บิ๊กตู่สั่งผุดแผน แก้จนใน3เดือน แนะหมั่น‘ออม’


เพิ่มเพื่อน    

 “ประยุทธ์” ประชุมหัวหน้าส่วนราชการครั้งแรก สั่งทุกหน่วยเร่งแก้ยากจนใน 3 เดือน พร้อมให้ช่วยพีอาร์ทุกระยะ “ลุงตู่” ยอมรับผ่านหน้าจอหนี้ครัวเรือนยังสูง ซัดผลพวงบริโภคนิยมในอดีต แนะปลูกฝังการออม มีวินัยแก้น้ำใส่ตุ่มที่ก้นรั่ว

    เมื่อวันศุกร์ที่ 5 มกราคม มีการประชุมคณะหัวหน้าส่วนราชการระดับกระทรวง หรือเทียบเท่า ครั้งที่ 1/ 2561 ที่กระทรวงยุติธรรม โดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ กล่าวภายหลังประชุมว่า มีการหารือเรื่องการปฏิรูปประกาศเดินหน้ายุทธศาสตร์ชาติ เพื่อเดินหน้าให้ทุกคนเกิดความเท่าเทียม รวมทั้งเรื่องของโอกาส ความเป็นธรรม และแก้ไขปัญหาความยากจนของผู้มีรายได้น้อย 

ด้านนางเมธินี เทพมณี เลขาธิการคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) แถลงผลประชุมว่า นายกฯ เร่งรัดให้ทุกส่วนราชการดำเนินงานให้สำเร็จลุล่วงโดยเร็ว พร้อมกำหนดตัวชี้วัด และจะประเมินผลหัวหน้าส่วนราชการอย่างเข้มงวดในไตรมาสที่ 2 นี้ ส่วนการแก้ปัญหาความยากจน กำหนดว่าต้องให้ผ่านเกณฑ์รายได้คนยากจน ที่สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) กำหนดไว้ 2,660 บาทต่อเดือน 

“ได้หารือเพื่อปรับปรุงตัวเลขรายได้ให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน โดยเฉพาะการอ้างอิงค่าแรงขั้นต่ำและปัจจัยอื่นที่ไม่สามารถประเมินเป็นเงินได้ และให้แต่ละกระทรวงเสนอแผนงาน เพื่อเดินหน้าแก้ปัญหาความยากจนให้ได้ใน 3 เดือน นอกจากนี้ นายกฯ ยังเน้นย้ำเรื่องการประชาสัมพันธ์ภาครัฐที่ให้ทุกส่วนราชการชี้แจงการทำงานกับประชาชนเป็นระยะ เพราะหากชี้แจงเพียงครั้งเดียว เมื่อรอให้ทุกอย่างแล้วเสร็จ ประชาชนอาจไม่เข้าใจ และมองไม่เห็นความคืบหน้า” นางเมธินีกล่าว

นายวิศิษฏ์ วิศิษฏ์สรอรรถ ปลัดกระทรวงยุติธรรม กล่าวว่า นายกฯ เน้นย้ำในที่ประชุมเกี่ยวกับโรดแมปการเลือกตั้ง โดยระบุว่าทุกอย่างยังเป็นไปตามโรดแมปที่วางไว้ แต่ไม่ได้ระบุวันหรือเดือนที่ชัดเจน เพราะต้องพิจารณาตามสถานการณ์ด้วย ขณะที่ข้อเสนอของกระทรวงยุติธรรม นายกฯ ได้รับทราบแผนงานการใช้ big data เพื่อลดปัญหาการก่ออาชญากรรมซ้ำ โดยตั้งเป้าหมายลดให้ได้ 10% ภายใน 3 ปี รวมทั้งการลดความเหลื่อมล้ำ ด้วยการจัดตั้งยุติธรรมชุมชนและยุติธรรมจังหวัดทั่วประเทศ เพื่อให้คนจนและคนรวยมีโอกาสเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมได้อย่างเท่าเทียมกัน

    วันเดียวกัน ในช่วงค่ำ ในรายการศาสตร์พระราชาสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน พล.อ.ประยุทธ์กล่าวตอนหนึ่งว่า หนี้ครัวเรือนของเรายังอยู่ในระดับค่อนข้างสูง คิดเป็นเกือบ 80% ของรายได้ทั้งหมดของประเทศ ซึ่งเป็นผลสืบเนื่องมาจากนโยบายสาธารณะที่ไม่ได้มุ่งหรือส่งเสริมการออมอย่างจริงจัง และมีลักษณะเป็นบริโภคนิยมในอดีตที่ผ่านมา และปัจจุบันก็ยังเป็นอยู่ แม้ 3 ปีที่ผ่านมานี้ตัวเลขหนี้ครัวเรือนลดลงบ้าง แต่ก็เป็นไปอย่างเชื่องช้า และทำให้ผู้มีรายได้น้อยยังต้องพึ่งพาการกู้ยืมสำหรับใช้จ่าย ทำให้ไม่สามารถหลุดพ้นจากวงจรหนี้ได้เสียที 

“รัฐบาลนี้มีมาตรการหลายอย่าง ทั้งการปรับโครงสร้าง การพักชำระหนี้ของพี่น้องเกษตรกรที่ประสบปัญหาภัยธรรมชาติ รวมทั้งคลินิกแก้หนี้ และให้ความรู้ด้านการเงิน เพื่อสร้างความเข้มแข็ง กับผู้ที่เป็นหนี้กับสถาบันการเงินและหนี้นอกระบบ ให้สามารถพึ่งพาตนเองได้” พล.อ.ประยุทธ์กล่าว และว่า ทั้งหมดเป็นเพียงมาตรการเยียวยาระยะสั้น ซึ่งเราต้องแก้ปัญหาให้ได้อย่างยั่งยืนในระยะยาว โดยนอกจากเพิ่มรายได้ที่รัฐบาลได้เร่งดำเนินการช่วยเหลือในหลายด้านแล้ว เราก็ต้องปรับตัวในเรื่องการเพิ่มวินัยการเงินและการเก็บออมให้มากยิ่งขึ้น

“การออมเป็นเรื่องสำคัญที่เราต้องใส่ใจ และปลูกฝังเยาวชนไทยในวันนี้ เราก็ไม่มีใครรู้ว่าพรุ่งนี้เราจะยังมีงานทำหรือไม่ มีรายได้ มีเรี่ยวแรงในการทำมาหาเลี้ยงชีพหรือไม่ หรือต่อไปเมื่อเราเกษียณอายุไปแล้วไม่มีรายได้ หากไม่มีเงินออมไว้ในอดีตที่เพียงพอเลี้ยงตัวเองได้แล้วจะทำอย่างไร” นายกฯ ระบุ

พล.อ.ประยุทธ์กล่าวต่อว่า ปัจจุบันไทยมีผู้สูงอายุประมาณ 10 ล้านคน คิดเป็น 1 ใน 6 ของประชากรทั้งประเทศ และวันนี้ผู้มีอายุ 35-60 ปี ซึ่งเป็นวัยแรงงานก็กำลังเข้าสู่วัยชรา สัดส่วนวัยแรงงานกับวัยชราจะเปลี่ยนไปอย่างน่ากังวล ทำให้วัยแรงงานต้องแบกภาระเพิ่มขึ้น 2 เท่า โดยต้องทำงานหนักขึ้น เพื่อรักษาระดับการผลิต ไม่ลดลงจากเดิม รวมทั้งยังคงต้องพัฒนาประเทศ ขับเคลื่อนประเทศ จึงอยากให้ทุกคนเตรียมตัวเอง เพราะเป็นความมั่นคงอีกรูปแบบหนึ่ง 

นายกฯ ย้ำว่า การออมในวันนี้จะเป็นสิ่งสำคัญช่วยสร้างความมั่งคั่งที่ยั่งยืนให้กับทุกคน ซึ่งการออมนั้นอาจไม่มีสูตรสำเร็จ แต่ต้องคิดกัน โดยขอเสนอแนวคิดง่ายๆ แบ่งออกเป็น 2 ขั้น ขั้นแรกคือ ใช้ 70% ออม 30% ส่วนขั้นที่สอง หากโชคดีเหลือจ่ายก็เอาไปเก็บเพิ่มจากที่เราตั้งใจไว้ 

“ปัญหาสำหรับผู้มีรายได้น้อยคือจะออมอย่างไร ในเมื่อรายได้ทุกวันนี้ก็ไม่พอจะใช้จ่ายอยู่แล้ว ผมก็ขอเป็นกำลังใจ โดยขอให้ลองตรึกตรองถึงการเติมน้ำใส่ตุ่มที่ก้นรั่วนะครับ การเติมน้ำคือรายได้ ส่วนน้ำรั่วคือรายจ่าย หากเราต้องการมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ก็ต้องเติมน้ำให้ได้มากกว่าน้ำรั่วอยู่เสมอ” นายกฯ กล่าว และว่า วิธีอุดรูรั่ววิธีหนึ่งคือการทำบัญชีครัวเรือน ซึ่งช่วยวิเคราะห์ลดรายจ่ายที่ไม่จำเป็น จัดลำดับความสำคัญ ความเร่งด่วน เพราะเรายิ่งเริ่มออมได้เร็วเท่าไหร่ ก็จะทำให้อยู่ได้อย่างมั่นใจ แก่ได้อย่างมั่นคงเร็วขึ้นเท่านั้น ทุกคนต้องไปสู่วัยนั้นทุกคนนั่นแหละ อย่าประมาท.


 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"