จาก 'กึ่งล็อกดาวน์' สู่มาตรการ 'สร้างเสถียรภาพ'


เพิ่มเพื่อน    

    คุณหมอคณะหนึ่งทั้งที่ทำงานอยู่ในปัจจุบันและอดีตผู้บริหารของกระทรวงสาธารณสุข ได้ระดมความคิดหาสูตร Exit Strategy เพื่อแหวกวงล้อมของโควิด-19 และสรุปเป็นข้อเสนอที่น่าสนใจมาก
    ท่านเรียกข้อเสนอนี้ว่าเป็นการเปลี่ยนผ่านจากมาตรการ “กึ่งล็อกดาวน์” สู่การ “สร้างเสถียรภาพ”
    ทางออกที่หลายคนอยากเห็นคือ “เจ็บแล้วจบ” แต่เป็นทางเลือกที่ค่อนข้างยาก
    ฉากทัศน์ที่หนึ่งนี้มีเป้าหมายคือทำให้ประเทศปลอดจากเชื้อโควิด-19 ด้วยการปิดเมืองหรือ Lockdown ระยะยาวเช่น 2-3 เดือน 
    วิธีนี้จะทำการค้นหาผู้ติดเชื้อทั้งที่มีอาการและไม่มีอาการแบบเคาะประตูบ้านมาแยกรักษา
    วิธีนี้ต้องใช้ทรัพยากรมหาศาล และต้องใช้บริบททางสังคมการเมืองที่สามารถบังคับใช้กฎระเบียบอย่างเข้มแข็งได้
    ขณะเดียวกันก็มีต้นทุนทางสังคมและเศรษฐกิจสูงมาก ไม่เหมาะจะทำทั้งประเทศ แต่อาจนำมาใช้ในพื้นที่หรือชุมชนเล็กๆ ที่มีการติดเชื้อสูง
    แต่อีกทางเลือกหนึ่งที่ดูจะมีความเป็นไปได้มากกว่า คือข้อเสนอ “ฉากทัศน์ที่สอง” คือการยอมรับว่าเราไม่สามารถหยุดการแพร่เชื้อได้ แต่สามารถควบคุมให้มีการแพร่ในระดับที่ต่ำหรือ low transmission มีการสูญเสียชีวิตน้อย เพราะโรงพยาบาลรองรับได้ทัน
    ตามสูตรนี้รัฐบาลเริ่มเปิดให้ผู้คนทำมาหาเลี้ยงชีพ ทำธุรกิจ ทำการผลิต นักเรียนได้เรียนหนังสือ คนได้ทำงาน และสังคมไม่หยุดนิ่ง มีการพัฒนาที่สมดุลทั้งการควบคุมและการประกอบกิจการและกิจกรรมต่างๆ
    เป็นการกลับสู่ชีวิตปกติแต่ถ้วยวิถีแบบใหม่ที่เรียกว่า New Normal
    ฉากทัศน์นี้ทำให้เกิดเป็นจริงได้ อาศัยองค์ประกอบสำคัญ 5 ประการ คือ
    ๑.เพิ่มความเข้มข้นในมาตรการทางสาธารณสุขและการแพทย์ ประกอบด้วยการขยายการตรวจให้ครอบคลุมทุกจังหวัด มีการตรวจวินิจฉัยที่รวดเร็ว แยกรักษา เฝ้าระวังค้นหาผู้ป่วยเพิ่มเติมในบางกลุ่มประชากรที่เสี่ยงต่อการระบาด เช่น กลุ่มที่อยู่กันแออัด เรือนจำ บ้านพักคนชรา ชุมชนแรงงานข้ามชาติ เป็นต้น มีการติดตามผู้สัมผัสอย่างรวดเร็ว มีสถานที่รองรับการแยกกัก และหอพักผู้ป่วยโควิดที่เพียงพอ สะดวก ได้มาตรฐานในทุกจังหวัด
    ๒.ทำให้ทุกคน ทุกสังคม และทุกพื้นที่เข้าใจและปฏิบัติตามมาตรการสุขลักษณะ ล้างมือ สวมหน้ากากอนามัยเมื่อออกจากบ้าน การมีระยะห่างทางกาย งดการชุมนุม งดงานสังคมที่จัดใหญ่โตมีคนมาก ๆ เปลี่ยนเป็นงานขนาดเล็กภายในหมู่ญาติสนิทและครอบครัว เป็นต้น
    ๓.เปิดให้ธุรกิจเริ่มเดินหน้า โดยมีการประเมินความเสี่ยงของการดำเนินการโดยองค์กรธุรกิจ อุตสาหกรรม หากมีความเสี่ยง ต้องปรับให้เข้ามาสู่ความเสี่ยงต่ำที่จัดการได้ เช่น ใช้มาตรการตรวจวัดไข้ เว้นระยะห่างทางกาย ลดการใช้เสียง เพิ่มการระบายอากาศ การลดจำนวนผู้คนที่มาติดต่อใช้บริการ และการใช้เทคโนโลยีที่ให้ทำงาน ประชุม ติดต่อบริการโดยไม่ต้องมีการพบปะกันมากๆ
    ๔.ปิดแหล่งแพร่โรคที่สำคัญ บริการหรือกิจการที่มีความเสี่ยงสูงซึ่งถูกสอบสวนพบว่าเป็นแหล่งแพร่ระบาดให้เกิดผู้ติดเชื้อมากๆ ได้แก่ สถานบันเทิง, ผับ, บาร์, คาราโอเกะ, สถานบริการทางเพศทั้งตรงและแฝง สนามการพนันในรูปแบบต่างๆ ต้องปิดระยะยาว สำหรับการปิดกิจการอื่นๆ ในอนาคต ควรใช้วิธีปิดแบบจำเพาะหรือ selective measures แทนการปิดครอบจักรวาล
    ๕.มีระบบเฝ้าระวังตรวจจับและคาดการณ์ความรวดเร็วของการแพร่ระบาดในระดับพื้นที่และระดับประเทศ เพื่อจัดระดับสถานการณ์ เป็นการเตือนและเพิ่มมาตรการหรือผ่อนคลายตามบริบทของแต่ละจังหวัดหรือหากเป็นไปได้ย่อยลงไประดับอำเภอ และมีการเฝ้าระวังโดยภาคประชาชน
    การเปลี่ยนผ่านจากมาตรการ “กึ่งล็อกดาวน์” สู่มาตรการ “สร้างเสถียรภาพ” ควรต้องเตรียมตัวและให้มั่นใจว่ามาตรการที่สำคัญยังคงอยู่ ไม่เปลี่ยนผ่านแบบรวดเร็ว
    มาตรการนี้ควรดำเนินการโดยเริ่มจากจังหวัดกลุ่มแรกที่ไม่พบผู้ป่วยในสองสัปดาห์ที่ผ่านมา (ประมาณ 32 จังหวัด) สามารถเริ่มได้ในต้นเดือนพฤษภาคม
    หรืออาจนำร่องทดลองปลายเดือนเมษายนสัก 3 หรือ 4 จังหวัด
    หลังจากนั้นจึงเริ่มในกลุ่มที่ 2 คือจังหวัดที่พบผู้ป่วยติดเชื้อในพื้นที่ประเภทประปราย (ประมาณ 38 จังหวัด) ประมาณกลางเดือนพฤษภาคม
    สำหรับกลุ่มที่ 3 คือจังหวัดที่มีการระบาดอย่างต่อเนื่องเป็นกลุ่มก้อน (ประมาณ 7 จังหวัด) หากสามารถลดการระบาดลงมาได้ในระดับต่ำตามเกณฑ์ และไม่มีการระบาดเป็นกลุ่มก้อนใหญ่ ก็ควรจะให้เริ่มเปลี่ยนผ่านได้ในต้นเดือนมิถุนายน หรืออาจเริ่มก่อนหน้านั้นได้หากควบคุมสถานการณ์ได้ดี
    หาก ศบค. และรัฐบาลเห็นชอบก็สามารถให้นโยบายไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและทุกจังหวัดเพื่อเตรียมการ 
    รายละเอียดแผนการเปลี่ยนผ่านในภาคธุรกิจและภาคสังคม ควรให้แต่ละภาคมีส่วนร่วมปรึกษาหารือทำรายละเอียดเพื่อดำเนินการได้ความปลอดภัยเสนอผู้ว่าราชการจังหวัด
    หน่วยงานรัฐและมหาวิทยาลัยในแต่ละภูมิภาคหรือจังหวัดสามารถให้การสนับสนุนด้านเทคนิค วิชาการ เป็นการร่วมมือของคนทั้งสังคม
    ผลที่คาดว่าจะได้รับคือ ก่อนจะถึงเวลาที่มีวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ประเทศไทยจะสามารถควบคุมให้มีการติดเชื้อในระดับต่ำ มีคนเสียชีวิตไม่มาก และประชาชนสามารถเริ่มทำงาน ประกอบอาชีพได้ ประเทศไทยมีเสถียรภาพทางเศรษฐกิจและสังคมโดยรวม และประชาชนเกิดการปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตแบบใหม่ได้
    ผู้จัดการทำข้อเสนอ: นพ.คำนวณ อึ้งชูศักดิ์, นพ.ศุภมิตร ชุณห์สุทธิวัฒน์, นพ.ยง ภู่วรวรรณ, นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา, นพ.ทวี โชติพิทยาสุนนท์, นพ.ครรชิต ลิมปกาญนารัตน์, นพ.ธนรักษ์ ผลิพัฒน์ อดีตผู้บริหารกระทรวงสาธารณสุข: นพ.หม่อมหลวงสมชาย จักรพันธุ์, นพ.ศุภชัย คุณรัตนพฤกษ์, นพ.ไพจิตร์ วราชิต, นพ.โสภณ เมฆธน, นพ.เจษฎา โชคดำรงสุข, นพ.ธวัช สุนทราจารย์, นพ.มานิต ธีระตันติกานนท์, นพ.ประพนธ์ ตั้งศรีเกียรติกุล
    ผมอ่านแล้วเห็นว่าเป็นโครงร่างข้อเสนอที่น่าสนใจ ควรที่ภาคส่วนอื่นๆ ของสังคมจะต้องร่วมกันถกแถลงลงรายละเอียดเพื่อนำไปสู่การปฏิบัติอย่างเป็นระบบในเร็ววัน.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"