โลกยุคนี้: ผันผวน,ไม่แน่นอน,ซับซ้อน,คลุมเครือ


เพิ่มเพื่อน    

    พอเกิดโรคระบาด Covid-19 ผู้รู้หลายคนที่ผมคุยด้วยบอกว่าจากนี้ไปคนไทยจะต้องยอมรับว่าเราได้เข้าสู่ New Normal แล้ว
    แปลว่าคนไทยจะต้องยอมรับว่าเราจะอยู่อย่างเดิมอีกต่อไปไม่ได้
    โรคร้ายนี้จะจบลงเมื่อไหร่ไม่มีใครทำนายได้ เพราะมีปัจจัยสลับซับซ้อนหลายประการ
    แต่ที่แน่ ๆ คือจะไม่มีอะไรง่าย ๆ ที่จะตัดสินด้วยวิธีคิดแบบ “ขาวดำ-ถูกผิด” ได้อีกต่อไป
    และนั่นตอกย้ำทฤษฎี “ความป่วน” หรือ disruption ที่เกิดจากเทคโนโลยีและพฤติกรรมของผู้บริโภคที่กำลังกระทบทุกวงการทุกวิชาชีพ
    New Normal แปลว่ามาตรฐานเดิมจะหมดยุค จะมีมาตรฐานใหม่ที่บังคับให้ทุกคนต้องปรับตัว
    ประเด็นสำคัญคือผู้บริหารในองค์กรต่าง ๆ มีปัญหากับการพยายามจะน้าวโน้มให้เพื่อนร่วมงานกล้าหาญพอที่จะก้าวสู่รูปแบบใหม่ของการทำงานและปรับเปลี่ยนวิธีคิดให้สอดคล้องกับสิ่งที่กำลังเกิดขึ้นที่กำลังจะทำให้ทุกอย่างที่ผ่านมาไม่สามารถนำไปแก้ปัญหาวันนี้และพรุ่งนี้ได้อีกต่อไป
    เรื่องที่สำคัญกว่าเทคโนโลยีคือเรื่องของ “วิธีคิด” หรือ mindset
    หากความคิดยังยึดติดกับวิธีการทำงานแบบเก่า ๆ และไม่ยอมออกจาก “เขตคุ้นเคย” หรือ comfort zone ก็จะเป็นเรื่องยากที่จะก้าวพ้นพฤติกรรมและวิธีคิดและมองปัญหาแบบเดิม ๆ
    การเปลี่ยนแปลงที่แท้จริงหรือ transformation ก็จะไม่เกิดขึ้น
    บ่อยครั้งระหว่างที่ผมพูดในเวท่ต่าง ๆ ในหัวข้อนี้ ผมจะอ้างถึงสูตร VUCA ซึ่งเป็นคำย่อที่ทำให้เห็นภาพของวิธีคิดที่จะต้องปรับต้องเปลี่ยนให้ทันกับความเปลี่ยนแปลงที่หนักหน่วงและรุนแรง
    ผมจำคำคุณวิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยเคยตอบคำถามคุณปกป้อง จันวิทย์ บรรณาธิการ The101.world เรื่องเศรษฐกิจไทยในโลก VUCA ไว้เมื่อไม่นานมานี้ว่า
    “โลกของเรามีลักษณะที่เรียกว่า “VUCA” มากขึ้น โดย V – Volatility คือความผันผวนสูง, U – Uncertainty คือความไม่แน่นอนสูง, C – Complexity คือความซับซ้อนที่มากขึ้นเรื่อยๆ และ A – Ambiguity คือความคลุมเครือ ไม่สามารถคาดเดาผลที่จะเกิดขึ้นได้ชัดเจน ซึ่งผลจากการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น ท่านอธิบายว่าสาเหตุทางด้านเทคโนโลยี การเมืองระหว่างประเทศ หรือแม้แต่ภาวะโลกร้อน จะทำให้โลก VUCA เป็นโลกที่ทุกคนต้องเผชิญอย่างเลี่ยงไม่ได้
    สำหรับประเทศไทย นอกจากเราจะต้องเผชิญกับโลก VUCA แล้ว  ยังมีความท้าทายอีก 2 เรื่องสำคัญ 
    เรื่องแรกเป็นปัญหาที่เห็นต่อเนื่องตลอด 10 ปีที่ผ่านมา คือ ความเหลื่อมล้ำที่ยังไม่มีแนวโน้มลดลง 
    ส่วนเรื่องที่สองเป็นปัญหาที่ประเทศไทยจะเผชิญรุนแรงขึ้นในอีก 10 ปีข้างหน้า คือ สังคมผู้สูงอายุ 
    ในอนาคต ประเทศไทยจะมีแรงงานสูงอายุมากขึ้น นั่นแปลว่า ประสิทธิภาพและผลิตภาพของแรงงานไทยจะลดลง 
    ดังนั้น โอกาสที่จะอาศัยแรงงานเป็นกลไกสำคัญที่จะทำให้เศรษฐกิจเติบโตก็ย่อมลดน้อยลง นอกเสียจากว่า เราจะต้องหันไปพึ่งแรงงานต่างชาติ
    นั่นแปลว่าประเทศไทย ธุรกิจไทย และคนไทย ต้องให้ความสำคัญกับเรื่องใด เพื่อจะตอบโจทย์ความท้าทายเหล่านี้ให้ได้
    คุณวิรไทให้ความสำคัญกับ 3 คำหลัก คำแรกคือ “ผลิตภาพ” (productivity) เป็นเรื่องที่จำเป็นมาก ทุกปัจจัยการผลิตและทุกแรงงานที่ใส่เข้าไป (input) ในอนาคต ต้องทำให้ได้ผลิตภาพ หรือได้ผลผลิต (output) ออกมามีมูลค่ามากขึ้นกว่าเดิม โดยใช้ปัจจัยการผลิตน้อยลง เมื่อต้นทุนการทำธุรกิจในประเทศไทยถูกลง คนไทยจึงจะสามารถมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นได้
    คำที่สอง “ภูมิคุ้มกัน” เราต้องให้ความสำคัญกับการสร้างภูมิคุ้มกัน เพราะในโลกจะผันผวนมากขึ้นและรุนแรงขึ้น เราจะต้องเผชิญกับความเสี่ยงใหม่ๆ ที่ไม่คุ้นชิน และเป็นความเสี่ยงที่รุนแรงกว่าที่เคยคาดไว้ ฉะนั้น การสร้างภูมิคุ้มกันจึงเป็นเรื่องสำคัญทั้งระดับประเทศ ระดับธุรกิจ และระดับครัวเรือน
    และคำที่สามคือ “ความเท่าเทียม” เพราะปัญหาความเหลื่อมล้ำ ถ้าเราไม่บริหารจัดการให้ดี จะกลายเป็นความเสี่ยงที่สำคัญ และเป็นจุดเปราะบางที่ส่งผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจและสังคมไทย 
    ท่านบอกว่าการที่เราจะแก้ปัญหานี้ได้ เราต้องให้ความสำคัญกับการสร้างความเท่าเทียมในระดับต่างๆ ที่สำคัญที่สุด คือ ความเท่าเทียมในเรื่องของโอกาส
    ในภาพใหญ่ คุณวิรไทบอกว่ามีทิศทางสำคัญอยู่ 3 เรื่อง 
    (1) การเพิ่มผลิตภาพ ซึ่งตรงนี้เกี่ยวข้องมากกับการนำเทคโนโลยีสมัยใหม่มาใช้ ดังนั้น กฎเกณฑ์กติกาที่เป็นอุปสรรคของการใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ ต้องได้รับการแก้ไข 
    (2) การสร้างภูมิคุ้มกันความเสี่ยงในรูปแบบต่างๆ ที่อาจเกิดขึ้น และ 
    (3) การให้ความสำคัญกับการสร้างความเท่าเทียมในสังคมไทย โดยเฉพาะความเท่าเทียมด้านโอกาส รวมถึงต้องช่วยกันระวังไม่ทำให้ปัญหาความเหลื่อมล้ำมีขนาดใหญ่มากขึ้นด้วย”
    ทั้งหมดนี้ต้องแก้ที่ mindset ให้ได้...ต้องเอาตัวเองออกจาก comfort zone และคิดสูตรใหม่ ๆ ที่จะแก้ปัญหาที่ฝังรากลึกมาช้านาน
    เพราะหากใช้วิธีคิดแบบเก่าก็จะได้คำตอบเก่า ๆ ขณะที่ปัญหามีความสลับซับซ้อนมากขึ้น
    อะไรที่เคยถือว่าเป็นความสำเร็จมิอาจจะรับรองว่าจะเป็นความสำเร็จในวันข้างหน้าได้อีกต่อไป


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"