จาก‘โฆษกโควิด-จิตแพทย์’ ถึง‘เหยื่อการเมือง’คนล่าสุด


เพิ่มเพื่อน    

      ถูกลากเข้าสู่ “สงครามการเมือง” จนได้ ทั้งที่เป็นเพียงข้าราชการประจำ สำหรับ นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค. หลังมีแฟนคลับขั้วตรงข้ามรัฐบาล ทั้งที่มาในเวอร์ชั่น “ปกติ” และ “อวตาร” ไล่ถล่มถึงเฟซบุ๊กส่วนตัว จนต้องปรับจากโหมดสาธารณะสู่โหมดส่วนตัว

                ปฐมเหตุกระแสโจมตีมีจุดเริ่มต้นจากนักการเมือง พิธีกร ผู้จัดรายการ ที่ออกโรงวิพากษ์วิจารณ์ประเด็นเงิน 5,000 บาท  เพียงพอต่อการดำรงชีพในต่างจังหวัด และเรื่องผักสวนครัวรั้วกินได้ ที่ “หมอทวีศิลป์” เจตนาสื่อสารให้เห็นการมองโลกในแง่บวก และปรับตัวให้เข้ากับสถานการณ์ แต่ถูกแปรความผิด ทั้งที่จงใจและไม่จงใจ

                ตลอดจนการนำเรื่องผลงานของ “บิ๊กตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม มาแถลงประจำวันว่า ไม่เหมาะสม แรกๆ “หมอทวีศิลป์” สามารถตั้งรับได้ดี  พร้อมรับข้อเสนอแนะโดยไม่ตอบโต้ใดๆ

                แม้แต่ทุกวันนี้เอง “หมอทวีศิลป์” ก็ยังไม่เคยเอ่ยต่อปากต่อคำกับคนใด ไม่ว่าจะถูกวิพากษ์วิจารณ์แบบสุภาพชน หรือหยาบกร้าน เพียงแต่ต้องปรับโหมดเฟซบุ๊กส่วนตัว หลังมีบรรดาฝ่ายตรงข้ามรัฐบาลพาเหรดกันถล่ม โดยไม่ได้อยู่บนพื้นฐานข้อมูล เหตุผล และสุภาพชน

                แต่ขณะเดียวกัน ก็มีประชาชนอีกจำนวนไม่น้อยที่เป็นแฟนคลับส่วนตัว และที่ชื่นชมความสามารถ ออกมาให้กำลังใจแก่ “หมอทวีศิลป์” มากมาย ทั้งในรูปแบบการจัดทำภาพ และวาดรูปการ์ตูนให้กำลังใจ “หมอทวีศิลป์ เพื่อให้มีกำลังใจทำหน้าที่โฆษก ศบค.ต่อไป แม้จะมีบางส่วนวิพากษ์วิจารณ์

                กรณี “หมอทวีศิลป์” ถือเป็นตัวอย่างที่เห็นได้ชัดที่สุด ในนิยามคำว่า “เหยื่อการเมือง”

                หากมองย้อนกลับไปในช่วงแรกๆ ที่ยังไม่มี ศบค. นพ.ทวีศิลป์ เป็น 1 ในทีมกระทรวงสาธารณสุข ที่ทำหน้าที่แถลงตัวเลขสถานการณ์ผู้ป่วยไวรัสโควิด-19 ในประเทศไทย

                ขณะนั้นมีการแถลงข่าวเรื่องไวรัสโควิด-19 อยู่ 2 จุด คือ ที่กระทรวงสาธารณสุข โดยบุคลากรทางการแพทย์ กับที่ศูนย์โควิด-19 ทำเนียบรัฐบาล ซึ่งมีนายเทวัญ ลิปตพัลลภ รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นผู้กำกับดูแล ปรากฏว่า ประชาชนให้ความเชื่อมั่นไปที่การแถลงของกระทรวงสาธารณสุขมากกว่า

                จิตแพทย์รายนี้ ซึ่งมีอีกบทบาทคือ โฆษกกระทรวงสาธารณสุข ได้รับคำชื่นชมอย่างมาก โดยการแถลงที่ชัดเจน ไม่ยืดเยื้อ มีองค์ความรู้ น่าเชื่อถือ จนเริ่มมีแฟนคลับ

                ต่อมา พล.อ.ประยุทธ์ ได้ประกาศพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 หรือ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน พร้อมกับตั้ง “ศบค.” ขึ้นมา

                ในขณะนั้นประชาชนในประเทศต่างให้ความเชื่อมั่นและให้กำลังใจบุคลากรทางการแพทย์มากกว่าฝ่ายการเมือง พล.อ.ประยุทธ์ จึงตัดสินใจดึง นพ.ทวีศิลป์ ซึ่งเป็นแพทย์ และยังเป็นจิตแพทย์ ที่มีทักษะการพูดเหมาะกับสถานการณ์มาเป็น โฆษก ศบค.

                การแถลงประจำวันของ ศบค. ทำให้ นพ.ทวีศิลป์ ยิ่งโดดเด่น และมีแฟนคลับส่วนตัวติดตามหน้าจอในแต่ละวัน และได้รับความร่วมมือจากประชาชนอย่างมาก ถึงขนาดมีเสียงเชียร์ให้มานั่งเป็นโฆษกรัฐบาลต่อหลังหมดไวรัสโควิด-19 แต่ไม่ได้เพราะติดเงื่อนไขกฎหมายในความเป็นข้าราชการประจำ

                ความโดดเด่นเริ่มเป็นภัย ยิ่งกองเชียร์ฝ่ายรัฐบาลชื่นชม นพ.ทวีศิลป์มากขึ้นเท่าไหร่ การแสดงออกจากฝ่ายตรงข้ามก็เป็นผลพวงที่เกิดขึ้น

                แม้จะมีการชี้แจงแล้วว่า ในฐานะโฆษก ศบค. จำเป็นต้องพูดถึงผลการดำเนินการของศูนย์ด้านต่างๆ ภายในศูนย์ รวมถึง พล.อ.ประยุทธ์ ในฐานะ ผอ.ศบค. แต่มีบางส่วนไม่เข้าใจ และแนะนำให้แถลงแค่เรื่องสาธารณสุขเท่านั้น ทั้งที่เรื่องสาธารณสุขมีการแถลงโดยกระทรวงอยู่แล้ว หลังการแถลงของ ศบค.ในทุกวัน

                วันนี้ นพ.ทวีศิลป์ ถูกแต่งตั้งให้เป็นโฆษก ศบค.ซึ่งต้องพูดภาพรวมทั้งหมด ต่างจากวันที่เป็นโฆษกกระทรวงสาธารณสุขที่ไม่ต้องแตะงานด้านอื่นได้ หากแต่มีบางส่วนดื้อดึงไม่รับฟัง

                มีความพยายามจะนำ “หมอทวีศิลป์” ไปเปรียบเทียบกับ “เสธ.ไก่อู” พล.ท.สรรเสริญ แก้วกำเนิด สมัยเป็นโฆษก ศอฉ.  ทั้งที่มีความแตกต่างกันในรายละเอียดหลายอย่าง

                บริบทแตกต่างกันสุดขั้ว สมัย ศอฉ.เป็นเรื่องสถานการณ์ความขัดแย้งทางการเมือง อีกทั้ง “เสธ.ไก่อู” เป็นโฆษกของกองทัพบก ซึ่งถูกมองว่าเป็นคู่ขัดแย้งกับมวลชน ในขณะที่ ณ วันนี้ ไม่ใช่เรื่องการเมือง แต่เป็นโรคระบาด

                บุคคลที่สมควรแก่การพูดมากที่สุด นั่นคือบุคลากรทางการแพทย์ และการต่อสู้นี้ไม่ใช่กับบุคคล แต่เป็นศัตรูที่มองไม่เห็นด้วยตาเปล่าอย่าง “ไวรัสโควิด-19”

                แต่ละวัน โฆษก ศบค.แถลง แต่ผลการดำเนินงาน ไม่เคยตอบโต้ ใส่ร้ายป้ายสี หรือเฉียดเข้าไปทางการเมืองแม้แต่นิดเดียว มีแต่ให้ “พลังบวก”

                มันจึงใจร้ายเกินไปที่จะลากบุคลากรทางการแพทย์เข้าสู่ “สงครามการเมือง” ในภาวะแบบนี้. 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"