ศบค.พบติดเชื้อเพิ่ม 32 ราย ไม่มีผู้เสียชีวิต 2 วันติด วัย 20-39 ปีป่วยโควิดมากสุด ไม่ฟันธงคลายล็อกรอ "บิ๊กตู่" ประเมินสิ้นเดือนเม.ย. นายกฯ เยี่ยม รพ.สนามธรรมศาสตร์ ให้กำลังใจทีมแพทย์ สธ. แนะ 1 พ.ค.เริ่มปลดล็อกจังหวัดที่ไม่พบติดเชื้อ 14 วัน ข่าวดีไทยเริ่มทดลองวัคซีนในสัตว์แล้ว พร้อมเจรจาทำ MOU กับจีน
ที่ทำเนียบรัฐบาล เมื่อวันที่ 19 เมษายน เวลา 11.30 น. นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค. แถลงว่า สถานการณ์ในประเทศไทย มีผู้ป่วยรายใหม่ 32 ราย ยอดผู้ป่วยสะสม 2,765 ราย หายป่วยเพิ่มเติม 141 ราย หายป่วยสะสม 1,928 ราย อยู่ระหว่างการรักษา 790 ราย ไม่มีรายงานผู้เสียชีวิตเพิ่มเติม ทำให้ยอดผู้เสียชีวิตสะสมยังอยู่ 47 ราย โดยกลุ่มอายุ 20-29 ปี เป็นกลุ่มเสี่ยงที่ติดเชื้อสูงสุด หรือคิดเป็น 1 ใน 4 ของผู้ป่วยทั้งหมด ขณะที่ กทม.และนนทบุรียังมีแนวโน้มเจอผู้ป่วยเพิ่มขึ้น ขณะนี้มีการพูดกันว่าคนออกจากบ้านเยอะขึ้น นี่เป็นตัวชี้วัดด้านหนึ่งว่าเราจะคงตัวเลขการติดเชื้อได้เท่าไร ส่วนต่างจังหวัดมีจำนวนผู้ป่วยขึ้นๆ ลงๆ ขณะที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้มีแนวโน้มลดลง
อย่างไรก็ตาม ผู้ที่หายป่วยแล้วถือเป็นกลุ่มที่ปลอดภัย เป็นผู้มีภูมิคุ้มกัน และอยากให้มาบริจาคพลาสมา เพราะเท่าที่ทราบยังมาบริจาคน้อยไม่ถึง 100 คน นอกจากนี้ ขณะนี้มี 33 จังหวัดที่ไม่มีรายงานผู้ติดเชื้อเพิ่มใน 14 วันที่ผ่านมา โดยมี 4 จังหวัดที่เพิ่มเติมเข้ามาคือ ประจวบคีรีขันธ์ พระนครศรีอยุธยา สกลนคร และสุรินทร์
นพ.ทวีศิลป์กล่าวว่า จากการวิเคราะห์ของกองระบาดวิทยาตั้งแต่เดือน ม.ค.-18 เม.ย. พบว่าผู้ป่วยช่วงอายุ 20-39 ปี มีจำนวน 1,334 ราย คิดเป็น 49% หรือครึ่งหนึ่งของผู้ป่วยทั้งหมด เสียชีวิตไป 3 ราย มีอาชีพเสี่ยงที่เกี่ยวข้องกับสถานบันเทิง โรงแรม ร้านอาหาร 19% รับจ้างทั่วไป 18% พนักงานบริษัท พนักงานโรงงาน 14% คนกลุ่มนี้เป็นวัยสังคม พบปะผู้คน และเป็นพาหะไปสู่คนในบ้าน เน้นย้ำว่าข้อมูลนี้จะเกี่ยวเนื่องกับการพิจารณาว่าจะเปิดหรือไม่เปิด โดยจะต้องใช้สถิติเป็นตัวนำในการตัดสินใจ
สำหรับการช่วยเหลือคนไทยในต่างประเทศที่จะเดินทางกลับไทย จะมีคนไทยเดินทางกลับจาก 3 ประเทศ ได้แก่ เนเธอร์แลนด์ 27 คน บาห์เรน 74 คน ซึ่งจะลงที่สนามบินสุวรรณภูมิ และสหรัฐอเมริกา 162 คน ในจำนวนนี้เป็นนักเรียนเอเอฟเอสด้วย ซึ่งจะลงที่สนามบินอู่ตะเภา ในส่วนคนไทยในประเทศเพื่อนบ้านที่จะเดินทางกลับผ่านด่านชายแดน ตั้งแต่วันที่ 18-30 เม.ย. มี 3,211 คน กลับจากมาเลเซียมีทั้งสิ้น 2,548 คน
โฆษก ศบค.กล่าวว่า ผลการปฏิบัติงานด้านความมั่นคงช่วงเคอร์ฟิวในคืนวันที่ 18 เม.ย. ต่อเนื่องเช้าวันที่ 19 เม.ย. มีผู้ฝ่าฝืนมั่วสุม รวมกลุ่มที่ต้องดำเนินคดี 68 ราย ลดลงจากคืนก่อน 45 ราย ออกนอกเคหสถาน 674 ราย ลดลงจากคืนก่อน 17 ราย โดย กทม.พบการฝ่าฝืนมากที่สุด รองลงมา ชลบุรี ปทุมธานี นนทบุรี นครราชสีมา สระบุรี พระนครศรีอยุธยา นครศรีธรรมราช สมุทรสาคร และสมุทรปราการ ส่วน 9 จังหวัดที่ไม่พบการฝ่าฝืนคือ ยโสธร อำนาจเจริญ ลำปาง น่าน นครพนม แม่ฮ่องสอน สระแก้ว พิจิตร สุโขทัย
ไม่ฟันธง1พ.ค.คลายล็อก
เมื่อถามว่า มีกระแสข่าวว่าสถานประกอบการบางแห่งเตรียมพร้อมจะเปิดบริการในวันที่ 1 พ.ค. และอาจมีพนักงานกลับมาทำงานจำนวนมาก รัฐมีมาตรการป้องกันอย่างไรไม่ให้เกิดการระบาดอีก นพ.ทวีศิลป์กล่าวว่า วันที่ 1 พ.ค. อาจเป็นการตีความเนื่องจากพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน (พ.ร.ก.) จะหมดอายุในวันที่ 30 เม.ย. แต่ยังไม่ได้บอกว่าจะยุติแค่ตรงนี้หรือบวกเพิ่มต่อ ซึ่งต้องใช้มติของที่ประชุม ศบค.ชุดใหญ่ ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม ในฐานะ ผอ.ศบค. เป็นประธาน ซึ่งต้องประชุมปรึกษากันก่อนจะมีมติออกมา โดยต้องใช้ชุดข้อมูลต่างๆ รวมถึงปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นจริงในช่วงเวลาใกล้ๆ วันที่ 30 เม.ย. ที่จะเป็นตัวบอก
ส่วนที่ภาคธุรกิจเตรียมพร้อมเปิดนั้น อาจเกิดขึ้นได้ 2 กรณีคือ อาจปิดต่อหรือเปิด จึงต้องเตรียมความพร้อมไว้ ซึ่งขึ้นอยู่กับพฤติกรรมของคนไทยด้วย อย่างไรก็ตาม การจะให้เกิดความมั่นใจได้ คนไทยต้องร่วมมือกันมากกว่า 90% ถึงจะกดการติดเชื้อได้ ที่ผ่านมามีผู้ป่วยแต่ละวัน 30 ราย ซึ่งอยู่ในความพึงพอใจระดับหนึ่ง แต่ยังไม่ดีเพียงพอ ต้องต่ำสิบให้ได้ ต้องเกิดเชื้อรายใหม่ให้น้อย จะตึงหรือหย่อนเป็นเรื่องของการบริหารสถานการณ์ที่ละเอียดอ่อน มีการพูดกันว่าไม่กลัวโรค แต่กลัวอดตาย จึงทำให้เห็นภาพคนต่อคิวรอรับของบริจาค ซึ่งช่วยผ่อนคลายได้บ้าง แต่หลักการคือ ต้องเว้นระยะห่าง ใส่หน้ากากอนามัย ต้องสงสัยว่าทุกคนมีโอกาสแพร่เชื้อ จึงขอให้ทุกคนเตรียมความพร้อมให้ดีที่สุด ทั้งส่วนตัวและสังคม เราต้องไปในทิศทางเดียวกัน ต้องทำให้เป็นพฤติกรรมใหม่ที่เป็นปกติ ฝากทุกคน ยังต้องอดทนกันต่อ
ด้านนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ในทางกฎหมายแม้มี พ.ร.ก.ฉุกเฉินก็สามารถผ่อนคลายได้ และความจริงแนวโน้มควรจะเป็นอย่างนั้น ทั้งนี้ ความหมายของการผ่อนคลายมี 3 ประเด็น คือ 1.การใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน 1 เดือน จะครบในวันที่ 30 เม.ย. หากขยายต้องดูว่าจะใช้ขยายไปอีกเท่าไร 2.เรื่องเคอร์ฟิวทั่วราชอาณาจักรตั้งแต่เวลา 22.00-04.00 น. จะต้องมาพิจารณาว่าจะผ่อนคลายช่วงเวลาหรือตึงขึ้น เช่น ขยับจาก 22.00 น. ไปเป็น 00.00 น. นี่ก็เรียกผ่อนคลาย เป็นต้น และ 3.การที่แต่ละจังหวัดออกประกาศตาม พ.ร.บ.โรคติดต่อ ซึ่งเป็นอำนาจของผู้ว่าราชกรุงเทพมหานคร และผู้ว่าราชการจังหวัด 76 จังหวัดนั้นที่จะพิจารณา เช่น จะยอมให้เปิดร้านตัดผมหรือไม่ ถือว่าเป็นการผ่อนคลายอย่างหนึ่ง แต่ทั้ง 3 ประเด็นนี้ยังไม่มีคำตอบ และยังไม่ได้เริ่มพิจารณา เข้าใจว่าจะมีการพิจารณากันในสัปดาห์หน้า
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในวันที่ 20 เม.ย. เวลา 09.30 น. นายกรัฐมนตรีจะเป็นประธานการประชุม ศบค.ชุดใหญ่ ระดับหัวหน้าศูนย์ต่างๆ ที่ตึกสันติไมตรีหลังนอก ทำเนียบรัฐบาล
ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต จ.ปทุมธานี ในช่วงเช้า พล.อ.ประยุทธ์เดินทางไปตรวจเยี่ยมโรงพยาบาลสนาม หรือ Hospitel เพื่อรองรับผู้ป่วยติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโควิด-19 แห่งแรกของประเทศไทย ที่อาคารดีลักซ์ ภายในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และได้รับผู้ป่วยตั้งแต่วันที่ 25 มี.ค.ที่ผ่านมา โดยโรงพยาบาลสนามได้ติดตั้งกล้องวงจรปิด พร้อมจัดระบบการรับผู้ป่วย ยาเวชภัณฑ์ บุคลากรทางการแพทย์อย่างครบครัน และนำหุ่นยนต์บริการทางการแพทย์มาร่วมด้วย เพื่อให้แพทย์สามารถเข้าถึงผู้ป่วยได้โดยไม่ต้องสัมผัส หรืออยู่ใกล้ผู้ป่วยมากเกินไป ทั้งนี้ นายกฯ ได้กล่าวขอบคุณและให้กำลังใจทีมแพทย์และเจ้าหน้าที่ บุคลากรทุกคน ที่เสียสละทุ่มเทอย่างไม่เหน็ดเหนื่อยเพื่อดูแลผู้ป่วยอย่างดีตลอด 24 ชม. จากนั้น พล.อ.ประยุทธ์ได้แวะตรวจเยี่ยมการปฏิบัติงานของด่านตรวจดอนเมือง
แนะเริ่มจาก จ.ไร้ป่วย14วัน
ที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) นพ.ธนรักษ์ ผลิพัฒน์ รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า สำหรับมาตรการเปิดกิจการต่างๆ มีข้อเสนอแนะหลักการเบื้องต้นคือ ให้เริ่มเปิดดำเนินการได้ในจังหวัดที่มีความเสี่ยงต่ำคือ จังหวัดที่ไม่มีจำนวนผู้ป่วยในช่วง 14 วันที่ผ่านมา เช่น 1 พ.ค. ให้เปิดกิจการได้ โดยพิจารณาเปิดกิจการ หรือสถานที่ที่มีความเสี่ยงต่ำ และดำเนินการตามมาตรการอย่างเข้มข้นได้ อาทิ สถานที่ที่สามารถคงมาตรการรักษาระยะห่างระหว่างบุคคลได้ 1-2 เมตร ใส่อุปกรณ์ป้องกันได้ และใช้เวลาในสถานที่เหล่านี้ไม่นานเกินไป
นพ.นคร เปรมศรี ผู้อำนวยการสถาบันวัคซีนแห่งชาติ เปิดเผยว่า ขณะนี้ทีมวัคซีนไทยกำลังดำเนินการคิดค้นวัคซีนโควิด-19 โดยคณะแพทย์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยได้ร่วมกับทางบริษัท ไบโอเนท เอเชีย ผลิตวัคซีน และทำการทดลองในลิงหรือหนูแล้ว และกำลังรอผลจากทางกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ว่าจะสามารถปลอดภัยนำไปสู่การทดลองในคนต่อหรือไม่ ซึ่งการทดลองในคนนั้น จะแบ่งเป็น 3 ระยะ คือ ระยะที่ 1 ความปลอดภัย (ทดลองใน 30-50 คน), ระยะที่ 2 การกระตุ้นภูมิคุ้มกัน (100-150 คน) และระยะที่ 3 ให้ผลในการป้องกัน (500 คนขึ้นไป) เมื่อได้ผลว่าวัคซีนดังกล่าวป้องกันโควิด-19 ก็ไปสู่กระบวนการขึ้นทะเบียนต่อไป
ขณะที่ความร่วมมือกับต่างประเทศ ที่มีการผลิตวัคซีน ซึ่งขณะนี้มีประเทศที่ก้าวหน้ามีการทดลองในคนแล้วคือ สหรัฐอเมริกา จีน อังกฤษ ถ้าจะให้ประเทศไทยเข้าถึงวัคซีนได้ ต้องมีการนำวัคซีนต้นแบบที่มีศักยภาพสูงจากต่างประเทศมาทดลองในประเทศ โดยมีแผนรับการถ่ายทอดเทคโนโลยีเพื่อการผลิต และข้อตกลงในการเข้าถึงวัคซีน ตอนนี้ในประเทศจีนได้มีการทดลองในคนระยะที่ 2 เพื่อดูว่าวัคซีนสามารถกระตุ้นภูมิคุ้มกันได้หรือไม่ และไทยได้มีการเจรจาทำความร่วมมือกับจีนอยู่ โดยอยู่ในระหว่างการทำเอ็มโอยูร่วมกัน
วันเดียวกัน นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวภายหลังการตรวจเยี่ยมให้กำลังใจอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) ในพื้นที่คลองสาม ปทุมธานี ว่าในฐานะประธานสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ได้พูดคุยในวงประชุมพูดถึงการขับเคลื่อนสุขภาพที่สำคัญที่สุด จะต้องมี อสม.เข้ามาช่วย จึงขอให้ อสม.ถูกเทียบเท่าเป็นเจ้าหน้าที่สาธารณสุข และจะได้รับการดูแลคุ้มครองเท่ากับบุคลากรทางการแพทย์ ทั้งนี้ ตั้งเป้าว่าหมดโควิด-19 ประเทศไทยจะเป็นที่ 1 ของโลกในด้านสาธารณสุขให้ได้
นายฉัตรชัย พรหมเลิศ ปลัดกระทรวงมหาดไทย ทำหนังสือด่วนถึงผู้ว่าราชการจังหวัดทุกจังหวัด เกี่ยวกับกรณีที่การบริจาคสิ่งของแล้วมีประชาชนไปรับจำนวนมากว่า ขอให้ผู้ว่าฯ ดำเนินการตามข้อกำหนดออกตามความในมาตรา 9 แห่ง พ.ร.ก.ฉุกเฉิน (ฉบับที่ 1) ข้อ 11 มาตรการป้องกันโรคอย่างเคร่งครัด โดยทำความเข้าใจกับผู้ที่ประสงค์จะบริจาคให้ประสานกับจังหวัดหรืออำเภอ หรือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในพื้นที่ ทราบก่อนการแจกจ่ายมอบสิ่งของเพื่อช่วยในการจัดการ รวมทั้งประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนถือปฏิบัติตามหลักการในการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 โดยเฉพาะการเว้นระยะห่างทางสังคมอย่างเคร่งครัด และจัดให้มีเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องกำกับดูแลให้เป็นระเบียบด้วย.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |