญเรื่องนี้ เบาใจได้ แต่วางใจไม่ได้ การ์ดอย่าตก”
นพ.ทวีศิลป์กล่าวว่า ในรอบ 14 วันที่ผ่านมา มีจังหวัดที่ไม่มีรายงานผู้ป่วยรายใหม่ 36 จังหวัด ซึ่งยอดเท่ากับวันที่ 21 เม.ย. โดยจังหวัดที่ไม่มีรายงานผู้ป่วยเพิ่มเติมเข้ามาคือนครราชสีมา แต่ จ.พระนครศรีอยุธยาที่ไม่มีรายงานผู้ป่วยมาหลายวันกลับพบผู้ป่วย จากนี้ต้องไปดูสาเหตุและสอบสวนโรคกันต่อไป ส่วนจังหวัดที่ยังมีรายงานผู้ป่วยในรอบ 7 วันที่ผ่านมามี 14 จังหวัด ได้แก่ กทม. นนทบุรี ภูเก็ต ชลบุรี ยะลา ปัตตานี สงขลา ปทุมธานี นครปฐม กระบี่ นราธิวาส ขอนแก่น ชุมพร พระนครศรีอยุธยา
โฆษก ศบค.กล่าวว่า สำหรับสถานการณ์โลก มีผู้ป่วยสะสม 2,554,568 ราย เสียชีวิต 177,402 ราย โดยในพื้นที่เอเชียตะวันออกเฉียงใต้เป็นพื้นที่ที่ทั่วโลกจับตามองว่าจะกลายเป็นจุดขยายตัวของโรค เพราะมีผู้ป่วยรายใหม่รวมกันแล้วพุ่งสูงขึ้น ล่าสุดสิงคโปร์มีผู้ป่วยรายใหม่เพิ่มขึ้นวันเดียว 1,111 ราย ตัวเลขดังกล่าวทำให้เรียนรู้ว่าการ์ดตกนิดหน่อยไม่ได้เลย ขณะที่เราทำได้ดี แต่มาตรการที่เราทำดีมาตลอดถ้าแก้ไขนิดเดียวสิ่งที่ทำมาจะไม่ได้ผลอะไร เน้นย้ำว่าเราต้องเรียนรู้จากรอบบ้านของเรา ซึ่งคณะรัฐมนตรี (ครม.) จะนำข้อมูลเหล่านี้ไปตัดสินใจในเชิงนโยบาย
นพ.ทวีศิลป์กล่าวอีกว่า กรมสุขภาพจิตได้ไปสำรวจความเครียดของกลุ่มตัวอย่างซึ่งเป็นบุคลากรทางการแพทย์และประชาชนทั่วไป แบ่งเป็น 3 ช่วง ได้แก่ 12-18 มี.ค., 30 มี.ค.-เม.ย. และ 13-19 เม.ย. พบว่า ทั้งสองกลุ่มมีความเครียดเพิ่มขึ้น เป็นปฏิกิริยาที่เกิดขึ้นต่อสภาวะไม่ปกติ ต้องดูแลกันทุกคน ส่วนใหญ่มีความสามารถในการปรับตัวในสิ่งต่างๆ แตกต่างกันไป แต่มีบางส่วนแก้ปัญหาไม่ได้ก็ต้องไปดูแล โดยปลัดกระทรวงสาธารณสุขได้มอบกรมสุขภาพจิตเข้าไปดูแลบุคลากรทางการแพทย์ เชื่อมโยงจัดการเรื่องการหมุนเวียนให้ได้พักบ้าง ดูแลชีวิตความเป็นอยู่ ค่าตอบแทน
100 วันแห่งการต่อสู้สดุดีทีมแพทย์
นพ.ทวีศิลป์กล่าวว่า ผลการปฏิบัติงานด้านความมั่นคงในช่วงเคอร์ฟิว คืนวันที่ 21 เม.ย. ต่อเนื่องเช้าวันที่ 22 เม.ย. มีผู้ฝ่าฝืนออกนอกเคหสถาน 554 ราย ลดลงจากคืนก่อน 139 ราย ชุมนุม มั่วสุม 55 ราย ลดลงจากคืนก่อน 10 ราย ส่วนจังหวัดที่มีการกระทำผิดมากที่สุด ได้แก่ ภูเก็ต รองมาลงมา กทม. ปทุมธานี นครศรีธรรมราช สงขลา ลพบุรี ราชบุรี ขอนแก่น ส่วนคนไทยที่เดินทางกลับประเทศในวันที่ 22 เม.ย. รัสเซีย 25 ราย เกาหลีใต้ 60 ราย เวียดนาม 115 ราย
ผู้สื่อข่าวถามว่า มีกระแสข่าวว่าบางจังหวัดเตรียมจะคลายล็อก ผ่อนผันให้มีการขายของในตลาดได้ ถ้าตัวเลขผู้ติดเชื้อเหลือเลขตัวเดียว จะทำให้ยืดหยุ่นมากกว่านี้ได้หรือไม่ นพ.ทวีศิลป์ กล่าวว่า ผอ.ศบค.จะใช้สถิติ ชุดข้อมูล และความร่วมมือเป็นสำคัญ การจะเปิด ผ่อนปรน ขึ้นอยู่กับตัวเลขเหล่านี้ ยืนยันว่าการจะยกเลิกตอนนี้ยังไม่มี แต่เป็นลักษณะผ่อนปรน เพราะสถานการณ์รอบบ้านเรามีผู้ติดเชื้อจำนวนมาก ของเราแม้จะควบคุมได้ แต่ถ้ากะพริบตา ประมาทนิดเดียว ตัวเลขพุ่งขึ้นทันที รายละเอียดต้องฟังมติจาก ครม.และมติ ศบค.ที่จะเกิดขึ้นในเร็วๆ นี้นายกฯ ไม่ได้ตัดสินใจอะไรคนเดียว เพราะคนเดียวสั่งไม่ได้ ต้องดูตัวเลขทั้งหมด เป็นการตัดสินใจแบบหมู่คณะ เพื่อให้รอบด้านและเป็นทิศทางที่ปฏิบัติได้
วันเดียวกัน เพจเฟซบุ๊ก "ศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 -ศบค." โพสต์ข้อความในหัวข้อ "100 วันแห่งการต่อสู้...ขอสดุดีทีมแพทย์ไทย" ระบุว่า นับตั้งแต่วันที่ 13 มกราคม 2563 วันที่มีการรายงานผู้ป่วยติดเชื้อโควิด-19 เป็นรายแรกในประเทศไทย ซึ่งเป็นนักท่องเที่ยวชาวจีน และเป็นผู้ป่วยโควิด-19 นอกประเทศจีนเป็นรายแรกถึงวันนี้ 22 เมษายน นับเป็นเวลา 100 วันแล้ว ที่ทีมบุคลากรทางการแพทย์ ทั้งแพทย์ พยาบาล นักวิจัย รวมถึง อสม. ทั่วประเทศกว่า 1 ล้านคน ได้ทำหน้าที่เป็นนักสู้แนวหน้า เสียสละ ทุ่มเทแรงกาย แรงใจ เพื่อช่วยกันดึงกราฟ ยอดผู้ติดเชื้อให้ตกลงมาจนประสบความสำเร็จ จากที่สูงสุด 188 รายในหนึ่งวัน (22 มี.ค.63) จนลดลงมาเรื่อยๆ วันนี้เหลือ 15 ราย
นอกจากนั้น ทีมแพทย์ไทยยังสามารถรักษาผู้ป่วยทั้งไทยและต่างชาติ จนมีผู้รักษาหายดีเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ วันนี้มีผู้หายดีมากถึง 244 ราย มากกว่ายอดผู้ติดเชื้อถึงมากกว่า 16 เท่า ทำให้ยอดของผู้หายดี สูงถึง 2,352 เข้าใกล้ยอดผู้ติดเชื้อสะสม 2,826 ราย เข้าไปทุกที เหลือผู้ป่วยที่ยังรักษาอยู่ 425 ราย จากที่เคยขึ้นสูงสุด 1,472 ราย (5 เม.ย.63)
“เราเคยหวั่นกลัวว่าอัตราการเพิ่มขึ้นของผู้ป่วย จะขึ้นไปถึง 20% หรือ 30% อย่างในบางประเทศ ซึ่งจะก่อให้เกิดสภาวะที่ทำให้คนป่วยล้นโรงพยาบาล และมีผู้เสียชีวิตจำนวนมาก ซึ่งเราเคยมีบางวันที่อัตราการเพิ่มนั้นถึงไปสูงถึง 45% (22 มี.ค.63) แต่ด้วยความสามารถของบุคลากรทางการแพทย์ของไทย รวมทั้งความร่วมมือของประชาชนส่วนใหญ่ ทำให้เหตุการณ์เช่นนั้นไม่เกิดขึ้น และค่อยๆ ลดลง จนเหลือเพียงเลขหลักเดียว จนวันนี้อัตรานั้นต่ำกว่า 1% แล้ว ในวันนี้ที่ครบ 100 วันของการต่อสู้กับโรคร้ายโควิด-19 เพจ ศบค.ขอสดุดีและขอบคุณบุคลากรทางการแพทย์ ทั้งแพทย์ พยาบาล อสม. และทุกคนที่เสียสละ อดทนร่วมกันจนมาถึงวันนี้” เพจ ศบค.ระบุ
ที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกฯ และ รมว.สาธารณสุข กล่าวภายหลังการประชุมร่วมกับคณะกรรมการวัคซีนแห่งชาติครั้งที่ 2/2563 ว่าที่ประชุมได้มีการเสนอพิมพ์เขียวของแผนการทำวัคซีนเพื่อต่อสู้โรคโควิด-19 อีกทั้งมีมติเป็นเอกฉันท์ในการสนับสนุนทำแผนการทดลอง และจัดให้มีการทำความร่วมมือกันในระดับประเทศในการผลิตวัคซีน ซึ่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ดำเนินการติดต่อกับสถาบันวิทยาศาสตร์ในต่างประเทศและในไทย เพื่อทำความร่วมมือ (MOU)? เพื่อพัฒนาวิจัยวัคซีน ตนกำชับให้ผู้รับผิดชอบไปศึกษาเกี่ยวกับสัญญาต่างๆ ใน MOU โดยขออย่าให้มีการเอาเปรียบกันระหว่างคู่สัญญา อย่าให้ไทยได้เข้าถึงวัคซีนช้ากว่าคนอื่น
พัฒนาวัคซีนชัดเจนใน 3 เดือน
"โควิด-19 จะเลิกรังควานผู้คนก็ต่อเมื่อเราได้วัคซีนแล้ว ทุกกรมต้องสุมหัวกันพัฒนาวัคซีนมาให้ได้ ประเทศไทยจะต้องเป็นพระเอกในการพัฒนาวัคซีนให้ได้ โดยในที่ประชุมขอความคืบหน้าในการพัฒนาวัคซีนที่ชัดเจนภายใน 3 เดือน แต่เน้นย้ำว่าภายใน 3เดือนนี้วัคซีนจะยังไม่เสร็จทันที" นายอนุทินกล่าว
นายอนุทินกล่าวถึงการประชุมสร้างขวัญกำลังใจให้บุคลากรทางการแพทย์เกี่ยวกับการลดดอกเบี้ยเงินกู้ส่วนบุคคลระหว่างธนาคารออมสินและกรุงไทยว่า ทั้ง 2 ธนาคารได้เสนอช่วยเหลือโดยการพักชำระหนี้ ลดเงินต้น โดยตนขอให้ทั้ง 2 ธนาคารช่วยกลับไปพิจารณาอีกครั้ง เพราะเจ้าหน้าที่ พนักงานของ สธ.เป็นลูกจ้างที่มีรายได้ที่มั่นคง ไม่ใช่คนกลุ่มที่ทำธุรกิจเกี่ยวกับการลงทุน จึงไม่มีความเสี่ยงด้านการเงิน โดยเสนอให้มีการลดอัตราดอกเบี้ยให้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้
นายอนุทินโพสต์ข้อความลงในกลุ่มไลน์ผู้บริหาร สธ. เกี่ยวกับการนำเสนอโครงการตามงบประมาณ ตาม พ.ร.ก.เงินกู้ 1 ล้านล้านบาท ตามที่ สธ.ได้รับจัดสรรมาเพื่อวัตถุประสงค์ทางการแพทย์และสาธารณสุขเพื่อแก้ปัญหาการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ระบุว่า สธ.ของเราจะต้องนำเสนองบประมาณในวงเงิน 45,000 ล้านบาท เพื่อรับมือสถานการณ์โควิด-19 จากนี้ไป งบประมาณนี้ได้รับการจัดสรรมาตามมติ ครม.ที่อนุมัติในที่ประชุมเมื่อวานนี้ เราควรต้องจัดการใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด ซึ่งกระทรวงต้องการให้ผู้บริหารทุกท่านมีส่วนร่วมและนำเสนอข้อแนะนำดีๆ ที่เป็นประโยชน์ต่อประชาชน ให้พยายามใช้ของที่ต้องสั่งซื้อจากต่างประเทศให้น้อยที่สุด อุดหนุนกิจการของคนไทยให้มากที่สุด ขอให้ทุกท่านได้ร่วมกันคิดให้ละเอียด และนำเสนอมาตามสายงานบังคับบัญชา เพื่อนำไปปฏิบัติให้เป็นรูปธรรมโดยเร็วที่สุด
นายสาธิต ปิตุเตชะ รมช.สาธารณสุข กล่าวว่า หากจะมีการผ่อนคลายมาตรการ จะต้องพิจารณาสถานการณ์ว่าดีขึ้น ซึ่งประกอบด้วยหลายปัจจัย ตัวเลขผู้ป่วยรายใหม่ที่ลดลงถือเป็นความสำเร็จของคนไทยทุกคน แต่การยืนยันว่าไม่พบผู้ป่วยรายใหม่หรือตัวเลขเป็นศูนย์ จะต้องเฝ้าติดตามค้นหาต่อไปอีก 28 วันนับจากวันที่ไม่มีรายงานผู้ป่วยรายใหม่ เพื่อให้แน่ใจว่าไม่มีผู้ติดเชื้อตกค้างหรือซ่อนอยู่ เพราะหากผ่อนคลายแล้วเกิดการปล่อยปละละเลย จะเกิดการระบาดกลับมาซ้ำอีกแน่นอน และจะเพิ่มแบบก้าวกระโดด ดังนั้นต้องไม่ประมาท ยังต้องรักษาความเข้มข้นมาตรการเดิมต่อไปอีกสักระยะ
นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.พาณิชย์ กล่าวถึงมาตรการสำหรับห้างสรรพสินค้าในการเปิดให้บริการ หาก ศบค.คลายล็อกมาตรการ หลังตัวเลขผู้ติดเชื้อลดลงต่อเนื่อง ว่า เป็นอำนาจของ ศบค. ในการกำหนดมาตรการต่างๆ ไปยังห้างสรรพสินค้า ซึ่งการคลายล็อกจะเกิดขึ้นเมื่อใดนั้น เป็นอำนาจของนายกรัฐมนตรีในฐานะผู้อำนวยการ ศบค.จะตัดสินใจ และมีหลักปฏิบัติไว้แล้วที่จะต้องดูแลสุขภาพของประชาชนเป็นสำคัญ อย่างไรก็ตาม ได้มีการประสานกับกระทรวงมหาดไทย เพื่อให้ช่วยเหลือผ่อนปรนแก่รถบรรทุกพืชผลทางการเกษตร และเครื่องอุปโภค บริโภคในครัวเรือน ในการบรรทุกข้ามจังหวัด หลังนายนิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ อดีต ส.ส.พัทลุง พรรคประชาธิปัตย์ ได้ยื่นหนังสือร้องเรียนมา เนื่องจากมีเกษตรกรได้รับผลกระทบในการบรรทุกสินค้าจากจังหวัดพัทลุงไปจังหวัดตรัง ซึ่งกระทรวงมหาดไทยจะช่วยประสานผ่อนปรนให้ เพื่อให้สามารถบรรทุกข้ามจังหวัดได้ แต่จะต้องไม่กระทบต่อมาตรการในการป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ด้วย
นายวิสาร เตชะธีราวัฒน์ ส.ส.เชียงราย พรรคเพื่อไทย กล่าวว่า การแถลงข่าวของ นพ.ทวีศิลป์ เลือกที่จะแถลงเพียงตัวเลขผู้ติดเชื้อที่อยู่ระหว่างการรักษา ผู้ที่รักษาหาย และผู้เสียชีวิต แต่ไม่ยอมแถลงจำนวนการตรวจหาเชื้อว่ามีจำนวนการตรวจหาเชื้อไปแล้วจำนวนเท่าใด รายงานล่าสุดจาก สธ. พบว่ามีการตรวจหาเชื้อในประชาชนทั้งหมด 80,000 ตัวอย่าง แต่รัฐบาลเลือกรายงานเพียง 30,000 ตัวอย่าง อีก 50,000 รายทำไมไม่รายงาน อยากทราบว่ารัฐบาลทำไมไม่รายงานผลการตรวจให้ประชาชนทราบ รัฐบาลต้องทำทุกอย่างโปร่งใส เพื่อให้ประชาชนสามารถรับรู้ถึงสถานการณ์ที่เกิดขึ้นได้เพื่อการป้องกันตัวเอง การเลือกรายงานแต่เฉพาะที่จะเป็นประโยชน์กับรัฐบาลไม่เกิดประโยชน์อะไรกับประชาชนเลย
ฝ่ายค้านลงชื่อเปิดสภาวิสามัญ
นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว ส.ส.น่าน และรองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย เปิดเผยว่า รัฐสภาจะเป็นทางออกของประเทศในการแก้ปัญหาโควิด-19 ซึ่งนายสมพงษ์ อมรวิวัฒน์ หัวหน้าพรรคเพื่อไทย และผู้นำฝ่ายค้านในสภาฯ ได้มอบหมายให้ตนดำเนินการยกร่างหนังสือเพื่อเตรียมขอเปิดประชุมสมัยวิสามัญ ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 123 ซึ่ง ส.ส.และ ส.ว.ต้องเข้าชื่อกันไม่น้อยกว่าหนึ่งในสาม หรือ 247 คน โดยขณะนี้ได้มีการยกร่างหนังสือเรียบร้อยแล้ว และเตรียมที่จะนำเอกสารดังกล่าวให้สมาชิกสภาร่วมลงชื่อในวันที่ 23 เม.ย. ที่พรรคเพื่อไทย ผู้นำฝ่ายค้านในสภาฯ ได้นัดหารือกับพรรคร่วมฝ่ายค้าน 6 พรรค เพื่อหารือถึงการขอเปิดประชุมสมัยวิสามัญจะได้ร่วมกันพิจารณาถึงการเยียวยาประชาชน รวมถึงพิจารณากรณีที่รัฐบาลเสนอ พ.ร.ก.เงินกู้ 3 ฉบับ ซึ่งทั้งหมดจะต้องได้รับความเห็นชอบ และร่างพระราชบัญญัติโอนจ่ายงบประมาณแผ่นดิน หากเปิดประชุมสมัยวิสามัญได้ตั้งแต่ช่วงต้นเดือน พ.ค. ก็จะทำให้สามารถนำเงินในส่วนนี้มาช่วยเยียวยาประชาชนได้เร็วยิ่งขึ้น
น.อ.อนุดิษฐ์ นาครทรรพ เลขาธิการพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า การจะออก พ.ร.ก.กู้เงินมูลค่าเกือบ 2 ล้านล้านบาท เนื้อหาการใช้จ่ายมีเพียงนิดเดียว เหมือนกับตีเช็คเปล่า ฝ่ายค้านจึงเห็นว่าเป็นเรื่องเร่งด่วนที่จะนำเรื่องนี้เข้าสภาให้ ส.ส.ได้พิจารณาวิธีการใช้จ่ายร่วมกัน เพราะเมื่อ พ.ร.ก.ประกาศใช้แล้วจะมีผลทันที ถ้าเราปล่อยไว้นาน สภาเปิดการตรวจสอบวิธีใช้จ่ายอาจไม่ทัน สิ่งจำเป็นที่รัฐบาลควรเร่งดำเนินการก่อนการออก พ.ร.ก.เงินกู้ คือการถ่ายโอนงบประมาณปี 2563 ที่ขณะนี้ยังไม่ชัดเจนว่ารัฐบาลจะตัดงบส่วนไหนอย่างไร ในการขอเปิดสภาสมัยวิสามัญจะชัดเจนหลังการประชุม 23 เม.ย.
ด้านนายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร กล่าวถึง กรณีที่ ส.ส.เสนอให้เปิดประชุมสภาสมัยวิสามัญเพื่อหาแนวทางแก้ไขปัญหาผลกระทบจากโควิด-19 ว่า การจะเปิดสมัยประชุมวิสามัญ ประธานรัฐสภาไม่สามารถเปิดเองได้ ต้องเป็นรัฐบาลทำเรื่องกราบบังคมทูลเพื่อขอให้มี พ.ร.ฎ.เปิดสมัยประชุมวิสามัญ หรือสมาชิกรัฐสภาจำนวน 1 ใน 3 เข้าชื่อกัน ก็สามารถทำเรื่องกราบบังคมทูลได้เช่นกัน แต่ขณะนี้ยังไม่มีการเสนอมา มีเพียงการพูดผ่านสื่อ ในส่วนของสภา ได้มีการเตรียมความพร้อมห้องประชุมไว้แล้ว ไม่ว่าจะเปิดประชุมสมัยวิสามัญหรือไม่ก็ตาม เพราะวันที่ 22 พ.ค. จะเป็นวันเปิดสมัยประชุมสามัญ รัฐสภา เพราะมีกฎหมายสำคัญที่จะต้องพิจารณา และจะเชิญผู้นำฝ่ายค้านและ ส.ส. มาหารือกระบวนการป้องกัน เพื่อความปลอดภัยกับทุกฝ่าย
นายสุชาติ ตันเจริญ รองประธานสภาฯ กล่าวว่า สามารถเปิดประชุมสมัยวิสามัญได้ เพราะขณะนี้มีทั้ง พ.ร.ก.และ พ.ร.บ.ที่ต้องรีบทำโดยไม่ชักช้า เพื่อนำเงินจากส่วนต่างๆ มาช่วย แต่ขึ้นอยู่กับรัฐบาลจะเป็นผู้เสนอ หรือสมาชิกทั้ง 2 สภาเข้าชื่อร่วมกันไม่น้อยกว่า 1 ใน 3 หากมีการเปิดประชุมสมัยวิสามัญ คงนำเรื่องเกี่ยวกับพ.ร.ก.กู้เงินมาพิจารณาเป็นฉบับแรก ส่วนร่าง พ.ร.บ.การโอนงบประมาณจากหน่วยงานต่างๆ นั้น ยังไม่ทราบว่ารัฐบาลได้ดำเนินการทำประชาพิจารณ์สอบถามความเห็นจากประชาชนเรื่องผลกระทบต่างๆ ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 77 แล้วหรือไม่ เพราะรัฐธรรมนูญระบุไว้ชัดเจน การจะเสนอกฎหมายใดๆ เข้าสภาต้องผ่านการทำประชาพิจารณ์ก่อน
นายนิกร จำนง ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคชาติไทยพัฒนา กล่าวว่า? เชื่อว่ารัฐบาลจะผ่อนคลายมาตรการคุมเข้มการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ในพื้นที่ กทม. ?โดยเฉพาะการยกเลิกเคอร์ฟิวในพื้นที่ที่ห้ามประชาชนออกนอกเคหสถานตั้งแต่เวลา 22.00-04.00 น. อย่างช้ากลางเดือนพฤษภาคม เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาต่อการประชุมสภาที่จะเริ่มต้นประชุมในสมัยสามัญ?ปลายเดือนพฤษภาคมนี้ อีกทั้งการผ่อนปรนดังกล่าวจะสอดคล้องกับการเปิดภาคเรียนของนักเรียนด้วย หากรัฐบาลไม่พิจารณาปลดล็อกเชื่อว่าอาจมีปัญหายาวเกิดขึ้นได้
นายศราวุธ เพชรพนมพร ส.ส.อุดรธานี พรรคเพื่อไทย ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการการต่างประเทศ เปิดเผยว่า ได้รับการประสานจากคนไทยในต่างประเทศที่ที่ยังตกค้างไม่สามารถเดินทางกลับประเทศไทยได้ โดยเฉพาะที่ประเทศอินเดีย มีทั้งคนไทยและพระภิกษุสงฆ์จำนวนมากที่ตกค้างและประสบความยากลำบากมากในการใช้ชีวิตในต่างแดน จึงร้องขอมาว่าอยากกลับประเทศไทย มีประมาณ 1,400 คน ทางสถานทูตไทยที่อินเดียแจ้งว่ามีเจ้าหน้าที่เข้าไปอำนวยความสะดวกให้แล้วระดับหนึ่ง ทางคณะคนไทยที่ตกค้างพร้อมที่จะดำเนินการในการเช่าเครื่องบินแบบเหมาลำเพื่อเดินทางกลับไทยเองหากเดินทางมาถึงไทยก็พร้อมที่จะกักตัว 14 วันตามเงื่อนไขอยากให้รัฐบาลเร่งดำเนินการในการนำคณะคนไทยที่เหลือกลับมาสู่ประเทศทั้งหมดโดยเร็ว.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |