นายกฯ ระบุสถานการณ์โควิดเริ่มดีขึ้นตามลำดับ แต่ขออย่าผลีผลาม ต้องระมัดระวังมากที่สุด เผยประชุม ครม.อังคารหน้าจะพิจารณาต่ออายุ พ.ร.ก.ฉุกเฉินหรือไม่ ย้ำสุขภาพคนไทยต้องมาก่อน ถ้าสูญเสียล้มตายมากกว่านี้จะทำอย่างไร แต่นักการเมืองฝ่ายประชาธิปไตยยังสนุกเล่นการเมือง ส.ส.เพื่อไทยเปรียบรัฐใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินเหมือนขี่ช้างจับตั๊กแตน ส่วนอดีตนายพลอนาคตใหม่แนะให้คิดแบบฝรั่ง รักในสิทธิและเสรีภาพยิ่งกว่ากลัวความตาย
พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี แถลงภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ถึงสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 เมื่อวันที่ 21 เม.ย.63 ว่าขณะนี้หลายอย่างดีขึ้น สถิติผู้ติดเชื้อก็ลดลงมาตามลำดับหลายวันมาแล้ว ก็คงต้องดูต่อไปเพื่อดำเนินการขั้นตอนต่อไปในระยะต่อไป อย่าเพิ่งผลีผลาม หลายท่านก็เรียกร้องให้มีการปลดโน่นปลดนี่กันในเวลานี้
"ผมคิดว่าเราต้องระมัดระวังอย่างที่สุด ต้องฟังข้อมูลจากด้านสาธารณสุข ด้านการแพทย์ต่างๆ และบริการอื่นๆ เรามีบริการรองรับเพียงพอแล้วหรือไม่ ผมไม่ต้องการให้มีการตัดสินใจด้วยแรงกดดันหลายๆ อย่าง ผมอยากให้เป็นไปตามข้อเท็จจริงที่ปรากฏอยู่ ถ้าเราเริ่มอะไร หรือปลดอะไรเร็วเกินไป สิ่งที่จะตามมาหากมีการระบาดเกิดขึ้น สิ่งที่เราทำมาทั้งหมดในระยะเวลานานพอสมควรก็จะล้มเหลวทั้งหมด แล้วจะทำอย่างไร นี่คือสิ่งที่ต้องดูแลเป็นพิเศษ" พล.อ.ประยุทธ์กล่าว
นายกฯ กล่าวถึงการต่อ พ.ร.ก.ฉุกเฉินว่า เรื่องการพิจารณาประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินจะมีการพิจารณาอีกครั้งในวันอังคารหน้า ว่าจะต้องดำเนินการต่อไปหรือไม่อย่างไร อย่างที่บอกทุกอย่างขึ้นอยู่กับความร่วมมือ สถิติต่างๆ และทางด้านการสาธารณสุขจะเป็นตัวชี้วัดสิ่งเหล่านี้ ในเรื่องการผ่อนปรนมาตรการวันนี้ให้ใช้ดุลพินิจพิจารณา ในเรื่องการขนส่งสินค้าของภาคประชาชน ที่มีการร้องเรียนมาบางทีก็ไม่สามารถดำเนินการได้ ตนได้ขอให้กระทรวงมหาดไทยกับหน่วยงานความมั่นคงดูแลในเรื่องนี้ และดูแลประชาชนในส่วนนี้ด้วย จริงๆ แล้วมีข้อผ่อนปรนอยู่แล้ว แต่อาจจะยังไม่ทั่วถึง อาจจะยังไม่เข้าใจกัน ดังนั้นเรื่องการขนส่งสินค้าของประชาชนขอให้หน่วยงานในพื้นที่ได้พิจารณาด้วย
นายกฯ กล่าวต่อว่า ส่วนการละเมิด พ.ร.ก.ฉุกเฉินก็ยังมีอยู่จำนวนมาก ยังไม่เป็นที่น่าพอใจ ขอให้ทุกคนร่วมมือกับรัฐบาลซึ่งจะเห็นตัวเลขต่างๆ ที่ลดลง ไม่ว่าจะเป็นจำนวนผู้ติดเชื้อรายวันลดลง ผู้รักษาหายมากขึ้น มันเกิดจากที่พวกเราทุกคนร่วมมือกัน คงไม่ใช่รัฐอย่างเดียว หากประชาชนร่วมมือกันมากก็จะลดลงได้มาก และเรื่องการผ่อนปรนก็จะมากขึ้นในอนาคต วันนี้ที่สั่งการไป ตนไม่ได้ประกาศว่าจะเลิกวันที่ 1 พ.ค.หรือวันที่อะไรต่างๆ ไม่เคยพูดตรงนี้ เพราะบอกแล้วว่าต้องดูสถิติต่างๆ ให้มีความรอบคอบ การผ่อนปรนอะไรก็ตามผู้ประกอบการต่างๆ ต้องเสนอมาตรการของตัวเองขึ้นมาให้รับทราบว่าจะทำอะไรได้บ้าง
เช่นการเตรียมเรื่องสถานที่ เจ้าหน้าที่จะต้องปลอดภัย มีการตรวจโรคอะไรต่างๆ ตรวจเชื้อให้รัดกุม มีมาตรการเว้นระยะห่าง มีการกำหนดจำนวนคน การกันพื้นที่ ต้องทยอยเปิดได้เป็นบางส่วน ในระยะต่อไปแต่ยังไม่บอกว่าจะมาเมื่อไหร่ ท่านก็เตรียมความพร้อมของท่าน และเสนอมาให้ทราบในส่วนที่ต้องการให้เปิด แต่บางอย่างเมื่อพิจารณาแล้วก็ยังไม่เหมาะสมก็ไม่เปิด
"ทราบดีว่าทุกคนเดือดร้อน แต่สิ่งที่เดือดร้อนมากกว่านั้นคือสุขภาพ ถ้าที่มีการบาดเจ็บ สูญเสีย ล้มตายกันมากกว่านี้แล้วจะทำอย่างไร สิ่งที่เราทำมาทั้งหมดถ้าทำอะไรเร็วเกินไป มีแรงกดดันสูง โดยที่มันไม่ใช่สาระสำคัญมากนัก แต่เป็นการระดมให้ประชาชนเกิดความวิตกกังวล หรือให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อยขึ้นมา สิ่งที่เราทำมาทั้งหมดจะสูญเสียเป็นศูนย์ในทันที และจะเรียกกลับมาไม่ได้ ซึ่งเป็นสิ่งที่รัฐบาลโดยเฉพาะนายกรัฐมนตรีจะต้องตรวจสอบให้เกิดความชัดเจน จึงจะมีมาตรการดังกล่าวมาได้ อันนี้ขอให้รับทราบด้วย" นายกฯ กล่าว
ขณะที่ นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค. ตอบคำถามผู้สื่อข่าวที่ถามว่าวันนี้การจราจรใน กทม.เริ่มมาติดขัด สะท้อนได้หรือไม่ว่าคนเริ่มกลับมาทำงาน ยังจำเป็นต้องขอความร่วมมือให้คนยังทำงานอยู่บ้านอยู่ใช่หรือไม่ ว่าเรายังอยู่ในการประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ยังรณรงค์ให้ลดการเดินทาง วันนี้เรามีตัวเลขผู้ป่วยรายใหม่ต่ำกว่า 20 ราย เพราะคนไทยร่วมมือกัน หลายคนเบาใจได้ แต่วางใจยังไม่ได้แน่นอน
"เนื่องจากมีตัวอย่างประเทศสิงคโปร์ให้เห็น เพียง 4 คนยังทำให้ขึ้นมาเป็นพันได้ ถ้าเราคุมได้ไม่ดีตัวเลขจะยกกำลังขึ้นมา ดังนั้นต้องขอความร่วมมือเอกชนถ้าสามารถสั่งทำงานที่บ้านได้ก็ให้ทำ รัฐยังยืนยันมาตรการนี้อยู่" โฆษก ศบค.ระบุ
ผู้สื่อข่าวถามถามว่า ประเทศเพื่อนบ้านของไทยมีผู้ป่วยรายใหม่สูงขึ้นระลอกใหม่ ไทยจะป้องกันการระบาดระลอกใหม่อย่างไร นพ.ทวีศิลป์กล่าวว่า เราต้องมีการตัดสินใจอย่างที่นายกฯ บอกในที่ประชุม ศบค.ว่าเรื่องการติดเชื้อเกิดขึ้นแล้วและเราคุมได้ดีเป็นเรื่องหนึ่ง ซึ่งการประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉินและเคอร์ฟิวมีส่วนช่วยและเป็นผลดี แต่การจะผ่อนปรนหรือยกเลิกต้องเรียนรู้จากประเทศต่างๆ เช่นที่อังกฤษ แม้ตัวเลขผู้ป่วยรายใหม่จะต่ำสุดในรอบ 2 สัปดาห์ แต่รัฐบาลเขายังไม่มีท่าทีผ่อนคลายล็อกดาวน์ ตรงกันข้ามกับสหรัฐอเมริกาที่ตัวเลขยังพุ่งสูงอยู่ แต่ประชาชนหลายพื้นที่เรียกร้องให้ผ่อนปรนการล็อกดาวน์ ซึ่งตรงข้ามกับสถานการณ์ที่เป็นอยู่ โดยหลายประเทศใช้แตกต่างกัน
โฆษก ศบค.กล่าวว่า ในส่วนของประเทศไทยอธิบดีกรมควบคุมโรคได้แจ้งให้ที่ประชุมวงเล็กเข้าใจว่า 1.การผ่อนปรนไม่ใช่การเลิก 2.การผ่อนปรนต้องควบคู่ไปกับการป้องกันและควบคุมโรค ซึ่งเราใช้พ.ร.ก.ฉุกเฉินและเคอร์ฟิว 3.มีจุดจัดการปฏิบัติการด้านต่างๆ ซึ่งที่เราประสบความสำเร็จคือ ระดับจังหวัดและประชาชนในจังหวัดให้ความร่วมมือ เป็นหลักการสามข้อ แน่นอนว่าไม่ได้มีการยกเลิก แต่การผ่อนปรนจะเกิดขึ้นที่จังหวัดไหน เวลาไหน ขึ้นอยู่กับสถิติเหมือนที่นายกฯ ระบุไว้
วันเดียวกัน นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว ส.ส.น่าน และแกนนำพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า สถานการณ์การควบคุมการระบาดไวรัสโควิด-19 จากวันนี้จนถึงวันที่ 30 เม.ย. เชื่อว่าน่าจะสามารถควบคุมได้ในระดับที่น่าพอใจ เพราะจำนวนผู้ป่วยรายใหม่อยู่ในเกณฑ์ที่ควบคุมได้ ยกเว้นบางจังหวัดที่อาจจะยังมีตัวเลขสูงอยู่ หากมาตรการทางด้านสาธารณสุขควบคุมได้ ไม่จำเป็นที่จะต้องต่ออายุพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน (พ.ร.ก.ฉุกเฉิน) รัฐไม่ควรขี่ช้างจับตั๊กแตน เอา พ.ร.ก.ฉุกเฉินมาใช้กับการแพร่ระบาดโควิด-19
นพ.ชลน่านกล่าวว่า ตั้งแต่ พล.อ.ประยุทธ์รวบอำนาจในการบริหารมาไว้ที่ตัวเอง ไม่น่าจะมีผลต่อการควบคุมการระบาดของไวรัส กลไกปกติของทีมแพทย์ทำงานเต็มความสามารถ ผลที่ตามมาจากการรวบอำนาจของ พล.อ.ประยุทธ์ คือการดำเนินการในเรื่องต่างๆ ของรัฐบาลล้มเหลวมาตลอด รวมทั้งมีความเคลือบแคลงต่อความไม่โปร่งใสในการบริหารเวชภัณฑ์ทางการแพทย์และหน้ากากอนามัย ดังนั้นรัฐต้องเคลียร์ข้อสงสัยของประชาชน
พล.ท.พงศกร รอดชมภู อดีต ส.ส.บัญชีรายชื่อ และอดีตรองหัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กระบุว่า สำนักข่าวเยอรมนีประโคมข่าวว่า "บ้าละ ที่คนออกมาเที่ยวในสวนแบบไม่สนใจกฎหมายเรื่องโควิดของเยอรมนี"
"บางท่านอาจว่าเขามาตากแดด ตามคำแนะนำของผู้นำบางประเทศ คนไทยเราอาจจะรู้สึกไม่ค่อยคุ้นเคย ผมเลยเอามาแสดงให้ดูบ่อยๆ หวังว่าจะไม่ว่ากัน" พล.ท.พงศกรระบุและว่า ข่าวในสหรัฐฯ ที่หลายรัฐ อย่างเช่นในเทกซัสก็ประท้วงไม่ใส่หน้ากาก รัฐอื่นๆ อย่างฟลอริดาก็ให้หยุดการกักตัว ซึ่งคนไทยส่วนมากยังไม่เข้าใจอารมณ์ของฝรั่ง
ในเยอรมนี ผมเดาเอานะเขารู้ว่ารัฐบาลเขามีระบบสาธารณสุขที่ดี เขากักตัวเองจนพ้น 14 วันมาสองรอบแล้ว รู้สึกว่าถ้าเว้นระยะห่างได้พอ ใส่หน้ากากเวลาจำเป็น ไม่ต้องตลอดเวลา ก็มีความปลอดภัย คนเยอรมันมีวินัยสูง คงไปหาว่าเขาไร้วินัยยากมาก ลองฝึกคิดแบบฝรั่งบ้างก็ดีนะครับ ใช้เหตุผลและวิทยาศาสตร์เยอะๆ เพื่อลองดูสังคมในมุมอื่นๆ บ้าง วิกฤติแบบนี้มีเรื่องใหม่ๆ เกิดขึ้นให้วิเคราะห์ได้ดีทีเดียว น่าสนุกมาก" พล.ท.พงศกรระบุ.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |