บ่นระงมค่าไฟกระฉูด 'เฮียสน'สับคัตเอาต์ก่อนลัดวงจร


เพิ่มเพื่อน    

 

          มติคณะรัฐมนตรีเมื่ออังคารที่ 21 เม.ย. ที่เห็นชอบ "มาตรการลดค่าครองชีพประชาชน-ค่าไฟฟ้า” คงทำให้ประชาชนจำนวนไม่น้อยส่งเสียงเฮไปตามกันกับการเห็นชอบมาตรการดังกล่าว ตามการผลักดันของ “สนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์" รมว.พลังงาน หรือ "เฮียสนของคนในพรรคพลังประชารัฐ” ที่คิดไว ทำไว พอจับกระแสความรู้สึกประชาชนจำนวนมากที่บ่นกันระงมถึง "บิลค่าไฟฟ้า” รอบเดือนมีนาคมที่พุ่งพรวดหลายเท่าตัว

                บางบ้านขึ้นมาร่วมหลายพันบาท แม้จะพอเข้าใจอยู่บ้างว่าเป็นการคิดเงินค่าไฟฟ้ารอบเดือนมีนาคมที่เข้าสู่ช่วงฤดูร้อนแล้ว การใช้ไฟฟ้าเลยเพิ่มสูงขึ้น อีกทั้งหลายบ้าน คนที่เคยออกไปทำงานหรือออกจากบ้านไปทำกิจกรรมต่างๆ ก็อยู่บ้านมากขึ้น เพราะ work from home เลยทำให้การใช้ไฟเลยสูงขึ้น ผนวกกับยิ่งบางบ้านที่มีลูกหลานก็อยู่ในช่วงปิดเทอมการศึกษา ต้องอยู่บ้านตลอด ทำให้ยิ่งเพิ่มการใช้ไฟมากขึ้น แต่แม้จะพอเข้าใจได้ แต่พบว่าหลายครัวเรือนส่งสุ้มเสียงข้องใจว่า ถึงจะใช้ไฟมากขึ้น แต่ก็ไม่น่าจะพุ่งพรวดเพิ่มขึ้นมากขนาดนี้ จนทำให้เริ่มมีกระแสตั้งคำถามเรื่อง "ค่าไฟแพง” มากขึ้นในโลกออนไลน์เมื่อช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา

                จนเป็นที่มาของการที่ "สนธิรัตน์-รมว.พลังงาน” ต้องโดดลงมาหาข้อมูลและประชุมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะ 3 หน่วยงานด้านการไฟฟ้า คือการไฟฟ้านครหลวง (กฟน.)-การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) ที่อยู่ในสังกัดกระทรวงมหาดไทย และการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.)-สำนักงานกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) และสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) ที่มีการประชุมเร่งด่วนเมื่อวันจันทร์ที่ 20 เม.ย.ที่ผ่านมา จนได้ข้อสรุปมาตรการช่วยเหลือประชาชน และนำเข้าที่ประชุม ครม.วันรุ่งขึ้นเมื่ออังคารที่ 21 เม.ย. ซึ่งที่ประชุมก็เห็นชอบไปตามคาด

                เหตุเพราะส่วนหนึ่งคนในรัฐบาลก็พอจับกระแสประชาชนในเรื่องนี้ได้ ว่าต้องการให้รัฐบาลเข้ามาช่วยแบ่งเบาภาระประชาชนด้วย เพราะในเมื่อรัฐบาลพยายามรณรงค์เรื่อง social distancing โดยเฉพาะการให้ “อยู่บ้าน หยุดเชื้อ เพื่อชาติ” และ work from home อันส่งผลให้คนอยู่บ้านมากขึ้น ค่าไฟฟ้าก็ต้องเพิ่มขึ้น รัฐบาลก็ควรลงมาช่วยแบ่งเบาภาระส่วนนี้ด้วย เพราะหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการไฟฟ้า-พลังงานทั้งหลาย ก็เป็นหน่วยงานของรัฐ-รัฐวิสาหกิจ หากรัฐบาลออกมาตรการใดๆ ออกมา ทุกหน่วยก็พร้อมปฏิบัติตาม

                ทั้งนี้ มติ ครม. ที่เห็นชอบการลดค่าครองชีพด้านไฟฟ้าในช่วงวิกฤติโควิด-19 ดังกล่าว จะไปช่วยเหลือความเดือดร้อนของประชาชนที่ใช้ไฟฟ้าประเภทที่อยู่อาศัยจำนวน 22 ล้านราย โดยใช้งบประมาณในการนี้ 23,688 ล้านบาท ภายใต้กรอบ 3 เดือนคือ มีนาคมถึงพฤษภาคม 2563

                สำหรับมาตรการดังกล่าว สรุปสั้นๆ ว่า จะเข้าไปช่วยแบ่งเบาภาระประชาชนแยกออกเป็น 2 กลุ่ม คือ           1.มิเตอร์ไฟขนาดไม่เกิน 5 แอมป์ จะได้ใช้ฟรี 150 หน่วย หากเกินก็จะได้รับการดูแลให้ใช้ฟรีเช่นกัน เนื่องจากกลุ่มนี้จะใช้ไม่เกินปริมาณ 150 หน่วยเป็นปกติ และถือว่าใช้ไฟน้อย

                2.มิเตอร์ไฟขนาดเกิน 5 แอมป์ จะมีข้อกำหนดคือ หากใช้มากกว่าเดือน ก.พ. แต่ไม่เกิน 800 หน่วย ให้จ่ายค่าไฟฟ้าเท่าเดือน ก.พ. แต่หากใช้เกิน 800 หน่วย แต่ไม่เกิน 3,000 หน่วย ให้จ่ายค่าไฟฟ้าเท่าเดือน ก.พ. บวกกับส่วนที่เกิน ซึ่งได้รับส่วนลด 50 เปอร์เซ็นต์ และหากใช้เกิน 3,000 หน่วย ให้จ่ายค่าไฟฟ้าเท่าเดือน ก.พ. บวกกับส่วนเกิน ซึ่งได้รับส่วนลด 30 เปอร์เซ็นต์ โดยการลดหย่อนดังกล่าวจะมีการคืนค่าใช้จ่ายให้ในรอบบิลถัดไป

                “สนธิรัตน์-รมว.พลังงาน” เปิดเผยภายหลังการประชุม ครม.ที่เห็นชอบมาตรการดังกล่าวว่า จะสามารถช่วยบรรเทาภาระค่าไฟฟ้าในกลุ่มของไฟบ้านที่ใช้ในครัวเรือนอย่างถ้วนหน้า หลังประชาชนให้ความร่วมมือดำเนินตามแนวนโยบายของรัฐบาลเรื่อง work from home ส่วนภาคธุรกิจ ผู้ประกอบการ โรงงานอุตสาหกรรม ที่ได้รับผลกระทบ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องอยู่ระหว่างการศึกษาปัญหาและอุปสรรคเพื่อนำมาพิจารณาอีกครั้ง

                ถือเป็นการตัดสินใจของคนในรัฐบาลที่ดำเนินการอย่างรวดเร็ว ที่แม้อาจเป็นเงินไม่มากสำหรับแต่ละครัวเรือน แต่ก็ถือว่าแบ่งเบาภาระค่าครองชีพที่จำเป็นไปได้ส่วนหนึ่ง แต่ก็ยังมีอีกหลายปัญหาที่รอให้รัฐบาลเข้าไปช่วยประชาชน ซึ่งรัฐบาลต้องลงไปแก้ไขโดยด่วนแบบเรื่อง "ค่าไฟแพง” ด้วยเช่นกัน.

 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"