คง 'พ.ร.ก.ฉุกเฉิน' ผ่อนแค่พอหายใจ เจ็บอีกนิด! เพื่อโอกาสฟื้นฟูเร็ว


เพิ่มเพื่อน    

      แม้ขณะนี้จะยังไม่มีประกาศขยายการใช้พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน  พ.ศ.2548 หรือ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน แต่ค่อนข้างแน่นอนแล้วว่า บิ๊กตู่-พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม จะใช้กฎหมายพิเศษฉบับนี้อย่างน้อยอีก 1 เดือน

แต่ขณะเดียวกัน การขยายเวลาประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินครั้งนี้ จะแตกต่างจากช่วงเดือนเมษายนที่ผ่านมา เพราะจะเป็นเวอร์ชันแบบผ่อนปรน

            ผ่อนปรน ที่ว่าคือ ไม่ได้คลายล็อกให้ทุกพื้นที่ แต่จะนำร่องในจังหวัดที่มีการติดเชื้อต่ำ เริ่มจากกลุ่มจังหวัดที่ไม่พบผู้ป่วยติดเชื้อในพื้นที่ภายในสองสัปดาห์หรือ 14 วันที่ผ่านมา ซึ่งมีอยู่กว่า 30 จังหวัด

               ขณะที่จังหวัดที่ยังมีรายงานผู้ป่วยในรอบ 7 วันกว่า 10 จังหวัด ซึ่งมีทั้ง กทม.และปริมณฑลนั้น อาจได้ผ่อนปรนแค่บางสาขาอาชีพที่มีความเสี่ยงต่ำเท่านั้นก่อน

เป็นการค่อยๆ ผ่อนทีละนิดเพื่อประเมินสถานการณ์ว่าดีขึ้นหรือเลวร้ายลงหรือไม่ เหมือนกับเมื่อครั้งเริ่มใช้ "ยาแรง" ที่ "บิ๊กตู่" ค่อยๆ ยกระดับทีละนิด จาก พ.ร.ก.ฉุกเฉิน แล้วจึงไปเคอร์ฟิว ไม่ได้ทำแบบรวดเดียว

            สาเหตุที่รัฐบาลยอมผ่อนปรนให้ เนื่องจากปัจจัยทางสภาพเศรษฐกิจ และความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชน แม้ในใจอยากจะเข้มข้นต่อก็ตาม เพราะมันพิสูจน์ให้เห็นตลอดช่วงเดือนเมษายนนี้ว่า ยาแรงสามารถคุม "คน" ซึ่งเป็น "พาหะนำโรค" ไม่ให้ไปแพร่เชื้อได้

                การตัดสินใจขยายเวลาต่อ พ.ร.ก.ฉุกเฉินออกไป ยังเป็นการกุมดาบอาญาสิทธิ์ไว้ในมือเพื่อให้พร้อมสำหรับทุกสถานการณ์ เช่นหลังจากผ่อนปรนไปแล้วกลับมีการระบาดอีกครั้งในบางพื้นที่ "บิ๊กตู่" ก็สามารถใช้อำนาจตามมาตรา 9 แห่ง พ.ร.ก.ฉุกเฉินออกประกาศต่างๆ ได้ทันท่วงที

            นอกจากนี้ ข้อเสนอจากหลายฝ่ายยังอยากให้รัฐบาลคงมาตรการเข้มข้นนี้ต่อไป เพราะแม้ตัวเลขผู้ป่วยรายใหม่จะน้อยลงเรื่อยๆ แต่ตราบใดที่ยังไม่มีวัคซีน สถานการณ์ก็ไม่อาจไว้วางใจได้ เหมือนกับกรณีสิงคโปร์ที่เริ่มแพร่เชื้อจาก 4 คน กลายเป็นพันคนได้ในเวลารวดเร็ว

กรณี สิงคโปร์ กับ ญี่ปุ่น ที่ประสบความสำเร็จในการควบคุมการแพร่ระบาดในช่วงแรกจนมีการผ่อนคลาย แต่กลับต้องมาวิกฤติหนักอีกครั้งในช่วงนี้ นับเป็น "บทเรียน" ที่รัฐบาลไทยใช้เรียนรู้ และตัดสินใจที่จะไม่ซ้ำรอยด้วยการผ่อนคลายเร็วเกินไป

                ขณะที่ 5 ข้อเสนอจากผู้เชี่ยวชาญ นักวิชาการ คณบดีจากคณะแพทย์ ที่กระทรวงสาธารณสุขไประดมความเห็นมา และจัดทำร่างข้อเสนอแนวทางผ่อนปรนมาตรการควบคุมโรคโควิด-19 ด้านสาธารณสุข เสนอให้ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ  ศบค.นั้น ก็แสดงให้เห็นว่าประเทศไทยควรค่อยๆ เป็นค่อยๆ ไป

อาทิ คนไทยทุกคน ทุกชุมชน ทุกสังคม ต้องร่วมมือปฏิบัติตามมาตรการสุขลักษณะ ล้างมือ สวมหน้ากากอนามัยหรือหน้ากากผ้าเมื่อออกจากบ้าน การมีระยะห่างทางกาย งดการชุมนุม กลุ่มเสี่ยงยังควรหลีกเลี่ยงการออกจากบ้าน ปิดบริการหรือกิจการที่มีความเสี่ยงสูง เป็นแหล่งแพร่ระบาด ได้แก่  สถานบันเทิง ผับ บาร์ คาราโอเกะ สถานบริการทางเพศทั้งตรงและแฝง สนามการพนัน ต้องปิดในระยะยาว สำหรับการปิดกิจการในอนาคต ควรใช้วิธีปิดแบบจำเพาะที่เป็นปัญหา และคงความเข้มข้น

                เพราะหากเพลี่ยงพล้ำเพียงนิดเดียว ความเสียหายจะรุนแรงกว่าช่วงที่เราเคยเกิดวิกฤติที่สุด ตัวเลขผู้ป่วยจะกลับมาเพิ่มสูง และความเสียหายทางเศรษฐกิจจะย่อยยับกว่านี้ เหมือนที่ บิ๊กตู่ ให้เหตุผลเอาไว้

"ทราบดีว่าทุกคนเดือดร้อน แต่สิ่งที่เดือดร้อนมากกว่านั้นคือสุขภาพ ถ้ามีการบาดเจ็บ สูญเสีย ล้มตายกันมากกว่านี้แล้วจะทำอย่างไร สิ่งที่เราทำมาทั้งหมดถ้าทำอะไรเร็วเกินไป มีแรงกดดันสูง โดยที่มันไม่ใช่สาระสำคัญมากนัก แต่เป็นการระดมให้ประชาชนเกิดความวิตกกังวล หรือให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อยขึ้นมา สิ่งที่เราทำมาทั้งหมดจะสูญเสียเป็นศูนย์ในทันที และจะเรียกกลับมาไม่ได้”

               การขยายเวลาบังคับใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินอีก 1 เดือน ซึ่งย่อมส่งผลกระทบต่อสภาพเศรษฐกิจและความเดือดร้อนของประชาชนที่ขาดรายได้ เป็นการยอมเจ็บอีกนิดเพื่อจบโดยเร็ว

            เพราะหากได้ผล การแพร่เชื้ออยู่ในระดับที่ควบคุมได้และแบบไว้วางใจได้ว่ามันจะไม่กลับมาระบาดหนักอีกครั้งเหมือนบางประเทศ จะทำให้ไทยสามารถมีเวลาลุกขึ้นมาฟื้นฟูสภาพที่บอบช้ำในช่วงที่ผ่านมาได้เร็วขึ้นไปด้วย.

  


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"