กองทัพอากาศนำร่อง ขนข้าวชาวนาแลกปลาชาวเล ฝ่าวิกฤติโควิด-19 เริ่มนำร่องแลกเปลี่ยนสินค้าระหว่างชุมชนโดยไม่ผ่านพ่อค้าคนกลาง "ชาวเลพังงา" ส่งปลาทะเลตากแห้ง 550 กก. สับปะรดภูงา 3.2 ตัน ขึ้นเครื่องบินซี-130 แลกข้าวชาวนาอีสาน ชมรมประมงพื้นบ้านเกาะลิบง จ.ตรัง นำอาหารทะเลมาช่วยเหลือพี่น้องชาวสลัม 4 ภาค ซึ่งได้มอบข้าวสารให้ประมงพื้นบ้านเป็นการแลกเปลี่ยน
เมื่อวันที่ 20 เมษายน กองทัพอากาศจัดเครื่องบินลำเลียงแบบที่ 8 หรือซี-130 พร้อมกำลังพลสนับสนุนโครงการนำร่อง "ทัพฟ้าช่วยไทยต้านภัยโควิด-19 ขนข้าวชาวนาแลกปลาชาวเล" เพื่อช่วยเหลือชาวเลที่กำลังเดือดร้อนอย่างหนักให้เร็วที่สุด ด้วยการขนส่งข้าวสารจากจังหวัดยโสธร ไปแลกเปลี่ยนปลาแห้งที่จังหวัดภูเก็ต และนำปลาแห้งกลับไปส่งที่จังหวัดยโสธร เริ่มดำเนินการเป็นโครงการนำร่องในการแลกเปลี่ยนสินค้าระหว่างชุมชนโดยไม่ผ่านพ่อค้าคนกลาง ส่งเสริมการแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมที่จะสร้างให้เกิดความปรองดองสมานฉันท์ของคนในชาติ
โดยมีพลอากาศโทตรีพล อ่องไพฑูรย์ เจ้ากรมกิจการพลเรือน กองทัพอากาศ, นายภัคพงศ์ ทวิพัฒน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง พร้อมกัน ณ อาคารเอ็กซ์-เทอร์มินอล ท่าอากาศยานภูเก็ต จากนั้นเดินทางรับมอบข้าวสารและส่งมอบปลา ณ ลานจอดเครื่องบิน ท่าอากาศยานภูเก็ต พร้อมกันนี้ ทางจังหวัดพังงาเข้าร่วมในการส่งสินค้าเกษตรเป็นผลผลิตสับปะรดจำนวน 3.2 ตันในโครงการนี้ด้วย
พลอากาศโทตรีพลกล่าวว่า กองทัพอากาศได้รับการร้องขอจากมูลนิธิชุมชนไท ในโครงการแลกเปลี่ยนอาหารแห้งบรรเทาความเดือดร้อนของชาวเลราไวย์ที่ขายอาหารทะเลไม่ได้ในช่วงการแพร่ระบาดเชื้อไวรัสโควิด-19 ดังนั้น พลอากาศเอกมานัต วงษ์วาทย์ ผู้บัญชาการทหารอากาศ (ผบ.ทอ.) จึงได้จัดอากาศยานพร้อมกำลังพลให้การช่วยเหลือโดยเร็วที่สุด เพื่อขนข้าวหอมมะลิจากยโสธรแลกเปลี่ยนกับปลาตากแห้งของภูเก็ต เป็นโครงการนำร่องจุดประกายให้ชาวไทยที่มีสินค้าเกษตรนำแนวคิดนี้ไปขยายต่อในสถานการณ์วิกฤติโควิด-19
นายภัคพงศ์กล่าวว่า โครงการนี้เกิดขึ้นจากปัญหาที่ชาวเลชุมชนราไวย์ยังคงสามารถออกเรือหาปลา แต่ขาดพื้นที่ทางการค้า มูลนิธิชุมชนไท ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร ได้เห็นปัญหาร่วมกันของชาวเลราไวย์ จึงได้หารือร่วมกับผู้นำชุมชนชาวเลทำให้เกิดโครงการนี้ขึ้น โดยชาวเลหลายพื้นที่ได้รวมกลุ่มในนามเครือข่ายชาวเลอันดามัน ระดมจัดทำปลาแห้งประมาณ 1,000 กิโลกรัม เน้นปลาพันธุ์ที่มีขนาดเล็ก เช่น ปลาทูแดง ปลาทูแขก ปลาข้างเหลือง เป็นต้น เพื่อนำไปทำเป็นปลาเค็มตากแห้ง ถนอมอาหารสามารถเก็บไว้กินได้นาน
ผู้ว่าฯ ภูเก็ตกล่าวว่า ส่วนจังหวัดยโสธร เครือข่ายชาวนาภาคอีสาน สมาคมชาวยโสธร ได้เห็นความเดือดร้อนของชาวเลในพื้นที่ต่างๆ ใน จ.ภูเก็ต พังงา กระบี่ ระนอง และสตูล จึงประสานงานกันส่งมอบข้าวสาร จำนวน 9 ตัน หรือ 9,000 กิโลกรัม (บริจาค 2 ตัน) ให้แก่เครือข่ายชาวเลอันดามัน เป็นการแก้ปัญหาความเดือดร้อนของชาวเล ถือว่าเป็นการตั้งใจให้เป็นสายพานที่ทำให้ระบบเศรษฐกิจหมุนเวียนได้อีกครั้ง เป็นเศรษฐกิจเชิงวัฒนธรรมด้วยการนำทรัพยากรที่มีมาแลกกันตามหลัก P2P-People to People และ Producer to Producer ทำให้เกิดการแก้ปัญหาปากท้อง และได้เห็นว่าเศรษฐกิจสร้างสรรค์ทำให้เราอยู่รอดแม้ในภาวะวิกฤติสังคมเองจะได้เรียนรู้วิถีชีวิตของคนกลุ่มนี้
โครงการขนข้าวชาวนาแลกปลาชาวเล ฝ่าวิกฤติโควิด-19 ได้รับการสนับสนุนอากาศยานจากกองทัพอากาศที่เข้าร่วมเป็นภาคีการขนส่งจากภาคอีสานสู่ภาคใต้ โดยการประสานงานของมูลนิธิชุมชนไท
"โครงการนี้เป็นแนวทางการพัฒนาคุณภาพชีวิตชาวเล และภูเก็ต ในฐานะจังหวัดเจ้าภาพกลุ่มยุทธศาสตร์การพัฒนาจังหวัดจะส่งเสริมให้เกิดความยั่งยืนแก่เครือข่ายชาวเลอันดามัน ด้วยการสนับสนุนการแลกเปลี่ยนทางการตลาดตามแนวทางดังกล่าวในกลุ่มจังหวัดอันดามัน โดยใช้แนวคิดนี้เป็นต้นแบบ และสามารถใช้เป็นต้นแบบในภาวะวิกฤติอื่นๆ ของประเทศได้ด้วย ทางจังหวัดภูเก็ตขอบคุณทุกภาคส่วนที่ทำให้การดำเนินโครงการเป็นไปด้วยความเรียบร้อย" นายภัคพงศ์กล่าว
ด้านนายสนิท แซ่ซั่ว ผู้ประสานงานกลุ่มชาวเลราไวย์ กล่าวว่า ชาวเลมีปลาแต่ขายไม่ได้ เพราะถูกปิดทั้งสะพานสารสินและตำบลราไวย์ เราได้ปลามาทุกวัน จึงเป็นไปได้มั้ยว่าเอาปลาไปแลกกับข้าวของชาวกะเหรี่ยง เพราะตอนนี้ปลาขายได้แค่ในพื้นที่ราไวย์ ซึ่งไม่มาก แต่ปลาขึ้นมาวันละนับร้อยกิโลกรัม ดังนั้นจึงนำปลาสดมาตากแห้งไปแลกกับข้าว
“เรื่องนี้ถือว่าดีมาก เพราะเป็นอนาคตของพวกเรา เรามีปลากล้วยเหลือง เอามาแปรรูป ไม่อยากให้คิดถึงมูลค่ามากนัก เมื่อก่อนเราขายแต่ปลาสด แต่ตอนนี้ระบายไม่ทันก็ต้องมาทำปลาแห้ง ตอนนี้จะหาปลาสดประมาณ 1,500 กิโลกรัม เพื่อมาทำปลาแห้ง ซึ่งน่าจะได้ราว 500 กิโลกรัม ดีกว่าจะเอาไปแลกเงิน เป็นวิถีเดิมๆที่ไม่ต้องใช้เงิน เราต้องหาปลาเนื้อบางมาทำปลาแห้ง เพราะถ้าเป็นปลาเนื้อหนาจะเป็นหนอน วันนี้ชาวเล 90% ในชุมชนราไวย์ต้องกลับมาทำประมง เพราะไม่มีงานอื่น” นายสนิทกล่าว
ที่จังหวัดพังงา ร่วมบูรณาการโครงการดังกล่าวเพื่อช่วยเหลือกลุ่มชาติพันธุ์ในพื้นที่และชาวประมงพื้นบ้าน โดยนายโชตินรินทร์ เกิดสม รองผู้ว่าราชการจังหวัดพังงา พร้อมด้วย น.อ.อภิชาติ วรภมร รอง ผอ.รมน.พังงา, นายไมตรี จงไกรจักร ผจก.มูลนิธิชุมชนไท และหัวหน้าส่วนราชการสังกัดกระทรวงเกษตรฯ นำขบวนรถบรรทุกปลาทะเลตากแห้งและสับปะรดพันธุ์ภูงา ไปที่สนามบินนานาชาติภูเก็ต เตรียมส่งขึ้นเครื่องบินซี-130 ของกองทัพอากาศที่นำข้าวสารจากเครือข่ายชาวนาจังหวัดยโสธรมาแลกกับปลาทะเลตากแห้งของชาวเลในจังหวัดพังงาและภูเก็ต ตามโครงการข้าวชาวนาแลกปลาชาวเล
สำหรับชาวเลในจังหวัดพังงาได้ส่งปลาทะเลตากแห้งน้ำหนัก 550 กิโลกรัม แลกกับข้าวสาร 2 ตัน และได้รับการบริจาคข้าวสารจากเครือข่ายชาวนาเพิ่มอีก 2 ตันมาให้พี่น้องชาวมอแกนบนเกาะสุรินทร์ สำหรับสับปะรดภูงา 3.2 ตัน ทางกองทัพอากาศได้ซื้อไปขายต่อในกรุงเทพฯ และอุบลราชธานี นอกจากนี้ ทางกองทัพอากาศร่วมกับกลุ่มคิงเพาเวอร์ ส่งถุงยังชีพมาช่วยชาวเกาะยาวอีกจำนวน 300 ชุด
ที่ริมถนนเลียบทางรถไฟ เขตเทศบาลนครตรัง ตำบลทับเที่ยง อำเภอเมืองฯ จังหวัดตรัง มูลนิธิอันดามัน และนายอิสมาแอล เบ็ญสะอาด กรรมการชมรมชาวประมงพื้นบ้าน จ.ตรัง นายรุ่งโรจน์ เบ็ญหมูด กรรมการชมรมชาวประมงพื้นบ้าน จ.ตรัง และ นายปรีชา ชายทุย ประธานกลุ่มบ้านมั่นคงมดตะนอย พร้อมด้วยชาวประมงพื้นบ้านเกาะลิบง ได้นำอาหารทะเล เช่น ปู ปลาทู และปลาเค็ม มามอบให้กับพี่น้องชาวสลัม 4 ภาค ที่อาศัยอยู่บริเวณริมทางรถไฟ ประมาณ 25 ครัวเรือน ซึ่งได้รับความเดือดร้อนจากการแพร่ระบาดของโควิด-9 ไม่มีงานทำ ซึ่งชาวบ้านที่อาศัยอยู่ริมทางรถไฟประกอบอาชีพรับจ้างทั่วไป รับจ้างก่อสร้าง รับจ้างกรีดยางพารา เมื่อรัฐบาลประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉินและประกาศเคอร์ฟิว ทำให้ชาวบ้านได้รับผลกระทบไม่มีงานทำ ขาดแคลนรายได้
นายอิสมาแอลกล่าวว่า การแพร่ระบาดของโควิด-19 ส่งผลกระทบต่อความเป็นอยู่และรายได้เป็นอย่างมาก ชาวประมงจับสัตว์น้ำมาก็จำหน่ายได้ลำบาก เนื่องจากประชาชนไม่มีกำลังซื้อ ชาวประมงก็เดือดร้อน ชมรมประมงเกาะลิบงจึงนำสัตว์น้ำที่จับมาได้นำมาแจกให้แก่ชาวบ้าน โดยเฉพาะชาวบ้านในชุมชนสลัม 4 ภาค จังหวัดตรัง ได้รับผลกระทบอย่างมาก
ขณะที่นายนายนิธิป คงทอง จนท.มูลนิธิพัฒนาที่อยู่อาศัย เลขาสลัม 4 ภาค ซึ่งเดินทางมารับมอบ ได้นำข้าวสารมาเป็นของแลกเปลี่ยนให้กับชาวประมงจาก ต.เกาะลิบง อ.กันตัง จ.ตรัง โดยหวังว่าสังคมที่เข้มแข็งคือ สังคมแห่งการแบ่งปันในยามทุกข์ยาก เป็นการช่วยสร้างรอยยิ้มในยามที่ทุกคนต่างอยู่ในสภาวะสิ้นหวัง โดยเครือข่ายสลัม 4 ภาค ซึ่งเป็นกลุ่มคนที่ใช้แรงงาน เป็นแรงงานนอกระบบ รับจ้างรายวัน มีผู้เดือดร้อนทั้งหมด 490 ครัวเรือน จาก 11 ชุมชนใน 3 อำเภอ ได้แก่ อ.เมืองฯ อ.ห้วยยอด และ อ.รัษฎา ซึ่งได้รับผลกระทบจากการว่างงาน ไม่มีการจ้างแรงงาน ทำให้ขาดรายได้.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |