หลายจังหวัดปรับตัวสู้โควิด-19 "ปัตตานี" เตรียมมาตรการรับคนไทยกลับจากมาเลเซีย 18 เม.ย.นี้ "ยะลา" ให้พระ-สามเณรงดออกบิณฑบาตตั้งแต่วันที่ 16-30 เม.ย. "นครสวรรค์" 10 ตำบลดันธรรมนูญสุขภาพดูแลชุมชน "ภูเก็ต" ไม่มีผู้ติดเชื้อรายใหม่ "กระบี่" ผู้ป่วย 2 รายหายแล้ว "ขอนแก่น" พบติดเชื้อรายที่ 6
ตลอดวันที่ 16 เม.ย.ที่ผ่านมา หลายจังหวัดทั่วประเทศต่างปรับมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 เพื่อลดการติดเชื้อในพื้นที่ ตามแนวทางของศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค.
ที่จังหวัดปัตตานี นายไกรศร วิศิษฎ์วงศ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดปัตตานี แถลงถึงมาตรการรับคนไทยที่จะเดินทางกลับจากประเทศมาเลเซียในวันที่ 18 เม.ย.นี้ว่า ทุกฝ่ายได้เตรียมการวางแผนแล้วอย่างเต็มที่ เพื่อความสะดวกและความปลอดภัยของประชาชนที่จะเดินทางเข้ามา ซึ่งปัตตานีถือเป็นจังหวัดหน้าด่านที่จะเข้าสู่ชายแดนภาคใต้ ซึ่งทุกคนที่จะเดินทางมาก่อนหน้านั้นต้องมีการการคัดกรอง มีการลงทะเบียน และมีใบรับรองแพทย์มาจากต้นทาง และเมื่อมาถึงต้องทำความเข้าใจในหลักการปฏิบัติตัวป้องกันภัย
"คนที่เดินทางกลับจากต่างประเทศทุกคนต้องผ่านการคัดกรองให้ชัดเจน จัดระบบให้เรียบร้อยจนกว่าทุกอย่างจะกลับมาปกติ จังหวัดปัตตานีมีความพร้อมเต็มที่ให้แก่ทุกคนที่เดินทางกลับมา เพราะปัตตานีถือเป็นศูนย์ในการผ่านแดนแต่ละจังหวัด คือยะลาและนราธิวาส ซึ่งต้องผ่านจุดคัดกรองทุกคนอย่างละเอียดที่สุด โดยได้จัดสถานที่รับผู้ที่จะเดินทางกลับมาได้วันละ 300 คน เตรียมสถานีไว้ 3 จุด คือ 1.นำไปยังจุดคัดกรองที่จะมีการสอบสวนโรค สอบประวัติการเดินทางของแต่ละช่องทาง 2.ถ้าพบไข้ก็จะนำไป รพ.สนาม กักตัวคัดกรอง 14 วัน ถ้าพบกลุ่มเป้าหมายมีอาการก็จะทำการรักษา และ 3.แนวทางประกอบศาสนกิจในช่วงเดือนรอมฎอนที่จะถึงปลายเดือนเมษายนนี้" นายไกรศรกล่าว
ที่จังหวัดยะลา นายชัยสิทธิ์ พานิชพงศ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดยะลา ในฐานะผู้กำกับการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินจังหวัดยะลา ได้มีคำสั่งศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 จังหวัดยะลา ที่ 41/2563 เพิ่มมาตรการป้องกันและควบคุมการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19)
เนื้อหาระบุว่า สืบเนื่องจากคำสั่งศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 จังหวัดยะลา ที่ 34/2563 ลงวันที่ 10 เม.ย.63 เรื่องมาตรการเร่งด่วนในการควบคุมและป้องกันการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 กำหนดให้เจ้าอาวาส พระภิกษุ และสามเณรงดพิธีกรรมหรือกิจกรรมทางพระพุทธศาสนาทุกประเภท และงดเดินทางหรือเลื่อนการเดินทางไปยังประเทศอื่น หรือออกนอกพื้นที่นั้น
"เพื่อเป็นการเพิ่มมาตรการป้องกันและควบคุมการแพร่ระบาดจากเชื้อไวรัสโควิด-19 ให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ และสอดคล้องกับมาตรการเว้นระยะห่างทางสังคม จึงอาศัยอำนาจตามข้อกำหนดแห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน และพระราชบัญญัติโรคติดต่อ ประกอบกับมติคณะกรรมการศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 จึงให้พระภิกษุและสามเณรงดการออกรับบิณฑบาตในทุกพื้นที่ ทั้งนี้ตั้งแต่วันที่ 16-30 เม.ย.63"
ดันธรรมนูญสุขภาพ
ส่วนที่จังหวัดนครสวรรค์ ชาวบ้านกว่า 10 ตำบลร่วมพูดคุยจัดทำธรรมนูญสุขภาพในพื้นที่ วางกติกาการอยู่ร่วมกัน การป้องกันและการช่วยเหลือกันในช่วงการระบาดของโควิด-19
นายวิสุทธิ บุญญะโสภิต รองผู้อำนวยการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เขต 3 และประธานสมัชชาสุขภาพจังหวัดนครสวรรค์ กล่าวว่า งานด้านสุขภาพเป็นสิ่งที่ทำเพียงลำพังไม่ได้ แต่ต้องจับมือกับเครือข่ายอื่นๆ โดยใช้เครื่องมือสำคัญของสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) คือกระบวนการนโยบายสาธารณะแบบมีส่วนร่วม ซึ่งเป็นการสานพลังของภาควิชาการ ภาคการเมือง และภาคประชาสังคมให้มาทำงานร่วมกัน
นายวิสุทธิกล่าวว่า ที่นครสวรรค์เราทำงานร่วมกัน 5 หน่วยงาน คือ สช., สปสช., สาธารณสุขจังหวัด, อำเภอ ลงไปถึงตำบล โดยมี รพ.สต.(โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล) และ อสม.(อาสาสมัครสาธารณสุขมูลฐาน) เป็นกลไกขับเคลื่อน อีกส่วนคือ สสส.(สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ) ที่มีการจัดตั้งหน่วยจัดการ สสส.ระดับจังหวัด และยังมี พอช. (สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน องค์การมหาชน) ที่มีกลไกในพื้นที่ 2 ส่วนคือ สภาองค์กรชุมชนกับกองทุนสวัสดิการชุมชน เข้ามาทำงานร่วมกันผ่านแนวคิดการสานพลังบูรณาการร่วมกัน ในระดับจังหวัดมี Think Tank คุยกันอย่างน้อยเดือนละ 1 ครั้ง เพื่อแลกเปลี่ยนกันว่าจะเสริม สาน และสร้างอะไรต่อ ซึ่งจริงๆ เราทำงานในลักษณะนี้มาหลายปีแล้ว
"ด้วยต้นทุนในพื้นที่ที่เข้มแข็งอยู่แล้ว การเชื่อมประสานให้เกิดการพูดคุยจึงเป็นไปอย่างราบรื่นและรวดเร็ว จนขณะนี้มีกว่า 10 ตำบลในจังหวัดนครสวรรค์ที่นำแนวคิดธรรมนูญสุขภาพไปใช้ เพื่อวางกติกาของชุมชน ช่วยให้ชาวบ้าน แกนนำชุมชน องค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน เจ้าหน้าที่ตำรวจ เป็นต้น มีความเข้าใจตรงกันถึงแนวปฏิบัติในการรับมือโควิด-19 และในบางพื้นก็มีการร่างธรรมนูญสุขภาพลงไปถึงระดับหมู่บ้าน" ประธานสมัชชาสุขภาพจังหวัดนครสวรรค์กล่าว
ที่จังหวัดพัทลุง นายพัน อ่อนเกลี้ยง นายกสมาคมอาสาสมัครสาธารณสุขมูลฐานจังหวัดพัทลุง (อสม.) กล่าวว่า อสม.พัทลุงได้ร่วมมือกับจังหวัดพัทลุงและหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องในการป้องกันและเฝ้าระวังการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 อย่างจริงจังและต่อเนื่อง ซึ่งการที่บรรดา อสม.จังหวัดพัทลุงได้ผ่านการอบรมการควบคุมการแพร่ระบาดจากสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดพัทลุงอย่างต่อเนื่อง จึงไม่มีปัญหาหรืออุปสรรคในการปฏิบัติหน้าที่แต่อย่างใด รวมทั้งได้มีประสบการณ์จากการแพร่ระบาดของโรคซาร์สและไข้หวัดนกจนเป็นที่ยอมรับของหน่วยงานรัฐ จนทำให้ทุกคนมีความมั่นใจในการปฏิบัติหน้าที่เพื่อชาติบ้านเมืองในครั้งนี้
ที่จังหวัดภูเก็ต คณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดภูเก็ตแจ้งสถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) จังหวัดภูเก็ต ประจำวันที่ 16 เม.ย. ข้อมูลตั้งแต่วันที่ 5 ม.ค.-15 เม.ย.63 จังหวัดภูเก็ตมีผู้ติดเชื้อยืนยันโรคโควิด-19 แล้วจำนวน 191 ราย (ไม่พบรายใหม่) โดยผู้ติดเชื้อได้รับอนุญาตให้กลับบ้าน 85 ราย (เพิ่มขึ้นจากเดิม 8 ราย) จำหน่าย 1 ราย เนื่องด้วยเสียชีวิตจากอุบัติเหตุรถจักรยานยนต์ กำลังรักษาพยาบาลอยู่ 105 ราย ในจำนวนนี้อาการรุนแรง 3 ราย ไม่มีผู้เสียชีวิต ที่เหลืออาการอยู่ในเกณฑ์ที่ดี ผู้มีอาการเข้าเกณฑ์เฝ้าระวังสะสมทั้งหมด 2,574 ราย (รายใหม่ 103 ราย) โดยยังคงรักษาพยาบาล 162 ราย ในจำนวนนี้อยู่ระหว่างรอผลการตรวจทางห้องปฏิบัติการ 57 ราย กลับบ้านแล้ว 2,412 ราย
ขอนแก่นติดเชื้อรายที่ 6
ที่จังหวัดกระบี่ นพ.ณัฐพงษ์ ดูงาม ผู้อำนวยการโรงพยาบาลปลายพระยา รายงานผลการรักษาผู้ป่วยติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ยืนยันทั้ง 2 รายที่รักษาตัวอยู่หายเป็นปกติแล้ว แต่ขอความร่วมมือให้ทั้งสองรายเสียสละพักต่อที่ รพ.อีก 14 วัน เพื่อให้แน่ใจ 100% ว่าจะไม่แพร่เชื้อรอบสอง และคนในหมู่บ้านจะได้สบายใจ เมื่อครบ 28 วันทั้งสองจะกลับไปใช้ชีวิตร่วมกับคนในหมู่บ้านได้โดยปกติ
ที่จังหวัดขอนแก่น นพ.สมชายโชติ ปิยวัชร์เวลา นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดขอนแก่น และ นพ.ชาญชัย จันทร์วรชัยกุล ผู้อำนวยการโรงพยาบาลขอนแก่น แถลงข่าวพบผู้ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 รายใหม่ของจังหวัดขอนแก่น ซึ่งเป็นรายที่ 6 โดยเป็นสามีของผู้ป่วยโควิด-19 รายที่ 5 ซึ่งพบเชื้อเมื่อวันที่ 13 เม.ย.ที่ผ่านมา โดยผู้ป่วยรายที่ 6 นี้ เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องได้ไปรับตัวจากที่บ้านพักในเขต อ.น้ำพอง มารับการรักษาที่โรงพยาบาลขอนแก่นเรียบร้อยแล้ว
"จากการสอบสวนโรคของผู้ป่วยรายที่ 6 พบติดเชื้อมาจากภรรยาคือผู้ป่วยรายที่ 5 เนื่องจากเป็นสามีภรรยากัน ซึ่งจากข้อมูลยืนยันผู้ป่วยรายนี้ทั้งครอบครัวมีทั้งหมด 7 คน มีลูกชายที่เดินทางกลับจากพัทยาอาศัยอยู่ร่วมกับพ่อแม่ ซึ่งเป็นผู้ป่วยติดเชื้อรายที่ 5 และ 6 ภายในบ้านหลังเดียวกัน และยังมีพี่สาวซึ่งอยู่บ้านอีกหลังคอยมาดูแล ขณะที่ลูกชายอีกคนกับลูกสะใภ้และหลานอยู่บ้านอีกหลังรวมเป็น 3 หลัง ซึ่งทั้งหมดเจ้าหน้าที่ได้ทำการส่งตรวจ และผลปรากฏว่ามีเพียงสามีของผู้ป่วยรายที่ 5 เท่านั้นที่พบเชื้อ ส่วนรายอื่นๆ ผลยังเป็นลบ แต่ทั้งหมดจะต้องกักตัวเป็นเวลา 14 วันอยู่ที่โรงพยาบาลขอนแก่น เพื่อความมั่นใจว่าปลอดการติดเชื้ออย่าง 100% ในส่วนของบุคลากรทางการแพทย์ของทั้ง 2 โรงพยาบาล คือ รพ.น้ำพองและ รพ.ขอนแก่น รวมทั้งหมด 88 คน เบื้องต้นผลการตรวจเป็นลบ" นายแพทย์ สธ.ขอนแก่นกล่าว
ด้าน นพ.ชาญชัยกล่าวว่า ขณะนี้อาการของผู้ป่วยรายที่ 5 นั้นยังถือว่าหนักและน่าเป็นห่วง เนื่องจากตัวผู้ป่วยเองมีความเสี่ยงหลายปัจจัย ทั้งเรื่องของอายุ เรื่องของโรคประจำตัวคือความดันและเบาหวาน ต้องใช้ท่อช่วยหายใจและเครื่องช่วยหายใจ และยังมีอาการของปอดอักเสบ ซึ่งแพทย์ได้ให้ยารักษาผู้ป่วยรายที่ 5 นี้อย่างเต็มที่
"สาเหตุของการติดเชื้อในผู้ป่วยรายที่ 5 และ 6 นี้ไม่สามารถชี้ชัดได้ 100% ว่าติดจากลูกชาย แต่มีความเป็นไปได้สูงมากที่จะติดจากลูกชาย อย่างไรก็ตาม เจ้าหน้าที่ยังได้ตรวจหาแอนติบอดีหรือภูมิคุ้มกันของลูกชายคนป่วย ว่ามีภูมิคุ้มกันใดที่ทำให้ไม่ติดเชื้อเพื่อนำไปสู่แนวทางการรักษาตามขั้นตอนทางการแพทย์ โดยขณะนี้อยู่ระหว่างการส่งตรวจที่กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข และ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย คาดว่าจะได้ผลตรวจที่ชัดเจนภายใน 2-3 วันนี้" ผอ.รพ.ขอนแก่นกล่าว.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |