กรุงเทพมหานคร หรือกรุงรัตนโกสินทร์จะมีอายุครบ 238 ปี ในวันที่ 21 เมษายน พ.ศ.2563 ในอดีตกรุงรัตนโกสินทร์เป็นที่อาศัยของกลุ่มชนที่มีความหลากหลายทางเชื้อชาติ ศาสนา และวัฒนธรรม มีลักษณะชุมชนดั้งเดิมที่ย้ายมาจากกรุงศรีอยุธยา และชุมชนเกิดใหม่ โดยผ่านกระบวนการสืบทอดและพัฒนามาอย่างยาวนาน ทำให้ชุมชนต่างๆ มีความหลากหลายทางวัฒนธรรมทั่วกรุงเทพมหานคร ทุกชุมชนอยู่ภายใต้ร่มพระบารมีของพระมหากษัตริย์ไทยทุกพระองค์
มาวันนี้ การศึกษารากเหง้าประวัติศาสตร์อย่างลึกซึ้ง จะช่วยปกป้องรักษามรดกทางวัฒนธรรมที่ทรงคุณค่าของชุมชนและชาติสืบต่อไป เพราะชุมชนที่มีความหลากหลายทางวัฒนธรรม มีความเข้มแข็งตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน เป็นทุนทางสังคม ทำให้ขับเคลื่อนงาน พัฒนาบ้านเมืองไปได้ ชุมชน “กุฎีจีน” หรือ ชุมชน “กะดีจีน” นับเป็นหนึ่งในชุมชนใต้ร่มพระบารมี กุฎีจีนเป็นย่านชุมชนเก่าแก่มีประวัติศาสตร์ยาวนานคู่กรุงเทพมหานคร เต็มไปด้วยสีสันวัฒนธรรม เรียกว่าเป็นย่านอินเตอร์ก็คงไม่ผิดนัก เพราะมีทั้งชาวไทย จีน ชาวไทยเชื้อสายโปรตุเกส ญวน ที่อาศัยอยู่ย่านนี้ ตามประวัติชุมชนกุฎีจีน เป็นชุมชนพ่อค้าชาวจีนฮกเกี้ยนที่อพยพจากกรุงศรีอยุธยามาตั้งถิ่นฐานอยู่ที่คลองบางกอกใหญ่ใกล้ริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา ภายในชุมชนเป็นที่ตั้งของศาสนสถานสำคัญหลายศาสนารวมกัน ได้ชื่อว่าย่าน 3 ศาสนา 4 ความเชื่อประกอบด้วยพุทธเถรวาท พุทธมหายาน คริสต์ และมุสลิม
วิถีชีวิตของชาวกุฎีจีนมีเรื่องราวมากมาย วัดประยุรวงศาวาสวรวิหาร พระอารามหลวงในสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ศูนย์รวมใจชาวพุทธในย่านนี้ ส่วนชาวไทยเชื้อสายโปรตุเกสและชาวญวณ ที่ขอเข้ามาพึ่งพระบรมโพธิสมภาร มีโบสถ์ซางตาครู้ส เป็นวัดเก่าแก่วัดหนึ่งของอัครสังฆมณฑลของกรุงเทพฯ เป็นศูนย์กลางชาวคริสต์ที่อยู่ชุมชนนี้ โดยชื่อ “Santa Cruz” เป็นภาษาโปรตุเกส แปลว่า ไม้กางเขนศักดิ์สิทธิ์ เลียบแม่น้ำเจ้าพระยาออกมาไม่ไกล เป็นที่ตั้งศาลเจ้าเกียนอันเกง เป็นศาลเจ้าเล็กๆ ของชุมชนชาวจีน โดดเด่นด้วยสถาปัตยกรรมแบบจีนแท้ๆ สื่อได้ถึงวัฒนธรรมของชาวไทยเชื้อสายจีนของย่านกุฎีจีน ส่วนชาวมุสลิมมีมัสยิดบางหลวง หรือกุฎีขาว เป็นศูนย์รวมจิตใจ สร้างตั้งแต่สมัยของพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช มีเอกลักษณ์แปลกแตกต่างด้วยออกแบบเป็นอาคารทรงไทยผสมศิลปะตะวันตกและศิลปะจีน มีที่เดียวในโลก
ชุมชน “บางลำพู” ชุมชนบริเวณเกาะรัตนโกสินทร์ หนึ่งในชุมชนเก่าแก่ที่มีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักไปทั่วโลก ผู้คนที่อาศัยอยู่บริเวณนี้ยังคงสืบสานมรดกทางวัฒนธรรมที่สืบทอดกันมาจากรุ่นสู่รุ่น ความงดงามของภูมิประเทศที่ร่มรื่นด้วยต้นลำพู เป็นสัญลักษณ์ให้ผู้คนเรียกขานว่า “บางลำพู” ในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช มีการขุดคลองสายประวัติศาสตร์ต้นรัตนโกสินทร์ คือ คลองโอ่งอ่าง หรือ คลองรอบกรุง เมื่อปี พ.ศ. 2328 เพื่อขยายอาณาเขตของพระนคร และใช้เป็นเส้นทางสายใหม่ในการคมนาคม ราษฎรต่างเชื้อชาติศาสนาเข้ามาจับจองตั้งถิ่นฐาน เกิดชุมชนริมคลอง มีการค้าขายทางเรือแลกเปลี่ยนสินค้าอย่างคึกคัก โดยรอบตั้งแต่วัดชนะสงครามถึงกำแพงพระนครด้านคลองลำพู มีตลาดอยู่กลางย่าน เรียกว่า ตลาดบางลำพู อีกทั้งเป็นชุมชนของช่างฝีมือ อาทิ หมู่บ้านช่างทองเลื่องชื่อ
ในสมัยรัชกาลที่ 5 เริ่มการค้าขายกับนานาชาติ มีการสร้างถนนหลายสาย มีรถรางรอบเมืองตั้งแต่ที่บางลำพู ถึงคลองผดุงกรุงเกษม บางลำพูยังเป็นย่านความบันเทิงทั้งดนตรีไทยบ้านดุริยประณีต ละครร้องแม่บุนนาค โรงลิเกหอมหวน โรงหนัง และมีถนนข้าวสารแหล่งท่องเที่ยวยอดนิยมยามค่ำคืนของกรุงเทพมหานคร เป็นเสน่ห์ดึงดูดนักท่องเที่ยวทั่วโลกให้มาเยือนซึมซับประวัติศาสตร์ย่านชุมชนเก่าของกรุงรัตนโกสินทร์แห่งนี้
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |