"พนมเทียน"ยิ่งใหญ่เกิน"ตำนาน"


เพิ่มเพื่อน    

 

การจากไปของฉัตรชัย วิเศษสุวรรณภูมิ ศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์ (นวนิยาย) ประจำปี 2540 เจ้าของนามปากกา "พนมเทียน" นักประพันธ์ทรงคุณค่าของเมืองไทย สร้างความใจหายให้แก่คนในวงการวรรณกรรมไทยและแฟนนักอ่าน ด้วยพนมเทียนมีคุณสมบัติของยอดนักเขียนครบถ้วน กลวิธีการเขียนมีลูกเล่นที่ดึงให้คนอ่านไม่อยากวางหนังสือ  

 

ผลงานอมตะคือ “เพชรพระอุมา” นิยายที่มีความยาวที่สุดเป็นประวัติการณ์ จำนวน 48 เล่ม เต็มไปด้วยฉากบู๊ และการผจญภัยน่าตื่นเต้น พนมเทียนใช้เวลาเขียน 26 ปี มีผู้อ่านเป็นจำนวนมากติดตามอย่างต่อเนื่องจนทุกวันนี้ งานชุดนี้ได้รับการยกย่องเป็นมหากาพย์แห่งวรรณกรรม นับเป็นความสามารถอย่างสูงในการประพันธ์ที่จะหาใครเทียบได้ ผลงานของพนมเทียนกลายเป็นแสงสว่างนำทางนักอ่านและนักเขียนรุ่นหลังที่อยากเดินตามรอยปรมาจารย์ผู้นี้

 

 

1ใน 48เล่ม ของ"เพชรพระอุมา"

 

มีบทสัมภาษณ์พนมเทียนเกี่ยวกับแรงบันดาลใจสร้างวรรณกรรมชุดนี้ “เพชรพระอุมาเกิดจากประสบการณ์เดินป่าล่าสัตว์ของตัวเอง สองนิทานที่ได้รับการบอกเล่าจากพรานป่าเก่าๆ ที่ล้อมวงเล่ายามค่ำคืน พบเจออะไรบ้าง สาม จินตนาการ” 

 

รูป"พนมเทียน"สมัยหนุ่ม ที่ชอบเล่นปืน มีความคล้าย"ระพินทร์ ไพวัลย์ "พระเอกของเรื่อง"เพชรพระอุมา"

 

เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ ศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์ เขียนคำนิยมถึง "เพชรพระอุมา" ในโอกาสครบรอบ 54 ปี ว่า “วันที่ป่าหมด สัตว์ป่าถูกจับขังกรง เหลือแต่ป่าปลูกและป่าปลอมอย่างวันนี้ นี่แหละเราจะกลับมานั่งอ่าน "เพชรพระอุมา" กันอีก พนมเทียนได้ปลูกป่าใหญ่ไว้แล้วในหัวใจคน ธรรมชาติอันเป็นอมตะนี้ ถ่ายทอดสู่นักอ่านรุ่นแล้วรุ่นเล่าสืบไป ไร้วันสิ้นจอมพราน "รพินทร์ ไพรวัลย์"  จะอยู่คู่นาม "พนมเทียน" เรื่อยไปไร้อวสาน  

 

เพชรพระอุมา ถือเป็นเพชรเม็ดงามที่ชัดเจนในความทรงจำของนักอ่านเมื่อนึกถึงนามปากกาพนมเทียน แต่พนมเทียนสร้างผลงานทางวรรณกรรมที่ทรงคุณค่าไว้อย่างมากมายและต่อเนื่องมาเกือบ 5 ทศวรรษ ผลงานของเขาปรากฏแพร่หลายเป็นที่นิยมของผู้อ่านตลอดมา โดยเฉพาะนวนิยาย รวมแล้วมีจำนวน 38 เรื่อง 

 

นวนิยายรักหลายเรื่องราวที่มีความโดดเด่นเฉพาะตัวมีภาษาวิจิตรงดงามก็สร้างชื่อให้นักเขียน เช่น จุฬาตรีคูณ ละอองดาว สกาวเดือน แววมยุรา และกัลปังหา ซึ่งนักเขียนชั้นครูถ่ายทอดความรักได้อย่างลึกซึ้งกินใจ ด้วยประสบการณ์ชีวิตและจินตนาการที่พรั่งพรู หนึ่งในต้นแบบตัวละครเอกคือ สุมิตรา เดวี  วิเศษสุวรรณภูมิ ภรรยาคู่ชีวิต พนมเทียนใช้เป็นแรงบันดาลใจสร้างสาวน้อยแสนซนในเรื่องสกาวเดือน เป็นนิยายโรแมนติก คอมมิดี มีดรามา สนุกครบรส เรื่องนี้นำมาสร้างเป็นละครทีวีหลายครั้ง 

 

 

ยังไม่พูดถึงนิยายรักหวานแหววจากอักษรรักอันทรงคุณค่าของนักเขียนอาวุโส เช่น ชั่วฟ้าดินดับ ดาวประดับใจ ทิวาถวิล และกว่าชีวิตนี้จะสิ้น ทำให้หนอนหนังสือหลงรักทุกตัวอักษร

 

ในวงเสวนาวรรณกรรมหนึ่งที่พนมเทียนไปร่วมพูดคุย พิธีกรถามพนมเทียนว่า “เขียนอย่างไรจึงอยู่ในใจนักอ่าน” พนมเทียนตอบว่า "ก็เขียนให้สนุกสิ" สร้างเสียงหัวเราะทั้งห้องประชุม 

 

พนมเทียนประกาศหยุดเขียนนิยายตั้งแต่ปี 2533 แต่นักเขียนระดับตำนานไม่หยุดสร้างงานเขียนประเภทอื่น ทั้งบทความและเกร็ดความรู้ที่เขียนลงตีพิมพ์ในอินไซด์เพชรพระอุมา และบทความเกี่ยวกับอาวุธปืน ตีพิมพ์ในนิตยสารต่างๆ ตลอดมา

 

คำประกาศเชิดชูเกียรติเป็นศิลปินแห่งชาติ ปี 2540 กรมส่งเสริมวัฒนธรรม (สวธ.) ยกย่อง “พนมเทียน” เป็นนักฝัน ที่สามารถใช้จินตนาการสร้างสรรค์ผลงานโดยมีความรอบรู้และประสบการณ์อันหลากหลายเป็นพื้นฐาน เรื่องที่เขาเขียนจึงมีหลายประเภทหลายแนว ทั้งจินตนิยาย อาชญนิยาย นวนิยายแนวสืบสวนสอบสวน นิยายบู๊ นิยายผจญภัย แนวพาฝัน ตลอดจนสาระนิยาย 

 

คุณลักษณะเด่นอีกประการหนึ่งของนักเขียนชั้นครูผู้นี้คือ การใช้ภาษาด้วยลีลาอันงดงาม และให้ภาพที่คมชัด ผลงานของพนมเทียนจึงส่งผลสืบเนื่องไปถึงการสร้างงานศิลปะแขนงอื่น เช่น ละครวิทยุ ละครเวที ละครโทรทัศน์ ตลอดจนเพลงประกอบละครเวที โดยเฉพาะเรื่องจุฬาตรีคูณนั้น เป็นที่นิยมกันมาตลอด 5 ทศวรรษ นอกจากเรื่องจุฬาตรีคูณ จินตนิยาย เรื่องศิวาราตรีของพนมเทียนที่ภาษาวิจิตรงดงาม ยังเป็นแรงบันดาลใจให้ “สกลวรรณ” นำศิวาราตรีมาเขียนเป็นร้อยกรองยาวกว่า 30,000 คำกลอน โดยอาศัยความงามแห่งภาษาร้อยแก้วของปรมาจารย์ผู้นี้เป็นพื้นฐาน 

 

"ศิวราตรี "อีกอมตะนิยาย ของพนมเทียน 

 

ดงอักษรของพนมเทียนไม่ได้อ่านสนุกอย่างเดียว หากอ่านอย่างพินิจพิเคราะห์ จะเห็นได้ว่าผู้เขียนยึดหลักการมนุษยธรรมอย่างมั่นคง เขาเห็นว่าโลกและชีวิตดำรงอยู่ด้วยมนุษยธรรม สันติภาพและภราดรภาพ อันเป็นอุดมการณ์ของมนุษยชาติ พนมเทียนได้สร้างงานทางวรรณศิลป์ที่งดงามและมีคุณค่า ประทับใจผู้อ่าน ต่างรุ่น ต่างวัย และต่างสถานภาพ มาเป็นเวลายาวนานเกือบครึ่งศตวรรษ 

เคล็ดลับนักเขียน "พนมเทียน" จากบทสัมภาษณ์ "พีเพิ่ล"  บันทึกว่า "คนเขียนหนังสือต้องเป็นคนที่มีความรู้กว้างขวาง เป็นพหูสูต เป็นคนช่างสังเกต รู้จักหาสิ่งต่างๆ มาใส่ในงานเขียนของเรา ถ้าไม่ถามใครก็ต้องไปหาประสบการณ์ด้วยตัวเอง จินตนาการอย่างเดียวผมว่ามันไม่พอ ไม่สามารถทำให้เรื่องของเราอ่อนพลิ้ว เข้าไปจับจิตใจของคนอ่านได้ มันต้องเอามาจากสิ่งที่เราผ่านมาแล้ว"

 

ส่วนสัมพันธภาพระหว่างพนมเทียนกับนักวิจารณ์ สะท้อนผ่านบทสัมภาษณ์พนมเทียนในนิตยสารสีสัน ฉบับที่ 3 มิถุนายน 2542 ว่า "นักวิจารณ์ที่ดีที่สุดของผมคือผู้อ่านของผม ตราบใดก็ตามที่เรามีผู้อ่านในมือ เราก็ไม่ต้องแคร์นักวิจารณ์ ที่ผมแคร์ที่สุดคือผู้อ่าน เพราะกลัวว่าจะไม่อ่านครับ แม้กระทั่งเด็กเล็กๆ 11 ขวบ ถ้าเขาอ่านหนังสือของผม ผมยอมเสียเวลา ผมยอมเสียเวลาให้เขาเป็นครึ่งชั่วโมง 45 นาที ผมรักผู้อ่านของผม นี่แหละครับที่เขาเรียกว่าสาธารณชนผู้อ่าน นี่แหละที่จะชี้ว่าคุณจะเป็นนักประพันธ์ต่อไป มีอาชีพได้หรือไม่ได้ หาใช่นักวิจารณ์ไม่"  

 

และในปี 2555 พนมเทียนได้รับรางวัลยิ่งใหญ่ "นักเขียนอมตะ" คู่กับลาว คำหอม ผู้สร้างผลงาน "ฟ้าบ่มิกั้น" หากย้อนไปพนมเทียนให้สัมภาษณ์ในโอกาสนี้ด้วย "ผมเป็นนักอ่านมาก่อน และเป็นคนที่มีจินตนาการอยากจะเขียนหนังสือ ใจรักในการเขียนหนังสือ ผลงานเล่มแรกจริงๆ คือ ปฐพีเพลิง ต่อมาคือ มัสยา และที่เริ่มมีชื่อเสียงจริงๆ คือ เล็บครุฑ เขียนเรื่องยาวมาประมาณ 40 เรื่องแล้ว ไม่ใช่เล่มเดียวจบ แต่ละเรื่องหลายเล่มจบ โดยเฉพาะเพชรพระอุมา 48 เล่มจึงจะจบ ผลงานที่ประทับใจที่สุด ควรเป็นเพชรพระอุมา เพราะทุกสิ่งทุกอย่าง ในความจัดเจนและการใช้ชีวิตอย่างแท้จริงอย่างในเพชรพระอุมา เพราะตนเป็นนักเดินป่ามาก่อน และสรรพวิทยาการต่างๆ ที่รู้ใส่ไว้ในนี้ทั้งหมด แต่ว่าเรื่องที่ประทับใจจริงๆ เพื่อพิสูจน์ทางภาษาศาสตร์ที่เรียนมาโดยเฉพาะ คือเรื่องศิวาราตรี  

 

ส่วนการจะเป็นนักเขียนที่ดีได้เขาจะต้องรู้จริงในสิ่งที่เขียน นอกจากจะมีจินตนาการแล้ว ต้องรอบรู้ด้วย เอาว่ารอบรู้ในสิ่งที่ตนเองจะเขียนก็แล้วกัน  หากจะเขียนในสาขาอื่นที่ตัวเองยังไม่รู้ ก็ต้องไปศึกษาให้รู้แจ้ง อย่านั่งเทียนเขียน และเมื่อเขียนไปแล้วอย่าลืมให้สิ่งที่ดีงามแก่ผู้อ่านด้วย อย่าเอาแต่เรื่องความสนุกอย่างเดียว ขอให้มีความรู้สึกว่าแผ่นดินที่เราเกิดมานี้มีความสำคัญที่สุด ควรกตัญญูรู้คุณแผ่นดิน ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ นี่คือสิ่งที่ตนต้องการจริงๆ" 

 

ในวันที่สิ้นนักประพันธ์ผู้ยิ่งใหญ่นาม พนมเทียน ผู้คนในโลกวรรณกรรมต่างแสดงความเสียใจและอาลัยยิ่ง คงเหลือไว้เพียงชื่อและผลงานอันงดงามให้หนอนหนังสือได้ดื่มด่ำบทประพันธ์ชั้นยอด ส่วนประสบการณ์ความสำเร็จของพนมเทียนช่วยปลุกไฟให้นักเขียนรุ่นหลังต่อไป.

 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"