ขอโทษเยียวยาช้า 'บิ๊กตู่'ตั้งคกก.ดูแลปชช.ครอบคลุมทุกกลุ่ม/ติดเชื้อใหม่30ราย


เพิ่มเพื่อน    


    กราฟยังคงที่มีผู้ป่วยใหม่ 30 ราย พบผู้ติดเชื้อในบ้านมากขึ้น "ศบค." ยังไม่นิ่งนอนใจลุยตรวจเชื้อเชิงรุกใน กทม. ด้าน ครม.อนุมัติกำลังคนภาครัฐ 38,105 อัตรา 24 สายงาน จัดสรรอัตรา ขรก.ให้นักศึกษาแพทย์และทันตแพทย์จบใหม่ 2,792 อัตรา ตั้ง กก.ดูแลผู้ได้รับผลกระทบ นายกฯ ขอประเมินรอบด้านก่อนผ่อนปรนหรือต่ออายุ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน หวั่นหย่อนมาตรการไวรัสอาจกลับมาระบาดอีก ขอโทษ ปชช.เงินเยียวยา 5 พันยังไม่ทั่วถึง ต้องทยอยตามเม็ดเงินที่มีให้แค่เดือนเดียวก่อน รอคลอด พ.ร.ก.กู้เงินยันทุกคนได้รับแน่ ลั่นต้องไม่มีทุจริต ขู่ดำเนินคดีตามกฎหมาย กระตุกพรรคร่วมรัฐบาลหยุดทำเพื่อการเมืองหันมุ่งบริหารบ้านเมือง อีกฝ่ายที่โจมตีขอให้ฟังเหตุผล
    ที่ทำเนียบรัฐบาล วันที่ 15 เม.ย. นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค.แถลงว่า สำหรับสถานการณ์ผู้ป่วยในประเทศไทยมีผู้ป่วยรายใหม่ 30 ราย ในจำนวนนี้อยู่ในสถานที่กักตัวของรัฐ 1 คนที่ กทม. ซึ่งเดินทางกลับมาจากสหรัฐอเมริกา โดยต่อเครื่องที่ญี่ปุ่น จึงไม่ทราบว่าติดเชื้อที่ไหน หายป่วยกลับบ้านแล้ว  1,497 ราย อยู่ระหว่างรักษา 1,103 ราย ยอดผู้ป่วยสะสม 2,643 ราย เสียชีวิตเพิ่ม 2 ราย เสียชีวิตสะสม  43 ราย
    นพ.ทวีศิลป์กล่าวว่า ผู้เสียชีวิตรายที่ 42 เป็นหญิงไทย อายุ 65 ปี ขายอาหารที่ถนนคนเดิน จ.เชียงใหม่ มีโรคเบาหวาน ไตวายเรื้อรัง ความดันโลหิตสูง วันที่ 7 มี.ค.มีไข้สูง ไอ ซื้อยามารับประทานเอง ต่อมาวันที่ 12 มี.ค.อาการไม่ดีขึ้น จึงไปตรวจที่โรงพยาบาลเอกชนแห่งหนึ่งใน จ.เชียงใหม่ มีประวัติสัมผัสผู้ป่วยยืนยันในบ้าน จากนั้นวันที่ 15 มี.ค.มีอาการหน้ามืด จึงไปโรงพยาบาลแห่งเดิมอีกครั้งและกลับบ้าน วันที่ 17 มี.ค.ส่งตรวจหาเชื้อและรักษาที่โรงพยาบาลรัฐ และวันที่ 18 มี.ค.ยังรู้สึกตัวดี แต่มีอาการเหนื่อย ผลยืนยันออกมาเป็นโควิด-19 โดยวันที่ 19 มี.ค.แพทย์ให้ยาต้านไวรัส แต่วันที่ 22 มี.ค.ผู้ป่วยหายใจเหนื่อยหอบมากขึ้น ผลเอกซเรย์ปอดอักเสบรุนแรง รวมถึงหัวใจโตด้วย วันที่ 6 เม.ย.ไม่รู้สึกตัว ความดันโลหิตตก ได้รับยากระตุ้นการทำงานของหัวใจแต่ไม่ดีขึ้น และเสียชีวิตวันที่ 13 เม.ย. 
    ส่วนรายที่ 43 เป็นชายไทย อายุ 60 ปี ไปร่วมพิธีกรรมทางศาสนาที่อินโดนีเซีย เดินทางกลับไทยวันที่ 24 มี.ค. ต่อมาวันที่ 2 เม.ย.มีไข้ 38.4 องศาเซลเซียส เริ่มปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ และเข้ารักษาในโรงพยาบาลแห่งหนึ่งใน จ.พระนครศรีอยุธยา ผลยืนยันเป็นผู้ป่วยโควิด-19 อาการแย่ลงเรื่อยๆ และเสียชีวิตวันที่ 14 เม.ย. ผู้เสียชีวิตทุกรายถือเป็นครู ทำให้เรารู้ว่าปัจจัยเสี่ยงมีอะไรอย่างไร เพราะเป็นโรคอุบัติใหม่เกิดขึ้นได้ไม่กี่วัน จึงต้องทำความเข้าใจและเรียนรู้
    นพ.ทวีศิลป์กล่าวว่า วันที่ 15 เม.ย.กราฟของเรายังค่อนข้างคงที่ เป็นเพราะความร่วมมือร่วมมือใจของทุกคน ถ้าไม่ร่วมมือร่วมใจกันอาจจะเห็นภาพอย่างที่นักวิชาการพยากรณ์เอาไว้ว่า วันที่ 15 เม.ย.หากสถานการณ์เลวร้ายที่สุดจะมีผู้ติดเชื้อถึง 3 แสนกว่าคน แต่ที่เราตรึงตัวเลขไว้ได้ที่ 2 พันกว่าราย และคุมตัวเลขได้ จึงต้องขอขอบคุณทุกคน มีการเปรียบผู้ติดเชื้อรายใหม่ระหว่างเดือน มี.ค.กับ เม.ย. พบว่าเดือน มี.ค.มีผู้ติดเชื้อจากต่างประเทศ 15% ติดเชื้อนอกบ้าน 77% ติดเชื้อในบ้าน 8% ส่วนเดือน  เม.ย.ติดเชื้อจากต่างประเทศ 17% นอกบ้าน 60% ในบ้าน 23% ทำให้เห็นว่าตัวเลขผู้ติดเชื้อในบ้านมีมากขึ้น แต่จำนวนน้อยลง อาจเป็นผลมาจากมาตรการประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉินและเคอร์ฟิว ดังนั้นขอให้ผู้ที่อยู่บ้านระมัดระวังตัวในการอยู่ร่วมกันให้มากขึ้น ทั้งนี้แนวโน้มของเราอยู่ในช่วงขาลงของตัวเลขทั้งหมด แต่ยังจำเป็นต้องตรึงความเข้มแข็ง การ์ดอย่าตก จะได้ไม่มีตัวเลขเพิ่มขึ้นไปกว่านี้ ถ้าตัวเลขลดลงเหลือตัวเดียวจะเยี่ยมมากๆ หลังจากนี้จะมีการขยายการตรวจเชื้อเชิงรุกใน กทม. เพราะเรามีศักยภาพมากขึ้น ถ้าใครสงสัยหรือมีอาการสามารถเดินทางไปตรวจได้เลย
พอใจแต่อย่านิ่งนอนใจ
    โฆษก ศบค.กล่าวว่า สำหรับสถานการณ์ทั่วโลกวันนี้มีผู้ติดเชื้อเกือบ 2 ล้านคน เราจึงจำเป็นต้องศึกษามาตรการของประเทศต่างๆ เพื่อนำมาปรับใช้ในการป้องกันโรคในประเทศไทยประกอบกันไปด้วย  สำหรับผลการปฏิบัติงานด้านความมั่นคงช่วงเคอร์ฟิวคืนวันที่ 14 เม.ย.ต่อเนื่องเช้าวันที่ 15 เม.ย. มีการฝ่าฝืนออกนอกเคหสถาน 845 ราย มากกว่าคืนก่อน 39 ราย ชุมนุม มั่วสุม 81 คดี ลดลงจากคืนก่อน  74 ราย โดยผู้ชุมนุมมั่วสุม 3 อันดับแรก คือ เล่นการพนัน ดื่มสุรา และยาเสพติด แม้ผู้มั่วสุมวันนี้จะน้อยกว่าคืนก่อน แต่ขอให้คนในครอบครัวช่วยกันตักเตือน ถ้าใครพบเห็นหรือมีเบาะแสการรวมกลุ่มในช่วงเคอร์ฟิวขอให้แจ้งตำรวจไปตรวจสอบ ถ้าใครทำอะไรผิดจะต้องจับจริง
    "แม้ว่าเราจะพึงพอใจตัวเลขในระดับหนึ่ง แต่อย่านิ่งนอนใจ ขณะเดียวกันในปรากฏการณ์แบบนี้ เห็นภาพคนเสียชีวิตจำนวนมากในต่างประเทศแล้วหดหู่ใจ ไทยเราแม้เจ็บป่วยไม่มาก เสียชีวิตไม่เยอะ  แต่ผลกระทบเศรษฐกิจก็เยอะ ขอให้ทุกคนเข้าใจสิ่งที่เกิดขึ้น เข้าใจตัวเอง ค่อยๆ ใช้สติกลั่นกรอง ใช้เหตุผลจัดการเรื่องนี้ ผลก็จะออกมาดี ขอให้เราผ่านวิกฤติครั้งนี้ไปด้วยดี" นพ.ทวีศิลป์กล่าว
    ที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) พญ.พรรณพิมล วิปุลากร อธิบดีกรมอนามัย แถลงสถานการณ์โควิด-19 รายวันว่า ผลสำรวจวันที่ 2-8 เม.ย. พบว่ามีประชาชนออกนอกบ้านร้อยละ 47.1 ส่วนใหญ่จำเป็นจะต้องออกจากบ้าน เช่น ไปทำงาน พบแพทย์ ซื้ออาหารของใช้ ทำธุรกรรมทางการเงิน อยู่บ้านไม่มีแขกมาหาร้อยละ 41.8 อยู่บ้านมีแขกมาหาที่บ้านร้อยละ 11.1 ในส่วนของการป้องกันตัวเองเมื่อพบกับผู้อื่นทั้งในและนอกบ้าน พบว่าล้างมือหรือใช้เจลแอลกอฮอล์ทุกครั้งร้อยละ 85.2 ใส่หน้ากากอนามัยทุกครั้งร้อยละ 76.7 เว้นระยะห่างทางสังคมร้อยละ 62.7 ระวังไม่นำมือสัมผัสใบหน้า จมูก ปาก ร้อยละ 59.8 ซึ่งยังคงขอให้เน้นมาตรการล้างมือ สวมหน้ากากอนามัย เว้นระยะห่างทางสังคมอย่างต่อเนื่อง และหากอนาคตจำเป็นต้องผ่อนปรนบางพื้นที่สาธารณะก็ยังคงต้องเข้มงวดมาตรการเหล่านี้อยู่ เช่นตลาดสด 
    ด้านนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.สาธารณสุข รับมอบเงินจำนวน 2.5 แสนดอลลาร์สหรัฐฯ หรือประมาณ 7,750,000 บาท จากนางเฮเลน บัดลิเกอร์ อาเทียดา เอกอัครราชทูตวิสามัญผู้มีอำนาจเต็มแห่งสมาพันธรัฐสวิสประจำประเทศไทย และตัวแทนบริษัทผู้ผลิตยาจากสวิตเซอร์แลนด์ เพื่อสมทบทุนให้มูลนิธิกรมการแพทย์ในการจัดบริการดูแลรักษาผู้ป่วยโรคโควิด-19 
    ขณะที่ตัวแทนพยาบาลจากสถาบันบําราศนราดูรและโรงพยาบาลพระนั่งเกล้า เข้ามอบดอกไม้ขอบคุณนายอนุทินที่ทำให้เหล่าพยาบาลได้รับการบรรจุเป็นข้าราชการ ทำให้มีความมั่นคงในการทำงานมากขึ้น ซึ่งขอสัญญาว่าจะทำหน้าที่ให้ดีที่สุด ร่วมกันต่อสู้โรคโควิด-19 และจะดูแลผู้ป่วยให้ดีที่สุด 
    นายฉัตรชัย พรหมเลิศ ปลัดกระทรวงมหาดไทย ในฐานะหัวหน้าผู้รับผิดชอบแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน ในส่วนที่เกี่ยวกับการสั่งการและประสานกับผู้ว่าราชการจังหวัด ได้สั่งการไปยังผู้ว่าฯ ทุกจังหวัดให้ข้อมูลและชี้แจงในการประชุมคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดพิจารณาดำเนินการให้เป็นไปตามประกาศ และข้อกำหนด รวมทั้งมติของ ศบค. ดังนี้ 1) ประเมินสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ของแต่ละจังหวัด 2) ดำเนินมาตรการตามแนวทางปฏิบัติ คำสั่ง และประกาศที่เกี่ยวข้องอย่างเข้มข้นต่อเนื่อง ในมาตรฐานเดียวกันทั่วประเทศตามแนวทางของ ศบค. เบื้องต้นถึงวันที่ 30 เมษายน 2563 3) กำหนดปิดร้านสะดวกซื้อเวลาเดียวกันทั่วประเทศ ระหว่างเวลา 22.00 ถึง 04.00 น.ไปจนถึงวันที่ 30 เมษายน 2563 
ปิดน่านฟ้าถึง 30 เม.ย.
    นายจุฬา สุขมานพ ผู้อำนวยการสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท.) ได้ลงนามออกประกาศสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศ สั่งห้ามอากาศยานขนส่งคนโดยสารทำการบินเข้ามายังท่าอากาศยานในประเทศไทยเป็นการชั่วคราว ตั้งแต่วันที่ 19 เม.ย.63 เวลา 00.01 น. จนถึงวันที่ 30  เม.ย.63 เวลา 23.59 น. โดยมีผลตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป ยกเว้นอากาศยานราชการหรือที่ใช้ในราชการทหาร, อากาศยานที่ขอลงฉุกเฉิน, อากาศยานที่ขอลงทางเทคนิคโดยไม่มีผู้โดยสารออกจากเครื่อง, อากาศยานที่ทำการบินเพื่อให้ความช่วยเหลือทางมนุษยธรรมทำการบินทางการแพทย์ หรือการขนส่งสิ่งของเพื่อสงเคราะห์แก่ผู้ได้รับผลกระทบจากโรคโควิด-19, อากาศยานที่ได้รับอนุญาตให้ทำการบินรับส่งบุคคลกลับประเทศไทยหรือกลับภูมิลำเนา และอากาศยานขนส่งสินค้า
     พล.อ.พรพิพัฒน์ เบญญศรี ผู้บัญชาการทหารสูงสุด (ผบ.ทสส.) ในฐานะหัวหน้าศูนย์ปฏิบัติการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินด้านความมั่นคง (ศปม.) ลงนามในคำสั่ง ศปม.อนุมัติเพิ่มเติมให้ผู้ใหญ่บ้าน  กำนัน นายอำเภอ ผู้อำนวยการเขต หัวหน้าสถานีตำรวจ ข้าราชการตำรวจ ทหาร หรือข้าราชการพลเรือนประจำจุดตรวจ หรือชุดตรวจเคลื่อนที่ในพื้นที่ ใช้ดุลพินิจอนุญาตให้คนออกนอกเคหสถานในช่วงเคอร์ฟิวได้ในกรณีฉุกเฉิน ซึ่งต้องเตรียมเอกสารหลักฐานที่จำเป็น หากแสดงหลักฐานอันเป็นเท็จจะมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา
    เช้าวันเดียวกัน เมื่อเวลา 09.00 น. พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม  เป็นประธานการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ผ่านระบบวิดีโอคอนเฟอเรนซ์เป็นครั้งที่ 3 ภายหลังการประชุม นางรัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ครม.รับทราบคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรี แต่งตั้งคณะกรรมการกำกับดูแลผู้ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19  เพื่อทำหน้าที่ติดตาม รวบรวม และบูรณาการข้อมูลที่เกี่ยวกับผู้ได้รับผลกระทบจากโรคโควิด-19 รับฟังความคิดเห็นและข้อเสนอแนะจากทุกภาคส่วน ตรวจสอบการให้ความช่วยเหลือและเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากโรคโควิด-19 ตามมาตรการต่างๆ ของรัฐ เพื่อให้การจัดทำมาตรการช่วยเหลือและเยียวยาเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ โปร่งใส และสอดคล้องกับวัตถุประสงค์ ตลอดจนให้กลุ่มเป้าหมายได้รับการช่วยเหลืออย่างทั่วถึงโดยเร็ว ประกอบด้วย ปลัดกระทรวงการคลัง เป็นประธานกรรมการ มีกรรมการ 10  คน
      นายอุตตม สาวนายน รมว.การคลัง เปิดเผยว่า คณะกรรมการที่นายกฯ ตั้งขึ้นไม่ได้ดูเรื่องแจกเงิน  5,000 บาทอย่างเดียว แต่จะดูเรื่องการแจกเงินทุกเรื่อง ทุกมาตรการเยียวยา โดยในส่วนการแจกเงิน  5,000 บาทในมาตรการเราไม่ทิ้งกัน ต้องนำเข้าหารือในคณะกรรมการชุดนี้เช่นกัน             
    น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงว่า ครม.มีมติอนุมัติตามมติคณะกรรมการกำหนดเป้าหมายและนโยบายกำลังคนภาครัฐ (คปร.) เสนอ โดยอนุมัติ 38,105 อัตรา 24  สายงาน โดยมีเงื่อนไขให้ยกคนกลุ่มเดิมที่ทำงานอยู่แล้วเป็นข้าราชการ โดยการสอบคัดเลือกใช้ ม.55  ซึ่งจะไปทำความตกลงกันอีกครั้งว่าจะใช้วิธีสอบคัดเลือกแบบไหน ผลจากการที่ยกคนกลุ่มนี้เป็นข้าราชการ จะทำให้ไทยมีอัตราแพทย์เต็มตามเป้าหมายที่ได้กำหนดไว้ นอกจากนี้ยังจัดสรรอัตราข้าราชการให้นักศึกษาแพทย์และทันตแพทย์จบใหม่ 2,792 อัตรา จากที่ขอ 7,579 อัตรา ส่วนเภสัชกร  พยาบาลและนักวิชาการสาธารณสุข 4,787 อัตรานั้น ขอให้ทำแผนเสนออีกครั้ง และยังให้เงินเพิ่มพิเศษรวม 2,700 ล้านบาท แบ่งเป็นกลุ่มปฏิบัติงานตรง เช่น แพทย์ พยาบาล 1,500 บาทต่อเดือน ถึงกันยายน และกลุ่มสนับสนุน 1,000 บาทต่อเดือน ถึงเดือนกันยายน พร้อมกันนี้ยังให้โควตาพิเศษ 2 ขั้น  ขณะที่อายุราชการทวีคูณ ไม่อยู่ในเกณฑ์ตามกฎหมาย ตามกฎหมายจะระบุให้เฉพาะตอนประกาศกฎอัยการศึกเท่านั้น
ยังไม่ผ่อนปรนหวั่นระบาดอีก
    ทางด้าน พล.อ.ประยุทธ์แถลงภายหลังการประชุม ครม.ว่า วันนี้เป็นที่น่ายินดีตัวเลขผู้ติดเชื้อรายใหม่ทยอยลดลงในช่วงหลายวันที่ผ่านมา สิ่งเหล่านี้จะเป็นตัวชี้วัดให้รัฐบาล โดย ศบค.จะพิจารณาด้วยหลักเกณฑ์และหลักการทางด้านสาธารณสุขอีกครั้ง ว่าเราจะสามารถผ่อนปรนอะไรได้บ้างหรือไม่ แต่ในช่วงนี้ต้องขอเวลาอีกสักระยะหนึ่งก่อน เพราะต้องระมัดระวัง ยังมีความเสี่ยงสูงในการมาชุมนุมหรือรวมตัวกัน ดังนั้นเรื่องการผ่อนปรนอะไรต่างๆ ได้ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปเตรียมการไว้แล้วว่า ถ้าสถานการณ์ดีขึ้นจริงจะลดได้อย่างไร หรือถ้าไม่ดีขึ้นจะเพิ่มความเข้มงวดได้อย่างไร 
    "ผมทราบดีว่าทุกคนเดือดร้อน ท่านยิ่งร้อนใจผมยิ่งร้อนใจกว่า เพราะผมเป็นรัฐบาลที่ต้องดูแลท่าน  ขอให้เข้าอกเข้าใจซึ่งกันและกัน โดยเราจะประเมินอีกครั้งในช่วงสัปดาห์สุดท้ายของเดือน เม.ย. ระหว่างนี้ก็กำลังหามาตรการที่เหมาะสมอยู่ หาหนทางที่ดีที่สุด และถ้าหากมีการผ่อนปรนเหล่านี้ก็ต้องทำอย่างค่อยเป็นค่อยไป ไม่ใช่ทีเดียวทั้งหมด มันก็คือปัญหา เพราะบางพื้นที่ก็มีการแพร่ระบาดอยู่ในปัจจุบัน โดยเฉพาะพื้นที่ที่ทุกคนทราบดีอยู่แล้วคือภาคกลาง กรุงเทพฯ ปริมณฑลและภาคใต้ จึงต้องมีมาตรการป้องกันไม่ให้กลับมาระบาดใหม่ในทุกมิติ" นายกฯ กล่าว
    พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า วันที่ 26 เม.ย.ที่จะครบวันประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน จะมีการต่ออายุหรือขยายมาตรการเคอร์ฟิวหรือไม่อยู่ที่การประเมินของ ศบค. ที่จะต้องไปคิดวิเคราะห์และชั่งน้ำหนักในหลายๆ ด้าน แม้สถานการณ์แนวโน้มในขณะนี้จะลดลงบ้างในบางจังหวะและบางช่วง ซึ่งอาจหมายความว่าเราป้องกันการแพร่ระบาดได้ดี แต่หากเราขาดความร่วมมือแล้วหย่อนวินัยและหย่อนความเข้มงวดลงไป โรคระบาดก็จะกลับมาโจมตีเราได้อีกเหมือนอย่างที่เกิดขึ้นในหลายประเทศ 
     นายกฯ กล่าวถึงกรณีสถานทูตไทยในอินโดนีเซียระบุว่า มีการยื่นเรื่องขอให้รัฐบาลอนุมัติส่งเครื่องบินเช่าเหมาลำไปรับคนไทยจากอินโดนีเซียกลับประเทศไทยว่า เรื่องดังกล่าวต้องให้มีการหารือกันอีกครั้งระหว่างกระทรวงการต่างประเทศและกระทรวงสาธารณสุข ว่าจะมีมาตรการรองรับได้เพียงพอหรือไม่ เพราะทั้งหมดต้องเข้าสู่ State Quarantine ทั้งหมด ขณะนี้มีทั้งในส่วนที่คนไทยอยากกลับและคนที่อยากออกด้วย ดังนั้นต้องดูทั้งต้นทางและปลายทางในเรื่อง State Quarantine ให้ครบถ้วน
    พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า การช่วยเหลือเยียวยาตามมาตรการของรัฐบาลทั้งหมดต้องคำนึงถึงผู้ที่ได้รับผลกระทบทุกกลุ่ม ซึ่งช่วงแรกได้ดำเนินการช่วยเหลือผ่านมาตรการต่างๆ ในเบื้องต้นทั้งระยะที่ 1-2  เช่นการลดภาระค่าใช้จ่ายของประชาชน ค่าน้ำ ค่าไฟ คืนเงินประกันไฟฟ้า การเพิ่มจำนวนหน่วยการใช้ไฟฟ้าฟรี การกำหนดให้ผู้ป่วยโรคโควิด-19 เข้ารับการรักษาโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย การพักหนี้เงินต้นและดอกเบี้ย ขณะนี้อยู่ระหว่างการนำเข้าสู่ขั้นตอนการแก้ไขปัญหา สำหรับมาตรการต่างๆ ของรัฐบาลเราใช้ทั้งเงินในระบบประกันสังคมและงบประมาณปกติ สำหรับมาตรการที่จะชดเชยรายได้จำนวน 5,000 บาทต่อเดือนนั้น ทราบดีว่ามีความสับสนอลหม่านอยู่บ้างพอสมควร เห็นภาพจากที่มาร้องเรียนที่กระทรวงการคลังวันที่ 14 เม.ย. จำเป็นต้องสร้างความเข้าใจกันใหม่เพื่อให้เกิดความเข้าใจที่ตรงกัน 
เยียวยา 1 เดือนต้องรอ พรก.กู้เงิน
    "รัฐบาลให้ความสำคัญกับการช่วยเหลือผู้ที่ได้รับผลกระทบทุกกลุ่มให้ได้รับการช่วยเหลืออย่างทั่วถึงและเป็นธรรม เราได้พิจารณาจากฐานข้อมูลกำลังแรงงานที่มีอยู่ทั้งหมด 37 ล้านคน ประกอบด้วยผู้มีอาชีพอิสระ แรงงานนอกระบบ จำนวน 9 ล้านคน แรงงานในระบบจำนวน 11 ล้านคน และเกษตรกรอีก 17 ล้านคน ยังมีปัญหาเกี่ยวกับนักศึกษาทั้งที่ทำงานและยังไม่ได้ทำงาน อย่าลืมว่ากฎหมายก็ต้องเป็นกฎหมาย จะใช้เงินอย่างไรจะต้องมีการตรวจสอบ จึงไม่อยากให้รัฐบาลและ ครม.เกิดข้อผิดพลาดตรงที่ผมติดตามความคิดเห็นและข้อเสนอแนะต่างๆ ทุกวัน ก็เห็นใจและสงสาร และถือเป็นหน้าที่ที่ผมต้องทำให้ทุกคน ผมร้อนใจมากกว่าท่าน"
    พล.อ.ประยุทธ์กล่าวต่อว่า วันนี้เราจำเป็นต้องใช้เงินจากหลายส่วน ส่วนแรกคือเงินที่เราจะต้องเสนอเป็นพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การปรับโอนงบประมาณร้อยละ 10 ซึ่งจำเป็นต้องใช้เวลามากพอสมควร เพราะต้องเข้าสู่การพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งคงต้องใช้เวลาประมาณเดือนมิถุนายนถึงจะได้เงินก้อนนี้ออกมาใช้ ในส่วนที่สองคือเงินที่จะได้จากการกู้เงิน เป็น พ.ร.ก.กู้เงินจำนวน 1 ล้านล้านบาท ซึ่งตรงนี้ยังไม่มีเงินแม้แต่บาทเดียว ระหว่างนี้อยู่ในขั้นตอนการเตรียมการกู้เงินออกมาให้เป็นเม็ดเงินเพื่อที่จะได้นำมาเยียวยาได้ ถึงวันนี้ยังไม่มีเงินเลยมีเพียงตัวเลขเท่านั้น 
    "ย้ำอีกครั้งว่าวันนี้เราจ่ายได้เพียงเดือนเดียวเท่านั้น ส่วนที่เหลือต้องรอ พ.ร.ก.กู้เงิน และ พ.ร.บ.ที่จะออกมา ในส่วนที่ยังขาดเหลือก็กำลังพิจารณาตรวจสอบคัดกรองอยู่ว่าขาดเหลือตรงไหนและควรจะให้ตรงไหนเพิ่ม หรือมีปัญหาที่ระบบตรวจสอบและคัดกรอง ก็ต้องมาดูให้รอบคอบ ยืนยันว่าผมจะพยายามดูแลทุกท่านอย่างเต็มที่ตามขีดความสามารถที่รัฐมีอยู่ ขอให้ทุกคนเข้าใจ การสร้างความเข้าใจและการสร้างความบิดเบือนในทางที่ผิดยิ่งจะทำให้การทำงานยากยิ่งขึ้น" 
    พล.อ.ประยุทธ์กล่าวด้วยว่า เป็นห่วงคนที่ไปหาผลประโยชน์ ซึ่งบางคนมีความลำบากและยากจนอยู่แล้ว ยังเอาเงินไปจ้างให้คนส่งข้อมูลเพื่อเข้าสู่ระบบการคัดกรองของกระทรวงการคลังเพราะทำไม่เป็น 1,000 บาท โดยไปกู้เงินนอกระบบมา และผลสุดท้ายระบบคัดกรองไม่ผ่านก็เท่ากับเสียเงินไป  1,000 บาท เงิน 5,000 บาทก็ไม่ได้ ถือว่าคนที่แสวงหาผลประโยชน์เหล่านี้เป็นบุคคลที่น่ารังเกียจ บางคนก็มีการปลอมเอกสารเพื่อไปรับประโยชน์ต่างๆ คนเหล่านี้ไม่คิดว่ายังมีอยู่ในประเทศไทย แต่เชื่อว่ายังมีอีกเยอะ รวมทั้งนายทุนเงินกู้ต่างๆ หากเป็นเช่นนี้ก็ต้องใช้มาตรการทางกฎหมายอย่างเต็มที่ อย่ามัวแสวงหาผลประโยชน์บนความทุกข์ทรมานแสนสาหัสของประชาชน ทำอย่างนี้แล้วจะมีความสุขหรือ
    นายกฯ กล่าวอีกว่า ในส่วนของแรงงานในระบบประกันสังคมที่มีรายได้ประจำ ประกันสังคมมาตรา  33 มีอยู่จำนวน 11 ล้านคน วันนี้ได้ใช้เงินจากกองทุนประกันสังคมประมาณ 230,000 ล้านบาท ก็ได้มีการปลดล็อกต่างๆ ผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการปิดกิจการ รัฐบาลต้องหามาตรการช่วยเหลือ ส่วนต่อไปที่กำลังหารือคือเกษตรกร 17 ล้านคน กำลังจะพิจารณาหาเงินจากแหล่งอื่นตามกฎหมายงบประมาณ  นำมาให้เกษตรกรในเดือนแรก และเดือนถัดไปต้องรอเงินกู้เหล่านี้เช่นเดียวกัน 
    "วันนี้ต้องขอความร่วมมือพรรคร่วมรัฐบาล ให้หยุดการทำเพื่อการเมืองไปก่อน วันนี้เป็นเรื่องของการบ้าน การบริหารราชการแผ่นดิน ซึ่งต้องดูแลพี่น้องประชาชนคนไทย เพราะเราต้องเป็นรัฐบาลของประชาชนทุกคนในประเทศ อีกฝ่ายที่กำลังโจมตีอยู่ในขณะนี้ขอให้ฟังเหตุฟังผล บางทีพูดแล้วทำให้คนคล้อยตามได้ง่าย ตรงนี้คิดว่าอันตรายอย่างยิ่ง หากมาทำตรงนี้แล้วจะรู้ว่ามันยากแค่ไหน มันเสี่ยงอันตรายแค่ไหนในการใช้จ่ายงบประมาณเหล่านี้" นายกฯ กล่าว
    นายกฯ กล่าวอีกว่า เรื่องของเงิน 5,000 บาทต้องไม่มีการทุจริตโดยเด็ดขาด ทุกคนต้องช่วยกันตรวจสอบและรักษาสิทธิ์ของตนเอง สิทธิ์ได้ 5,000 บาทก็ต้อง 5,000 บาท ไม่ใช่สิทธิ์ 5,000 บาทแล้วท่านไปให้คนอื่นจนเหลือแค่ 4,000 บาท หรือ 3,000 บาท ฉะนั้นท่านต้องอดทน ต้องขอโทษด้วยถ้าทุกคนยังไม่ได้รับโดยทั่วถึงกัน วันนี้หลายส่วนก็รับฟังจากภาคเอกชน ธุรกิจเอสเอ็มอี ไมโครเอสเอ็มอี ผู้ค้ารายย่อย ฟังหมดทุกคน ข้อเสนอเยอะแยะไปหมด รัฐบาลก็จำเป็นต้องนำเรื่องเหล่านี้มาพิจารณาว่าจะใช้วงเงินเหล่านี้ทำอะไรได้บ้าง.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"