20 เมษายน 2563 นายธรรศพลฐ์ แบเลเว็ลด์ ประธานกรรมการบริหาร กลุ่มบริษัทไทยแอร์เอเชีย เปิดเผยถึงปัญหาที่สายการบินในประเทศได้รับผลกระทบจากวิกฤติระบาดไวรัส COVID-19 ว่า ผลกระทบดังกล่าวที่ทำให้สายการบิน ต้องหยุดทำการบินทั้งเส้นทางในประเทศและต่างประเทศมาระยะหนึ่งแล้ว โดยในวันที่ 20 เม.ย.นี้ ผู้ประกอบการสายการบินจะขอเข้าพบนายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เพื่อติดตามมาตรการช่วยเหลือซึ่งวันที่ 7 เมษายนที่ผ่านมา 8 สายการบินในประเทศได้ทำหนังสือ ขอให้ภาครัฐช่วยจัดหา แหล่งเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ หรือ soft loan เพื่อสายการบินนำเงินกู้นี้ ใช้จ่ายเงินเดือนพนักงาน และในวันพุธที่ 22 เมษายนนี้ สายการบินทั้ง 8 แห่งจะประชุมหารือร่วมกัน เพื่อออกแถลงการณ์มาตรการที่จะปฏิบัติต่อไปในอนาคต
"ขณะนี้สายการบินทุกแห่งพยายามต่อสู้และดำเนินการตามที่ภาครัฐขอความช่วยเหลือมา คือขอให้ไม่มีการเลิกจ้างพนักงาน ซึ่งในอุตสาหกรรมการบินทั้งหมดก็ประมาณ 30,000 ถึง 50,000 คน สายการบินก็หวังว่าภาครัฐจะมีมาตรการช่วยเหลือหาแหล่งเงินกู้ทำให้การจ่ายเงินเดือนพนักงานในช่วงที่ต้องหยุดวันนี้ การบินสามารถทำตามเป้าหมาย และอยู่รอดได้ "นายธรรศพลฐ์กล่าว
นอกจากนี้ยังมีอีกประเด็นที่ผู้ประกอบการสายการบินอยากให้ภาครัฐรีบสร้างความชัดเจน เครื่องทำการบินในเดือนพฤษภาคม 63 ซึ่งจะต้องมีความชัดเจนภายใน 1 สัปดาห์ข้างหน้า เพราะหลายสายการบินรวมถึงไทยแอร์เอเชีย มีแผนจะทำการบิน เส้นทางในประเทศ บางเส้นทาง 1 พฤษภาคมนี้ สถานการณ์ปัจจุบันยอมรับว่า การที่หลายจังหวัดท่องเที่ยวยังมีการล็อคดาวน์ ห้ามเดินทางเข้าจังหวัดอยู่ การบินไปยังจังหวัดเหล่านี้ แต่นักท่องเที่ยวไม่สามารถออกจากสนามบินไปท่องเที่ยวได้ ก็เป็นเรื่องที่ไม่มีประโยชน์ ที่จะทำการบินไป ซึ่งเรื่องเหล่านี้ภาครัฐต้องมีความชัดเจนเรื่องขั้นตอนการปฏิบัติและประกาศออกมาด่วน ผู้ประกอบการสายการบินจะได้ใช้ตัดสินใจได้
ทั้งนี้นายธรรศพลฐ์ยังกล่าวถึง การที่ผู้ประกอบการสายการบินในประเทศ ต้องการหาแหล่งเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ วงเงินรวมกว่า 24,000 -25,000 ล้านบาทว่า เรื่องนี้ภาครัฐได้เตรียมมาตรการด้วยการออก พ.ร.ก.กู้เงินฯ 1.9 ล้านล้านบาท ซึ่งขั้นตอนของการออกพ.ร.ก.ฯนั้น เห็นว่าต้องทำเร่งด่วน จะใช้ขั้นตอนตามกฎหมายปกติไม่ได้ เพราะความเสียหายที่เกิดจากโรคระบาด COVID-19 ไม่ได้เป็นปัญหาปกติที่เคยเกิดขึ้น หากการเยี่ยวยาล่าช้าความเสียหายก็จะเพิ่มสูงมากขึ้น ทั้งนี้ยังมั่นใจว่าในเรื่องการจัดหาแหล่งเงินกู้นั้น เครดิตของประเทศไทยยังอยู่ในฐานะที่ดี เพดานหนี้สาธารณะก็อยู่ในระดับต่ำ แหล่งเงินกู้จากต่างประเทศ ที่ขณะนี้ก็มีสภาพคล่องเหลืออยู่ ขณะเดียวกันเงินทุนสำรองฯระหว่างประเทศของไทย ก็ยังมีเหลือเพียงพอ โดยภาครัฐสามารถใช้มาตรการกู้เงินของตนเอง เพื่อนำเงินเหล่านี้ออกมากู้วิกฤต ก็ยังทำได้
"โดยผลกระทบที่ผู้ประกอบการรายใหญ่จนถึงรายย่อยได้รับจากวิกฤติ COVID -19 มีทุกภาคส่วน อย่างธุรกิจสายการบินนี่ก็เช่นเดียวกัน จำเป็นต้องเร่งฟื้นตัวโดยเร็วเพราะจะเป็นด่านแรกที่จะช่วยนำนักท่องเที่ยว และทำให้การท่องเที่ยวเกิดเงินหมุนเวียนสะพัด ไปยังธุรกิจต่อเนื่องอื่นๆที่อยู่ในภาคการท่องเที่ยวทั้งหมด หากผู้ประกอบการอยู่ไม่ได้สุดท้ายการเดินทางเข้าจากต่างประเทศ และการเดินทางระหว่างจังหวัด ก็ไม่มีคนทำ มูลค่าความเสียหายต่อการท่องเที่ยวแต่ละพื้นที่ ก็จะเป็นเรื่องที่แก้ยาก"นายธรรศพลฐ์กล่าว
ส่วนประเด็นมีรายงานข่าว สายการบินไทยไลออนแอร์เลิกจ้างพนักงานนั้น ล่าสุดสื่อข่าวรายงานจากฝ่ายบริหารไทยไลออนแอร์ ยอมรับว่า มีการ เลิกจ้างพนักงานจริงแต่เป็นพนักงานที่มีอายุงานไม่ถึง 1 ปี จำนวน ประมาณ 120 รายโดยไม่ใช่การเลิกจ้างพนักงานทั้งหมด และสายการบินจะมีการชดเชยให้กับพนักงานที่ถูกเลิกจ้างตามกฎหมาย โดยอาจต้องใช้วิธีการกู้เงินจากสถาบันการเงิน เพื่อนำมาชดเชยให้กับพนักงาน
โดยยอมรับว่าผลกระทบดังกล่าวมาจากการที่สายการบินต้องหยุดบินจากสถานการณ์โควิด-19 ที่ส่งผลต่อรายได้บริษัท อย่างไรก็ตามสายการบินไทย ไลอ้อนแอร์ เตรียมแผนลดรายจ่ายของสายการบินโดยการเปิดให้พนักงานหยุดงานโดยไม่รับเงินเดือน และ ลาออกจากงานโดยสมัครใจ คาดว่าจะมีผลประมาณ 1 พ.ค. นี้ โดยจะมีการประเมินจำนวนพนักงานอีกครั้งในปลายเดือนนี้. ขณะเดียวกันเตรียมแผนคืนเครื่องบิน จากปัจจุบันที่มีอยู่ 34 ลำ ออกไปบางส่วน เพื่อลดรายจ่าย รวมทั้งเตรียมแผนในการกลับมาทำการบินในเส้นทางในประเทศในบางเส้นทางในเดือนพ.ค. นี้และจะทยอยเปิดบินในเส้นทางระหว่างประเทศบางเส้นทางต่อไปด้วย
ด้านนายจุฬา สุขมานพ ผู้อำนวยการสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย(กพท.) เปิดเผยว่า จากปัญหาผลกระทบจากสถานการณ์โควิดในปัจจุบันได้ส่งผลกระทบต่อหลายๆธุรกิจ โดยเฉพาะอุตสาหกรรมทางการบิน แม้ว่าล่าสุดสายการบินที่ให้บริการในประเทศกว่า 8สายการบินได้แสดงความต้องการที่จะให้ภาครัฐ โดยกระทรวงการคลังหาแหล่งเงินกู้รวมกว่า 25,000 ล้านบาท เพื่อมาพยุงสถานะทางการเงินก็ตาม แต่ก็ยังไม่มีสายการบินใดที่แสดงเจตจำนงแจ้งมายัง กพท. ว่าจะปิดกิจการ นอกจากการแจ้งขอหยุดทำการบินชั่วคราวเท่านั้น
อย่างไรก็ตามส่วนกรณีที่มีสายการบินในประเทศบางสายการบินได้มีการปลดพนักงานเนื่องจากประสบปัญหาผลกระทบจากโควิดนั้น ในส่วนนี้ถือเป็นการบริหารภายในของแต่ละสายการบินไม่จำเป็นที่จะต้องแจ้งหรือรายงาน กพท. นอกจากกรณีที่ต้องมีการปิดบริการ เปิดบริการ หรือหยุดทำการบิน เท่านั้น
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |