“โควิด-19” กลายเป็นปัจจัยเสี่ยงสำคัญกับภาพรวมเศรษฐกิจโลกในปี 2563 ในขณะนี้ โดยล่าสุดกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) ได้ออกมาคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจโลกในปีนี้จะหดตัวลงถึง 3% จากปัจจัยเสี่ยงข้างต้น และปัจจัยเสี่ยงดังกล่าวนี้อาจส่งผลให้เศรษฐกิจโลกเสี่ยงที่จะเข้าสู่ภาวะถดถอยที่เลวร้ายที่สุดนับตั้งแต่เหตุการณ์ภาวะเศรษฐกิจตกต่ำครั้งยิ่งใหญ่ หรือ “เกรทดีเปรสชั่น” ในช่วงต้นทศวรรษ 1930 หลังจากสงครามโลกครั้งที่ 1 สิ้นสุดลง
ทั้งนี้ ไอเอ็มเอฟประเมินว่าในปี 2564 เศรษฐกิจโลกจะกลับมาขยายตัวได้ราว 5.8% โดยจะมีเศรษฐกิจโลกบางส่วนที่เริ่มฟื้นตัวขึ้นได้ เพราะระดับกิจกรรมทางเศรษฐกิจในปี 2564 ต่ำกว่าที่ได้คาดการณ์ไว้ก่อนหน้านี้ ซึ่งยังไม่มีสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 โดยกรณีที่สถานการณ์อยู่ในระดับที่ดีที่สุด เศรษฐกิจโลกมีแนวโน้มที่จะสูญเสียผลผลิตทางเศรษฐกิจประมาณ 9 ล้านล้านดอลลาร์ในช่วง 2 ปี ซึ่งสูงกว่าจีดีพีเยอรมนีและญี่ปุ่นรวมกัน
โดยจากการประเมินพบว่า ผลกระทบทางเศรษฐกิจของประเทศส่วนใหญ่ในโลกจะรุนแรงที่สุดในช่วงไตรมาส 2/2563 จากสถานการณ์การแพร่ระบาดอย่างหนักที่ทำให้หลายประเทศต้องใช้มาตรการปิดกิจกรรมทางเศรษฐกิจ แต่สถานการณ์จะคลี่คลายในช่วงครึ่งปีหลัง หากสถานการณ์ดีขึ้นและรัฐบาลต่างๆ ทั่วโลกเริ่มผ่อนคลายมาตรการกลับมาดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจอีกครั้ง แต่ถ้าสถานการณ์ยืดเยื้อไปถึงไตรมาส 3/2563 จะทำให้เศรษฐกิจโลกหดตัวลงอีก 3%
ขณะที่เศรษฐกิจไทยนั้น ไอเอ็มเอฟได้คาดการณ์ว่าจะเติบโตติดลบ 6.7% ซึ่งการคาดการณ์ของไอเอ็มเอฟในครั้งนี้สะท้อนว่าเศรษฐกิจไทยจะถดถอยที่สุดในอาเซียน ก่อนจะกลับมาเติบโตที่ระดับ 6.1% ในปี 2564
ทั้งนี้ เป็นประเด็นที่ต้องยอมรับว่าประเทศไทยค่อนข้างได้รับผลกระทบอย่างหนักจากประเด็นเรื่องการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 นั่น เพราะประเทศไทยเป็นประเทศที่พึ่งพาการส่งออกและการท่องเที่ยวค่อนข้างมาก ดังนั้นเมื่อมีการแพร่ระบาดของไวรัสดังกล่าว ภาคการท่องเที่ยวและการส่งออกจะเป็นปัจจัยแรกที่ได้รับผลกระทบอย่างมาก
เนื่องจากหลายประเทศทั่วโลกต่างออกมาตรการเข้มข้นในการป้องกันและดูแลการแก้ไขปัญหาการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 บางประเทศมีการปิดเมือง นั่นหมายถึงกิจกรรมทางเศรษฐกิจต่างๆ หยุดชะงักทันที การใช้จ่าย การเดินทางท่องเที่ยวของนักท่องเที่ยวต่างชาติ ซึ่งถือเป็นรายได้สำคัญหลักของไทยก็หายไป ทำให้ภาคการท่องเที่ยวของไทยในขณะนี้ได้รับผลกระทบอย่างมากจากปัจจัยเสี่ยงดังกล่าว ส่วนการส่งออกแม้ว่าบางส่วนจะยังดำเนินการได้ แต่ก็ไม่คล่องตัวเหมือนสถานการณ์ปกติ อีกทั้งสถานการณ์เศรษฐกิจโลกที่เดิมเป็นปัจจัยเสี่ยงกับภาคเศรษฐกิจไทยอยู่แล้ว จึงกลายเป็นประเด็นที่เข้ามาซ้ำเติมภาคการส่งออกของไทยในขณะนี้ด้วยเช่นกัน
สำหรับประเทศไทย แม้ที่ผ่านมารัฐบาลจะยังไม่ได้มีนโยบายในการปิดเมืองเพื่อแก้ปัญหาไวรัสดังกล่าว แต่หลายกิจกรรมก็ถูกกระทบไปโดยอัตโนมัติ เพราะรัฐบาลมีมาตรการเข้มข้นในการปิดร้านค้า ห้างร้าน และสถานประกอบการในหลายส่วน ซึ่งเหล่านี้กำลังเป็นประเด็นที่ถูกพูดถึง เพราะประชาชนส่วนใหญ่ยืนยันว่าได้รับผลกระทบจากมาตรการเหล่านี้ และเรียกร้องให้รัฐบาลเร่งหามาตรการในการช่วยเหลือ
เดิมที่รัฐบาลเคยพยายามใช้กลไกเรื่อง “การบริโภค” ควบคู่กับการใช้จ่ายและการลงทุนภาครัฐมาเป็นกลจักรสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยแทนภาคการส่งออก ที่เดิมได้รับผลกระทบจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกอยู่แล้ว แต่สถานการณ์ในขณะนี้ดูเหมือนว่าการหวังพึ่งพา “การบริโภค” ในประเทศอาจจะไม่ใช่ทางเลือกที่ถูกต้อง เพราะด้วยมาตรการของรัฐบาลที่เข้มข้นในการแก้ปัญหาโควิด-19 ผ่านการออก พ.ร.ก.ฉุกเฉินนี้ มีผลต่อตัวรายได้ของประชาชน จากการค้าขายที่ทำได้อย่างมีขีดจำกัดมากๆ ดังนั้นเมื่อรายได้ไม่เข้า การจะใช้จ่ายจึงต้องเป็นไปอย่างจำกัดในที่สุด
มองภาพต่อไปว่า หากสถานการณ์โควิด-19 คลี่คลายลงได้ เชื่อว่ายังต้องใช้เวลาอีกพอสมควรในการฟื้นฟูเศรษฐกิจของประเทศ เพราะเศรษฐกิจโลกเองก็ได้รับผลกระทบจากปัจจัยเสี่ยงดังกล่าวไม่น้อยไปกว่ากัน ระหว่างนี้การสร้างความเชื่อมั่นให้ประชาชนอาจเป็นเรื่องสำคัญอย่างยิ่งสำหรับรัฐบาลในการปูพื้นเพื่อก้าวไปสู่การฟื้นฟูเศรษฐกิจให้กลับมาเติบโตได้ตามที่ควรจะเป็น.
ครองขวัญ รอดหมวน
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |