BSF:มาตรการในภาวะไม่ปกติ : ดีที่สุดคือไม่ต้องใช้เงินแบงก์ชาติ!


เพิ่มเพื่อน    

    เมื่อคณะรัฐมนตรีประกาศจะออกพระราชกำหนดให้ธนาคารแห่งประเทศไทยสามารถตั้งกองทุนเพื่อเข้าไปซื้อตราสารหนี้ภาคเอกชนที่เรียกว่า Corporate Bond Stabilization Fund (BSF) ก็ย่อมจะต้องมีความเห็นที่หลากหลาย
    โดยเฉพาะจากคนของแบงก์ชาติทั้งเก่าและปัจจุบัน
    เพราะนี่คือบทบาทที่ธนาคารกลางไม่คุ้นเคย และไม่เคยคิดจะทำในยามปกติ
    แต่นี่เป็นวิกฤติ และตลาดตราสารหนี้ภาคเอกชนมีขนาดใหญ่กว่า 3.6 ล้านล้านบาท หรือกว่า 20% ของ GDP ประเทศ
    ทำให้ผู้ว่าแบงก์ชาติวิรไท สันติประภพ ต้องยอมรับบท “อัศวินขี่ม้าขาว” ในภาวะไม่ปกติ...ทั้งที่หากเลือกได้คงไม่อยากสวมบทนี้
    เมื่อมี “จดหมายเปิดผนึก” จากอดีตคนสำคัญของแบงก์ชาติ นำโดย ดร.วีรพงษ์ “โกร่ง” รามางกูร ตั้งคำถามว่าทำไมไม่มอบหน้าที่นี้ให้ธนาคารรัฐทำ ทำไมธนาคารกลางรับมาทำเอง ไม่เสี่ยงที่จะทำให้ถูกมองว่า “เอื้อประโยชน์” ต่อเอกชนบางรายหรือ? ไม่ทำให้แบงก์ชาติเสียความเป็นมืออาชีพหรือ?
    พลันก็มีความเห็นออกมาสนับสนุนแบงก์ชาติโดยอดีตผู้ว่าฯ อย่างน้อยสามท่าน
    ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล บอกว่าการที่ ธปท.ออกมาสร้างความมั่นใจให้กับตลาดผ่านการตั้งกองทุนในลักษณะนี้ อาจจะทำให้ธนาคารกลางไม่ต้องใช้เงินเข้าซื้อหุ้นกู้ด้วยซ้ำไป 
    เพราะเมื่อตลาดมีความมั่นใจว่ามีคนดูแลก็กล้าลงทุนต่อ เมื่อมีคนลงทุน ธปท.ก็อาจไม่จำเป็นต้องเข้าไปรับซื้อ
    ต่อเสียงทักท้วงนั้น คุณชายอุ๋ยบอกว่าเท่าที่ติดตามความเห็นของนักเศรษฐศาสตร์กลุ่มนี้ ก็ไม่ได้คัดค้านการจัดตั้งกองทุน BSF เพียงแต่มองว่าการที่ ธปท.เข้าไปรับซื้อเองอาจไม่เหมาะสม
    “แต่ต้องเข้าใจว่า ธปท.เองก็เคยลองจัดตั้งกองทุนลักษณะนี้โดยให้ธนาคารรัฐเข้ามาเป็นผู้รับซื้อแล้ว แต่ตลาดยังไม่มีความมั่นใจเท่าไหร่นัก แตกต่างไปจากที่ ธปท.เข้ามาดูแลเองซึ่งสามารถสร้างความมั่นใจได้มากกว่า” อดีตผู้ว่าแบงก์ชาติบอก
    มีประเด็น “เลือกที่รักมักที่ชัง” หรือไม่?
    คุณชายอุ๋ยบอกว่า “หากเป็นแบงก์กรุงไทย...อาจจะถูกมองว่าเลือกที่รักมักที่ชังมากกว่า เพราะด้วยความที่เป็นธนาคารของรัฐ อยู่ในมือของนักการเมืองซึ่งมีอิทธิพล แต่ถ้าเป็นแบงก์ชาติ นักการเมืองเข้ามามีอิทธิพลไม่ได้ เรื่องเลือกที่รักมักที่ชังจึงหายห่วงได้”
    คุณประสาร ไตรรัตน์วรกุล อดีตผู้ว่าแบงก์ชาติอีกคนหนึ่ง ตอบคำถามเรื่องนี้กับสำนักข่าวอิศราที่น่าสนใจว่าอย่างนี้
    ตลาดตราสารหนี้ของภาคเอกชนทวีความสำคัญขึ้นอย่างต่อเนื่อง สำหรับประเทศไทย ปัจจุบันตลาดนี้มีขนาด 3.6 ล้านล้านบาท เทียบกับสินเชื่อธุรกิจของระบบธนาคารพาณิชย์และสถาบันการเงินเฉพาะกิจที่ประมาณ 10.0 ล้านล้านบาท นับว่าเป็นตลาดที่สำคัญมาก
    ในภาวะที่ตลาดตราสารหนี้ผันผวนภายใต้วิกฤติโควิด คุณประสารบอกว่า
    “ผมคิดว่าแบงก์ชาติได้ประเมินและพิจารณาแล้วว่า เที่ยวนี้ปัญหามีขนาดใหญ่มากและแบงก์ชาติคงเห็นสัญญาณแล้ว จำเป็นต้องหามาตรการมารองรับให้รวดเร็วเพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้เกิดขึ้น 
    ในทางตรงข้าม หากไม่ทําอะไรเลย หรือทำช้าไม่ทันการณ์ อาจจะเกิดความเสียหายหนักและย้อนกลับมากระทบเสถียรภาพของระบบเศรษฐกิจการเงินโดยรวมของประเทศ จึงจำเป็นต้องดำเนินมาตรการเพื่อแก้ไขปัญหาไม่ให้ลุกลามไปสู่ภาคเศรษฐกิจอื่นที่กำลังเปราะบางอย่างหนัก”
    คุณประสารมองว่า คงต้องคิดต่อไปว่าการที่แบงก์ชาติจำเป็นต้องเข้าไปดูแลเสถียรภาพในตลาดตราสารหนี้ภาคเอกชนมีความเสี่ยงอะไรบ้าง
    “ที่ต้องระวัง เช่นที่หลายฝ่ายกังวลว่าอาจไม่สอดคล้องกับแนวปฏิบัติของธนาคารกลางในอดีต รวมทั้งอาจจะไม่ใช่ภารกิจที่ธนาคารกลางมีความชำนาญ”
    คุณประสารได้สอบถามคนของธนาคารกลางเหมือนกันและได้สรุปว่า
    “ผมคิดว่าทีมงานของแบงก์ชาติรับทราบข้อห่วงใย และเมื่อพิจารณาจากกรอบ พ.ร.ก.นี้ สะท้อนว่าแบงก์ชาติพยายามที่จะดำเนินการในเรื่องนี้อย่างรัดกุมและบริหารความเสี่ยงในส่วนที่อาจเกิดขึ้นอย่างรอบคอบ เช่น จำกัดการใช้อำนาจไว้เฉพาะช่วงวิกฤติโควิดเท่านั้น และจำกัดวงเงินความเสียหายที่อาจจะเกิดขึ้น รวมทั้งมีการกำหนดเงื่อนไขเชิงคุณภาพของตราสารหนี้ที่กองทุนจะเข้าไปซื้อ”
    ประเด็นของความเสี่ยงที่จะถูกมองว่า “เลือกปฏิบัติ” อดีตผู้ว่าฯ คนนี้บอกว่าก็ต้องอาศัยหลักความโปร่งใส เปิดเผยข้อมูล รวมทั้งมีการกำหนดหลักเกณฑ์แนวปฏิบัติที่ชัดเจน การดำเนินการก็จะมีมืออาชีพเข้ามาช่วย
    มีอีกประเด็นหนึ่งว่า พ.ร.ก.ฉบับนี้ขัดหรือแย้งกับเจตนารมณ์ของ พ.ร.บ.ธปท. หรือไม่? และเป็นการเปิดช่องให้ทางการเมืองเข้าไปแทรกแซงบทบาทแบงก์ชาติในอนาคตได้หรือไม่? 
    คุณประสารตอบว่า
    “ผมคิดว่าแม้ภารกิจที่กำหนดใน พ.ร.ก.จะไม่ใช่งานประจำของแบงก์ชาติ แต่ก็ไม่ขัดและยังสนับสนุนภารกิจหลักด้านการรักษาเสถียรภาพของระบบเศรษฐกิจการเงินในช่วงวิกฤตินี้ และในอนาคต เมื่อสถานการณ์กลับสู่ภาวะปกติ การดำเนินงานต่างๆ ก็ควรเป็นไปตาม พ.ร.บ.แบงก์ชาติ หลักการเดิมยังคงอยู่ครบถ้วน เพราะมิได้มีการแก้ไข” มีประเด็นหนึ่งคือการทำมาตรการครั้งนี้ ธปท.ต้องรับภาระแค่ไหน? มีการเอาเงินสำรองมาใช้ทำมาตรการครั้งนี้หรือไม่?
    ผมคิดว่า กระทรวงการคลังกับแบงก์ชาติคงได้ปรึกษาและแบ่งงานกัน โดยหลักการถ้ามีค่าใช้จ่ายชดเชยความเสียหายต้องเป็นรายจ่ายของรัฐบาล ไม่ใช่รายจ่ายของธนาคารกลาง ถ้าเป็นไปได้ก็น่าจะขอเป็นงบประมาณรายจ่ายหรือกำหนดการชดเชยความเสียหายที่อาจจะเกิดขึ้น”
    มีข้อวิจารณ์ว่าแบงก์ชาติไม่ควรพิมพ์เงินหรือนำเงินสำรองมาจุนเจือภาคเอกชน คุณประสารย้ำว่า
    “เข้าใจว่าที่แบงก์ชาติทําทั้งหมดนี้คือรักษาความเชื่อมั่นในระบบ ถ้าทำสำเร็จก็อาจจะไม่ต้องใช้เงินแบงก์ชาติเลย แต่ก็ต้องรอบคอบโดยทําความเข้าใจกับกระทรวงการคลังและรัฐบาลว่า ในการดําเนินการนี้เป็นส่วนหนึ่งของนโยบายรัฐเพื่อประเทศชาติ หากในท้ายที่สุดเกิดผลกระทบต่อฐานะของแบงก์ชาติ ก็ต้องขอให้กระทรวงการคลังจัดสรรงบประมาณรายจ่ายในส่วนความเสียหายนั้น เพื่อดํารงฐานะความน่าไว้วางใจของธนาคารกลางเอาไว้ด้วย”
    ความจริงบทบาทอย่างนี้สำหรับธนาคารกลางของหลายประเทศก็กำลังเจอกับการท้าทายคล้ายๆ กัน
    คุณประสารยอมรับว่าในสหรัฐฯ ตั้งแต่เกิดวิกฤติแฮมเบอร์เกอร์ปี 2008 เส้นแบ่งระหว่างนโยบายการคลังและนโยบายการเงินบางมาก โดยเฉพาะเวลาที่ประเทศไม่เหลือกระสุนในการดำเนินนโยบายการคลัง (Fiscal Space) ธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) จึงต้องดำเนินนโยบายการเงินที่ไม่ได้ใช้ในช่วงเวลาปกติ (Unconventional Monetary Policy) ขึ้น ซึ่งมองย้อนหลังเป็นเรื่องจําเป็น มิฉะนั้นเศรษฐกิจเขาจะลงเหว 
    ถ้าดูตัวอย่างที่ Fed ใช้วิธีมอบหมาย (Designate) ให้สถาบันการเงินเอกชนเป็นคนทำให้ 
    “แม้จะมีข้อวิพากษ์วิจารณ์อยู่บ้าง แต่ผมคิดว่าใช้มืออาชีพในตลาดดีกว่าแบงก์ชาติทำเอง แต่ในเมืองไทยต้องระวังเรื่องผลประโยชน์ทับซ้อน (Conflicts of interest) ให้ดี” คุณประสารสรุป
    ผมฟังหลายๆ ฝ่ายแล้ว สรุปตรงกันว่า
    จะให้ดีที่สุด มาตรการ “กรณีพิเศษในภาวะไม่ปกติ” เช่นนี้ ถ้าทำสำเร็จได้โดยไม่ต้องมากวนเงินแบงก์ชาติดีที่สุด!
    ท้ายที่สุดอยู่ที่ฝีมือคนแบงก์ชาติปัจจุบัน
    เพราะอดีตและอนาคตล้วนเป็นเรื่องสมมติทั้งสิ้น!.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"