ตัวหนังสือ Zero หรือ "ศูนย์" ที่ขึ้นเป็นไฟตัวเบ้อเร่อบนตึกโรงแรม Grand Hotel Taipei วันก่อน เป็นการประกาศชัยชนะของเกาะแห่งนี้ในการสู้กับโควิด-19
วันนั้นตรงกับ 14 เมษายนที่ผ่านมา เป็นวันแรกในรอบ 36 วันที่ไต้หวันไม่พบผู้ติดเชื้อรายใหม่
รัฐมนตรีสาธารณสุขไต้หวัน เฉิน ซื่อจุง ประกาศก่อนหน้านั้นว่าไม่พบผู้ป่วยใหม่จากโควิด-19 เมื่อวันที่ 9 มีนาคม...หรือ 36 วันก่อนหน้านั้น
ผู้จัดการโรงแรมบอกว่าการเปิดไฟ Zero ก็เพื่อ "บอกทุกคนในไต้หวันและทั้งโลกว่าเราทำได้"
อย่างน้อย 3 ประเทศและ 1 เกาะ (ไต้หวัน) ที่ได้ชื่อว่าสามารถรับมือกับโควิดได้ค่อนข้างจะมีประสิทธิภาพ โดยวัดจากจำนวนคนติดเชื้อและเสียชีวิต
นั่นคือเกาหลีใต้, ไอซ์แลนด์, เยอรมนี และไต้หวัน
ไต้หวันมีประชากร 24 ล้านคน มีผู้ป่วยเมื่อต้นสัปดาห์นี้ 390 รายและเสียชีวิต 6 ราย
และทำได้ด้วยตัวเลขที่ต่ำเตี้ยทั้งๆ ที่ไม่ได้ใช้วิธี "ปิดเมือง" หรือ lockdown แต่อย่างใด
สูตรแห่งความสำเร็จน่าจะเป็น
1.เตรียมพร้อมตลอดเวลา
2.ตัดสินใจและลงมือทำทันที ไม่ลังเล ไม่ล่าช้า
3.ตรวจเร็ว ติดตาม และกักตัว (Test, Trace, Quarantine)
4.ใช้ข้อมูลและเทคโนโลยีในการแก้ปัญหา อย่าใช้ความรู้สึก ห้ามเอาการเมืองนำหน้า
ไต้หวันมีการเตรียมพร้อมในระดับดีเพราะเคยได้รับบทเรียนสาหัสสมัยโรค SARS ในปี 2003 ที่คร่าชีวิต 181 คนบนเกาะแห่งนี้
หลังจากนั้นจึงตั้งศูนย์ปฏิบัติการด้านโรคระบาดเป็นการเฉพาะที่เรียกว่า Central Epidemic Command Center
กลไกนี้สามารถยกขึ้นเป็นวอร์รูมระดับชาติได้เมื่อเกิดโรคระบาด
พอเห็นสัญญาณแรกๆ เมื่อวันที่ 20 มกราคม ศูนย์แห่งนี้ก็ถูกสั่งการให้เริ่มทำงานทันที
ก่อนหน้าที่จะมีคนติดเชื้อคนแรกด้วยซ้ำ
ที่สำคัญคือ ศูนย์แห่งนี้มีอิสระในการทำงานของตัวเอง สามารถตัดสินใจเดินเครื่องได้โดยไม่ต้องผ่านกระบวนการตัดสินใจทางการเมือง
ภายใน 3 สัปดาห์ศูนย์แห่งนี้ตัดสินใจเดินเรื่องอย่างน้อย 120 รายการ
เช็กลิสต์นี้คือ "คู่มือ" สำหรับการตั้งรับโรคระบาดได้เกือบทุกกรณี
ปัจจัยสำคัญต่อมาคือ "ความเร็วและเร่งด่วน"
เกือบจะทันทีที่รัฐบาลจีนรายงาน WHO ว่ามีโรคระบาดที่เมืองอู่ฮั่น ไต้หวันก็ประกาศเตือนภัยทันที
วันที่ 20 มกราคม ไต้หวันสั่งให้ "ระวังภัย" เที่ยวบินจากอู่ฮั่น และสองวันต่อมาทางการก็เริ่มส่งคำเตือนและข้อมูลล่าสุดเกี่ยวกับสถานการณ์ของโรคระบาดให้ประชาชนได้รับทราบทุกวัน
ทั้งๆ ที่วันนั้นมีคนติดเชื้อเพียง 1 คน
หนึ่งสัปดาห์หลังจากมีคนป่วยรายแรก ไต้หวันเริ่มแจกมือถือที่ใช้การติดตามผู้ถูกกักตัวด้วยระบบอิเล็กทรอนิกส์
พร้อมทั้งประกาศควบคุมการเดินทางเข้าออกโดยเน้นไปที่มณฑลหูเป่ย์ของจีนแผ่นดินใหญ่
ตั้งแต่วันนั้นถึงสิ้นเดือนกุมภาพันธ์ รัฐบาลไต้หวันเพิ่มมาตรการควบคุมเพื่อสกัดการขยายตัวของไวรัสตัวนี้
ตอนที่ประกาศให้ผู้คนใช้นโยบาย "รักษาระยะห่าง" หรือ social distancing เมื่อวันที่ 1 เมษายนนั้น ไต้หวันมีคนติดเชื้อเพียง 335 คนเท่านั้น
มาตรการที่สำคัญต่อมาคือ test, trace and quarantine นั่นคือการไล่ตรวจ, ไล่ล่า และกักตัวคนที่เข้าข่ายต้องสงสัย
ทั้งคนติดเชื้อและคนที่อยู่ใกล้ชิด
ไต้หวันใช้วิธีการตรวจแบบรุก ตามตรวจคนที่ลงจากรถ เรือ และเครื่องบินอย่างละเอียด
ใครมีอาการหวัดหรือปอดบวมจะถูกตรวจซ้ำ เพื่อให้แน่ใจว่าการตรวจครั้งแรกไม่มีความผิดพลาด
ที่น่าจะสำคัญไม่แพ้กันคือการใช้ข้อมูลและเทคโนโลยี
สิ่งที่ไทยเรายังไม่ได้ทำเหมือนไต้หวันคือ การเชื่อมฐานข้อมูลของรายชื่อผู้ประกันสุขภาพกับศุลกากรและตรวจคนเข้าเมือง
เมื่อมีการบริหารข้อมูลจากหลายๆ แหล่งเช่นนี้ ก็สามารถใช้ในการสร้างระบบส่งข้อความเตือนประชาชน เพื่อตรวจหาประชากรที่เข้าเกณฑ์ "สุ่มเสี่ยง" เพื่อช่วยกักและรักษาได้ทันท่วงที
เป็นการป้องกันไม่ให้เกิด super spreader หรือพาหะนำเชื้อที่สามารถแพร่ไปให้หลายๆ คนได้
ด้วยระบบการผสมผสานฐานข้อมูลเช่นนี้ ทำให้เจ้าหน้าที่สามารถตรวจหาผู้ติดเชื้อและผู้เข้าข่ายเสี่ยงได้อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ
ใครก็ตามที่ไปหาหมอเพราะมีอาการทางเดินหายใจไม่ปกติ ฐานข้อมูลทางด้านประกันสุขภาพก็จะเก็บข้อมูลไว้ และเมื่อมีการระบาดของโรคเมื่อใดก็ย่อมจะตามตัวทุกคนที่ต้องได้รับการดูแลและรักษาได้ตลอด
ไต้หวันจึงได้รับการยกย่องว่าเก่งกว่าหลายๆ ประเทศเช่นนี้เอง.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |