"หยุดเชื้อเพื่อชาติ" วิกฤติเป็นโอกาส ปลูกฝังเยาวชนรู้รับผิดชอบสังคม


เพิ่มเพื่อน    

    ช่วงนี้มองไปทางไหนมีแต่คนชูป้ายรณรงค์การหยุดเชื้อเพื่อชาติ โดยการขอความร่วมมือร่วมใจให้ทุกคนอยู่บ้านเพื่อลดการแพร่เชื้อโรคโควิด-19 บ้างก็ติดแฮชแท็ก “อยู่บ้าน เพื่อชาติ” ลงในสื่อโซเชียลทั้งทวิตเตอร์ ไอจี และเฟซบุ๊ก กระทั่งเกิดเป็นความร่วมมือของหลายองค์กรและหลายหน่วยงานที่ขานรับนโยบายดังกล่าวจากภาครัฐ โดยให้พนักงานทำงานอยู่ที่บ้าน และทำให้ปัจจุบันยอดของผู้ติดเชื้อใหม่มีแนวโน้มที่ลดลงจากก่อนหน้านี้ รวมถึงข้อปฏิบัติด้านการใส่หน้ากากอนามัย การล้างมือ ตลอดจนเว้นระยะห่างกัน หรือ “social distancing”

    ปรากฏการณ์เช่นนี้ถือเป็นการต่อสู้กับโรค ที่ทั่วโลกถอดบทเรียนและเลียนแบบกันอย่างไม่มีลิขสิทธิ์ จนได้เห็นวิถีชีวิตและวิธีคิดของการ "อยู่บ้าน" ในมุมต่างๆ ที่น่าสนใจ รวมทั้งการบอกเล่าเก้าสิบกับบรรดาเด็กๆ และเยาวชน เพราะการเรียนการสอนและห้วงเวลาของการปิด-เปิดเทอมที่เปลี่ยนแปลง ทำให้ชีวิตของพวกเขาแตกต่างกันด้วย

(สมพงษ์ จิตระดับ)

    อ.สมพงษ์ จิตระดับ ผู้อำนวยการศูนย์วิชาการ และเครือข่ายวิชาการด้านเด็ก เยาวชน และครอบครัว คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย บอกว่า “นโยบายการหยุดเชื้อเพื่อชาติ ต้องคิดให้เป็นระบบ ที่สำคัญภาครัฐควรต้องถอดบทเรียนเกี่ยวกับการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ซึ่งเป็นโรคที่อุบัติใหม่ ที่ไม่มีใครคาดคิด และประชาชนเองก็ไม่ได้เตรียมตัวรับมือ

    “ผมคิดว่าสำหรับสถานการณ์การระบาดของโรคโควิด-19 นี้ รัฐบาลที่เป็นผู้ออกนโยบายดังกล่าวจะต้องมีการถอดบทเรียนเรื่องนี้ โดยอาจจะมอบหมายให้มหาวิทยาลัยภายใต้สังกัดรัฐบาลเป็นผู้ช่วยในการรวบรวมข้อมูล โดยการหาจุดแข็งและจุดอ่อนในการบังคับใช้นโยบายหยุดเชื้อเพื่อชาติ เพื่อสรุปหาข้อมูลที่เป็นประโยชน์ ซึ่งได้จากเหตุการณ์โรคโควิด-19 เช่น การที่ทุกคนรับรู้และปฏิบัติตามนโยบายดังกล่าว โดยการใส่หน้ากากอนามัยคิดเป็นร้อยละ 90 ดังนั้นเมื่อทุกคนถูกเค้น ถูกบีบให้หันมาป้องกันตัวเองด้วยวิธีต่างๆ นั่นไม่เพียงทำให้ทุกคนตื่นตัวในเรื่องนี้ แต่ยังทำให้ยอดการติดเชื้อมีแนวโน้มคงที่ และเป็นที่น่าพอใจอย่างเห็นได้ชัด หรือแม้แต่มาตรการอื่นๆ อย่างการเว้นระยะห่าง “social distancing” เป็นต้น

    ทั้งนี้ เมื่อมีการถอดบทเรียนดังกล่าว ที่ถือได้ว่าเป็นบทเรียนสำคัญของประเทศไทยแล้ว จึงนำมาเป็นข้อบังคับหรือข้อปฏิบัติตัวเอง เพื่อนำไปสู่มาตรการในการป้องกัน หากในอนาคตเกิดเหตุการณ์แพร่ระบาดต่างๆ ในลักษณะดังกล่าวขึ้นอีก ซึ่งชุดความรู้ที่ได้จากการถอดบทเรียนของรัฐในครั้งนี้ จะต้องเผยแพร่ให้ทั้งพ่อแม่ ผู้ปกครอง เด็กและเยาวชน ตลอดจนประชาชนทุกคน หรือถ้าในโรงเรียนก็นำบทเรียนดังกล่าวมาจัดทำเป็นวิชาเรียนในห้องเรียนให้กับเด็กๆ โดยอาจจะใช้ชื่อว่า “วิชาการจัดการความเสี่ยง” ซึ่งผมมองว่าเป็นเรื่องที่น่าเรียนมาก และมีประโยชน์กับเด็กและเยาวชน เพราะไม่เพียงทำให้เขาได้เรียนรู้ แต่จะทำให้มีทักษะการใช้ชีวิตที่เด็กสามารถเอาตัวรอด อีกทั้งบริหารจัดการตัวเอง หากว่าประสบเหตุในลักษณะดังกล่าว และที่ผ่านมาบ้านเมืองมีเหตุการณ์สำคัญๆ ต่างๆ และควรนำมาถอดบทเรียน ไม่ว่าจะกรณีเด็ก 13 คนติดอยู่ในถ้ำขุนน้ำนางนอน หรือแม้แต่เหตุการณ์น้ำท่วมในปี 2554 และเหตุการณ์ภัยพิบัติอย่างสึนามิเป็นต้น”

    อ.สมพงษ์ บอกอีกว่า ในประเทศญี่ปุ่นที่ประสบเหตุการณ์แผ่นดินไหว และเหตุการณ์สึนามิที่พบได้ค่อนข้างบ่อย ตรงนี้รัฐบาลเขาจะมีการจัดทำเป็นวิชาเรียนที่สำคัญวิชาหนึ่ง เพื่อให้เด็กๆ มีทักษะการเอาตัวรอดได้ดี ซึ่งผมมองว่าเป็นเรื่องที่สำคัญกว่าวิชาเรียนทั่วไปเสียอีก โดยเฉพาะวิชาการจัดการความเสี่ยง เพื่อรับมือภัยพิบัติต่างๆ

(ระพีพรรณ พัฒนาเวช)

 

    ด้าน ครูแต้ว-ระพีพรรณ พัฒนาเวช บรรณาธิการหนังสือภาพสำหรับเด็ก (อิสระ) บอกว่า “จากนโยบายของการหยุดเชื้อเพื่อชาตินั้น ส่วนตัวมองภาพรวมว่า เป็นเรื่องของการแพร่ระบาดของเชื้อโรคโควิด-19 ดังนั้นการอธิบายให้เด็กๆ ได้เข้าใจ เพื่อสะท้อนถึงการมีส่วนร่วมในการดูแลผู้อื่นในสังคมนั้น คือการที่พ่อแม่ผู้ปกครองต้องบอกให้เด็กๆ รับรู้ว่าเชื้อโรคนั้นเป็นสิ่งที่มองไม่เห็น และไม่แสดงอาการ ดังนั้นเด็กๆ จะไม่รู้ว่ามีใครติดเชื้อโรคร้ายนี้บ้าง อีกทั้งผู้ปกครองจะต้องบอกให้ลูกหลานรับรู้อีกว่า หากว่าเด็กๆ ป่วยด้วยโรคโควิด-19 จะลำบากสักแค่ไหน และคิดดูเล่นๆ ว่าถ้าเด็กๆ ป่วย ผู้ปกครองไม่สามารถไปเยี่ยมได้ นอกจากนี้หากเด็กๆ ป่วยแล้ว ก็อาจจะทำให้ผู้อื่น อาทิ เพื่อนบ้าน ติดได้เช่นกัน ซึ่งทำให้คนอื่นเดือดร้อน หรือการที่พ่อแม่ยกตัวอย่างให้ลูกๆ ฟังว่า ถ้าพ่อแม่ติดโรคโควิด-19 แล้ว เด็กๆ จะอยู่กันอย่างไร เป็นต้น

    “สิ่งสำคัญที่จะทำให้ภาพของการอธิบายเกี่ยวกับนโยบายหยุดเชื้อเพื่อชาติ ไปสู่เด็กๆ ได้เห็นชัดมากที่สุดคือ ผู้ปกครองอาจจะวาดแผนภาพลงในกระดาษ เช่น ถ้ามีคนติดเชื้อโรค 1 คน ก็จะกระจายไปสู่บุคคลอื่น จาก 1 คน กลายเป็น 2 จาก 2 คน กลายเป็น 4 และ 8 คนตามลำดับ รวมถึงการยกตัวอย่างให้ลูกหลานเห็นว่าเชื้อโรคร้ายนั้นเป็นสิ่งที่มองไม่เห็น แต่สามารถแฝงอยู่ในตัวและตามสถานที่ต่างๆ หากว่าเด็กๆ เผลอไปสัมผัสเข้า และเมื่อมีสมาชิกในบ้านติดแล้ว จะทำให้ทั้งตัวเองและสังคมเดือดร้อน จากการให้ความรู้กับเด็กๆ เหล่านี้ จะทำให้เด็กเข้าใจและเป็นข้อมูลการปฏิบัติที่ยั่งยืน เพราะเด็กๆ จะรู้ว่า หากเขาไม่ดูแลตัวเองด้วยการหยุดอยู่กับบ้าน ก็จะทำให้ทั้งสมาชิกในครอบครัวท่านอื่นๆ ป่วย หรือถึงเพื่อนๆ ข้างบ้านป่วยด้วยเช่นกัน”

(ธนภรณ์ พรมชาติ)

    ไม่ต่างจาก อ.ธนภรณ์ พรมชาติ ครูชำนาญการพิเศษ (คศ3) โรงเรียนสายน้ำผึ้ง ในพระอุปถัมภ์ฯ ให้ข้อมูลว่า “ในฐานะที่ตัวเองเป็นอาจารย์สอนในระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4-6 นั้น มองว่านโยบายของการหยุดเชื้อเพื่อชาตินั้นเป็นสิ่งที่ภาครัฐเองก็ต้องการให้ประชาชนทุกคน รวมถึงเด็กและเยาวชนมีจิตสำนึกในการดูแลสังคม ซึ่งไม่ใช่แค่ตัวเด็กๆ เองเท่านั้น แต่เป็นนโยบายของการหยุดอยู่บ้าน เพื่อให้ประชาชนและมนุษย์โลกทุกคน สามารถปลอดภัยจากเชื้อโรคร้าย และอยู่ร่วมกันได้อย่างปกติสุข

    “สำหรับมาตรการทั้งนโยบายการหยุดเชื้อเพื่อชาติ หรือมาตรการเคอร์ฟิวต่างๆ จากภาครัฐ ล้วนเป็นความหวังดีต่อประชาชนทุกคน ที่สำคัญเป็นสิ่งที่มีประโยชน์ในการหยุดการแพร่เชื้อโรคโควิด-19 ดังนั้นในมุมมองของคนที่เป็นครูอาจารย์ ก็อยากให้เด็กๆ มองเห็นถึงประโยชน์ของนโยบายต่างๆ ที่ภาครัฐได้ออกมาในช่วงนี้ เพราะทุกอย่างนั้นเป็นการฝึกให้เด็กได้คิดว่า เวลาที่เราเติบโตเป็นผู้ใหญ่ เราจะต้องทำอะไรก็แล้วแต่สัก 1 เรื่อง เพื่อให้เกิดประโยชน์กับสังคมและส่วนรวม เฉกเช่นนโยบายของการหยุดเชื้อเพื่อชาติเป็นต้น ที่สิ่งสำคัญเด็กๆ จะต้องคิดอยู่เสมอว่า แม้ว่าเราจะเป็นเด็กเยาวชน ไม่ใช่คนวัยทำงาน แต่ก็สามารถช่วยเหลือสังคม โดยลดการแพร่เชื้อจากการหยุดอยู่บ้าน ที่สำคัญยังสะท้อนให้เห็นว่า แม้ว่าเราจะเคยปฏิบัติตัวอย่างอิสระแค่ไหน แต่เมื่อมีมาตรการต่างๆ ออกมาเพื่อหยุดการแพร่เชื้อโรค เด็กๆ ทุกคนก็ยังให้ความร่วมมือและปฏิบัติตามได้ ทั้งการใส่หน้ากากอนามัย การล้างมือ การเว้นระยะห่างทางสังคม เพราะเด็กๆ อย่าลืมว่า ถ้าเราเป็นคนที่รู้จักใส่ใจและรับผิดรับต่อสังคม ผ่านนโยบายหยุดเชื้อเพื่อชาติก็ดี หรือนโยบายต่างๆ ที่ภาครัฐออกมา เพื่อประโยชน์ต่อประชาชนโดยรวม แน่นอนว่าสิ่งที่ตามมา เด็กๆ จะมีทั้งความซื่อสัตย์สุจริต การเป็นคนดี และการคิดดี การรู้จักเสียสละ การรับผิดชอบต่อสังคม และเรื่องอื่นๆ จะตามมาอีกมากมายค่ะ”.

 

เด็กๆ วัยปฐมเรียนรู้อะไรจากนโยบาย “หยุดเชื้อเพื่อชาติ” กันบ้าง??

(โชติกา กนกวรกาญจน์)

    ด.ญ.โชติกา กนกวรกาญจน์ ชั้น ป.5 รร.พระหฤทัยคอนแวนต์ บอกว่า “สิ่งที่ได้เรียนรู้จากนโยบายหยุดอยู่บ้านเพื่อชาติ คือการที่เราก็เป็นส่วนหนึ่งในการหยุดการแพร่เชื้อโควิด-19 ได้ และยังทำให้เด็กๆ อย่างหนูเรียนรู้การป้องกัน โดยการใส่หน้ากากอนามัย และหมั่นทาเจลล้างมือบ่อยๆ ที่สำคัญถ้าหากว่าในอนาคตนั้นมีโรคระบาดเกิดขึ้นอีก แน่นอนว่าเราจะต้องรู้จักการป้องกันตัวเอง ไม่ว่าจะเป็นการใส่หน้ากากอนามัยเด็ก และการที่ไม่ออกไปเล่นหรือไม่ไปอยู่ที่ชุมชนแออัด เพื่อลดการติดเชื้อค่ะ”

(มุขสุดา ศรีสงคราม)

    ด้าน น้องแก้ม-ด.ญ.มุขสุดา ศรีสงคราม ชั้น ป.5 รร.สวัสดีวิทยา บอกว่า “น้องแก้มคิดว่าการที่ได้หยุดอยู่บ้านในช่วงโรคโควิด-19 ระบาด ก็ทำให้ลดการแพร่เชื้อ เพราะถ้าเราออกไปข้างนอกและติดโควิด-19 ขึ้นมาก ก็จะทำให้ลำบาก เพราะต้องไปรักษาตัวที่โรงพยาบาล และทำให้อดเล่นน้ำสงกรานต์ อีกทั้งอาจทำให้ติดพ่อกับแม่ได้ เพราะเราต้องนอนด้วยกัน ในอนาคตไม่อยากให้เกิดโรคระบาดอีก และประสบการณ์ในการดูแลป้องกันตัวเองในครั้งนี้ถือว่าเป็นสิ่งสำคัญมากค่ะ ไม่ว่าจะเป็นการใส่หน้ากากอนามัย การล้างมือและการกินร้อนช้อนกลาง ที่เราสามารถนำไปปรับใช้ในชีวิต เช่น ในอนาคตมีโรคไข้หวัด หรือโรคท้องร่วงระบาด”

(ธีรเมธ มั่นศักดิ์)

    ปิดท้ายกันที่ น้องเทม-ด.ช.ธีรเมธ มั่นศักดิ์ ชั้น ป.5. รร.สายน้ำทิพย์ ให้ข้อมูลว่า “ส่วนตัวน้องเทมดูข่าว และเห็นในสื่อโซเชียล เกี่ยวกับนโยบายการหยุดเชื้อเพื่อชาติ และแม่ก็บอกว่าเราต้องปฏิบัติตาม เพราะช่วงนี้โรคโควิด-19 กำลังระบาด และประโยชน์ที่น้องเทมได้รับ อันที่หนึ่งคือ เราไม่ติดโรคโควิด-19 อย่างแน่นอน เพราะเราต้องใส่หน้ากากอนามัย และหมั่นล้างมือบ่อยๆ ที่สำคัญเวลาจามหรือไอ ก็ให้จามใส่ข้อพับของตัวเอง หากว่าลืมใส่หน้ากากอนามัย เพื่อลดการแพร่เชื้อ อีกทั้งการได้หยุดอยู่บ้าน น้องเทมก็ได้ช่วยแม่กวาดบ้านและล้างจาน ก็ถือว่าเป็นการใช้เวลาว่างให้เกิดประโยชน์ มากกว่าการเล่นเกมครับ นอกจากนี้หากเกิดโรคระบาดขึ้นอีกครั้ง เราทุกคนก็ต้องพยายามเว้นระยะห่างระหว่างตัวเองและเพื่อนๆ ครับ”.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"