อดีตผู้ว่าฯ แบงก์ชาติกับ บทบาทธนาคารกลางในวิกฤติ


เพิ่มเพื่อน    

    ไม่บ่อยนักที่อดีตผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยหลายๆ คนจะออกมาแสดงจุดยืนในประเด็นบทบาทของธนาคารกลางในการแก้วิฤติเศรษฐกิจ
    โดยเฉพาะเมื่อต้องเล่นบทบาทที่ “ไม่คุ้นเคย” ในรูปแบบของพระราชกำหนดเพื่อตั้งกองทุนเข้าอุ้มตลาดตราสารหนี้ภาคเอกชน
    เกิดคำถามในทำนองแสดงความเป็นห่วงว่าจะทำให้ธนาคารกลางเข้าสู่ภาวะสุ่มเสี่ยงจะเสียความเป็นมืออาชีพหรือไม่
    หนึ่งในอดีตผู้ว่าการแบงก์ชาติที่ออกมาแสดงความเห็น ตอบคำถามที่น่าสนใจคือ คุณธาริษา วัฒนเกส ซึ่งเขียนเป็นลายลักษณ์อักษรถามตอบเป็นข้อๆ เมื่อวันที่ 11 เมษายน 2563 ว่าอย่างนี้
    จากข้อมูลที่ได้ออกมาสู่สาธารณะและจากธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ดิฉันขอไขข้อข้องใจในเรื่องที่ ธปท.จะให้การสนับสนุนสภาพคล่องของตลาดตราสารหนี้ภาคเอกชนในบางประเด็นดังนี้
    Q. ลาดตราสารหนี้ภาคเอกชน เป็นเรื่องของตลาดทุน ไม่เกี่ยวกับบทบาทของ ธปท.ในการทำนโยบายการเงิน ทำไม ธปท.จึงจะเข้าไปสนับสนุนสภาพคล่องของตลาดนี้
    A. ธนาคารกลางต้องดูแลเสถียรภาพทางเศรษฐกิจการเงิน (Financial stability) 
    นี่เป็นบทเรียนสำคัญของธนาคารกลางทั่วโลกจากวิกฤติเศรษฐกิจเอเชียในปี 1997และเศรษฐกิจโลกในปี 2008 
    ในวิกฤติทั้งสองครั้งนั้นไม่มีปัญหาเงินเฟ้อหรือปัญหาการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ ซึ่งธนาคารกลางดูแลอยู่แล้วตามบทบาทดั้งเดิม แต่ไม่ได้ดูแลเรื่องของเสถียรภาพของระบบ 
    การสนับสนุนสภาพคล่องของตลาดตราสารหนี้ในครั้งนี้เป็นมาตรการดูแลเสถียรภาพทางเศรษฐกิจการเงิน เป็นมาตรการป้องกันซึ่งจะทำได้ง่ายกว่าและถูกกว่าการปล่อยให้เกิดปัญหาแล้วค่อยเข้าไปแก้ไขในภายหลังมาก
    Q. การขาดสภาพคล่องของตลาดตราสารหนี้ภาคเอกชนจะทำให้เกิดปัญหา เสถียรภาพทางเศรษฐกิจการเงินอย่างไร 
    A. ตลาดตราสารหนี้เอกชนของเราในขณะนี้โตประมาณร้อยละ 20 ของจีดีพี โตขึ้นอย่างรวดเร็ว เพราะเป็นช่องทางการลงทุนที่ให้ดอกผลมากกว่าเงินฝากธนาคาร 
    หากเกิดปัญหาในตลาดนี้ ก็จะไม่เพียงกระทบผู้ถือตราสารหนี้ภาคเอกชนจำนวนมาก แต่ยังกระทบถึงผู้ถือกองทุนรวมประเภทต่างๆ ที่มักมีการลงทุนในตราสารหนี้ภาคเอกชนด้วย 
    และอาจมีผลไปถึงธนาคารที่มีการปล่อยสินเชื่อให้กับบริษัทผู้ออกตราสารหนี้เหล่านี้ด้วย ผลกระทบจึงอาจเกิดขึ้นในวงกว้างทั้งระบบ
    Q. การลงทุนมีความเสี่ยง เมื่อเกิดปัญหาผู้ลงทุนก็ควรจะรับความเสี่ยงนั้นไม่ใช่หรือ
    A. ปัญหาการขาดสภาพคล่องเป็นผลจากวิกฤติโควิด-19 ที่ทำให้ตลาดไม่ทำงานตามภาวะปกติ เพราะนักลงทุนไม่มั่นใจจากความไม่แน่นอนของโรคไวรัสอุบัติใหม่นี้ ไม่ใช่เพราะการขาดความรับผิดชอบของนักลงทุนหรือบริษัทผู้ออกตราสารหนี้ 
    ธปท.จะตีกรอบการช่วยเหลือสภาพคล่องเฉพาะตราสารหนี้ที่มีคุณภาพและเงื่อนไขตามที่กำหนดเท่านั้น เพื่อไม่ให้เกิด moral hazard หรือทำให้ทั้งผู้ออกตราสารหนี้ และผู้ลงทุนขาดความระมัดระวัง ขาดวินัยในการบริหารทางการเงินต่อไป 
    Q. ธปท.จะถูกแทรกแซงหรือเกิดความเสียหายจากการเข้าไปสนับสนุนในครั้งนี้หรือไม่
    A. ตามร่าง พ.ร.ก.การสนับสนุนสภาพคล่องเพื่อดูแลเสถียรภาพตลาดตราสารหนี้ภาคเอกชน กำหนดให้มีการตั้งคณะกรรมการจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและผู้เชี่ยวชาญเข้ามาทำงานและกำกับดูแลการทำงาน ต้องกำหนดหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่เกี่ยวข้อง การมีกฏเกณฑ์และเงื่อนไขขั้นต่ำที่ชัดเจนโปร่งใสจะเป็นเกราะป้องกัน ธปท.ได้ 
    อีกทั้ง พ.ร.ก.นี้ก็จะมีอายุเพียง 5 ปี จึงเป็นเรื่องของมาตรการชั่วคราวที่รองรับวิกฤติโควิด-19 ในครั้งนี้เท่านั้น
    สำหรับการป้องกันความเสียหายนั้น ทราบว่า ธปท.จะกำหนดให้ผู้ออกตราสารหนี้ที่จะขอรับการสนับสนุนหาแหล่งเงินจากที่อื่นก่อนอย่างน้อยครึ่งหนึ่ง ซึ่งธนาคารพาณิชย์ผู้ให้สินเชื่อก็จะต้องพิจารณาความเป็นไปได้ของบริษัทผู้ขอกู้อยู่แล้ว เป็นการเพิ่มความรอบคอบในการประเมินบริษัทผู้ขอการสนับสนุนอีกแรงหนึ่ง รวมทั้งจะกำหนดอัตราดอกเบี้ยให้สูงกว่าตลาด ทั้งหมดนี้เพื่อให้มั่นใจว่า ธปท.จะเป็นเพียงผู้ให้กู้แหล่งสุดท้าย (Lender of last resort) และมีความรัดกุมในการพิจารณาให้การสนับสนุนด้านสภาพคล่องเพื่อลดโอกาสของความเสียหาย
    สรุปแล้วดิฉันมีความเห็นว่ามาตรการสนับสนุนสภาพคล่องของตลาดตราสารหนี้ภาคเอกชนนี้สอดคล้องกับบทบาทหน้าที่ของธนาคารกลางในการดูแลเสถียรภาพของระบบเศรษฐกิจการเงิน  
    และ ธปท.เห็นความสำคัญในการดำเนินการอย่างรัดกุมระมัดระวังไม่ให้เกิด moral hazard และไม่ให้เกิดความเสียหายแก่ ธปท. 
    ทราบมาว่ามาตรการนี้ ธปท.เป็นผู้เสนอเองกับภาครัฐ จึงขอแสดงความชื่นชมกับ ธปท.ที่ทำงานอย่างมืออาชีพ มองการณ์ไปล่วงหน้า และเตรียมการรับมือแต่เนิ่นๆ
    วิกฤติครั้งนี้เขย่าทุกวงการจริงๆ...ที่ไม่เคยคิดว่าจะเกิดก็เกิด ที่ไม่เคยคิดว่าจะต้องทำก็ต้องทำ.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"