นายกฯ ปลุกคนไทยสู้ไวรัสโควิด ชี้เป็นวิกฤติครั้งใหญ่และซับซ้อนต้องดึงทุกภาคส่วนร่วมแก้ จ่อทำจดหมายเปิดผนึกถึง 20 มหาเศรษฐีร่ำรวยที่สุดในประเทศร่วมเป็นทีมประเทศไทย แบ่งปันความสามารถแก้วิกฤติ พร้อมไปรับฟังภาคธุรกิจในสัปดาห์หน้า วอนทุกฝ่ายร่วมมือสู้ไปด้วยกัน ไม่มีสีเสื้อไม่มีฝักฝ่ายการเมือง มั่นใจเราจะชนะไปด้วยกัน ศบค.เผยผู้ป่วยใหม่ 28 ราย ข่าวดียอดรักษาอยู่ใน รพ. 964 ราย เป็นวันแรกที่ต่ำกว่า 1 พันคน ยก 6 มาตรการ WHO หากคิดเลิกล็อกดาวน์ ลุ้นสัปดาห์หน้าปลดล็อกร้านตัดผม-ห้าง และบางพื้นที่
เมื่อวันศุกร์ เวลา 18.00 น. พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม แถลงการณ์ผ่านโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทยว่า ปัจจุบันประเทศไทยของเรากำลังอยู่ในภาวการณ์ที่ตึงเครียดที่สุด กำลังทำลายชีวิตและการดำรงชีวิตของคนไทยจำนวนมากอย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน เมื่อถ้ามองไปทั่วโลก เราก็เห็นได้ว่าวิกฤติโควิดได้ก่อให้เกิดความเสียหายมากมายโดยไม่สนใจว่าเป็นประเทศร่ำรวย ประเทศยากจน หรือประเทศมหาอำนาจ ปัจจุบันหลายประเทศทั้งในภูมิภาคตะวันตก ยุโรป และอื่นๆ รวมถึงประเทศที่มีการพัฒนาสูงสุดก็มีผู้ติดเชื้อเป็นจำนวนมาก และมีจำนวนผู้เสียชีวิตเป็นหลักหมื่น โดยผู้เชี่ยวชาญยังคาดการณ์ว่าตัวเลขผู้เสียชีวิตอาจพุ่งสูงไปถึงหลักแสนต่อไปในอนาคต จึงเป็นภาวะวิกฤติครั้งใหญ่ที่ทุกรัฐบาลจำเป็นต้องดึงศักยภาพที่ดีที่สุดออกมาให้ได้
พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า งานที่ตนมุ่งเน้นเป็นสำคัญ แบ่งออกเป็น 2 กลุ่มงานหลักคือ งานที่เกี่ยวกับสุขภาพ หมายถึงสิ่งที่เราต้องทำเพื่อลดการแพร่กระจายของโรคโควิด-19 และเพื่อเพิ่มความสามารถในการรักษาผู้ติดเชื้อ และงานเกี่ยวกับการช่วยเหลือพี่น้องประชาชน ให้มีเงินเพียงพอต่อการดำรงชีวิต ผ่านมาตรการและความช่วยเหลือต่างๆ ทราบดีถึงความกังวลของพี่น้องประชาชนเกี่ยวกับมาตรการเยียวยา 5,000 บาท และมาตรการอื่นๆ ของกระทรวงการคลัง ตนไม่ได้นิ่งนอนใจ วันนี้ได้สั่งการเรียกรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังและผู้เกี่ยวข้องให้เข้ามาพบเพื่ออธิบายที่มาที่ไปและเหตุการณ์ทั้งหมดให้ทราบ ว่าปัญหาเกิดจากอะไร และจะแก้ไขอย่างไร โดยภาครัฐจะเข้าไปดูแลกลุ่มเป้าหมาย
นายกฯ กล่าวว่า ถ้าเราต้องการจะเอาชนะสงครามกับไวรัสโควิด-19 ให้ได้ ซึ่งต้องเริ่มจากการยอมรับความจริง เราต้องยอมรับจุดแข็ง จุดอ่อน และข้อจำกัดของตัวเอง ความคิดที่แตกต่าง ปัญหาความเสียหายที่เกิดจากไวรัสโควิด-19 จะแก้ไขได้ด้วยความร่วมมือระหว่างรัฐบาลกับภาคส่วนต่างๆ และเราต้องยอมรับว่ารัฐบาลเพียงฝ่ายเดียวคงไม่สามารถหาคำตอบให้กับทุกปัญหาได้ คนกลุ่มอื่น และภาคส่วนอื่นๆ ก็อาจจะมีคำตอบที่ดีและมีความคิดที่ดีได้ด้วยเช่นเดียวกัน
“วิกฤติโควิดครั้งนี้ใหญ่และซับซ้อนมาก หน้าที่ของเราจึงต้องต่อสู้ไปด้วยกัน แบบเป็นหนึ่งเดียวทั้ง จะต้องเป็นทีมประเทศไทยด้วยกันต้องหาความร่วมมือ ดึงทุกภาคส่วนของสังคม รวมถึงกลุ่มธุรกิจ ทุกกลุ่ม ทุกคน ที่มีความรู้ความสามารถ และพร้อมที่จะช่วยเหลือประเทศ เราต้องการคนเก่ง ให้มาร่วมมือกัน นี่คือทีมประเทศไทย ไม่ว่าจะมาจากภาครัฐ จากมหาวิทยาลัย ศูนย์วิจัยต่างๆ มาจากภาคเอกชน กลุ่มมหาเศรษฐี หรือพี่น้องประชาชน ที่ยอมเสียสละตัวเอง เข้ามาร่วมกันต่อสู้ เหมือนกับที่ทำอยู่ทุกวันนี้ ร่วมกับกลุ่มบุคลากรทางการแพทย์ สาธารณสุข และอาสาสมัครมากมาย ได้เสียสละตัวเองอย่างกล้าหาญ เผชิญความเสี่ยงเป็นเสี่ยงตายอยู่ทุกวัน เพื่อช่วยรักษาชีวิตของผู้อื่น”
นายกฯ กล่าวอีกว่า สิ่งที่จะทำในช่วงสัปดาห์ข้างหน้า ประการแรกคือจะออกจดหมายเปิดผนึกถึงมหาเศรษฐีที่ร่ำรวยที่สุดในประเทศไทย 20 ท่าน ขอให้ท่านเหล่านั้นได้บอกผมว่าในฐานะที่ท่านเป็นผู้อาวุโสของสังคม ท่านจะร่วมมือกันกับเราอย่างไร และท่านจะลงมือช่วยเหลือประเทศไทยของเราให้มากขึ้นได้อย่างไรบ้าง มหาเศรษฐีของประเทศไทยทั้งหลาย ล้วนมีอิทธิพลอย่างมากต่อเศรษฐกิจของประเทศ และถูกจัดให้อยู่ในกลุ่มบุคคลที่ร่ำรวยที่สุดในโลก ขอให้ท่านได้มีบทบาทสำคัญ ในการร่วมกันช่วยเหลือประเทศ และร่วมเป็นทีมประเทศไทยด้วยกันกับเรา ความเดือดร้อนของคนไทยก็คือความเจ็บปวดของท่านด้วย ขอให้ทุกท่าน ได้แบ่งปันความสามารถ และความฉลาดหลักแหลม รวมทั้งมุมมองอันมีวิสัยทัศน์ของพวกท่าน พร้อมกับใช้องค์กรที่มีศักยภาพสูงของท่าน มาช่วยกันจัดการกับวิกฤติที่เรากำลังเผชิญอยู่ในวันนี้
สู้ไปด้วยกันไม่เลือกฝ่าย
นายกฯ กล่าวต่อว่า ตนยังอยากจะรับฟังและใช้ความรู้ความสามารถของภาคเอกชนทั้งหมดอีกด้วย ในช่วงสัปดาห์ข้างหน้า จะไปพบกับสมาคมภาคธุรกิจ ไม่ว่าจะขนาดกลางหรือขนาดเล็ก เพื่อรับฟังพวกท่านด้วยตัวเองโดยตรง ไม่ต้องผ่านหน่วยงานใด เพื่อจะได้รับทราบถึงสถานการณ์ที่แท้จริง ตนต้องการเข้าถึงความรู้ขีดความสามารถ และความเชี่ยวชาญอันหลากหลายของภาคเอกชน ต้องการรับฟังความความคิดเห็น ข้อเสนอแนะความต้องการ และความท้าทายที่ทุกคนกำลังเผชิญอยู่ ต้องการที่จะร่วมมีบทบาทในการแก้ปัญหาครั้งนี้อย่างไร ต้องการได้ยินความคิดเห็นของพวกท่านว่ามีจุดไหนบ้างที่รัฐบาลควรจะทำงานให้มีประสิทธิภาพมากกว่าเดิม
“ผมเชื่อว่าความคิดเห็นของท่านทั้งหลาย แม้จะมีความแตกต่างกัน แต่ล้วนเกิดจากความรักชาติและความปรารถนาดีต่อประเทศทั้งสิ้น และเมื่อเราเลือกที่จะปฏิบัติทางใดทางหนึ่งแล้ว ขอให้ทุกคนร่วมมือกัน สนับสนุน เพื่อช่วยกันผลักดันให้เกิดความสำเร็จตามที่เราต้องการ ขอให้พวกเราทุกคน ทำงานร่วมกัน เป็นครอบครัวเดียวกัน ขอให้พวกเราใช้วิกฤติครั้งนี้ เป็นโอกาสที่จะช่วยสร้างประเทศไทยของเราให้แข็งแกร่งขึ้นมาอีกครั้ง มีความเป็นปึกแผ่น และมีความเป็นหนึ่งเดียวกันของพี่น้องคนไทยในช่วงเวลาที่ประเทศของเรา กำลังตกอยู่ในสถานการณ์ที่ยากลำบาก ขอให้พวกเราทุกคนได้ร่วมกันแสดงพลังของความเป็นไทยออกมาอีกครั้ง ให้โลกได้เห็นว่าพวกเราคนไทยได้ร่วมมือช่วยเหลือกัน และต่อสู้ไปด้วยกัน โดยไม่มีสีเสื้อและไม่มีฝักมีฝ่ายทางการเมือง ในอนาคตเมื่อมองย้อนกลับมาดูเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น แม้จะเห็นว่า เป็นช่วงเวลาแห่งความทุกข์ยากและความเสียหายมากมาย แต่ในอีกด้านหนึ่ง เราจะเห็นว่านี่คือช่วงเวลา ที่เราได้อะไรที่ยิ่งใหญ่กลับคืนมาด้วย นั่นคือเราได้ค้นพบตัวตนที่แท้จริงของคนไทยอีกครั้ง และเราได้ค้นพบความกลมเกลียว เป็นครอบครัวเดียวกัน ของพวกเราคนไทยทั้งประเทศ ผมเชื่อว่าคนไทยทุกคนก็มีความหวังแบบนั้นเช่นกัน ผมขอให้ทุกคนมาร่วมมือกัน ทำให้ความหวังของพวกเราเป็นความจริง เราจะต้องชนะไปด้วยกัน” นายกฯ กล่าว
ทั้งนี้ นิตยสารฟอร์บส์ได้จัดอันดับมหาเศรษฐีของไทยล่าสุดในปี 2563 พบว่า 25 อันดับประกอบด้วย 1.ธนินทร์ เจียรวนนท์ ธุรกิจเครือเจริญโภคภัณฑ์ 2.เฉลียว อยู่วิทยา ธุรกิจเครื่องดื่มชูกำลังกระทิงแดง 3.เจริญ สิริวัฒนภักดี ธุรกิจเครือไทยเบฟฯ 4.ตระกูลจิราธิวัฒน์ ธุรกิจกลุ่มเซ็นทรัล 5.สารัชถ์ รัตนาวะดี ธุรกิจกลุ่มกัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ 6.อัยยวัฒน์ ศรีวัฒนประภา กลุ่มคิง เพาเวอร์ 7.ประจักษ์ ตั้งคารวคุณ กลุ่ม TOA 8.ตระกูลโอสถานุเคราะห์ ธุรกิจเครือโอสถสภา 9.วานิช ไชยวรรณ กลุ่มไทยประกันชีวิต 10.ชูชาติ เพ็ชรอำไพ-ดาวนภา เพชรอำไพ กลุ่มเมืองไทย ลิสซิ่ง
11.นพ.ประเสริฐ ปราสาททองโอสถ ธุรกิจโรงพยาบาลและสายการบิน 12.ฮาราลด์ ลิงค์ กลุ่มเครือบี.กริม 13.กฤตย์ รัตนรักษ์ ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์และสื่อ 14.คีรี กาญจนพาสน์ กลุ่มบีทีเอส 15.สันติ ภิรมย์ภักดี กลุ่มบุญรอดบริวเวอรี่ 16.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ 17.วิชัย ทองแตง กลุ่มโรงพยาบาล 18.สมโภชน์ อาหุนัย ธุรกิจพลังงาน 19.ฤทธิ์ ธีระโกเมน ธุรกิจร้านอาหาร 20.ศุภรักษ์ อัมพุช ธุรกิจเครือเดอะมอลล์กรุ๊ป 21.ประยุทธ์ มหากิจศิริ ธุรกิจกาแฟ 22.ฉัตรชัย แก้วบุตตา กลุ่มธุรกิจสินเชื่อ 23.วิลเลียม ไฮเน็ค กลุ่มธุรกิจโรงแรม 24.อนันต์ อัศวโภคิน กลุ่มแลนด์แอนด์ เฮ้าส์ และ 25.ทองมา วิจิตรพงศ์พันธุ์ กลุ่มพฤกษาเรียลเอสเตท
ก่อนหน้านั้น เวลา 09.00 น. ที่ตึกไทยคู่ฟ้า ทำเนียบรัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ได้เรียกหารือวงเล็กกับ พล.อ.พรพิพัฒน์ เบญญศรี ผู้บัญชาการทหารสูงสุด (ผบ.ทสส.) ในฐานะหัวหน้าผู้รับผิดชอบการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินด้านความมั่นคง และ พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา ผบ.ตร. เพื่อประเมินสถานการณ์การดูแลความเรียบร้อย ตลอดช่วงเวลาที่ประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ซึ่งจะสิ้นสุดในวันที่ 30 เม.ย.นี้ และภาพรวมการบังคับใช้กฎหมายหลังประกาศ เคอร์ฟิว เพื่อนำมาพิจารณาผ่อนปรนบางมาตรการต่อไป นอกจากนี้ยังประเมินกรณีคนไทยที่มาเลเซียและอินโดนีเซียจะเดินทางกลับในช่วง 1-2 วันนี้ เพื่อเตรียมความพร้อมพื้นที่กักกัน
ทั้งนี้ นายกฯ ได้กำชับให้ผู้บังคับบัญชาดูแลผู้ใต้บังคับบัญชาให้ดีที่สุด เพราะต้องควบคุมการแพร่ระบาด ซึ่งสถานการณ์อาจจะยืดเยื้อ พร้อมสอบถามเรื่องการปฏิบัติหน้าที่ของกำลังพลที่มีการตั้งด่านตรวจเกือบ 1,000 จุดทั่วประเทศ โดยเฉพาะด่านชายแดนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ที่มีช่องทางธรรมชาติ
ต่อมาเวลา 11.30 น. นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค. แถลงว่า สถานการณ์ในประเทศไทยมีผู้ป่วยรายใหม่ 28 ราย ยอดผู้ป่วยสะสม 2,700 รายใน 68 จังหวัด ตัวเลขวันนี้ถือเป็นตัวเลขที่ต่ำที่สุดที่เราเคยทำได้เท่ากับเมื่อวันที่ 13 เม.ย. ขณะที่ยอดหายป่วยและกลับบ้านแล้ว 1,689 ราย ส่วนผู้ป่วยที่อยู่ระหว่างรักษา 964 ราย เป็นวันแรกที่ยอดผู้ป่วยที่อยู่ระหว่างรักษาต่ำกว่า 1,000 คน ถือเป็นข่าวดีว่าผู้ป่วยใหม่น้อยลง เสียชีวิตเพิ่ม 1 ราย เสียชีวิตสะสม 47 ราย โดยผู้เสียชีวิตรายที่ 47 เป็นหญิงไทย อายุ 85 ปี เป็นแม่บ้าน มีโรคประจำตัว เบาหวาน ความดันโลหิตสูง มีอาการป่วยระหว่าง 22 มี.ค.-2 เม.ย. มีประวัติสัมผัสผู้ป่วยยืนยันก่อนหน้านี้ และเข้ารักษาอีกครั้งที่โรงพยาบาลแห่งหนึ่งใน จ.ชุมพร ในวันที่ 12 เม.ย. มีอาการไข้ ไอ เหนื่อยหอบ ต้องใช้เครื่องช่วยหายใจ ปอดอักเสบรุนแรง ยืนยันผลตรวจเป็นโควิดจากนั้นวันที่ 15 เม.ย.มีอาการแย่ลง และเสียชีวิตวันที่ 16 เม.ย.
ยก 6 ข้อก่อนคิดผ่อนคลาย
นพ.ทวีศิลป์กล่าวว่า สำหรับตัวเลขจังหวัดที่ไม่มีผู้ติดเชื้อรายใหม่เป็นเวลา 14 วัน ตามที่มีรายงานไปเมื่อวันที่ 16 เม.ย. ว่ามี 25 จังหวัด โดยระหว่างวันที่ 3-16 เม.ย. เพิ่มมาอีก 2 จังหวัดคือ หนองคายและกาฬสินธุ์ รวมขณะนี้มีทั้งสิ้น 27 จังหวัด ขณะที่สถานการณ์ภาพรวมทั้งประเทศ กทม.มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ส่วนจังหวัดอื่นๆ มีแนวโน้มลดลง ส่วนที่มีคำถามว่าเมื่อตัวเลขของไทยดีขึ้นต่อเนื่องจะผ่อนคลายได้บ้างหรือไม่ เพราะมีการพูดว่าไม่กลัวติดเชื้อ แต่กลัวอดตายมากกว่านั้น องค์การอนามัยโลก (WHO) ได้ระบุว่าถ้าจะยกเลิกการล็อกดาวน์ต้องมีมาตรการ 6 ข้อ คือ 1.สามารถควบคุมการแพร่ระบาดของโรคภายในประเทศได้แล้ว ซึ่งไทยสามารถทำได้แล้วระดับหนึ่ง เพราะผู้ป่วยรายใหม่มี 28 คน แต่คำว่าควบคุมโรคได้ต้องเป็นศูนย์ หรือยืนระยะตัวเลขผู้ติดเชื้อที่จำนวนน้อยได้หรือไม่ 2.ระบบสุขภาพต้องสามารถตรวจหาผู้มีอาการของโรค ตรวจหาเชื้อ แยกตัวและทำการรักษา พร้อมทั้งทำการสอบสวนโรค ซึ่งขณะนี้น้ำยาในการตรวจหาโรคมีเพียงพอ ทางสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) รับผิดชอบทุกค่าใช้จ่ายในการตรวจสารคัดหลั่งในโพรงจมูก บุคลากรทางการแพทย์สามารถเข้าไปขอโค้ดได้
3.มีความเสี่ยงน้อยที่สุดในสถานที่เสี่ยงภัยมากที่สุด เช่น บ้านพักคนชรา ซึ่งที่ผ่านมาบ้านพักชราในประเทศไทยไม่ค่อยมีรายงานผู้ติดเชื้อ 4.โรงเรียน สำนักงาน และสถานที่สาธารณะต่างๆ ต้องมีมาตรการป้องกันโรคที่มีประสิทธิภาพ ซึ่งตรงนี้เราต้องดูกันอย่างละเอียด 5.สามารถจัดการความเสี่ยงของโรคจากผู้ที่เดินทางเข้าประเทศได้ ซึ่งเราจำกัดจำนวนผู้เดินทางเข้าประเทศ ให้คนเข้า-ออกเฉพาะเท่าที่จำเป็นและตามที่อนุญาตไว้ และ 6.คนในชุมนุมต้องมีความรู้ มีส่วนร่วม และได้รับการสนับสนุนให้มีชีวิตอยู่ภายใต้สังคมที่เปลี่ยนแปลงหลังจากเกิดโรค ซึ่งข้อนี้เป็นข้อที่ยากที่สุด เพราะที่ผ่านมายังมีการตั้งวงสังสรรค์ ถ้าจะปลดล็อกได้ต้องขอความร่วมมือจากประชาชนด้วย
ส่วนกรณีเรียกร้องให้เปิดร้านตัดผมและผ่อนคลายบางมาตรการนั้น โฆษก ศบค.กล่าวว่า วันนี้ที่ประชุม ศบค.วงเล็กมีการหารือกัน หลายจังหวัดไม่ได้มีการปิดร้านตัดผม มีบางจังหวัดที่ปิด เช่น กทม. เนื่องจากเป็นกิจกรรมที่ลักษณะใกล้ชิดและเสี่ยงติดเชื้อ ซึ่งมีมาตรการตัวอย่างการผ่อนคลาย หรือมาตรการกึ่งล็อกดาวน์ โดยยังเป็นข้อเสนอและยังไม่ได้รับรอง ส่วนที่เรียกร้องให้เปิดห้างสรรพสินค้านั้น ผู้ให้บริการจะต้องมีมาตรการอย่างเคร่งครัด มีการคัดกรองบุคคล ตรวจอุณหภูมิ จัดคิวในการเข้าพื้นที่ จำกัดคนในการเข้าพื้นที่ อย่างพื้นที่พันตารางเมตรให้เข้าได้แค่พันคน เมื่อคนออกไปแล้วถึงจะเติมคนเข้ามาใหม่ได้ต้องไม่มีการจัดโปรโมชั่นที่เสี่ยงที่จะทำให้คนมารวมตัวกัน ส่วนร้านค้าสำคัญๆภายในห้างจะทยอยเปิด แต่ไม่ทั้งหมด เช่น ร้านให้บริการโทรศัพท์มือถือ เครื่องใช้ไฟฟ้า ร้านอาหารจะต้องมีการเว้นระยะห่างอย่างน้อย 1 เมตร
“เหล่านี้จะเป็นเรื่องที่ทางทีมนักวิชาการกำลังพิจารณาและภายในสัปดาห์หน้าจะตัดสินเรื่องนี้เพื่อผ่อนคลายบางอย่างเราจะค่อยๆ ผ่อนคลาย แต่ชุดพฤติกรรมของประชาชนคือ ต้องให้ความร่วมมือเหมือนเดิม จนเป็นพฤติกรรมแบบใหม่ที่เป็นปกติ คือใส่หน้ากากอนามัยและล้างมือตลอด เว้นระยะห่างทางสังคม ต่อคิวต้องเว้นระยะห่าง 2 เมตร ถ้าทำได้จะผ่อนคลาย ถ้าฝ่ายปกครองและ ผอ.ศบค.เห็นภาพนี้ทุกๆ ที่คนให้ความร่วมมือกันมากก็ไม่ต้องมีกฎมากมาย” นพ.ทวีศิลป์กล่าว
“อยากฝากคำสั้นๆ ไปถึงประชาชนว่า ไม่ประมาท การ์ดอย่าตก เพราะการประมาทแม้เพียงเล็กน้อย จะมีความเสียหายเกิดขึ้นมากมายก่ายกอง ทำให้เจ็บป่วยและเสียชีวิตจำนวนมากดังที่เห็นในต่างประเทศ วันนี้เราทำได้ดีแล้ว ขอให้ไม่ประมาท เราจะได้รอดพ้น ไม่ป่วย ไม่ไข้ ไม่เจ็บ ไม่ตาย อยู่ด้วยกันอย่างมีความสุขในวิกฤติอย่างนี้” นพ.ทวีศิลป์กล่าว
ปกป้องบุคลากรการแพทย์
ขณะที่นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.สาธารณสุข พร้อมด้วยคณะผู้บริหาร สธ. ร่วมกันประชุมขับเคลื่อนนโยบายและความปลอดภัยของผู้ป่วยและบุคลากรทางการแพทย์ โดยนายอนุทินเปิดเผยว่า การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 จากข้อมูลวันที่ 15 เม.ย.63 ผ่านมาพบบุคลากรสาธารณสุขติดเชื้อ 99 ราย หรือคิดเป็นร้อยละ 3.75 ของผู้ป่วยทั้งหมด ขณะที่ทั่วโลกพบร้อยละ 4-9 ซึ่งจากข้อมูลนี้ทาง สธ.ได้มีความห่วงใยความปลอดภัยของบุคลากรทุกคน เนื่องจากถือว่าเป็นกลุ่มที่มีความเสี่ยงสูงจากการปฏิบัติหน้าที่และต้องสัมผัสใกล้ชิดกับผู้ป่วย
“จึงมีมติให้ประกาศเป้าหมาย เรื่องความปลอดภัยของบุคลากรสาธารณสุข ในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 โดยให้สถานบริการพยาบาลทุกแห่งดำเนินการจัดสรรหน้ากากอนามัย Surgical Mask และหน้ากาก N95 รวมถึงอุปกรณ์ป้องกันอื่นๆ ให้เพียงพอและมีสำรองพร้อมใช้งาน หากบุคลากรมีความเสี่ยงหรือสงสัยว่าติดเชื้อต้องได้รับการตรวจคัดกรองและรักษาทันที รวมทั้งมีหลักประกันคุ้มครองดูแลและเยียวยาบุคลากรสาธารณสุขที่ติดเชื้อจากการปฏิบัติหน้าที่และมีช่องทางการให้ความรู้ และพร้อมรับฟังความต้องการของบุคลากรสาธารณสุขทุกคน” นายอนุทินกล่าว
ด้านกระทรวงมหาดไทย (มท.) เปิดเผยว่า ตามที่ได้เกิดสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ส่งผลให้มีพี่น้องประชาชนจำนวนมากได้รับความเดือดร้อนจากการขาดรายได้ประจำ ข้าราชการระดับสูงของ มท. ทั้งฝ่ายการเมือง ฝ่ายประจำ และรัฐวิสาหกิจ ได้พร้อมใจกันบริจาคเงินเดือนร้อยละ 50 เป็นเวลา 3 เดือน รวมถึงข้าราชการ มท. ข้าราชการบำนาญ และเครือข่ายของ มท. ร่วมบริจาคตามความสมัครใจ และร่วมกันจัดตั้งกองทุนชื่อ “มหาดไทย ร่วมทุกข์ ร่วมสุขประชาชนจากภัยโควิด-19” ขึ้น โดยมีการแต่งตั้งคณะกรรมการบริหารจัดการกองทุนขึ้น เพื่อพิจารณาช่วยเหลือประชาชนให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของการจัดตั้งกองทุนต่อไป
นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รมว.พลังงาน แถลงว่า กระทรวงพลังงานร่วมกรมสรรพสามิต ปลดล็อกนำเข้าเอทานอล ซึ่งใช้กับภาคพลังงานมาใช้ช่วยป้องกันโควิด-19 โดยยกเลิกขออนุญาตเอทานอลจากโรงงาน มาดำเนินการโดยตรงผ่านกรมสรรพสามิตและนำมาใช้ผลิตเจลล้างมือ เพื่อให้เข้าถึงด้านสาธารณสุขและชุมชน โดยการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) และบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) รวมถึงบริษัทในเครือ จัดหาแอลกอฮอล์ กระจายให้กระทรวงสาธารณสุข ส่งไปที่โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) ทั่วประเทศ เพื่อใช้ทำความสะอาดอุปกรณ์ เครื่องมือต่างๆ ทั้งนี้ การจัดหาแอลกอฮอล์ 70 เปอร์เซ็นต์ ส่งให้ รพ.สต. จำนวน 9,863 แห่งทั่วประเทศ ปริมาณจัดส่ง 20 ลิตรต่อโรงพยาบาลทุก 6 วัน เป็นระยะเวลา 30 วัน ทยอยไปยังผู้ว่าราชการจังหวัด เพื่อให้สาธารณสุขจังหวัดกระจายต่อไปยัง รพ.สต. โดยจะเริ่มแจกจ่ายได้ในสัปดาห์หน้า ประชาชนที่ต้องการให้ติดต่อขอรับได้ที่ รพ.สต.ในพื้นที่ได้ทั่วประเทศ
นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รมว.อุตสาหกรรม กล่าวว่า ความก้าวหน้าของหน้ากากผ้าที่รัฐบาลโดยกระทรวงอุตสาหกรรมได้สั่งผลิตเพื่อแจกจ่าย ให้กับประชาชนในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล รวมถึงพื้นที่เสี่ยงอื่นๆ 10 ล้านชิ้น ขณะนี้ล็อตแรกถึงมือประชาชนในพื้นที่เขตสัมพันธวงศ์ กทม. (รหัสไปรษณีย์ 10100) เมื่อวันที่ 15 เม.ย.2563 เป็นที่เรียบร้อยแล้ว ส่วนเขตอื่นๆ จะเร่งทยอยจัดส่งให้ในลำดับถัดไป คาดว่าจะทยอยจัดส่งได้ทั้งหมดภายในต้นเดือนพ.ค. สำหรับในพื้นที่ปริมณฑลและประชาชนกลุ่มเสี่ยงอื่น จะดำเนินการจัดสรรให้ในลำดับต่อไป.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |