เป็นอีกเรื่องที่สังคมจับตามองสำหรับการตัดงบประมาณในปี 2563 ในการซื้ออาวุธเพื่อนำไปสนับสนุนแผนงานช่วยเหลือประชาชนจากผลกระทบของการแพร่ระบาดของเชื้อ “โควิด-19” เพราะกองทัพตกเป็นเป้าของสังคมหลายเรื่องนับแต่ช่วงต้นปีเป็นต้นมา โดยเฉพาะกองทัพบกที่เกิดปรากฏการณ์ “ฝีแตก” จากปัญหาที่ถูกหมักหมมมานาน ทั้งกรณีกราดยิงโคราช เลยมาถึงปรากฏการณ์ “ซูเปอร์สเปรดเดอร์” ในพื้นที่สนามมวยลุมพินี
หลังพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2563 มีผลบังคับใช้ไม่นาน การใช้จ่ายของกระทรวง ทบวง กรม เริ่มดำเนินการได้หลังจากผ่านไตรมาสแรกไปแล้ว ดังนั้นช่วงต้นๆ ยังไม่มีการจ่ายเงินงวดสำหรับโครงการจัดซื้อจัดจ้างไปมากนัก จุดสตาร์ทในการพิจารณาตัดงบในโครงการที่ไม่จำเป็นจึงใช้วันที่ 1 เม.ย.เป็นเกณฑ์ หากนับระยะเวลาการใช้งบประมาณปี 63 จึงเหลือแค่ 7 เดือน และเมื่อหักขั้นตอนต่างๆ ก็เหลือเวลาอีกไม่กี่เดือนที่โครงการจะเริ่มเดินหน้าใหม่ได้อีกครั้งในปี 2564
“ไม่มีความเสียหายที่เกิดกับกองทัพอากาศ เพราะยังรักษาระดับความพร้อมไว้ได้ส่วนหนึ่ง ที่เหลือต้องมีการวางแผนทบทวนเล็กน้อยซึ่งไม่ใช่เรื่องยาก โดยการเลื่อนโครงการงบประมาณไปในปี 2564 ซึ่งก็อีกไม่กี่เดือน ถ้าหากคำนวณในแบบงบประมาณของต่างประเทศก็เป็นปีปฏิทินเดียวกันคาบเกี่ยวปี 63-64" พล.อ.อ.มานัต วงษ์วาทย์ ผู้บัญชาการทหารอากาศ (ผบ.ทอ.) ระบุ
ทั้งนี้ ผบ.ทอ. นับเป็นผู้บัญชาการเหล่าทัพแรกที่พร้อมเปิดข้อมูลและตอบคำถามผู้สื่อข่าวเป็นเหล่าทัพแรก ซึ่งอาจเป็นเพราะความมุ่งมั่นการบริหารจัดการกองทัพที่มองไปข้างหน้า สอดคล้องกับความเป็นจริงด้านงบประมาณและสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลง และกองทัพอากาศเองก็ใช้แนวทางในการจัดซื้อพร้อมไปกับการรับการถ่ายเทคโนโลยี ผสมผสานกับงานวิจัยพัฒนา มีการปูพื้นฐานด้านบุคลาการเพื่องานด้านอุตสาหกรรมป้องกันประเทศ รองรับแนวทางการพึ่งพาตนเองในส่วนที่ทำได้
สำหรับงบประมาณในปี 2563 ที่ ทอ.เฉือนงบลงทุนและงบดำเนินการ 23 เปอร์เซ็นต์ วงเงิน 3,301 ล้านบาท เป็นเงินก้อนใหญ่ที่มาจากโครงการจัดซื้ออาวุธ เช่น โครงการจัดหาเครื่องฝึกนักบินขับไล่ขั้นต้น T-50 จากสาธารณรัฐเกาหลี (ระยะที่ 4) 2 เครื่อง วงเงิน 2,450 เครื่อง (ผูกพันงบประมาณ 2563-2565) โครงการจัดหาเครื่องฝึกทดแทน 12 เครื่อง ผูกพันงบประมาณ 4 ปี (2563-2566) วงเงิน 5,195 ล้าน โครงการจัดหาเครื่องบินฝึกนักบินลําเลียงขั้นต้น 4 เครื่อง วงเงิน 233 ล้านบาท ผูกพันงบประมาณปี 2563-2564 เป็นต้น
ขณะที่กองทัพเรือ (ทร.) โครงการจัดหาเรือดำน้ำลำที่ 2-3 เป็นอีกโครงการที่ถูกจับตามองว่าจะมีหั่นงบส่วนนี้ในปี 63 มาช่วยโควิด-19 หรือไม่ เพราะที่ผ่านมา กว่าที่ ทร.จะเข็นโครงการการจัดซื้อลำที่ 2-3 วงเงินกว่า 2.2 หมื่นล้านบาท (ตั้งงบประมาณปี 2563 งวดแรก 15 เปอร์เซ็นต์) เข้ามาอยู่ในงบประมาณปี 2563 ได้ ต้องพิจารณาในการชะลอโครงการอื่นออกไปก่อน และจัดงบลงทุนส่วนใหญ่เพื่อ “บิ๊กโปรเจ็กต์” นี้รองรับยุทธศาสตร์ความมั่นคงทางทะเลที่ต้องวางแผนระยะยาว
กระนั้น พล.ร.อ.ลือชัย รุดดิษฐ์ ผู้บัญชาการทหารเรือ (ผบ.ทร.) มีความเป็นตัวของตัวเอง ในการจัดทำแผนพัฒนากองทัพเรือในงบประมาณปี 2563 ท่ามกลางการทุ่มเทกับโครงการเรือดำน้ำค่อนข้างมาก จนมีบางฝ่ายเป็นห่วงว่าอาจส่งผลในโครงการพัฒนาด้านอื่นต้องหยุดชะงักลง โดยการจัดซื้ออาวุธ “บิ๊กลือ” มักย้ำว่า “ผมจะไม่จัดซื้ออาวุธผ่านสื่อ” รายละเอียดต่างๆ จึงเป็นเอกสารที่ไว้ชี้แจงกับ ผบ.หน่วย ในการจัดงานแถลงนโยบายเชิงให้โอวาท โดยระบุเรื่องโครงการต่างๆ ที่ได้วางไว้
การตัดงบช่วยการแก้ไขปัญหาโควิด-19 จึงได้มอบหมายให้ พล.ร.ท.ประชาชาติ ศิริสวัสด์ โฆษกกองทัพเรือ ชี้แจงอย่างเป็นทางการ โดยระบุว่า กองทัพเรือจะขอเสนอปรับลดงบประมาณลงกว่า 33% คิดเป็นจำนวนเงินประมาณกว่า 4,100 ล้านบาท โดยจะชะลอการดำเนินการโครงการจัดหาเรือดำน้ำ ลำที่ 2 และ 3 รวมไปถึงการชะลอโครงการจัดหายุทโธปกรณ์ที่สำคัญ อาทิ โครงการซ่อมปรับปรุงเฮลิคอปเตอร์ปราบเรือดำน้ำ, โครงการพัฒนาระบบเชื่อมโยงข้อมูล Network Centric, โครงการจัดหาเครื่องฝึกจำลองยุทธ์, โครงการจัดหาระบบอาวุธปืนรองฯ ตลอดจนโครงการก่อสร้างอาคารพัก 64 ครอบครัว ซึ่งแม้จะมีความสำคัญในการพัฒนาคุณภาพชีวิตของกำลังพล แต่โดยทุกโครงการก็จะต้องชะลอการดำเนินการไปตามความจำเป็น หรือจะต้องปรับลดวงเงินปีแรกลงไปก่อน
ตามมาด้วยกองทัพบก ที่ถูกสังคมจับตามองมากที่สุด และเป็นเหล่าทัพที่ได้รับการจัดสรรงบมากที่สุด วงเงินประมาณ 1 แสนล้านบาท แม้ประมาณ 70 เปอร์เซ็นต์จะเป็นงบประจำ แต่ในส่วนที่เหลือก็มีการจัดซื้อจัดจ้างหลายโครงการ โดยเฉพาะโครงการที่เกี่ยวข้องกับ “ยานรบ” ทั้งยานเกราะล้อยางสไตรเกอร์ ซึ่งซื้อผ่านโครงการความช่วยเหลือทางด้านการทหารจากสหรัฐ หรือ “เอฟเอ็มเอส” และรถถัง VT-4 จากประเทศจีน เป็นต้น
แม้จะมีการสอบถามรายละเอียดจากกองทัพบกในเรื่องดังกล่าว แต่ไม่มีการเปิดเผยข้อมูล โดย พล.อ.อภิรัชต์ คงสมพงษ์ ผู้บัญชาการทหารบก ได้มอบหมายให้ พล.อ.ธีรวัฒน์ บุณยะวัฒน์ เสนาธิการทหารบก กรมส่งกำลังบำรุง สำนักงานปลัดบัญชีทหารบก ไปดำเนินการก่อนเสนอขึ้นมาเพื่อส่งแผนงบไปยังกองทัพบก จนกระทั่งมีเอกสารจากกรมสรรพาวุธทหารบก เป็นแนบท้ายประกาศเผยแพร่แผนการจัดซื้อจัดจ้างประจำปีงบประมาณ 2563 ชื่อโครงการยานเกราะล้อยาง พร้อมระบบอาวุธและการบริการทางเทคนิค ฯลฯ จำนวน 50 คัน วงเงินประมาณ 4,514 บาท
กลายเป็นกระแสวิจารณ์ว่า ทบ.ดึงดันที่จะซื้อรถเกราะ-รถถัง ทั้งที่ประเทศกำลังเจอวิกฤติโควิด มีความจำเป็นที่ต้องนำเงินไปช่วยเหลือมากกว่า และกว่าที่จะแถลงได้ก็เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์กันไปต่างๆ นานา โดยเฉพาะ “สไตรเกอร์” ถูกมองว่าเป็นโครงการ “พิเศษ” และในล็อตแรกรัฐบาลถึงกับยอมเฉือนงบกลางมาซื้อด้วย
โดยทีมงานโฆษกกองทัพบกยืนยันว่า เป็นการโอนงบจัดหา “สไตรเกอร์” ที่ต้องจ่ายในปี 2563 วงเงินรวม 900 ล้านบาท ไปให้รัฐบาลครึ่งหนึ่ง หรือประมาณ 450 ล้านบาท และเดินหน้าโครงการต่อไป เพราะถือว่าคุ้มค่า ซึ่งถือเป็นโครงการที่ พล.อ.อภิรัชต์ คงสมพงษ์ ผบ.ทบ. ไปเจรจาให้สหรัฐขายยานเกราะรุ่นดังกล่าว พร้อมออปชั่นมากมาย ขณะที่โครงการอื่นเป็นโครงการเริ่มต้นไม่ได้มีการทำสัญญาผูกพันงบประมาณข้ามปีไว้ จึงเลื่อนออกไปทั้งหมด
อย่างไรก็ตาม การเกาะติดเรื่องงบประมาณของกองทัพคงมีความต่อเนื่องไปในปี 2564 เพราะสภาพเศรษฐกิจไม่เอื้ออำนวยจากผลกระทบโควิด-19 ซึ่งเหล่าทัพคงต้องวางแผนรับมือในการชี้แจง พร้อมทั้งดูความสมดุลในการจัดหาเพื่อไม่ให้กระทบต่อการพัฒนากำลังรบ และประหยัดงบประมาณอย่างที่สุด.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |