ย้ำไม่ผ่อนคลายหวั่นซ้ำรอย


เพิ่มเพื่อน    

    "ในหลวง-พระราชินี" ทรงห่วงใยพสกนิกรที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 พระราชทานถุงพระราชทานแล้วกว่าแสนใน 564 ชุมชน ศบค.เปิดตัวเลขผู้ติดเชื้อรายใหม่มี 29 ราย แต่มีผู้เสียชีวิตเพิ่ม 3 ราย อายุต่ำกว่า 60 ปีทั้งนั้น "หมอทวีศิลป์" ย้ำถ้าจะผ่อนคลายมาตรการต้องแลกกับการรักษาระยะห่างเข้มข้น เพราะมีตัวอย่าง "ญี่ปุ่น-สิงคโปร์" ให้ดูแล้วการ์ดตกโดนน็อกเลย "บิ๊กตู่" แย้มอยู่ระหว่างชั่งใจปลดล็อกบางกิจกรรม-อาชีพ แต่ต้องรับผิดชอบร่วมกัน 
    เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 16 เมษายน พุทธศักราช 2563 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี ทรงห่วงใยและทรงตระหนักถึงความเดือดร้อนของประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโควิด-19 ในพื้นที่ชุมชนแออัด กรุงเทพมหานคร (กทม.) ในโอกาสนี้ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้เชิญถุงพระราชทานไปมอบแก่ประชาชนในพื้นที่ชุมชนแออัดเขตต่างๆ ของ กทม. โดยเมื่อวันที่ 15 เม.ย.เจ้าพนักงานได้เชิญถุงพระราชทานจำนวน 9,609 ถุงไปมอบแก่ประชาชน รวม 63 ชุมชน ใน 10 เขต ซึ่งประชาชนในชุมชนส่วนใหญ่ประกอบอาชีพรับจ้างทั่วไป ขับรถรับจ้าง ขี่รถจักรยานยนต์รับจ้าง และแม่บ้าน มีรายได้ไม่แน่นอน 
    ทั้งนี้ ตั้งแต่เริ่มดำเนินการมาตั้งแต่วันที่ 5-15 เม.ย.ได้เชิญถุงพระราชทานไปมอบแก่ประชาชนในชุมชนต่างๆ รวม 564 ชุมชน รวมถุงพระราชทาน 103,569 ถุง ยังความปลื้มปีติแก่ประชาชนและต่างสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี เป็นล้นพ้น ที่ทรงห่วงใยประชาชนทุกหมู่เหล่าและไม่ทรงทอดทิ้งประชาชน
    ด้าน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ  ศบค. พร้อมด้วยนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกฯ และ รมว.สาธารณสุข และนายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์  รมว.ดิจิทัลฯ ได้เดินทางไปตรวจเยี่ยมการปฏิบัติงานของคณะแพทย์และบุคลากรในการดูแลรักษาและป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 ที่โรงพยาบาลศิริราช พร้อมตรวจดูการใช้งานปัญญาประดิษฐ์ หรือเอไอเพื่อวิเคราะห์เชื้อโควิด-19 ซึ่งกระทรวงดิจิทัลฯ และบริษัท หัวเว่ย เทคโนโลยีประเทศไทย (จำกัด) ได้มอบแก่ รพ.ศิริราช ซึ่งเป็นระบบที่ถูกใช้จริงแล้วในเมืองอู่ฮั่นและอีกหลายๆ เมืองในประเทศจีน
    โดยนายกฯ ได้พูดคุยกับบุคลากรทางการแพทย์เพื่อสอบถามถึงการปฏิบัติงานและให้กำลังใจ โดยกล่าวว่าขอชื่นชมหมอทุกคน ซึ่งคุณพ่อก็มารักษาที่นี่ ทั้งคุณพ่อคุณแม่เคยมาที่นี่ และคุ้นเคยกันในการที่ตนเองเคยมาถวายงานอารักขาพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ซึ่งเคยมาประทับที่นี่ มานอนมากินอยู่ที่นี่ด้วยในหลายๆ โอกาส ก็ชื่นชมมาโดยตลอด และเป็นที่เชื่อมั่นศรัทธาของประชาชนโดยทั่วไปด้วย และสิ่งที่เราทำวันนี้ถือว่าทำถวายพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 และพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 10 ซึ่งรัชกาลที่ 10 พระองค์ท่านทรงฝากกำลังใจมาถึงพวกเราทุกคน ชื่นชมในการทำงานที่มีความก้าวหน้าในทางที่ดีขึ้น โดยได้ถวายรายงานพระองค์ท่านทุกวัน โดยส่งข้อสรุปทั้งจากกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) จากการแถลงศูนย์โควิด-19 ขึ้นไปทุกวัน พระองค์ท่านมีรับสั่งว่าหากมีสิ่งหนึ่งสิ่งใดที่พระองค์ทรงช่วยได้ขอให้บอกมา 
ความดีไม่มีสูญหาย
    "อยากฝากไว้ว่าความดีที่ท่านทำในวันนี้ ไม่มีสูญหายไปไหน มันจะสนองตอบกลับพวกเรา อาจไม่ได้เป็นอย่างอื่น อาจได้เพียงแค่ความสุขใจ เพียงความภาคภูมิใจของตนเองและครอบครัว เหมือนกับการทำงาน เปรียบเหรียญมีสองด้าน เราอาจอยู่หน้าบ้างหลังบ้างของเหรียญเหรียญหนึ่งก็ไม่เห็นเป็นอะไร แต่ทุกคนรู้แน่แก่ใจว่าตัวเองทำอะไร เพราะฉะนั้นเราต้องพัฒนาตัวเองไปเรื่อยๆ และต้องขอโทษด้วยถ้ามีอะไรที่ทำให้พวกเราไม่สบายใจ ผมอาจติดนิสัยแบบนี้ แบบของผม คือเป็นทหารบ้างอะไรบ้าง  บางทีพูดจาไม่ค่อยเข้าหูคนบ้าง เป็นนักการเมืองยังไม่ค่อยได้ใช่ไหม คือผมอยากให้คนเข้าใจ แต่ก็กลายเป็นถูกบิดเบือนเลยไม่พูดดีกว่า พูดทีไรก็มีปัญหาทุกที เพราะว่าเขาต้องการสร้างประเด็นต่อๆ ไปเรื่อยๆ ซึ่งบางทีมันมีผลเสีย"
    พล.อ.ประยุทธ์กล่าวอีกว่า หลายอย่างมันเกิดขึ้นได้อย่างไรในประเทศไทย สิ่งที่มันไม่น่าจะเกิดมันก็เกิด ถ้าดูข่าวพาดหัวหนังสือพิมพ์แต่ละวันไม่น่าเกิดขึ้นในประเทศ บอก พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ละเมิดอะไรต่างๆ ขโมย โกง ปลอม มันเกิดขึ้นได้อย่างไร สังคมมันเปลี่ยนไปเยอะ เราห่วงลูกหลานเรา ถ้าเหมือนในสมัยเรา พวกเราเข้มแข็งด้วยตัวของเราเอง เพราะสภาพแวดล้อมไม่ได้เป็นแบบนี้ เราก็เลยเข้มแข็งเพียงพอที่จะต่อสู้ แต่วันนี้สังคมกลายเป็นว่าทุกคนเป็นห่วงลูก ลูกเลยถูกปกป้องไว้อย่างนี้ การที่จะต่อสู้เลยไม่มี ทำให้เขาพร้อมถูกไปโน่นไปนี่ได้ตลอด เราทุกคนอยากให้ลูกมีความสุข สมัยเราลำบากเราก็ไม่อยากให้ลูกลำบากแบบเรา ก็ดูแลทุกอย่างจนกระทั่งไม่เข้มแข็ง นั่นคือสิ่งที่อันตรายในวันหน้า 
    ทั้งนี้ ในช่วงท้ายนายกฯ ยังได้พูดหยอกล้อกับบุคลากรทางการแพทย์ว่า "เราสามารถคุยกันได้ในฐานะที่อยู่ในระดับบริหารด้วยกัน ซึ่งผมมองแบบนั้น และวันหน้าก็ฝากไว้ด้วย เผื่อคุณหมอคนไหนที่จะมาเป็นนายกฯ ซึ่งหมอหนูก็มีสิทธิ์ โอเคนะ อย่าพูดกันไปกันมา เพราะประเทศไทยพร้อมหาจำเลย" 
    ขณะเดียวกัน นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษก ศบค.แถลงถึงสถานการณ์ผู้ติดเชื้อในไทยว่า มีผู้ป่วยรายใหม่ 29 ราย หายป่วยกลับบ้าน 1,593 ราย อยู่ระหว่างรักษา 1,077 ราย ยอดผู้ป่วยสะสม 2,672  ราย ใน 68 จังหวัด เสียชีวิตเพิ่ม 3 ราย เสียชีวิตสะสม 46 ราย ทั้งนี้มี 9 จังหวัดที่ยังไม่มีรายงานผู้ป่วย  และมีถึง 25 จังหวัดเป็นจังหวัดปลอดเชื้อที่เคยมีผู้ป่วยและไม่มีผู้ป่วยรายใหม่แล้วในช่วง 14 วัน ตั้งแต่วันที่ 2-15 เม.ย. ได้แก่ เชียงราย, เพชรบุรี, เพชรบูรณ์, แพร่, แม่ฮ่องสอน, กาญจนบุรี, จันทบุรี, นครนายก, บุรีรัมย์, มหาสารคาม, มุกดาหาร, ยโสธร, ร้อยเอ็ด, ราชบุรี, ลพบุรี, ลำพูน, ศรีสะเกษ,  สมุทรสงคราม, สระบุรี, สุโขทัย, หนองบัวลำภู, อำนาจเจริญ, อุดรธานี, อุตรดิตถ์ และอุทัยธานี
    นพ.ทวีศิลป์ยังกล่าวถึงผู้เสียชีวิตว่า รายที่ 44 เป็นชายชาวมาเลเซีย อายุ 55 ปี เป็นไกด์ทัวร์ ไม่มีโรคประจำตัว แต่มีประวัติไปเป็นไกด์ที่ประเทศจอร์เจีย รายที่ 45 เป็นหญิงไทย อายุ 35 ปี อาชีพพนักงานบริษัท มีโรคประจำตัวเป็นเบาหวาน ไขมันในเลือดสูง แต่รักษาไม่ต่อเนื่อง และรายที่ 46 เป็นชายไทยอายุ 37 ปี อาชีพรับจ้างทั่วไป ขับรถแบ็กโฮ ความดันโลหิตสูง มีภาวะอ้วน ความเสี่ยงคือภรรยาทำงานร้านอาหารย่านสุขุมวิท กทม. ซึ่งจะเห็นว่าผู้เสียชีวิตทั้ง 3 รายอายุต่ำกว่า 60 ปีทั้งสิ้น และมาจากพฤติกรรมสะสมตั้งแต่เดือน มี.ค. วันนี้ถ้าเราดูแลอย่างดี ในอีก 14-15 วันข้างหน้าก็จะไม่มีคนเสียชีวิต ส่วนที่หลายคนระบุว่าตัวเลขผู้ป่วยรายใหม่ลดลง จึงอยากให้ผ่อนคลายและอยากรวมตัวกันนั้น  ก็จะเกิดสิ่งที่เป็นปัญหาตามคือ ใกล้ชิดกันเกินไปโดยไม่เว้นระยะห่าง 
ไม่อยากให้ผ่อนคลายเร็ว
    "ที่สถานการณ์เราดีขึ้น เป็นผลมาจาก 14 วันที่แล้วที่มีการประกาศเคอร์ฟิวในวันที่ 3 เม.ย. พรุ่งนี้ตัวเลขอาจดีอยู่ แต่ถ้าผ่อนคลายอีก 14 วันข้างหน้าอาจมีผู้ติดเชื้อมากขึ้น จึงไม่อยากผ่อนคลายไปเร็วมากนัก การจะผ่อนคลายอะไรข้อมูลต่างๆ เป็นเรื่องสำคัญ เพราะจะใช้ตัดสินใจในการจะเดินข้างหน้า"
    นพ.ทวีศิลป์ยังกล่าวถึงสถานการณ์ผู้ติดเชื้อทั่วโลกว่า สหรัฐอเมริกา สเปน และอิตาลีเสียชีวิตเป็นหลักหมื่น ในต่างประเทศตายเป็นใบไม้ร่วง ซึ่งไม่อยากพูดเพราะจะหาว่าขู่ แต่ในเชิงการแพทย์ต้องพูดสถานการณ์จริง ต้องบอกความจริงเพื่อนำมาปรับให้ทันต่อสถานการณ์ เราจึงต้องดูประเทศที่ป้องกันโควิด-19 ได้ดีว่าทำอย่างไร เช่นเกาหลีใต้ที่เขาให้ข้อมูลความจริงกับประชาชน กักกันเชื้อ ชะลอการแพร่ระบาด และระบบการตรวจรักษาโรค ซึ่ง 3 อย่างนี้เราดำเนินการเหมือนกัน ส่วนที่ญี่ปุ่นสถานการณ์ทรุดหนัก มีรายงานผู้ติดเชื้อ 457 รายใน 1 วัน และทางการยังเตือนว่าหากไม่ปฏิบัติตามมาตรการเว้นระยะห่างทางสังคมอาจมีตัวเลขผู้ติดเชื้อกว่า 8 แสนคน เพราะก่อนหน้านี้เขาเคยผ่อนคลายธุรกิจต่างๆ  พนักงานยังมาทำงาน มีการใช้ระบบขนส่งอย่างแพร่หลาย นี่หรือไม่ที่ทำให้การติดเชื้อกลับมาเพิ่มขึ้น  จนสัปดาห์ที่แล้วต้องประกาศภาวะฉุกเฉิน 
    "สิ่งที่ท่านเรียกร้องอยากให้ผ่อนคลายนั้น อยากให้ดูสิ่งที่ต่างประเทศต่างๆ ทำมาก่อนว่าผลออกมาเป็นอย่างไร แล้วเลือกเอาว่าเป็นอย่างไร สำหรับหลักการพิจารณาเรื่องการผ่อนคลายของ พล.อ.ประยุทธ์ ให้ความสำคัญไล่ไปตั้งแต่สุขภาพ เศรษฐกิจ สังคม ซึ่งสุขภาพต้องมาก่อน และขึ้นอยู่กับตัวเลขผู้ป่วย ถ้าเราทำกันดีวันนี้ จำนวนผู้ป่วย 29 รายไม่ได้หมายความว่าเชื้อโรคจะหายไป ยังมีการแพร่ระบาด หากปล่อยตัวเองอาจเจอเหมือนกับญี่ปุ่นและสิงคโปร์ ดังนั้นเรื่องนี้จึงเป็นการตัดสินใจที่ยากมาก  ถ้าผ่อนคลายต้องมีมาตรการเว้นระยะห่างทางสังคมอย่างเข้มข้น ยอมรับกันได้หรือไม่ จะมีความยุ่งยากเกิดขึ้นหลายอย่าง ถ้าต้องการผ่อนคลายมันก็ไม่ได้ร้อยเปอร์เซ็นต์ อย่างประเทศที่เขาปล่อยปละละเลยจึงมีการตายกันเป็นหมื่น เราไม่อยากเห็นภาพเช่นนั้น การเข้มข้นในมาตรการมีความสำคัญ และต้องร่วมมือให้ได้ 90% ถ้าความร่วมมือลดลงมาเหลือ 70-80% การ์ดตกนิดเดียวโดนน็อกแน่นอน"
    นพ.ทวีศิลป์กล่าวว่า ตอนนี้ สธ.มีทีมวิชาการคณะหนึ่งศึกษาเรื่องการผ่อนคลายมาตรการต่างๆ อยู่  โดยกำลังทำงานกันอย่างเข้มข้น ซึ่งเรื่องโควิด-19 เป็นเรื่องใหม่ เพิ่งเกิดขึ้น 3 เดือน หากผ่อนคลายจะเกิดอะไรขึ้น เป็นสิ่งที่ตัดสินใจยาก วันนี้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินมีไปถึง 30 เม.ย. เรายังใช้กรอบเวลาเดิม แต่วันที่  30 เม.ย.เหลืออีกแค่ไม่กี่สัปดาห์ก็ถึงแล้ว แต่ตัวเลขผู้ติดเชื้อทั่วโลกยังเป็นสีแดงอยู่ จะให้วันที่ 30 เม.ย.เป็นสีเขียวเป็นเรื่องยาก เราอาจมีผู้ป่วยรายใหม่ตัวเลขอยู่ที่ 2 หลัก แต่ข้างบ้านเรา 3 หลัก เหมือนบ้านเราไม่เป็นไข้เลือดออกและไม่มียุง แต่ข้างบ้านมีคนเป็นไข้เลือดออก คิดหรือว่าท่านจะปลอดภัย เราต้องเข้าใจสถานการณ์ การผ่อนปรนท่านต้องมีส่วนร่วมในการตัดสินใจ ไม่ใช่ให้คนอื่นตัดสิน ถ้าเรามีวินัยเดินหน้าไปพร้อมเพรียงกัน 
แย้มปลดล็อกบางอาชีพ
    เมื่อถามว่ามีกระแสข่าวว่าที่ จ.ชลบุรีจะปลดล็อกร้อยเปอร์เซ็นต์ในวันที่ 1 พ.ค.เหมาะสมหรือไม่ และบางจังหวัดที่ไม่มีรายงานตัวเลขผู้ป่วยจะยกเลิกมาตรการเพื่อเป็นของขวัญให้ประชาชนได้หรือไม่  นพ.ทวีศิลป์กล่าวว่า หากไม่มีการต่ออายุ พ.ร.ก.ฉุกเฉินที่จะหมดในวันที่ 30 เม.ย.ก็เท่ากับยกเลิกอัตโนมัติ แต่ยังไม่ได้เป็นอย่างนั้น เพราะนายกฯ ระบุแล้วว่าก่อน พ.ร.ก.ฉุกเฉิน 1 สัปดาห์จะประชุมเพื่อประเมินสถานการณ์ว่าจะต่อหรือไม่ ย้ำว่าตัวเลขเราลง แต่สิงคโปร์ ญี่ปุ่น อินโดนีเซียเพิ่มขึ้นมา แม้เราทำได้ดี แต่ดีเพราะประชาชนร่วมมือ ถ้าดีแล้วต้องทำดีต่อ การ์ดต้องไม่ตก ส่วนที่แต่ละจังหวัดจะผ่อนปรนอย่างไร เพื่อให้หลักการสุขภาพ เศรษฐกิจ สังคมไปได้นั้น อันนี้ค่อยน่าคุยกันหน่อย เหมือนจังหวัดไหนทำดีก็ให้รางวัลของความดีนั้น คณะกรรมการชุดใหญ่ต้องประชุมโดยใช้หลักการที่นายกฯ วางไว้  เดี๋ยวคงจะมีกระบวนการตัดสินใจ แต่เชื่อว่าเราต้องสู้กับมันไปอีกพอสมควร ขอให้ใจเย็นๆ สักนิด 
     ในเวลา 13.30 น. พล.อ.ประยุทธ์กล่าวภายหลังเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงินการคลังของรัฐ ครั้งที่ 1/2563 ว่าสิ่งสำคัญที่สุดอยากให้ทุกคนร่วมมือกันแบบนี้ ซึ่งวันนี้ตัวเลขผู้ติดเชื้อลดลง ขณะที่ สธ.ระบุว่าถ้า 14 วันมีผู้ติดเชื้อลดลง แสดงว่าเราสามารถควบคุมได้บ้างแล้ว เราจึงต้องดูว่าจะปลดล็อกตรงไหนได้บ้าง แต่ไม่ใช่ทีเดียวทั้งหมด แล้วกราฟตัวเลขผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นมันก็จะดึงลงลำบาก หากปลดล็อกบางกิจการให้เคลื่อนไหวได้มีอาชีพบ้าง ก็ต้องร่วมมือกันตรงนี้ ถ้าเรียกร้องให้เปิดกันทั้งหมดแล้วตัวเลขผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นใครจะรับผิดชอบได้ ดังนั้นเราต้องรับผิดชอบร่วมกันในหลายๆ เรื่อง เพราะเป็นสถานการณ์ที่ไม่ปกติ
    พล.อ.พรพิพัฒน์ เบญญศรี ผู้บัญชาการทหารสูงสุด ในฐานะหัวหน้าศูนย์ปฏิบัติการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินด้านความมั่นคง (ศปม.) กล่าวประเด็นการไม่ต่ออายุ พ.ร.ก.ฉุกเฉินว่า เป็นอำนาจพิจารณาของนายกฯ ยังไม่สามารถตอบได้ตอนนี้ เพราะเรื่องนี้ต้องอาศัยตัวชี้วัดหลายตัวถึงจะบอกได้ว่าควรผ่อนผันหรือเข้มงวดมากขึ้น แต่ทั้งหมดคนไทยต้องเข้มงวดปฏิบัติตามมาตรการรักษาระยะห่างทางสังคม ส่วนรัฐบาลโดยนายกฯ คงคำนึงถึงหลายปัจจัยทั้งสุขภาพและเศรษฐกิจ ซึ่งคงต้องใช้เวลาประเมินพิจารณา
    "อยากให้ทุกคนระลึกเสมอว่าที่เหตุการณ์ของประเทศไทยดีขึ้นนั้น เพราะว่าความร่วมมือของทุกคน  ย้ำให้ทุกคนรักษาวินัย อย่าเพิ่งหย่อนยานทางสังคมอย่างที่เคยทำ ส่วนที่ยังมีผู้ฝ่าฝืนเคอร์ฟิวนั้นเป็นเรื่องของจิตสำนึก และสังคมไทยในเวลานี้ควรอยู่ด้วยความห่วงใย"
    สำหรับกรณีคนไทยในต่างประเทศที่จะเดินทางกลับไทยนั้น นพ.ทวีศิลป์กล่าวว่า ในวันที่ 16 เม.ย.กลับจากมัลดีฟส์  55 คน สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ 119 คน วันที่ 17 เม.ย.จะมีเดินทางกลับจากบังกลาเทศ 35 คน ในส่วนของนักเรียนเอเอฟเอสจากสหรัฐอเมริกาจะทยอยกลับมา โดยในวันที่ 17 เม.ย. 129  คน วันที่ 18 เม.ย. 123 คน วันที่ 19 เม.ย. 160 คน ทั้งนี้เห็นว่าตัวเลขกลับเข้าไทยจะไม่เกิน 200 คนต่อวันตามที่เรารองรับได้
    "ภาวะตอนนี้คือการร่วมมือร่วมใจกันร้อยเปอร์เซ็นต์ ถ้าทำได้ 90% เราก็รอดกันทั้งประเทศ ถ้าทำได้ 100, 110, 120 ยิ่งดี เราไม่มีแบ่งศาสนา ไม่มีเชื้อชาติ ไม่แบ่งการเมืองอะไรทั้งสิ้น ทุกคนล้วนเป็นคนไทย ศัตรูคือเชื้อโรคตัวเล็กๆ ที่มองไม่เห็นด้วยตาเปล่า แต่เราใช้ใจของเราสัมผัสที่จะเชื่อมโยงกันเป็นแผ่นเดียวกันเพื่อสู้กับเชื้อโรคตัวเล็กๆ เหล่านี้ให้มันหายไปจากประเทศไทยของเรา ด้วยใจของเรา" นพ.ทวีศิลป์กล่าว.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"