นายกฯ แจงลดค่าไฟฟ้าพยายามดูแลอย่างเต็มที่ ขอเห็นใจหน่วยงานต้องเอางบประมาณไปใช้อนาคตด้วย "สนธิรัตน์" ระบุลดค่าไฟ 3 เดือนถ้วนหน้า 22 ล้านราย ใช้งบ 2.3 หมื่นล้าน ครม.เห็นชอบแล้วใช้ไฟฟ้าไม่เกิน 150 หน่วยต่อเดือน ใช้ฟรี 3 เดือน ใช้ไม่ถึง 800 หน่วยให้จ่ายค่าไฟฟ้าเท่ากับหน่วยการใช้ไฟเดือน ก.พ.พ่วงส่วนลด 50-70% "ศรีสุวรรณ" แฉจัดซื้อพัสดุภัณฑ์แพงหูฉี่ทำให้ต้นทุนแพงจ่อร้อง สตง.สอบ
เมื่อวันอังคาร พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม แถลงภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ถึงมาตรการช่วยเหลือค่าไฟฟ้า ในส่วนที่เป็นการเช่าหอพัก อพาร์ตเมนต์ เพื่อให้ครอบคลุมว่า ฟังทุกส่วนที่เกี่ยวข้องทั้งกระทรวงมหาดไทย กระทรวงพลังงาน คณะกรรมการกำกับดูแลพลังงาน ซึ่งมีมาตรการเสนอขึ้นมาเพื่อลดค่าใช้ไฟฟ้าให้ประชาชนทั่วไป แต่ก็ต้องเห็นใจในเรื่องของงบประมาณที่ทั้ง 3 หน่วยงานจำเป็นจะต้องใช้ในการบริหารต่อไปในอนาคต เพราะเป็นเรื่องสำคัญ ซึ่งรัฐบาลก็พยายามดูแลอย่างเต็มที่แล้ว การพูดจาอะไรต่างๆ ที่บิดเบือนไม่เกิดประโยชน์ให้ร้ายซึ่งกันและกัน บางทีก็เกิดปัญหาในการทำงาน ซึ่งจะทำให้การทำงานนั้นยากขึ้น ช้าขึ้น ทำให้ส่งผลกระทบต่อโดยรวมทั้งสิ้น
นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รมว.พลังงาน กล่าวถึงการพิจารณามาตรการเยียวยาการลดภาระค่าไฟฟ้าระหว่างเดือน มี.ค.-พ.ค. วงเงิน 23,688 ล้านบาทว่า ขอขอบคุณนายกรัฐมนตรีและ ครม.ที่มีมติรับทราบมาตรการช่วยเหลือประชาชนเพื่อบรรเทาภาระค่าไฟฟ้าในกลุ่มของไฟบ้านที่ใช้ในครัวเรือนอย่างถ้วนหน้า ซึ่งถือเป็นต้นทุนในการใช้ชีวิตของประชาชน ที่ร่วมมือกันดำเนินการตามแนวนโยบายของรัฐบาลในการป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 ด้วยการทำงานที่บ้าน ตลอดจนขอขอบคุณหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) และทั้ง 3 การไฟฟ้า ที่ร่วมกันหารือเพื่อหาทางช่วยเหลือประชาชนอย่างเร่งด่วน สำหรับมาตรการดังกล่าวนั้นจะเป็นการช่วยเหลือความเดือดร้อนของประชาชนที่ใช้ไฟฟ้าประเภทที่อยู่อาศัยจำนวน 22 ล้านราย ได้ประมาณการว่ามาตรการดังกล่าวจะต้องใช้งบประมาณ 23,688 ล้านบาท
"ยืนยันว่าจะต้องมีการทำการบ้านพิจารณาหามาตรการมารองรับ เพื่อให้การดำเนินการเป็นไปอย่างรอบคอบต่อไป ส่วนภาคธุรกิจ ผู้ประกอบการ โรงงานอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบก็เริ่มมีการแสดงความคิดเห็นผ่านสื่อ หรือแจ้งตรงมายังตนอย่างไม่เป็นทางการ ซึ่งขณะนี้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องอยู่ระหว่างการรวบรวมข้อมูล ศึกษาปัญหาและอุปสรรค ก่อนจะนำมาพิจารณาอีกครั้ง" รมว.พลังงานกล่าว
นางนฤมล ภิญโญสินวัฒน์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ครม.มีมติรับทราบแนวทางการดำเนินการมาตรการช่วยเหลือผู้ใช้ไฟฟ้าที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) เพิ่มเติม ตามที่กระทรวงพลังงาน (พน.) เสนอ โดยให้ พน.ดำเนินการตามอำนาจหน้าที่และกฎหมายต่างๆ ให้ถูกต้อง และให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมกันพิจารณาแหล่งเงินให้รอบคอบ ดังนี้ 1.สำหรับผู้ใช้ไฟฟ้าประเภทบ้านอยู่อาศัย ที่ใช้ไฟฟ้าไม่เกิน 150 หน่วยต่อเดือน (ประเภทที่ 1.1 หรือ 1.1.1) ให้ใช้ไฟฟ้าฟรีเป็นเวลา 3 เดือน ในรอบการใช้ไฟฟ้าเดือนมีนาคม ถึง พฤษภาคม 2563 หากใช้ไฟฟ้าเกิน 150 หน่วยภายใน 3 เดือนดังกล่าวจะไม่ถูกจัดอยู่ในประเภทที่ 1.2 หรือ 1.1.2
2.สำหรับผู้ใช้ไฟฟ้าประเภทบ้านอยู่อาศัย ที่ใช้ไฟฟ้าเกิน 150 หน่วยต่อเดือน (ประเภทที่ 1.2-1.3 หรือประเภทที่ 1.1.2-1.1.3) ให้จ่ายค่าไฟฟ้ารายเดือนสำหรับรอบการใช้ไฟฟ้าเดือนมีนาคม ถึงพฤษภาคม 2563 โดยใช้หน่วยการใช้ไฟฟ้าของเดือนกุมภาพันธ์ 2563 เป็นฐานในการอ้างอิง ดังนี้ 2.1 หากการใช้ไฟฟ้ารายเดือนน้อยกว่าหน่วยการใช้ไฟฟ้าของเดือนกุมภาพันธ์ 2563 ให้จ่ายค่าไฟฟ้าตามหน่วยการใช้ไฟฟ้าจริงในเดือนนั้นๆ 2.2 หากการใช้ไฟฟ้ารายเดือนมากกว่าหน่วยการใช้ไฟฟ้าของเดือนกุมภาพันธ์ 2563 แต่ไม่ถึง 800 หน่วย ให้จ่ายค่าไฟฟ้าเท่ากับหน่วยการใช้ไฟฟ้าของเดือนกุมภาพันธ์ 2563
2.3 หากการใช้ไฟฟ้ารายเดือนมากกว่าหน่วยการใช้ไฟฟ้าของเดือนกุมภาพันธ์ 2563 และมากกว่า 800 หน่วย แต่ไม่ถึง 3,000 หน่วย ให้จ่ายค่าไฟฟ้าเท่ากับหน่วยการใช้ไฟฟ้าของเดือนกุมภาพันธ์ 2563 บวกด้วยค่าไฟฟ้าสำหรับหน่วยที่มากกว่าหน่วยการใช้ไฟฟ้าของเดือนกุมภาพันธ์ 2563 ในอัตราร้อยละ 50 ของค่าไฟฟ้าจริง 2.4 หากการใช้ไฟฟ้ารายเดือนมากกว่าหน่วยการใช้ไฟฟ้าของเดือนกุมภาพันธ์ 2563 และมากกว่า 3,000 หน่วย ให้จ่ายค่าไฟฟ้าเท่ากับหน่วยการใช้ไฟฟ้าของเดือนกุมภาพันธ์ 2563 บวกด้วยค่าไฟฟ้าสำหรับหน่วยที่มากกว่าหน่วยการใช้ไฟฟ้าของเดือนกุมภาพันธ์ 2563 ในอัตราร้อยละ 70 ของค่าไฟฟ้าจริง
"การดำเนินมาตรการดังกล่าวจะเป็นการช่วยเหลือและบรรเทาความเดือดร้อนให้ผู้ใช้ไฟฟ้าประเภทบ้านอยู่อาศัย จำนวนประมาณ 22 ล้านราย เป็นวงเงินประมาณ 23,668 ล้านบาท (ไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม)" นางนฤมลกล่าว
ด้านนายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย เปิดเผยว่า สาเหตุที่ค่าไฟฟ้าแพงนั้นไม่ใช่เกิดขึ้นในช่วงนี้เท่านั้น แต่รัฐบาลมักใช้กลไกดูดเงินออกจากกระเป๋าประชาชนหลายช่องทางอย่างแยบยลโดยไม่รู้สึกตัวผ่านค่า FT ค่าบริการรายเดือน ค่าพลังงานไฟฟ้าแบบก้าวหน้าเป็นขั้นบันได คือใช้จำนวนมากก็เสียค่าไฟฟ้ามากขึ้น ทั้งที่ควรเรียกเก็บตามปริมาณการใช้ไฟฟ้าตามจำนวนหน่วยต่อเดือนจากปริมาณการใช้จริง สาเหตุหนึ่งที่ทำให้ต้นทุนของการผลิตไฟฟ้าแพงมาก คือ การจัดซื้อจัดหาพัสดุครุภัณฑ์สำหรับการซ่อมบำรุง สถานีไฟฟ้าแรงสูง และสถานีไฟฟ้าย่อยในพื้นที่ต่างๆ ทั่วประเทศในโครงการ Supply and Construction of 500/230 kv(GIS) มีการจัดซื้อจัดหากันในราคาแพงกว่าที่ซื้อขายในท้องตลาดทั่วไปมากกว่า 10 เท่าและมีคุณภาพต่ำ ซึ่งเป็นเรื่องที่ผิดปกติอย่างมาก
เช่น เครื่อง Portable SF6 Gas leakage detector ราคาจริง 12,000 บาท แต่ขายให้การไฟฟ้า 350,431 บาท, เครื่อง Gas decom position tester ราคาจริง 120,000 บาท แต่ขายให้การไฟฟ้า 1,121,379 บาท, เครื่อง Precision pressure gauge ราคาจริง 15,000 บาท แต่ขายให้การไฟฟ้า 192,737 บาท และอื่น ๆ อีกมากมาย
"เมื่อมีการจัดซื้อจัดหากันมาได้แล้วก็มาบีบบังคับให้หัวหน้าสถานีไฟฟ้าแต่ละแห่งเซ็นรับครุภัณฑ์ดังกล่าว โดยอ้างว่าเป็นธรรมเนียมปฏิบัติอย่าเรื่องมาก ซึ่งหัวหน้าสถานีไฟฟ้าบางแห่งกลัวติดร่างแหในการตรวจสอบ จึงไม่กล้าเซ็นรับ จำต้องไปแจ้งความลงบันทึกประจำวันไว้ที่สถานีตำรวจ กรณีดังกล่าวเป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งที่สะท้อนให้เห็นว่า ราคาค่าไฟฟ้าที่ถูกโขกสับในราคาแพงทุกวันนี้ ต้นเหตุหนึ่งคือการจัดซื้อจัดหาพัสดุครุภัณฑ์มาในราคาสูงอย่างผิดปกติ ซึ่งสุดท้ายจะถูกนำไปรวมเป็นค่าต้นทุนการผลิตและบริการของการไฟฟ้า และถูกนำไปรวมเป็นค่า FT มาดูดเงินในกระเป๋าประชาชนทุกครัวเรือนนั่นเอง สมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทยจะนำความพร้อมพยานหลักฐานไปร้องเรียนต่อผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน หรือ สตง. เพื่อดำเนินการตรวจสอบและเอาผิดผู้ที่เกี่ยวข้องทั้งหมดในวันพุธที่ 22 เม.ย.นี้" นายศรีสุวรรณกล่าว
นายรยุศด์ บุญทัน ผู้ร่วมก่อตั้งพรรคสามัคคีไทย เปิดเผยว่า สืบเนื่องจากนโยบาย "อยู่บ้าน หยุดเชื้อ เพื่อชาติ" โดยอยู่ทำงานที่บ้าน หรือ Work from Home ประกอบกับเป็นช่วงหน้าร้อนเป็นผลให้ปริมาณการใช้ไฟฟ้าสูงขึ้นด้วย ส่งผลให้จ่ายค่าไฟฟ้าสูงขึ้นตามระบบการคิดค่าไฟของการไฟฟ้าที่คิดแบบอัตราก้าวหน้า ยิ่งใช้เยอะยิ่งจ่ายเยอะ การคิดค่าไฟในอัตราก้าวหน้าดังกล่าวดูจะเป็นสิ่งที่สวนทางกับสิ่งที่รัฐบาลพยายามช่วยเหลือก่อนหน้านี้ ยิ่งชี้ให้เห็นว่าเป็นการเพิ่มภาระค่าครองชีพและซ้ำเติมความลำบากของประชาชน
ทั้งยังส่อต่อการขัดหลักการเจตนารมณ์ของกฎหมาย ซึ่งการไฟฟ้าถือเป็นสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานของรัฐที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิตของประชาชน ซึ่งเป็นหน้าที่ของรัฐจะต้องจัดให้มีอย่างทั่วถึง โดยมีการกำหนดไว้ทั้งกฎหมายสูงสุดคือรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยปี พ.ศ.2560 หมวด 5 หน้าที่ของรัฐ มาตรา 56 วรรค 3 มีสาระสำคัญที่กล่าวว่า การที่รัฐดำเนินการให้มีสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐาน รัฐต้องดูแลมิให้มีการเรียกเก็บค่าบริการจนเป็นภาระแก่ประชาชนเกินสมควร หรือกฎหมายแม่บทที่เกี่ยวข้องกับด้านพลังงาน พ.ร.บ.การประกอบกิจการพลังงาน พ.ศ.2550 มาตรา 7(2) มาตรา 65 (4) ซึ่งเกี่ยวกับการปกป้องผลประโยชน์ของผู้ใช้พลังงานทั้งทางด้านอัตราค่าบริการและคุณภาพการให้บริการอย่างเป็นธรรม
"การไฟฟ้าส่วนภูมิภาคและการไฟฟ้านครหลวง ซึ่งถือเป็นรัฐวิสาหกิจที่ดำเนินกิจการของรัฐอันเกี่ยวเนื่องกับระบบสาธารณูปโภคของประชาชน จะต้องเป็นองค์กรที่ไม่แสวงหากำไรอันเกินควรกับประชาชน ไม่ว่าจะในภาวะปกติหรือภาวะวิกฤติเช่นนี้ และการคิดอัตราค่าไฟแบบก้าวหน้าดังกล่าวอาจจะดูว่าส่อขัดกับหลักการของกฎหมายเฉพาะของทั้ง 2 องค์กรหรือไม่ คือ พ.ร.บ.การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค พ.ศ.2503 มาตรา 41 และ พ.ร.บ.การไฟฟ้านครหลวง พ.ศ.2501 มาตรา 40 รัฐไม่ควรแสวงหาผลกำไรบนความทุกข์ยากของประชาชนโดยเฉพาะในช่วงวิกฤติเช่นนี้ จึงขอเสนอว่าหลังจากมาตรการช่วยเหลือของรัฐบาลสิ้นสุดลง ขอให้มีการทบทวนยกเลิกการคิดค่าไฟฟ้าในอัตราก้าวหน้าดังกล่าว หรือถ้าหากสามารถทำได้เลยก็จะเป็นการบรรเทาทุกข์และช่วยเหลือให้พี่น้องประชาชน" นายรยุศด์กล่าว.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |