18 เม.ย.63 - นายเมธา มาสขาว เลขาธิการคณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตย (ครป.) กล่าวว่า เห็นด้วยที่รัฐบาลขอความร่วมมือมหาเศรษฐี 20 คนร่วมรับผิดชอบโควิด 19 และเสียสละส่วนเกินเพื่อส่วนรวม เนื่องจากที่ผ่านมากลุ่มทุนชนชั้นนำไทยได้ผลประโยชน์จากส่วนเกินไปจำนวนมากจนร่ำรวยขึ้นมาเป็นมหาเศรษฐี บ้างก็ร่ำรวยมาจากการให้สัมปทานรัฐ บ้างก็ร่ำรวยมาจากการผูกขาดทรัพยากร ภายใต้การสนับสนุนและคุ้มครองจากรัฐในรูปแบบนิติบุคคล ให้พวกเขาถึงทรัพยากรเพื่อเติบโตและร่ำรวย แต่ระหว่างที่ทรัพย์สินงอกเงยขึ้นนั้นได้จ่ายคืนแก่รัฐและสังคมเพียงพอหรือไม่ หรือจ่ายนอกจ่ายในจนกลายเป็นธุรกิจการเมืองและระบบราชการแบบอุปถัมภ์นิยม
นายเมธา กล่าวว่า ปฏิเสธไม่ได้ว่า โครงสร้างเศรษฐกิจที่รัฐควบคุมดูแลเปิดโอกาสให้มหาเศรษฐกิจร่ำรวยขึ้นมา โดยเฉพาะธุรกิจที่ผูกขาดเหล้าเบียร์ กฎหมายปัจจุบันยังคุ้มครองและออกมาเพื่อไปรอนสิทธิ์รายย่อยไม่ให้ทำการผลิตขนาดเล็กเพื่อไปแข่งขันได้ ทั้งนี้ความร่ำรวยจากการผูกขาดและเติบโตจากการสัมปทาน ถึงเวลาคืนส่วนเกินแก่สังคมและแก้กฎหมายให้มีความเป็นธรรมได้แล้ว นอกจากนี้ กลุ่มทุนประชารัฐที่ร่วมงานกับรัฐบาลมาตลอด 5-6 ปี กลับรวยขึ้นแบบก้าวกระโดดหลายแสนล้านบาทในช่วงเวลาที่มีการรวบอำนาจ สะท้อนว่าโครงสร้างเศรษฐกิจไม่มีความเป็นธรรมนอกจากการเรียกร้องให้มหาเศรษฐีร่วมรับผิดชอบสังคมแล้ว ผมเห็นว่ารัฐบาลควรมีมาตรการการเก็บภาษีทรัพย์สินอัตราก้าวหน้าแบบขั้นบันไดเหมือนในยุโรป เพื่อแก้ปัญหาเชิงโครงสร้าง ไม่ให้เกิดความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจและการรวยกระจุกจนกระจายจากโครงสร้างที่บิดเบือน
เลขาฯครป. กล่าวว่า ปัจจุบันเราเสียภาษีทางอ้อมกว่า 70% และเสียภาษีทางตรงเพียง 30% ภาษีทางอ้อมนั้นเก็บผ่านฐานการบริโภค คือ ภาษีสรรพสามิตและภาษีมูลค่าเพิ่มต่างๆ ซึ่งเป็นการเก็บภาษีทางอ้อมที่ผลักภาระให้คนจนส่วนใหญ่เป็นผู้แบกรับภาษี ท่ามกลางความเหลื่อมล้ำทางสังคมมหาศาลและการกระจายรายได้ที่แย่มากที่สุดประเทศหนึ่ง
มหาเศรษฐีควรยินดีจ่ายภาษีส่วนเกินนี้คืนให้รัฐในอัตราก้าวหน้าจากทรัพย์สินและรายได้ที่งอกเงย เพราะแต่ละคนก็เอาประโยชน์ที่งอกเงยนั้นมาจากสังคมไม่เท่ากัน และรัฐบาลก็นำภาษีที่เก็บได้มาพัฒนาสังคม จนผลิตผลของทรัพย์สิน ที่ดินและมูลค่าของการลงทุนต่างๆ งอกเงยขึ้นมาเป็นดอกผลตอบแทนคืนสู่พลเมืองอีกระลอกหนึ่ง ทำให้สังคมส่วนรวมและคุณภาพชีวิตดีขึ้น อย่าลืมว่าระหว่างที่ทรัพย์สินงอกเงยขึ้น มาจากการคุ้มครองจากรัฐ และเราจ่ายภาษีเพียงบางส่วนให้แก่รัฐ แต่สังคมที่โอบอุ้มดูแลอยู่เราได้เสียภาษีสังคมหรือไม่ สิ่งแวดล้อมที่เสื่อมสลายลงทีละน้อย เราได้จ่ายภาษีสิ่งแวดล้อมที่เสียไปอย่างคุ้มค่าหรือไม่
ดังนั้น ภาษีทรัพย์สินคือภาษีทางตรงที่เราจ่ายให้แก่รัฐและสังคมระหว่างที่มีชีวิตอยู่ และภาษีมรดกคือการจ่ายส่วนเกินที่ปลายทางนั่นเอง ส่วนเกินที่เราสะสมมาจากมูลค่าที่สังคมโอบอุ้ม เราไม่ได้ร่ำรวยมาจากสูญญากาศ ดังนั้น เราจ่ายภาษีคืนแก่สังคมบกพร่องแน่นอน มันจึงพอกพูนงอกเงยขึ้นเป็นกองมรดกให้แก่ลูกหลาน กฎหมายภาษีมรดกในปัจจุบันจึงต้องแก้ไขให้เป็นอัตราก้าวหน้าที่ชัดเจนขึ้น
อย่างไรก็ตาม นายกรัฐมนตรีอย่าทำเรื่องนี้ให้เป็นเพียงกระแสสังคม หรือมวยล้มต้มคนดู เพราะที่ผ่านมาก็ร่วมงานกันมาตลอดจนถึงขั้นแบ่งปันประโยชน์จากนโยบายภาครัฐ อย่าให้เป็นการทดแทนบุญคุณทางอ้อมที่รัฐกำลังจะช่วยฟอก เพราะรัฐบาลจะตั้งกองทุนช่วยพยุงเศรษฐกิจและตลาดหุ้นซึ่งพวกเขาจะได้ผลประโยชน์มหาศาล
โดยเฉพาะการที่รัฐบาลจะออก พรก.ให้ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ค้ำประกันตราสารหนี้ 4 แสนล้านบาท และชดเชยความเสียหายให้แก่เอกชน ถือเป็นการก่อภาระต่อลูกหลานไทยให้ต้องชำระหนี้ในอนาคต แทนที่รัฐบาลจะต้องสงวนเงินภาษีไว้ช่วยเหลือชาวบ้านซึ่งเดือดร้อนแสนสาหัสแทน
"นี่เป็นผลประโยชน์ต่างตอบแทนหรือไม่ ที่จะให้ ธปท. ใช้เงินภาษีประชาชนไปสนับสนุนสภาพคล่องแก่กลุ่มสถาบันการเงินเป็นการเฉพาะ ทำใมไม่ให้ผู้ที่ลงทุนในตราสารหนี้ไปแล้วต้องมาร่วมรับภาระด้วย หากรัฐบาลเห็นว่าสถาบันการเงินบางแห่งขาดเสถียรภาพก็ควรเข้าไปยึดกิจการบริษัทเอกชน (Nationalisation) ในบางธุรกิจที่ถือเป็นยุทธศาสตร์ไปเลย แทนที่จะไปจ่ายเงินเพื่ออุ้มนักลงทุนซึ่งเป็นคนรวยและคนต่างชาติ"นายเมธา กล่าว
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |