วันที่ 16 เม.ย. ดร.นพ.โกมาตร จึงเสถียรทรัพย์ ผอ.ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) ศมส. กล่าวว่า จากสถานการณ์ไฟป่าที่เกิดขึ้นในพื้นที่ภาคเหนือ ที่นับว่ารุนแรงกว่าทุกปีที่ผ่านมา ส่งผลให้ผืนป่าต้นน้ำจำนวนมากเสียหายอย่างหนัก สัตว์ป่าตายเป็นจำนวนมาก อีกทั้งไฟป่ายังลุกลามเข้ามายังชุมชน ที่อยู่ในเขตป่าที่มีกลุ่มชาติพันธุ์ ซึ่งเป็นเครือข่ายของศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) จำนวน 32 ชุมชนที่ร่วมกันดูแลปกป้องผืนป่าเรียกว่า ป่าชุมชน หรือ ป่าจิตวิญญาณ จำนวน 394,475 ไร่ และชาวเขาหลายคนต้องเสียชีวิตจากการเข้าไปดับไฟป่า แม้ล่าสุดสถานการณ์จะทุเลาลงในบางชุมชน แต่ยังมีอีกหลายชุมชนที่ยังต้องเผชิญกับวิกฤตไฟป่าที่รุนแรงที่สุดในรอบหลายปี อาทิ ชุมชนบ้านแม่ส้าน ต.บ้านดง อ.แม่เมาะ จ.ลำปาง พื้นที่ป่า 18,102 ไร่ ชุมชนบ้านห้วยหินลาดใน ห้วยหินลาดนอก และผาเยือง ต.บ้านโป่ง อ.เวียงป่าเป้า จ.เชียงราย พื้นที่ป่า 27,000 ไร่ พื้นที่หมู่ที่ 6 และ 11 ต.สะเมิงใต้ อ.สะเมิง จ.เชียงใหม่ พื้นที่ป่า 24,513 ไร่ บ้านแม่อมกิ ต.แม่วะหลวง อ.ท่าสองยาง จ.ตาก พื้นที่ป่า 17,000 ไร่ และบ้านแม่หาด ต.แม่สวด อ.สบเมย จ.แม่ฮ่องสอน พื้นที่ป่า 13,685 ไร่ ที่เหลือเป็นชุมชนที่สถานการณ์ไฟป่าที่ลดความรุนแรงลงอยู่ในช่วงเฝ้าระวัง
ดร.นพ.โกมาตร กล่าวว่า จากปัญหาที่เกิดขึ้นทำให้มีความห่วงใยชีวิตความเป็นอยู่ของคนในพื้นที่ ดังนั้น ศมส.จึงร่วมกับมูลนิธิพัฒนาภาคเหนือ (มพน.) และโพควา โปรดักชั่น จัดตั้งศูนย์สนับสนุนชุมชนสู้ไฟป่าขึ้น เมื่อวันที่ 6 เม.ย. ที่ผ่านมา เพื่อสนับสนุนชุมชนสู้ไฟป่าเบื้องต้น 19 ชุมชน ครอบคลุมเนื้อที่ราว 253,780 ไร่ และต่อมาได้ขยายการสนับสนุนเป็น 32 ชุมชน รวมเนื้อที่ราว 394,475 ไร่ ในพื้นที่ 6 จังหวัดภาคเหนือตอนบน เพื่อสนับสนุนและเป็นกำลังใจในการดูแลจัดการผืนป่าที่อยู่โดยรอบของชุมชน ให้การช่วยเหลือชุมชนดังกล่าวที่ต้องต่อสู้กับไฟป่า โดยร่วมนำเงินและสิ่งของต่างๆ เข้าไปช่วยเหลือผู้ที่ได้รับผลกระทบตลอดจนอุปกรณ์ป้องกันไฟ ได้แก่ เครื่องพ่นลม วิทยุสื่อสาร หน้ากากกันไฟ ชุดอุปกรณ์ทำแผล รวมถึงอาหารแห้ง และจัดสรรเงินบางส่วนเป็นกองทุนสู้ไฟป่าให้ชุมชนเพื่อเป็นทุน ในการดูแลผืนป่าในปีหน้า
“ความร่วมมือของชุมชนชาติพันธุ์ในการจัดการไฟป่าครั้งนี้ แสดงให้เราเห็นถึงศักยภาพและความเสียสละของกลุ่มชาติพันธุ์ ในการปกป้องผืนป่า ซึ่งเป็นทั้งที่อยู่อาศัย พื้นที่ทำกิน และพื้นที่จิตวิญญาณ ขณะที่ความร่วมมือกันอย่างสร้างสรรค์ของคนในสังคม จะนำมาซึ่งความความเข้าใจ เห็นใจ และเอื้ออาทรซึ่งกันและกันมากขึ้น ระหว่างชุมชนท้องถิ่นในพื้นที่ป่าและภาคส่วนต่างๆ นำไปสู่ความยั่งยืนของทรัพยากรป่าไม้ ผู้สนใจช่วยเหลือพี่น้องที่กำลังเผชิญกับสถานการณ์ไฟป่าที่รุนแรงในขณะนี้ สามารถบริจาคสิ่งของ อุปกรณ์ดับไฟป่า อาหาร และเวชภัณฑ์ ได้ที่ศูนย์สนับสนุนชุมชนสู้ไฟป่า มูลนิธิพัฒนาภาคเหนือ 77/1 หมู่ 5 ต.สุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่ 50200 ซึ่งในครั้งแรกศูนย์สนับสนุนชุมชนสู้ไฟป่าตั้งเป้าการขอรับบริจาคงบประมาณสนับสนุนจำนวน 394,475 บาท เพื่อช่วยพวกเขาปกป้องผืนป่า 394,475 ไร่ ในระยะปฏิบัติการ 10 วัน นับจากวันก่อตั้งศูนย์มียอดเงินบริจาคแล้ว 453,807 บาท โดยบางส่วนได้นำเงินไปช่วยเหลือครอบครัวผู้เสียชีวิต ทั้งนี้ ประชาชนสามารถร่วมสมทบทุนบริจาคเงิน หรือ สิ่งของต่างๆ เพื่อช่วยเหลือคนในพื้นที่ดังกล่าว ” ดร.นพ.โกมาตร กล่าว