“จะเปิดหรือปิดต่อ”


เพิ่มเพื่อน    

 

ผมขอร่วมให้ความเห็นประเด็น “จะเปิดหรือจะปิดต่อ” นโยบายระยะห่างสังคมด้วยข้อมูลและข้อสังเกตุเหล่านี้นะครับ

ในสภาวะที่ดูเหมือนการติดเชื้อหรือการแพร่เชื้อโควิท19 ในประเทศไทยจะอยู่ในระดับที่ควบคุมได้ แม้จะยังไม่มีความชัดเจนจากฝ่ายนโยบายว่า กำลังใช้อะไรเป็นตัวชี้วัดว่า เราจะ “เปิดหรือปิด” ต่อไป มีเสียงจากหลายฝ่ายตั้งคำถามว่ามาตรการที่เป็นอยู่ในปัจจุบันจะสามารถยกเลิกหรือผ่อนปรนได้หรือไม่อย่างไร

มีทั้งที่เสนอให้ยกเลิก แต่ยกเว้นบางกิจการที่เข้าข่ายกิจกรรมหรือกิจการเสี่ยง อย่างสนามมวย สถานบันเทิง ซึ่งนอกจากจะเป็นที่พบผู้ป่วยหรือผู้ติดเชื้อสูงในช่วงที่ผ่านมา ก็ยังเป็นกิจกรรมที่มีประโยชน์น้อยต่อการดำเนินชีวิตประจำวัน

อีกด้านหนึ่งมองว่าน่าจะค่อยๆ อนุญาตให้หน่วยการผลิตบางหน่วยกลับมาทำการผลิตได้ โดยเฉพาะที่จะทำให้ผู้ยากไร้หรือผู้มีรายได้น้อยสามารถกลับมาทำงานมีรายได้ แทนที่จะปล่อยให้รัฐบาลต้องแบกรับภาระในการช่วยเหลือ

ถ้าไปดูประเทศต่างๆทั้งที่ผ่านการสู้กับโควิท จนอยู่ในสภาวะที่ดูจะควบคุมได้ รวมทั้งที่กำลังเผชิญปัญหาอย่างหนัก ก็น่าจะได้บทเรียน และแนวทางมาประกอบการตัดสินใจของฝ่ายต่างๆ 

ประเทศจีนและเกาหลีมักถูกอ้างถึงในฐานะประเทศที่ผ่านการต่อสู้จนควบคุมได้อยู่ในขณะนี้ ซึ่งชัดเจนว่า มาตรการที่เข้มงวดจำนวนหนึ่งยังคงมีอยู่ ในขณะที่ผ่อนปรนมาตรการเดิมลงไปจำนวนหนึ่ง แต่ทั้งหมดทำด้วยความไมประมาท ค่อยเป็นค่อยไป โดยมีระบบการติดตามและข้อมูลที่เป็นตัวช่วยเตือนว่า สถานการณ์อาจกลับมารุนแรงได้

อีกสองประเทศที่ทำให้หลายฝ่ายแปลกใจ หรือถึงขั้นตกใจ เพราะยังอยู่ในสภาวะที่ผู้ป่วยยังเพิ่มมากในแต่ละวัน แต่เริ่มผ่อนปรน หรือพูดถึงการผ่อนปรน หรือยกเลิกมาตรการที่ทำอยู่ อย่างสเปนที่จำนวนผู้ติดเชื้อและผู้ป่วยใหม่ยังแกว่งอยู่ที่ 3000-6500ต่อวันในช่วง 1 สัปดาห์ที่ผ่านมา รัฐบาลได้ผ่อนให้ประชาชนสามารถออกมาใช้ชีวิตได้ตามปกติ แต่ให้เว้นระยะห่าง และมีการแจกจ่ายหน้ากากอนามัยรวมทั้งเครื่องมือเครื่องใช้ที่จำเป็นในการป้องกันตัวเอง ส่วนในอเมริกาที่ยังเป็นประเทศอันดับหนึ่งในแง่ผู้ติดเชื้อและเสียชีวิต มีผู้ป่วยใหม่วันละ 2.5-3 หมื่นรายต่อวันในช่วงส้ปดาห์ที่ผ่านมา รัฐบาลกลางประกาศว่าน่าจะสามารถยกเลิกมาตรการที่เข้มงวดหลายอย่างได้ในหลายรัฐก่อนสิ้นเดือนเมษายน พร้อมกับออกแนวทางการยกเลิกมาตรการ ให้รัฐต่างๆนำไปพิจารณาในขณะที่ผู้ว่าการรัฐที่ประสบปัญหาหนัก เช่นนิวยอร์กและฟลอรีดาออกมาให้ความเห็นว่า รัฐบาลกลางไม่ควรจะเข้ามายุ่งและควรจะปล่อยให้แต่ละรัฐตัดสินใจเอง มิฉะนั้นอาจสร้างวิกฤติรัฐธรรมนูญว่าด้วยการถ่วงดุลย์อำนาจ

ล่าสุดรัฐบาลกลางออกแนวทาง “เปิดอเมริกาอีกครั้ง (open america again)” เมื่อวันที่19 เมษายน ซึงโดยรวมก็ชัดเจนว่า ให้กระทำด้วยความระมัดระวัง แต่ที่สำคัญกว่าคือให้ประเมินและสร้างความพร้อมและความเข้มแข็งของมาตรการ ติดตามและตรวจแยกกลุ่มเสี่ยง อย่างจริงจัง และการเปิดกิจการต่างๆ ก็ต้องทำเป็นขั้นเป็นตอน พร้อมจะกลับไปคุมเข้มแบบเดิมได้ โดยใช้ข้อมูลสถานการณ์และความพร้อมของระบบบริการสาธารณสุขเป็นฐานสำคัญ และแน่นอนว่า ภายใต้แนวทางที่ออกมาอำนาจการตัดสินใจอยู่ที่รัฐ ไม่ใช่รัฐบาลกลาง 
สำหรับประเทศไทย แนวคิดที่ทางสหรัฐฯ ออกมาน่าสนใจ อย่างน้อยใน 3 มิติต่อไปนี้

การมองว่าสถานการณ์กำลังดีขึ้นหรือไม่ ไม่ได้มองแค่ตัวชี้วัดเดียว และที่สำคัญไม่ได้มองแต่จำนวนคนไข้หรือผู้ติดเชื้อที่ลดลง แต่ต้องดูความพร้อมและภาระที่มีอยู่ของระบบบริการสาธารณสุข (ถ้ายังยุ่งกับโควิตเป็นหลัก หรือขาดแคลนอุปกรณ์ หรืออยู่ในภาวะปริ่มน้ำก็แปลว่ายังไมพร้อม)

ต้องมีระบบข้อมูลที่ติดตามสถานการณ์ได้อย่างใกล้ชิด และอาจต้องแยกแยะรายละเอียดได้ โดยเฉพาะในพื้นที่เสี่ยง ไม่ใชแค่ภาพรวมระดับประเทศ และระบบข้อมูลนี้ต้องสะท้อนสถานการณ์ที่เป็นจริง และบอกความผิดปกติได้ “ล่วงหน้า” ไม่ใช่เฉพาะเมื่อมีผู้ป่วยปรากฎตัวขึ้น

ที่อาจจะสำคัญมาก เป็นมิติที่ 3 คือต้องมีระบบและวิธีการทำงานที่เข้มข้นในการติดตามและจัดการกับ “กลุ่มเสี่ยงสูง” ที่ “อาจเป็นผู้แพร่เชื้อ” ได้ ‘ทันการณ์’ ซึ่งหากเจาะลงไปในรายละเอียด จะพบว่ามีอยู่อย่างน้อย 2 อย่างที่จำเป็นต้องสร้างและทำให้เกิดขึ้นอย่างจริงจังในบริบทไทย คือ การทำให้สามารถตรวจหาการติดเชื่อใน “กลุ่มผู้สงสัย” ได้เร็วและมากขึ้น ด้วยการปรับเกณฑ์ และทำให้การส่งตรวจหาเชื้อเป็นไปได้ง่ายขึ้น นี่ไม่นับกลไกที่จะมาช่วยสอดส่องหากลุ่มเสี่ยง ที่ต้องเกิดขึ้นอย่างจริงจังและทั่วถึงในระดับพื้นที่  ซึ่งแม้มีอยู่แต่ก็ยังเข้มแข็งและเข้มข้นแตกต่างกันมาก และอีกส่วนหนึ่งที่สำคัญ คือ สถานที่กักแยก “ผู้ต้องสงสัย” แทนการพึ่งมาตรการ การแยกตัวเองที่บ้าน อย่างที่ทำกันอยู่ในช่วงที่ผ่านมา 

หลักคิดที่บอกว่า ต้องดูความพร้อมของกลไกพื้นฐาน และต้องมีระบบข้อมูลที่ดีเพือให้ปรับตัวได้ทันเวลา (ไม่นับความสามารถของกลไกนโยบายที่จะหันกลับไปใช้มาตรการเข้มงวดขึ้น เมื่อจำเป็น) น่าจะสำคัญมากสำหรับการตัดสินใจในขั้นตอนต่อไป มากกว่าการมองเพียง ข้อมูลการแพร่ระบาดที่อาจจะกำลังดีขึ้นเรื่อยๆ 

การสร้างความพร้อมที่สำคัญ นอกจากโรงพยาบาลที่ต้องดูแลคนไข้ น่าจะคือการระดมกำลังจากภาคประชาชชนและชุมชน ทำงานร่วมกับภาครัฐ (ที่ไม่ใช่เพียงภาคสาธารณสุข) ในการเฝ้าระวัง ตจรวจหาการติดเชื้ออย่างรวดเร็วและเหมาะสม ตลอดไปถึงแยกดูแลผู้มีความเสี่ยงสูงที่จะแพร่เชื้อ ให้เขามีความมั่นใจและเกิดความรู้สึกว่าได้ช่วยลดความเสี่ยงของคนอื่น ไม่ใช่ผู้โชคร้าย 

ทราบว่าขณะนี้ฝ่ายสาธารณสุขกำลังปรับรายละเอียดของมาตรการติดตามและตรวจหากลุ่มเสี่ยง เพื่อให้พบผู้เข้าข่ายเสี่ยงได้มากขึ้นและเร็วขึ้น เชื่อว่า บทบาทของชุมชน ก็จะสำคัญมากขึ้น โดยเฉพาะในส่วนที่จะช่วยชี้เป้า และคอยช่วยเหลือผู้อยู่ในข่ายต้องแยกดูแล
ความพร้อมอีกส่วนหนึ่งคือ ระบบดูแลป้องกันกลุ่มเปราะบางไม่ให้เสี่ยงต่อการติดเชื้อ เช่นกลุ่มผู้สูงอายุ ซึ่งที่ผ่านมาแม้จะมีผู้ป่วยกลุ่มนี้ไม่มากก็ไม่ได้แปลว่า เรามีระบบที่เน้นการป้องกันกลุ่มเหล่านี้ที่มั่นใจได้ และคงต้องช่วยกันสร้างโดยกลไกชุมชน 
ความท้าทายสำคัญจะอยู่ในพื้นที่เมือง หรือในที่ชุมชนยังไม่เข้มแข็งเท่าที่ควร

หากมั่นใจว่าพร้อม การจะเปิดหรือผ่อนปรนมาตรการใด ในกลุ่มใด หรือพื้ที่ใด ก็คงเป็นเรื่องที่ต้องใช้ข้อมูลที่มีคุณภาพ โดยตระหนักว่า ไม่ว่าจะมีคุณภาพเพียงใดก็เป็นเพียงตัวช่วย ไม่ใช่ความจริงสุดท้าย ที่ไม่มีใครเถียงได้ 

ในท้ายที่สุด ต้องยอมรับว่า การสร้างพฤติกรรมและความเคยชินใหม่ๆ ซึ่งอาจรวมถึงการสร้างรูปแบบการผลิตทางเศรษฐกิจใหม่ๆ คงเป็นเรื่องที่ปฎิเสธไม่ได้ เพราะเราคงต้องอยู่กับการควบคุมการระบาดของโรคนี้ไปอีกนาน และถือโอกาสหารูปแบบการผลิตทางเศรษฐกิจ ที่ไม่ขึ้นกับการรวมตัว หรือการเคลื่อนที่ของประชากรจำนวนมากๆ หรือการกระจายโอกาสทางเศรษฐกิจ และคุณภาพชีวิตที่ดีไปสู่เมืองเล็ก  แทนที่จะไปตั้งความหวังว่า จะมีวัคซีนมาช่วยเพื่อที่เราจะได้กลับไปมีชีวิตแบบเดิมๆ เสมือนหนึ่งว่านี่เป็นเพียงฝันร้าย และเรากำลังรอที่จะตื่นจากฝันร้าย

นายแพทย์สมศักดิ์  ชุณหรัศมิ์
กลุ่มนโยบายสาธารณะเพื่อสังคมและธรรมาภิบาล



เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"