ชิงชิ่วชานแห่งหนานหนิง


เพิ่มเพื่อน    

(อาคารโรงแรมแห่งหนึ่งในเมืองหนานหนิงวิวจากอุทยานเขาชิงชิ่ว)

    ภูเขาชิงชิ่ว (Qingxiushan) ตั้งอยู่บนฝั่งทิศเหนือของแม่น้ำหยง (Yongjiang) แม่น้ำสายสำคัญที่ไหลผ่านเมืองหนานหนิง พื้นที่ของภูเขาถือว่าไม่กว้างใหญ่นัก ประมาณ 4 ตารางกิโลเมตร เฉลี่ยความยาวที่ขนานไปกับแม่น้ำผมคะเนด้วยสายตา (ในแผนที่) น่าจะยาวประมาณ 3 กิโลเมตร กว้างเฉลี่ย 1 กิโลเมตรกว่าๆ แม้ว่าสันฐานแท้จริงจะมีส่วนโค้งเว้า ห่างไกลจากความเป็นสี่เหลี่ยมผืนผ้า ทางทิศตะวันตกแคบ และบานปลายในทางทิศตะวันออก ส่วนความสูงจากระดับน้ำทะเลวัดได้ตั้งแต่ 82 เมตรจนถึง 289 เมตร (บางเว็บไซต์ระบุไว้แค่ 189 เมตร) แม้จะเป็นภูเขาขนาดไม่ใหญ่แต่มียอดเขาถึง 18 ยอด

(รถไฟล้อยางรับส่งผู้มาเยือนเขาชิงชิ่ว)

    ผมเดินทางโดยรถไฟใต้ดินสาย 3 (สีม่วง) มาถึงหน้าประตูตะวันตกเฉียงเหนือ (Northwest Gate) เวลาประมาณ 4 โมงเย็น ซื้อตั๋วผ่านประตูราคา 20 หยวน ไม่ได้ซื้อตั๋วรถชัตเทิลรับ-ส่ง ที่มีทั้งรถรางในรูปทรงรถไฟล้อยาง และมินิบัสขนาดสั้นเปิดด้านข้างและด้านท้าย ตั๋วรถรางขาเดียวราคา 10 หยวน ไป-กลับ 18 หยวน หากต้องการขึ้นลงแบบไม่จำกัด ราคา 50 หยวน ส่วนมินิบัสนำเที่ยวราคา 5 หยวน, 9 หยวน และ 24 หยวน ตามลำดับกติกาที่ใช้กับรถราง มีทางจักรยานด้วยแต่ผมไม่ได้เช็กราคาตั๋วสำหรับนักปั่น และเหตุผลที่ผมไม่ซื้อตั๋วรถชัตเทิลก็เพราะอยากเดินชมโน่นชมนี่ตามสะดวก และเห็นว่าระยะทางไม่ไกลเท่าไหร่
    Qingxiushan ในภาษาจีนออกเสียงว่า “ชิงชิ่วชาน” (ตามที่ได้ถามน้องท็อป-หนุ่มไทยผู้ปักหลักทำงานที่เมืองหนานหนิง) เมื่อก่อนเรียก Qingshan (ชิงชาน) แปลว่า “ภูเขาเขียว” มีปรากฏหลักฐานว่าเป็นสถานที่พักผ่อนหย่อนใจมาตั้งแต่สมัยราชวงศ์สุย (ค.ศ.581-ค.ศ.618) ดำรงคงอยู่ผ่านสมัยราชวงศ์ถัง (ค.ศ.618-ค.ศ.907) มาจนถึงสมัยราชวงศ์หมิง (ค.ศ.1368-ค.ศ.1644) แต่มาเสื่อมสภาพทรุดโทรมลงในสมัยราชวงศ์ชิง (ค.ศ.1644-ค.ศ.1911) กระทั่งหลังจากยุคปฏิวัติจีนเขาชิงชิ่วกลับมาได้รับความสนใจขึ้นอีกครั้ง ในปี ค.ศ.1968 รัฐบาลท้องถิ่นได้ปลุกชีพ เสริมสิ่งปลูกสร้างขึ้น 23 จุด กลายเป็นอุทยานท่องเที่ยว ก่อนจะเปิดสู่โลกภายนอกอย่างเป็นทางการในปลายปี ค.ศ.1987
    หลังประตูทางเข้าไม่ไกลมีรูปปั้นของกลุ่มชาติพันธุ์ทั้งหลายที่รวมกันอยู่ในเขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วง ตีวงโค้งล้อมลานโล่ง เรียกว่า Zhuang Brocade Square แปลตามตัวคือ “จัตุรัสผ้าปักดอกของชาวจ้วง” ถัดไปเป็นลานกว้าง มีขั้นบันไดคล้ายอัฒจันทร์ย่อมๆ 2 ช่วง ส่วนปลายคือเวทีการแสดงทางศิลปวัฒนธรรม เรียกว่า Bronze Drum Stage หรือ “เวทีกลองสัมฤทธิ์” ฉากหลังเป็นหินแกะสลักสวยงาม ตรงกลางแกะเป็นรูปกลองสัมฤทธิ์ หลังฉากนั้นเป็นทางเดินปูแผ่นหินทอดแหวกไปกลางป่า เสาโคมไฟติดตั้งอยู่เป็นระยะเพราะเวลากลางคืนเขาชิงชิ่วก็ยังเปิดให้บริการ

(ซุ้มทางเดินแห่งมิตรภาพจีน-อาเซียน Long Corridor of Friendship)

    เดินจากทิศตะวันตกไปทางทิศตะวันออก ทะลุป่าย่อมๆ มาเจอกับ Long Corridor of Friendship หรือซุ้มทางเดินมิตรภาพจีน-อาเซียน ความยาว 618 เมตร โครงสร้างใช้ไม้เป็นวัสดุหลัก มีลักษณะเป็นศาลาแต่สร้างยาวเป็นโถงทางเดิน ไม่ได้กั้นฝา มีหลังคาคลุม ดัดแปลงมาจากที่อยู่อาศัยของกลุ่มชาติพันธุ์ “ต้ง” มีที่นั่งพักตลอดแถวทั้ง 2 ฝั่ง แบ่งเป็นโซนประเทศต่างๆ ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ บวกด้วยประเทศจีน เดินถึงโซนประเทศไหนธงทิวของประเทศนั้นห้อยลงมาจากหลังคา ติดป้ายข้อมูลของประเทศ พร้อมด้วยภาพสถานที่ท่องเที่ยว อาหาร การแต่งกาย และสัตว์สำคัญประจำชาติ ส่วนด้านนอกซุ้มทางเดินจัดแสดงหินรูปร่างแปลกเคียงขนานกันไป

(ภาพน่ารักบริเวณ ASEAN Friendship Garden)

    หลุดออกจากซุ้มทางเดินอาเซียนบวกจีนมาพบกับการจัดแสดงผลิตผลทางการเกษตรพวกผักผลไม้จำนวนมาก มีทั้งของจริงของปลอม เรียกว่า ASEAN Friendship Garden ใกล้ๆ กันมีเสาหินจำนวน 11 ต้น เรียงทำวงโค้งๆ บนหัวเสามีรูปปั้นหินตราสัญลักษณ์ทางการของแต่ละประเทศในกลุ่มอาเซียนและจีน ของไทยก็คือครุฑพ่าห์แสนสง่างาม ทั้งนี้ทราบมาว่ารัฐบาลจีนได้กำหนดให้เมืองหนานหนิงเป็นศูนย์กลางเชื่อมสัมพันธ์จีนกับชาติอาเซียน ซึ่งดูแล้วก็เหมาะสมทั้งที่ตั้งทางภูมิศาสตร์และความเชื่อมโยงทางด้านสายเลือดระหว่างกลุ่มชาติพันธุ์พื้นเมืองในหนานหนิงกับประชากรหลักในบางชาติอาเซียน อาทิ เวียดนาม ลาว และไทย

(บ่อน้ำพุจอหงวน ในอดีตเด็กหนุ่มคนหนึ่งมุ่งมั่นศึกษาวิชาความรู้อยู่บริเวณนี้จนสอบได้จอหงวน)

    ผมเดินผ่านลานหญ้าโล่งไปออกถนนเส้นสำหรับเดินทัวร์และรถชัตเทิล เดินไปจนกระทั่งถึงบันไดทางขึ้นไปยังอนุสาวรีย์พลีชีพของยุวชนทหารกว่างซีในสงครามต้านญี่ปุ่น แต่ไม่ได้เดินขึ้นไปเพราะต้องการออมแรง ตรงนี้เป็น 3 แยก หากไปทางซ้ายมีป้ายบอกว่าสวนกล้วยไม้อยู่ห่างไป 1,700 เมตร วัดเจ้าแม่กวนอิม 1,800 เมตร สวนดอกท้อ 2,300 เมตร หากไปทางขวาจะพบบ่อน้ำพุจอหงวนอยู่ห่างไป 500 เมตร สวนปรง 1,500 เมตร ที่จริงแล้วผมตั้งใจจะเดินไปให้สุดที่เจดีย์หลงเซียง ดูในแผนผังก่อนหน้านี้รู้สึกว่าเดินไปทางขวาจะใกล้กว่า
    บ่อน้ำพุธรรมชาติจอหงวนจัดไว้สวยงามน่าชม มีข้อความสลักบนแผ่นหินบรรยายว่าในอดีตมีนักเรียนหนุ่มยากจนคนหนึ่งได้ทุ่มเทศึกษาวิชาการอย่างเอาจริงเอาจังบริเวณบ่อน้ำพุติดกับเนินเขาเหมาซีแห่งนี้จนสอบได้เป็นจอหงวน ถือเป็นอันดับ 1 ในระบบการสอบเข้ารับราชการในสมัยจีนโบราณ บ่อน้ำพุนี้จึงถูกเรียกว่าบ่อน้ำพุจอหงวน เป็นอนุสรณ์สะท้อนความตั้งใจจริงและการพัฒนาในตัวคน
    ผมเดินต่อไปบนถนนที่ร่มรื่น สองข้างทางต้นไม้สูงใหญ่พาดกิ่งข้ามฝั่งเป็นอุโมงค์ทางเดิน จนถึงทางเลี้ยวซ้ายไปยังสวนปรง (Cycad Garden) อยู่ห่างเข้าไปข้างในอีก 300 เมตร ในโลกนี้มีปรงเหลืออยู่ประมาณ 200 สปีชีส์ มีอยู่ในจีน 20 สปีชีส์ ทางอุทยานจัดหามาจากทั่วโลกนำมาแสดงไว้ 50 สปีชีส์ จำนวนประมาณ 1 หมื่นต้น โดยต้นที่อายุมากที่สุดมีอายุถึง 1,360 ปี เรียกว่า “Cycad King” ภายในสวนปรงมีรูปปั้นไดโนเสาร์แซมอยู่ด้วยจำนวนมาก สาเหตุมาจากไดโนเสาร์เคยอยู่ร่วมยุคเดียวกับพืชชนิดนี้ที่เริ่มมีขึ้นบนโลกเมื่อประมาณ 200 ล้านปีก่อน ปัจจุบันปรงถูกจัดให้เป็นพืชที่ต้องได้รับความคุ้มครองระดับสูงสุดของชาติ ถัดจากสวนปรงไปยังมีสวมปาล์มและป่าเขตร้อนขนาดย่อมรวมอยู่ด้วย

(เทียนฉี หรือ “สระสวรรค์” ตั้งอยู่ไม่ห่างจากเจดีย์หลงเซียง)

    เนื่องจากกลัวฟ้ามืดเสียก่อนจะไปถึงเจดีย์หลงเซียงผมจึงไม่ได้แวะเข้าไปในสวนปรง เดินต่อไปอีกหน่อยถึงสระสวรรค์ (เทียนฉี) สระขุดที่อยู่ท่ามกลางหมู่ต้นไม้เขียวขจีนานาพรรณ กินพื้นที่ประมาณ 15,000 ตารางเมตร มีเกาะกลางน้ำและสะพานเชื่อมรูปโค้งทรงเสน่ห์ ยังมีสระขุดอีกแห่ง ชื่อว่า “เหยาฉี” แปลว่าสระหยก อยู่ใกล้วัดเจ้าแม่กวนอิม พื้นที่ประมาณ 5,000 ตารางเมตร รายรอบด้วยสวนต้นท้อที่จะออกดอกบานสะพรั่งในฤดูใบไม้ผลิ
    ผมแวะถ่ายรูปสระสวรรค์เพียงครู่เดียวก็เดินต่อไปยังยอดเขาเฟิงยี ทางช่วงนี้ลาดชันขึ้นเนินหลายองศา เดินจนปวดขาและหายใจเหนื่อยหอบ ก่อนจะท้อทรุดตัวลงนั่งพักก็เห็นฐานของเจดีย์โผล่ให้เห็น เดินอีกหน่อยก็เห็นเจดีย์หลงเซียงทั้งองค์

(มุมนั่งพักสำหรับผู้นิยมเดินเท้า)

    หลงเซียง แปลว่า “มังกรและช้าง” มาจากคติที่ว่ามังกรมีกำลังมากที่สุดในน้ำ ช้างแข็งแรงสุดบนดิน เจดีย์หลงเซียงองค์เดิมสร้างขึ้นในสมัยราชวงศ์หมิง (ค.ศ.1368-ค.ศ.1644) ความสูง 33 เมตร ถูกฟ้าผ่าเสียหายในปี ค.ศ.1624 และพังทลายลงระหว่างการรุกรานของญี่ปุ่นในช่วงต้นสงครามโลกครั้งที่ 2 กระทั่งมีการสร้างขึ้นใหม่เมื่อปี ค.ศ.1985 ในรูปทรงเดิม เป็นเจดีย์ 8 เหลี่ยม มี 9 ชั้น ช่วงต่อแต่ละชั้นทำเป็นชายคาคู่ เส้นผ่านศูนย์กลางของฐานกว้าง 12 เมตร ความสูง 51.35 เมตร เป็นเจดีย์ที่สูงที่สุดในเขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วง ภายในติดตั้งระฆังทองแดง 72 ใบ มีบันไดในองค์เจดีย์ 207 ขั้น

(เจดีย์หลงเซียง สร้างใหม่แต่คงสไตล์ยุคหมิง)

    ข้อมูลที่หาได้ตอนหลังระบุว่าสามารถเดินขึ้นไปจนถึงชั้นสูงสุด มองเห็นวิวแม่น้ำหยงทางทิศใต้ไหลโอบภูเขาอยู่คดเคี้ยว เห็นเมืองหนานหนิงไกลออกไปนับสิบกิโลเมตรรอบทิศ แต่สำหรับตัวผมอย่าว่าแต่ขึ้นบันได้ไปชมวิว แค่ในตัวเจดีย์ก็ไม่ได้เข้าไปเพราะมารู้ทีหลัง อีกทั้งตอนนั้นเวลาประมาณ 6 โมงเย็นแล้ว ไม่มีมนุษย์ผู้อื่นอยู่ใกล้ๆ เลย ลองเดินหามุมมองดูวิวเมืองจากด้านล่างเจดีย์ก็ถูกต้นไม้ปิดบังไว้เกือบหมด
    ผมถ่ายรูปป้ายข้อความ มาอ่านหลังจากวันนั้น ใจความว่า “....เจดีย์หลงเซียงและสระสวรรค์สะท้อนภาพของกันและกัน น้ำในสระปรากฏบนเจดีย์ และเจดีย์ก็ปรากฏในสระ ทำให้เรียกว่า “เงาสระสวรรค์คู่เงาเจดีย์” และภาพดังกล่าวงดงามเป็น 1 ใน 10 วิวยอดเยี่ยมของเมืองหนานหนิง” เมื่อมาอ่านทีหลังจึงทำให้ตอนเดินลงไปทางสระสวรรค์อีกครั้งก็ไม่ได้ไปเล็งมุมส่องหาเจดีย์หลงเซียงในสระ คิดแล้วน่าเสียดาย
    ฟ้ากำลังจะมืด หากจะเดินกลับแม้จะเป็นทางลงเขาแต่ก็ต้องเดินเป็นระยะทางราว 3 กิโลเมตร เห็นทีจะไม่ไหวเพราะปวดเท้าเต็มที เห็นรถรางวิ่งผ่านหน้าศาลานั่งพักของสระสวรรค์ ผมขอให้จอดแล้วขึ้นไปนั่ง เด็กวัยรุ่นที่เป็นกระเป๋ารถเดินมาขอดูตั๋ว ผมทำท่าล้วงกระเป๋าเงินออกมา เขาพิมพ์ข้อความลงในมือถือแปลออกมาเข้าใจได้ว่าต้องซื้อตั๋ว 10 หยวน ให้นำเงินไปหย่อนกล่องหลังรถ ผมดีใจมากที่ยังมีโอกาสได้ใช้บริการรถรับส่ง
    รถวิ่งไปบนถนนอีกฝั่งที่ผมไม่ได้เลือกตอนเดินขึ้นมา เห็นได้ชัดว่าแม้แต่วิวที่มองออกไปจากภูเขาก็ดูดีกว่าอีกฝั่ง เข้าใจว่าโซน “สวนไทย” (Thailand Garden) ที่ออกแบบโดยสถาปนิกชาวไทยก็น่าจะอยู่ในเส้นทางนี้ นอกจากสวนในแบบไทยๆ แล้วยังมีวัดไทยอยู่ในบริเวณเดียวกันด้วย
    ความสัมพันธ์ระหว่างหนานหนิงและประเทศไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับจังหวัดขอนแก่นมีมิตรภาพแน่นแฟ้นเป็นเมืองพี่เมืองน้องมาเกือบ 30 ปีแล้ว และเมื่อประมาณ 2 ปีที่ผ่านมาจังหวัดขอนแก่นได้เปิดอาคารศูนย์วัฒนธรรมไทย-จีน และสวนมิตรภาพขอนแก่น-หนานหนิง ประดิษฐานรูปปั้นเจ้าแม่กวนอิมบริเวณริมบึงแก่นนคร เขตเทศบาลนครขอนแก่น ออกแบบโดยสถาปนิกของฝ่ายเทศบาลนครหนานหนิง งบประมาณในการก่อสร้างก็ช่วยกันออกทั้ง 2 ฝ่าย  
    ส่วนวัดเจ้าแม่กวนอิมที่เขาชิงชิ่วเพิ่งจะเปลี่ยนชื่อมาจาก “หอซานเปา” (Sanbao Hall) เมื่อไม่นานมานี้ ซึ่งซานเปาแปลว่า “ทรัพย์สามอย่าง” ข้อมูลจากเว็บไซต์ Travelchinaguide.com ระบุว่าตั้งอยู่ทางตะวันตกของ “เหยาฉี” หรือสระหยก มีรูปเคารพเทพเจ้า 3 องค์ของชาวจ้วง อีกทั้งประดิษฐานพระพุทธรูปปางไสยาสน์ทำจากหยกขนาดใหญ่ ระบุว่าใหญ่กว่าทุกแห่งในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และรูปปั้นทองสัมฤทธิ์ของเทพเจ้ากวนอูนั่งขนาดใหญ่ที่สุดในจีน  
    อุทยานเขาชิงชิ่วนี้ได้รับการการันตีว่าคู่ควรแก่การมาเยือนอย่างยิ่ง ล่าสุดถูกยกให้เป็นสถานที่ท่องเที่ยวระดับ AAAAA ของชาติจีนเรียบร้อยแล้ว อีกทั้งได้รับฉายา “ปอดแห่งหนานหนิง” สภาพอากาศเอื้ออำนวยให้มาเที่ยวได้ตลอดทั้งปี เปิดให้บริการตั้งแต่ 6 โมงเช้าถึงเที่ยงคืน
    รถรางในรูปร่างคล้ายรถไฟส่งผู้โดยสารที่มีไม่กี่คนลงบริเวณประตูทางออก ผมมีเวลาเดินชมแค่ประมาณ 2 ชั่วโมง เห็นเขาชิงชิ่วยังไม่ถึงครึ่งหนึ่งด้วยซ้ำ คงต้องกลับมาใหม่ในโอกาสหน้า.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"