"บิ๊กตู่" ยันมีเงินจ่าย 5 พันครบ 3 เดือนแน่ ขอโทษอีกที่ทำประชาชนสับสน "สมคิด" ย้ำไม่ติดขัดมีงบช่วยคนเดือดร้อนทุกกลุ่ม แย้มเยียวยาเกษตรกรรายครัวเรือน โพลชี้คนส่วนใหญ่ไม่เข้าใจหลักเกณฑ์แจก 5,000 บาท
ที่ทำเนียบรัฐบาล เมื่อวันที่ 16 เมษายน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม กล่าวภายหลังเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงินการคลังของรัฐ ครั้งที่ 1/2563 ถึงมาตรการเยียวยาประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 ว่า รัฐบาลจำเป็นต้องปรับวงเงินในการใช้จ่ายเพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ในปัจจุบัน ซึ่งโดยสรุปแล้วรายละเอียดต่างๆ เป็นไปตามกฎหมายอยู่แล้วทุกประการ ซึ่งมีประกาศ 6 ฉบับและพระราชบัญญัติทุกฉบับ ทั้งนี้ยืนยันว่ามีการจ่ายเงินเยียวยาแน่นอนเป็นระยะเวลา 3 เดือน ซึ่งเมื่อวันที่ 15 เม.ย.ต้องขอโทษด้วยที่ทำให้หลายคนไม่สบายใจ จนเกิดการเคลื่อนไหวกันมากมาย
"ยืนยันว่ารัฐบาลต้องดูแลใน 3 เดือนนี้ให้ได้ และถ้าสถานการณ์ดีขึ้นโดยเร็ว สามารถแก้ปัญหาได้ทุกระดับ เมื่อผ่าน 3 เดือนไปแล้วและดีขึ้น เราก็ไม่จำเป็นต้องหาเงินตรงนี้ ทุกคนก็สามารถไปทำมาหากินได้ แค่นั้นเองสบายใจกันหรือยัง เมื่อวานต้องขอโทษด้วย ผมไม่ได้มีเจตนาให้เข้าใจอย่างนั้น แต่ผมต้องการให้เข้าใจว่ามันใช้เงินกันยังไง แต่ไม่ได้หมายความว่าไม่แน่นอนและจะไม่ให้เงินอีกแล้วทำนองนี้ ตอนนี้ก็กำลังดูทั้งแรงงาน ประกันสังคม ทั้งในระบบและนอกระบบ กลุ่มอิสระ รวมถึงกำลังดูเรื่องเกษตรกร วันนี้ลงรายละเอียดทั้งหมด ซึ่งเกษตรกรมีหลายประเภท บางอันมีผลกระทบมากและมีผลกระทบน้อย ซึ่งต้องเข้าใจว่ารัฐบาลมีมาตรการตรงนี้ในการคัดกรอง จึงขอให้ทุกคนร่วมมือก็แล้วกัน" พล.อ.ประยุทธ์ระบุ
นายกฯ กล่าวด้วยว่า ขอบคุณและขอโทษที่ทำให้ไม่มั่นใจ ขอให้มั่นใจ มั่นใจตนมาตลอด เวลาที่ผ่านมาแล้ว ขอให้มั่นใจกระทรวงการคลัง มั่นใจบุคลากรของตน ทุกคนพยายามทำอย่างเต็มที่ บางครั้งมันก็ยากบ้างง่ายบ้าง ทันใจบ้างและไม่ทันใจบ้าง ก็ขอโทษด้วยแล้วกัน แต่เป็นมาตรการที่ต้องระมัดระวังที่สุด เพราะเป็นการใช้เงินของภาครัฐ ต้องมีการตรวจสอบภายหลังทุกอย่าง ไม่อยากให้เกิดปัญหาขึ้นในระยะหลัง ทราบดีว่าทุกคนเดือดร้อนและเดือดร้อนในเวลาเดียวกันด้วย แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นต้องทยอยดำเนินการ ยืนยัน 3 เดือนโอเคไหม
เมื่อถามว่า ในส่วนของเกษตรกรที่ได้รับความเดือดร้อนต้องมีการลงทะเบียนใหม่หรือไม่ พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า เรื่องนี้ให้กระทรวงการคลังดำเนินการอยู่
ที่กระทรวงการคลัง นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ขณะนี้ไม่มีประเทศใดในโลกที่จะมีงบประมาณโดยตัวเองในการดูแลประชาชนที่เดือดร้อน เพราะทุกประเทศไม่มีใครคาดคิดว่าจะเกิดโควิด-19 การทำงบประมาณจึงเป็นไปตามปกติ แต่พอมีโรคระบาดขึ้นมาในทุกประเทศจึงต้องหันมาใช้การกู้ยืมเงิน ไม่ว่าจะเป็นสหรัฐอเมริกาหรือสิงคโปร์ ต้องใช้วิธีการออกพันธบัตรกู้ยืมเพื่อเอาเงินเหล่านี้มาดูแลประชาชนที่เดือดร้อน ส่วนไทยก็เช่นกันต้องออกพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) กู้เงินฉุกเฉิน 1 ล้านล้านบาท
นอกจากนี้ กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) ออกรายงานล่าสุด คาดการณ์ว่าการก่อหนี้ของโลกจะสูงมากในปีนี้และปีหน้า แต่ยังสนับสนุนให้แต่ละประเทศต้องยอมกู้เพื่อเอาเงินมาดูแลประชาชน ดังนั้นคลังได้คาดคะเนมาแล้วจึงได้รีบออก พ.ร.ก.กู้เงินออกมา ณ เวลาที่พอดี เพราะเงินที่ดูแลประชาชนขณะนี้มาจากงบกลาง ซึ่งเป็นงบปกติของปีงบประมาณ 2563 และรัฐบาลวางแผนว่าในช่วงต้นเดือน พ.ค.ถึงกลาง พ.ค.63 จะสามารถกู้ยืมเงินได้ เพราะ พ.ร.ก.ผ่านคณะรัฐมนตรี (ครม.) แล้ว
"เมื่อกู้ได้ก็จะเอาเงินนี้มาสานต่องบปกติ การดูแลทุกมาตรการ รวมถึงแจกเงิน 5,000 บาทจะไม่ขาดตอน ส่วนการกู้เงิน การก่อหนี้ จะก่อหนี้เป็นช่วงๆ ตามแต่ละช่วงที่จะมีการใช้จ่าย ไม่ใช่กู้มาทั้งหมด ดังนั้นการขาดแคลนเงินจะไม่เกิดเพราะมีแผนงานรองรับอยู่แล้ว" นายสมคิดกล่าว
รองนายกฯ กล่าวว่า ขอให้ฟังแล้วจะเข้าใจว่าในการก่อหนี้จะแยกเป็น 3 กลุ่ม คือ 1.การเยียวยา 2.ใช้ดูแลเศรษฐกิจท้องถิ่น และ 3.การดูแลภาคการเงิน ซึ่งสำคัญมาก เพราะถ้าภาคการเงินมีปัญหาทุกอย่างจะล่มสลายหมด การก่อหนี้ 1 ล้านล้านบาทจะดูแล 3 กลุ่มได้อย่างเหมาะสม ก่อนหน้านี้ตลาดตราสารหนี้ที่รู้สึกมีปัญหา แต่หลังจากธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ออก พ.ร.ก.ซื้อหุ้นกู้เอกชน 4 แสนล้านบาท ทุกอย่างก็นิ่งขึ้น ฉะนั้นทั้งหมดนี้คือจังหวะเวลาของการทำงาน ไม่มีอะไรที่ต้องกังวล
สำหรับประเด็นปัญหาที่ถกกันในสังคมเรื่องการแจกเงินเยียวยา 5 พันบาทในมาตรการเราไม่ทิ้งกันนั้น ครม.มีมติออกมาแล้วว่า ใครอยู่ในระบบประกันสังคมจะได้รับความช่วยเหลือจากกองทุนประกันสังคม ส่วนกลุ่มนอกระบบประกันสังคมที่ถูกกระทบ ตามนโยบายนายกรัฐมนตรี กระทรวงการคลังยืนยันจะดูแลทุกกลุ่มแน่นอน
"แม่ค้าขายลูกชิ้นปิ้งลำบาก ก็มีสิทธิ์ที่จะขอ 5,000 บาท เมื่อขอแล้วเขาบอกว่าไม่ได้ก็มีสิทธิ์อุทธรณ์ จะไม่มีกลุ่มไหนเลยที่ถูกละทิ้ง ยกเว้นคนที่ไม่ควรได้ถ้ามีรายได้เพียงพอ ประเทศอยู่ในภาวะที่ลำบาก คนที่ดูแลตัวเองไม่ได้ต้องได้ก่อน ไม่อย่างนั้นคนจนจะลำบาก คนมีรายได้แล้วยังจะเอาอีก จะมีรัฐบาลไหนดูแลประชาชนครบอย่างนั้น ใครที่ถูกตัดสิทธิ์ 5 พันบาท ในวันที่ 20 เม.ย.ขอให้ยื่นทบทวนสิทธิ์เข้ามา ทุกคนมีสิทธิ์ ไม่มีใครทอดทิ้งใครอยู่แล้ว" รองนายกฯ ระบุ
ทั้งนี้ การกู้ของคลังสะท้อนความเข้มแข็งของประเทศไทย เราโชคดีมาก ทุกประเทศต้องกู้ แต่ขณะที่เรากู้ได้เพราะหนี้ต่อจีดีพีของไทยอยู่แค่ 40-42% การกู้เพิ่มอีก 1 ล้านล้านบาทยังเป็นตัวเลขมาตรฐานว่าไม่สะเทือน เป็นอานิสงส์โชคดีของไทยว่ามีการดูแลในอดีตทีผ่านมา ส่วนการเงินกู้ก็ต้องใช้อย่างระวัง โดยการกู้เงินตาม พ.ร.ก.กู้ฉุกเฉิน 1 ล้านล้านบาทล็อตแรกในเดือน พ.ค.กำลังศึกษาอยู่ ต้องมีล็อตเยียวยาก่อน ซึ่งจะใช้ในวงเงินสำหรับเยียวยา 6 แสนล้านบาท ในจำนวนนี้ถือว่าพอยิ่งกว่าพอ
ส่วนการแจกเงินช่วยเหลือเกษตรกร กระทรวงการคลังกำลังพิจารณาดูอยู่ว่าจะให้เป็นรายครัวเรือน แต่ถ้ามีสมาชิกในครอบครัวบางคนทำงานอย่างอื่นต้องหักออกเพื่อจะได้ยุติธรรม กระทรวงการคลังร่วมมือมหาดไทย ทุกคนทำงานเต็มที่ ในภาวะลำบากทุกคนต้องช่วยกัน นอกจากนี้กรณีที่นักวิชาการเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เสนอให้ยกเลิกเยียวยา 5 พัน แต่จ่าย 3 พันบาทต่อเดือนให้ทุกคนที่ได้รับผลกระทบนั้น ถ้าจะแจกทุกคนคงต้องกู้ยันตาย
นายอุตตม สาวนายน รมว.การคลัง กล่าวถึงความคืบหน้าเรื่องมาตรการแจกเงินช่วยเหลือเกษตรกรว่า ขณะนี้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และกระทรวงการคลัง อยู่ระหว่างการหารือร่วมกัน กำลังทำงานอยู่ให้ครอบคลุมรัดกุมที่สุด โดยคาดว่าจะมีข้อสรุปโดยเร็วที่สุด
นายนพดล กรรณิกา ผู้อำนวยการสำนักวิจัยซูเปอร์โพล (SUPER POLL) เปิดเผยผลสำรวจเรื่อง "แจกเงินรัฐกับฐานสนับสนุนช่วงโควิด-19" กรณีศึกษาประชาชนทุกสาขาอาชีพทั่วประเทศ 1,314 ตัวอย่าง ระหว่างวันที่ 9-11 เม.ย.ที่ผ่านมาว่า เมื่อถามถึงความชัดเจนในการรับรู้หลักเกณฑ์การรับเงิน 5,000 บาทต่อเดือน พบว่าส่วนใหญ่หรือร้อยละ 77.4 ไม่รู้ชัดเจน ขณะที่ร้อยละ 22.6 รู้หลักเกณฑ์ชัดเจนละเอียดมากที่สุด ที่น่าพิจารณาคือ คนที่ลงทะเบียนแล้วส่วนใหญ่หรือร้อยละ 73.7 ยังไม่รู้หลักเกณฑ์ชัดเจน ขณะที่ร้อยละ 26.3 รู้ชัดเจนละเอียดแล้ว เปรียบเทียบกับคนที่ไม่ได้ลงทะเบียนพบว่าไม่แตกต่างกันนัก คือส่วนใหญ่หรือร้อยละ 79.8 ไม่รู้หลักเกณฑ์ชัดเจน ขณะที่ร้อยละ 20.2 รู้ชัดเจนดีแล้ว
ที่รัฐสภา นายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร กล่าวถึงแนวทางการเตรียมประชุมสภา และความจำเป็นที่จะต้องกักตัว ส.ส.ที่มาจากจังหวัดที่มีการระบาดของเชื้อว่า ต้องรอดูผลจากการพิจารณาของรัฐบาลว่ากระบวนการห้ามเดินทางจะมีผลถึงเมื่อไหร่ ดังนั้นขณะนี้จึงยังตอบไม่ได้ เพราะหากมีการห้ามเดินทาง ส.ส.หรือเจ้าหน้าที่อาจจะเดินทางไม่ได้ และมีผลกระทบต่อการทำงาน อย่างไรก็ตามยังมีเวลาถึงวันที่ 22 พ.ค. ซึ่งตอนนั้นจะมาดูว่าสถานการณ์เป็นอย่างไร
"สภาได้เตรียมว่าหากสถานการณ์เปลี่ยนแปลงไปและมีการประชุมปกติตามกฎหมาย สภาเปิดวันที่ 22 พ.ค. และเปิดประชุมวันแรกวันที่ 27-28 พ.ค. เราก็ได้เตรียมห้องประชุม ส.ส. โดยจะกำหนดที่นั่ง ส.ส.ให้นั่งห่างกันเพื่อความปลอดภัยของทุกคน" นายชวนระบุ.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |