ยืดเคอร์ฟิวอีก1เดือน สั่งศึกษาตปท./คลายล็อกร้านค้า-กทม.ห้ามขายเหล้าสิ้นเม.ย.


เพิ่มเพื่อน    

    “บิ๊กตู่” ถก "ศบค." ชี้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน-เคอร์ฟิวยังจำเป็น จ่อยืดบังคับใช้ต่ออีก 1 เดือน สั่งศึกษาผลกระทบผ่อนปรนคุมเข้มโควิด-19 จาก ตปท. หวั่นผู้ติดเชื้อกลับมาพุ่ง "สธ." ชงคลายล็อกร้านค้าบางประเภท เริ่มทดลองใน จว.ติดเชื้อต่ำก่อนช่วงต้นเดือน พ.ค. ส่วนร้านเหล้า-สถานบันเทิงปิดยาว "กทม." ขยายเวลาห้ามขายสุราถึงสิ้นเม.ย. ด้านผู้ป่วยติดเชื้อใหม่เพิ่มอีก 27 ราย
    ที่ทำเนียบรัฐบาล วันที่ 20 เม.ย. พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม เป็นประธานการประชุมศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค. ในระดับหัวหน้าศูนย์ทั้ง 10 ศูนย์ เพื่อรับฟังรายงานสถานการณ์และสรุปความคืบหน้าการทำงานแต่ละด้าน ก่อนพิจารณาผ่อนปรนมาตรการต่างๆ รวมถึงให้ศึกษาจากต่างประเทศที่มีการผ่อนปรนแล้วมีปัญหาอะไรหรือไม่ เพราะถึงแม้ขณะนี้ประเทศไทยจะมีตัวเลขในระดับที่ดีขึ้น แต่ก็ต้องนำข้อมูลมาดูและเตรียมให้พร้อมก่อน คาดว่าจะนำมาพิจารณาโดยเร็วที่สุด
    มีรายงานว่า นายกฯ ได้แสดงความเป็นห่วงถึงผลกระทบและความเดือดร้อนที่เกิดขึ้นกับประชาชนโดยภาพรวม แต่เนื่องจากบางพื้นที่ยังมีจำนวนตัวเลขของผู้ติดเชื้อโควิด-19 จำนวนที่มากอยู่ จึงขอให้กระทรวงสาธารณสุขไปประเมินและหารือกับผู้ประกอบการและร้านค้าที่ได้รับผลกระทบในแต่ละพื้นที่จังหวัด โดยเฉพาะจังหวัดที่ไม่มีตัวเลขผู้ติดเชื้อ เพื่อพิจารณาผ่อนปรนมาตรการให้กับบางอาชีพ โดยย้ำว่าให้เป็นการผ่อนคลายทีละนิด อาทิ ตลาดนัด หรือร้านค้าบางประเภทที่อยู่ในห้างสรรพสินค้าที่มีความจำเป็น แต่ก็จะต้องมีมาตรการเข้มในการรักษาความสะอาด การสวมหน้ากากอนามัย การตรวจวัดอุณหภูมิร่างกาย และการใช้เจลล้างมือก่อนเข้าพื้นที่ 
    "กรณีของร้านเหล้า สถานบันเทิงต่างๆ นั้น ยังคงใช้มาตรการเข้มอยู่ต่อไป และยังคงมีมาตรการเคอร์ฟิวต่อเนื่อง รวมทั้งจะมีการขยายเวลาประกาศใช้พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 (พ.ร.ก.) ต่อไปก่อน ซึ่งไม่น่าจะต่ำกว่า 1 เดือน" แหล่งข่าวระบุ
    นอกจากนั้น พล.อ.ประยุทธ์ได้สั่งให้เจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงทั้งตำรวจและทหาร พิจารณาผ่อนผันยานพาหนะบางประเภทที่มีความจำเป็นในการขนส่งเพื่อใช้ในการประกอบอาชีพ เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ความเป็นจริง 
    "ในวาระการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันที่ 21 เม.ย.นี้ ยังไม่มีการบรรจุวาระเรื่องการขอขยายเวลา พ.ร.ก.ฉุกเฉิน แต่ในที่ประชุม ครม.นายกฯ ในฐานะ ผอ.ศบค. สามารถหยิบยกมาหารือเพื่อขอความคิดเห็นจากที่ประชุมได้ แต่ในความเป็นจริงแล้วผู้ที่มีหน้าที่ที่จะเสนอในเรื่องดังกล่าวเพื่อให้ ครม.พิจารณานั้น เป็นหน้าที่ของสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ซึ่งเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา พล.อ.สมศักดิ์ รุ่งสิตา เลขาธิการ สมช. ระบุว่า สมช.จะประชุมเพื่อประเมินสถานการณ์ก่อนที่จะนำเสนอต่อนายกรัฐมนตรีในช่วงกลางสัปดาห์นี้" แหล่งข่าวระบุ
ต่อพรก.นายกฯประเมิน
    ต่อมานายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ว่า ในการประชุมวันที่ 20 เม.ย. ยังไม่ทราบจะมีผ่อนปรนอะไรบ้าง เพราะข้อมูลทั้งหมดทุกคนรายงานมาที่นายกฯ ซึ่งท่านจะนำไปตัดสินใจเอง เนื่องจากต้องชั่งน้ำหนักหลายอย่าง และไม่จำเป็นต้องนำเข้า ครม. ขึ้นอยู่กับนายกฯ เลย เพราะทุกคนให้ข้อมูลไปแล้ว 
    “การออกมาตรการต่างๆ ขึ้นอยู่กับนายกรัฐมนตรี แต่นายกฯอาจนำมาหารือในที่ประชุม ครม.ก็ได้ หรืออาจจะเรียกผู้เกี่ยวข้องบางรายมาหารือก็ได้ ไม่เช่นนั้นจะเรียกว่าสถานการณ์ฉุกเฉินหรือ”นายวิษณุกล่าว
    ถามว่ามีข่าวติดขัดในเรื่องของการใช้จ่ายงบประมาณเงินช่วยโควิด 30 ล้านบาทของสำนักนายกฯ ที่เปิดรับบริจาคที่จะต้องมีการแก้ไขระเบียบเพื่อนำเงินออกมาใช้ นายวิษณุกล่าวว่า ไม่มีการแก้ไขใดๆ ทั้งสิ้น มีแก้แต่เรื่องอื่น ไม่มีเรื่องนี้ 
    ซักว่าในที่ประชุมมีการหารือถึงการขยาย พ.ร.ก.ฉุกเฉินหรือไม่ นายวิษณุกล่าวว่า ไม่มี หากจะมีการขยาย พ.ร.ก.ฉุกเฉิน นายกฯจะต้องนำเข้าที่ประชุม ครม.ก่อนวันที่ 30 เม.ย.ที่จะครบกำหนด และหากจะเป็นกรณีฉุกเฉินเร่งด่วน มาตรา 5 ของ พ.ร.ก.ฉุกเฉินได้ระบุให้นายกฯ สามารถประกาศไปก่อนโดยไม่ต้องเข้า ครม.ก็ได้ จากนั้นค่อยรีบนำเข้า ครม.ภายหลัง เพราะถ้าไม่ทันก็ต้องทำเช่นนี้  ซึ่งสามารถบอกกันก่อนได้ ไม่ต้องจู่โจม ที่เขาเขียนว่าประกาศก่อนแล้วค่อยไปขอ นั่นเขาหมายถึงกรณีก่อการร้าย
    เมื่อถามถึงกรณีการห้ามขายสุราที่ครบกำหนดวันนี้จะมีการขยายต่อหรือไม่ รองนายกฯ กล่าวว่า เรื่องนี้เป็นเรื่องของ กทม.ที่จะพิจารณา แต่รัฐบาลตั้งใจว่าต่อไป หากจะต้องขยายก็ควรจะปรับให้เป็นมาตรฐานเดียวกันทั้งประเทศ เพราะขณะนี้แต่ละจังหวัดคำสั่งไม่เหมือนกันก็เลยอาจจะยุ่ง อย่างการประกาศเคอร์ฟิว รัฐบาลประกาศห้าม 22.00-04.00 น. แต่ทาง กทม.ประกาศ 22.00-05.00 น. เพราะ กทม.ประกาศก่อนที่รัฐบาลประกาศ แต่หากมีการทบทวนเรื่องการขยายเวลาการประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน จะขยายกี่วันก็แล้วแต่ ก็ต้องตัดให้เข้ามาสู่ระบบเดียวกันให้หมด เพื่อเลิกก็จะได้เลิกเหมือนกัน ผ่อนก็ผ่อนคล้ายกัน
    กรณีที่มีห้างสรรพสินค้าส่งหนังสือถึงผู้ประกอบการให้เตรียมตัวจะเปิดในวันที่ 1 พ.ค.นี้ จะต้องมีการออกระเบียบอะไรหรือไม่ รองนายกฯ กล่าวว่า ยังไม่มีการพูดถึงเรื่องการขยาย พ.ร.ก.ฉุกเฉิกเลย มีแต่ทุกคนรายงานสถานการณ์ที่ผ่านมาให้นายกฯ ฟัง ทั้งเรื่องของหน้ากากอนามัยหรือคนที่ฝ่าฝืนเคอร์ฟิว หรือรายงานผู้ติดเชื้อ ฯลฯ ซึ่งข้อมูลทั้งหมดอยู่ที่นายกฯ และอยู่ที่นายกฯ จะตัดสินใจอย่างไร หรืออาจจะเอาเข้า ครม.หรืออาจจะเรียกบางกลุ่มมาก็ได้
    ที่ศาลาว่าการ กทม. พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เป็นประธานประชุมคณะกรรมการโรคติดต่อกรุงเทพมหานคร เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 ในเขตพื้นที่กรุงเทพฯ ประเด็นสำคัญคือ มาตรการที่ กทม.ออกประกาศเรื่องสั่งปิดสถานที่เป็นการชั่วคราว (ฉบับที่ 6) ปิดร้านค้าหรือสถานประกอบการขายสุราประเภทที่ 1 และประเภทที่ 2 ที่ได้รับใบอนุญาตให้จำหน่ายตามพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ภาษีสรรพสามิต พ.ศ.2560 ตั้งแต่วันที่ 10-20 เม.ย.2563 โดยสามารถจำหน่ายสินค้าประเภทอื่นได้ 
    มีรายงานว่า ที่ประชุมเห็นควรให้ขยายเวลาการสั่งปิดสถานที่เป็นการชั่วคราว (ฉบับที่ 6) ปิดร้านค้าหรือสถานประกอบการขายสุราประเภทที่ 1 และประเภทที่ 2 ที่ได้รับใบอนุญาตให้จำหน่ายตามพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ภาษีสรรพสามิต พ.ศ.2560 จากที่ประกาศไว้วันที่ 10-20 เม.ย.2563 เป็นวันที่ 30 เม.ย.63
    ขณะที่กระทรวงสาธารณสุข นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.สาธารณสุข ประชุมร่วมกับคณะทีมแพทย์ผู้เชี่ยวชาญจากกระทรวงสาธารณสุข และคณบดี คณะแพทยศาสตร์จากมหาวิทยาลัยต่างๆ เพื่อพิจารณาแนวทางการล็อกดาวน์มาตรการต่างๆ
สธ.ชงทยอยปลดล็อก
    นพ.คำนวณ อึ้งชูศักดิ์ ที่ปรึกษาด้านวิชาการ รมว.สาธารณสุข ด้านการแก้ไขปัญหาสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 กล่าวว่า ที่ประชุมได้มีการเสนอความคิดเห็นเกี่ยวกับแนวทางการผ่อนปรนมาตรการรวม 5 ข้อ โดยเน้นย้ำเข้มในมาตรการหลักปฏิบัติ ประกอบด้วย 1.มาตรการการคัดกรองคนเข้าประเทศ ยังคงมีไว้อย่างเข้มงวด ซึ่งหากมีคนกลับมาจะต้องกักตัวเองเป็นเวลา 14 วัน ส่วนในพื้นที่ต่างจังหวัดจะต้องมีการค้นหากลุ่มคนที่มีความเสี่ยง อาทิ ภายในชุมชน, แรงงาน, ต่างชาติ
    2.ประชาชนทุกคนยังต้องสวมใส่หน้ากากอนามัยอยู่ตลอดเวลา และเว้นระยะห่าง งดการชุมนุมในจำนวนที่มีคนหมู่มาก แม้ว่าขณะนี้ไทยจะสามารถควบคุมสถานการณ์ได้ดี 3.ในส่วนของภาคธุรกิจ ที่ขณะนี้มีคนตกงานจำนวนประมาณ 7-10 ล้านคน เบื้องต้นจะมีการประเมินว่ากิจการประเภทใดเป็นประเภทกิจการเสี่ยงสูง เสี่ยงกลาง เสี่ยงต่ำ โดยยึดจากเกณฑ์ เช่น ความหนาแน่นของบุคคลที่ไปใช้บริการ ยิ่งหนาแน่นมาก ก็จะยิ่งมีความเสี่ยงมาก, กิจกรรมที่เปิดให้บริการ ยกตัวอย่างเช่นกิจกรรมที่มีการตะโกน, ร้องเชียร์ จะถือเป็นกิจกรรมที่มีความเสี่ยงสูง เพราะ การระบาดจะเกิดขึ้นผ่านละอองฝอยน้ำลาย และการถ่ายเทของอากาศของสถานที่นั้นๆ
    4.กิจการที่มีความเสี่ยงสูงต่อการแพร่ระบาด อาทิ สถานบันเทิง, คาราโอเกะ และสนามพนันต่างๆ จะต้องปิดระยะยาว จากนั้นจึงจะพิจารณาผ่อนปรน เปิดให้บริการกิจการประเภทความเสี่ยงต่ำและความเสี่ยงกลาง เพื่อให้กิจการต่างๆ เดินหน้าได้ เช่น ร้านอาหาร, ร้านตัดผม ส่วนกิจการประเภทความเสี่ยงกลาง เช่น ห้างสรรพสินค้า 5.การเฝ้าระวังแบบเรียลไทม์ คือจะต้องติดตามสถานการณ์ของแต่ละพื้นที่ หากเกิดมีการแพร่ระบาดอีกครั้ง จะได้สามารถติดตามสถานการณ์ได้ทัน
    "จะไม่มีการผ่อนปรนมาตรการพร้อมกันทั้ง 77 จังหวัด แต่จะดูในแต่ละพื้นที่ เช่น ในช่วง 2-3 เดือนที่ผ่านมา พบพื้นที่ 32 จังหวัด ที่ไม่มีผู้ป่วยรายใหม่ติดต่อกัน 2 สัปดาห์ ถือเป็นจังหวัดที่มีการติดเชื้อต่ำ โดยอาจจะมีการเริ่มทดลองในพื้นที่ 3-4 จังหวัด ในช่วงต้นเดือน พ.ค.นี้ ก่อนโดยหากพบว่ามาตรการที่วางไว้มีประสิทธิภาพ จะดำเนินการเพิ่มเติมในอีก 38 จังหวัด ที่พบผู้ป่วยจำนวนประปราย และในช่วงต้นเดือน มิ.ย. จะทำอีกในพื้นที่ 7 จังหวัดที่พบผู้ป่วยต่อเนื่อง" นพ.คำนวณกล่าว 
    วันเดียวกัน นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค. แถลงถึงสถานการณ์ไวรัสโควิด-19 ว่า มีผู้ป่วยรายใหม่ 27 ราย ผู้ป่วยสะสม 2,792 ราย ไม่มีรายงานเสียชีวิตเพิ่มเติม หายป่วยกลับบ้านเพิ่มเติม 71 ราย หายป่วยสะสม 1,999 ราย อยู่ระหว่างรักษา 746 ราย 
    "แม้ตัวเลขผู้ป่วยรายใหม่ยังเป็นสองหลัก แต่ยังไว้วางใจไม่ได้ เพราะประเทศเพื่อนบ้าน เขาเพียงผิดพลาดเล็กน้อยตัวเลขก็สูงขึ้น โดยขณะนี้มีจังหวัดที่ไม่มีการรายงานผู้ป่วยรายใหม่ในรอบ 14 วัน เพิ่มเข้ามาอีก 2 จังหวัดคือ สระแก้ว และอุบลราชธานี รวมแล้วขณะนี้มี 35 จังหวัด" นพ.ทวีศิลป์กล่าว
    โฆษก ศบค.กล่าวว่า ในส่วนผลการปฏิบัติงานช่วงเคอร์ฟิวคืนวันที่ 19 เม.ย. ต่อเนื่องเช้าวันที่ 20 เม.ย. มีผู้ฝ่าฝืนออกนอกเคหสถาน 660 คน ลดลงจากคืนก่อน 14 ราย ชุมนุม มั่วสุม 86 คน เพิ่มขึ้นจากคืนก่อน 18 คน พฤติกรรมยังซ้ำๆ เดิมๆ จึงขอให้ท่านร่วมมืออย่าให้มีตัวเลขเพิ่มขึ้น เพราะมาตรการเหล่านี้เป็นเครื่องการันตีว่าถ้าไม่ชุมนุมก็ไม่จะติดโรค มีความสำคัญเชื่อมโยงกัน ตัวเลขก็จะลดลงเรื่อยๆ
    ถามว่ามีข่าวตำรวจเอาผิดคนไปตั้งจุดแจกข้าว ตรงนี้จะเปลี่ยนมาเป็นอำนวยความสะดวกได้หรือไม่ นพ.ทวีศิลป์กล่าวว่า ฟังดูไม่น่าเชื่อว่าจะเป็นแบบนี้ คนที่นำสิ่งของมาแจกมีเจตนาดี แต่ถ้ามีวัตถุประสงค์จะแจก ขอให้ประสานไปยังหน่วยงานของรัฐก่อน อย่างใน กทม. นายกฯ สั่งการให้เข้าไปช่วยจัดระเบียบและระบบให้ดี ถ้าจะบริจาคให้ประสานกับสำนักงานเขต 
    ด้าน พ.ต.อ.กฤษณะ พัฒนเจริญ รองโฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ กล่าวว่า ผู้ที่มีจิตศรัทธาให้ความช่วยเหลือประชาชนผู้ได้รับความเดือดร้อนในรูปแบบต่างๆ ทั้งการบริจาคสิ่งของอุปโภคบริโภค อาหารและเงิน เพื่อช่วยบรรเทาผลกระทบของประชาชน จากการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) โดยประสานกับจังหวัด หรืออำเภอ หรือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ในพื้นที่ให้ทราบก่อนแจกจ่ายสิ่งของ รวมทั้งประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนถือปฏิบัติตามหลักการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID -19) โดยเฉพาะการเว้นระยะห่างทางสังคม (Social Distancing) อย่างเคร่งครัด.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"