วัดใจDSIคดี'โอ๊ค'ฟอกเงินกรุงไทย! อัยการไม่อุทธรณ์คำพิพากษายกฟ้อง


เพิ่มเพื่อน    


    หรือเขาจะเป็น “ตระกูลชินวัตร” คนแรกที่ถูกฟ้องคดี แล้วศาลพิพากษายกฟ้อง รอดคุกและไม่ต้องหนีคดี “โอ๊ค-พานทองแท้ ชินวัตร” บุตรชายของ “ทักษิณ ชินวัตร” อดีตนายกรัฐมนตรี หลังจากเมื่อวันที่ 25 พ.ย.2562 ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง มีคำพิพากษาให้ยกฟ้อง “พานทองแท้”  ในคดีฟอกเงินทุจริตการปล่อยสินเชื่อของธนาคารกรุงไทย ให้กลุ่มธุรกิจเครือกฤษดามหานคร หมายเลขดำ อท.245/2561 ซึ่งล่าสุดปรากฏว่าคณะทำงานอัยการคดีพิเศษและอัยการคดีศาลสูง ได้มีมติไม่ยื่นอุทธรณ์คดีของ “พานทองแท้” แล้ว เนื่องจากเห็นชอบกับคำพิพากษาของศาล อยู่ระหว่างที่ “กรมสอบสวนคดีพิเศษ” (ดีเอสไอ) จะเห็นแย้งหรือไม่
    คำฟ้องคดีระบุพฤติการณ์ย้อนไปเมื่อปี 2547 กรณี “วิชัย กฤษดาธานนท์” อดีตผู้บริหารเครือกฤษดามหานคร กับพวก ร่วมกันกระทำผิดกับอดีตผู้บริหาร ธ.กรุงไทย ในการอนุมัติสินเชื่อโดยมิชอบ ทำให้ธนาคารเสียหายจำนวน 10,400,000,000 บาท แล้วร่วมกันฟอกเงินที่ได้จากการกระทำผิด โดยได้นำบริษัท โกลเด้น เทคโนโลยี อินดัสเทรียล พาร์ค จำกัด ที่มี “รัชฎา กฤษดาธานนท์” บุตรชายของนายวิชัย เป็นกรรมการ มาใช้ในการรับโอนเงิน แล้วนำเงินนั้นไปซื้อขายหุ้นสามัญเพิ่มทุน เป็นการเปลี่ยนสภาพทรัพย์สิน โดย “วิชัย” ได้โอนเงินจากการขายหุ้นนั้นให้ “พานทองแท้” จำนวน 10 ล้านบาท ซึ่งเป็นเพื่อนกับ “รัชฎา” และบุคคลในครอบครัวทั้งสองมีความรู้จักเกี่ยวข้องสัมพันธ์กัน
    ในการสู้คดี “พานทองแท้” ให้การปฏิเสธ โดยต่อสู้ว่าเงิน 10 ล้านบาทดังกล่าว เป็นเงินที่จะร่วมลงทุนธุรกิจนำเข้ารถซ^เปอร์คาร์กับ “รัชฎา” โดยในคำพิพากษาของศาลอาญาคดีทุจริตฯ อธิบายถึงเงิน 10 ล้านที่ “วิชัย” โอนเข้าบัญชี “พานทองแท้” นั้น เป็นส่วนที่ได้จากการกระทำความผิดมูลฐานตาม พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 ไม่ว่าเงินนั้นจะผ่านกระบวนการแปรสภาพทรัพย์สินมากี่ครั้งกี่หน ก็ยังคงเป็นเงินที่กระทำผิดฐานฟอกเงินตลอดไป ไม่ใช่เงินบริสุทธิ์ แต่ผู้ที่รับโอนเงินมานั้น จะต้องรับทราบว่าเงินดังกล่าวเป็นเงินส่วนหนึ่ง หรือได้มาจากการกระทำความผิด
    ในประเด็นนี้ศาลเห็นว่า ขณะนั้นจำเลยอายุ 26 ปี ซึ่งเวลานั้นจำเลยเพิ่งจบการศึกษาคณะรัฐศาสตร์ ม.รามคำแหง จำเลยจึงย่อมไม่ทราบข้อเท็จจริงว่าเงินดังกล่าวได้มาจากการกระทำผิด โดยจำเลยเองเวลานั้นก็มีทรัพย์เป็นหุ้นในบริษัทจำนวน 4,000 ล้านบาทอยู่ก่อนแล้ว หากเทียบสัดส่วนเงิน 10 ล้านบาทที่โอนเข้าบัญชีกับมูลค่าหุ้นที่มีอยู่ ก็คิดเป็น 0.0025% และเมื่อเทียบกับจำนวนยอดเงินกู้สินเชื่อที่ “วิชัย” ได้ไปนั้นก็เพียง 0.001% เท่านั้น ซึ่งมีจำนวนน้อย และพบว่าในการทำธุรกรรมทางการเงินของจำเลยผ่านบัญชีต่างๆ ก็ยังเป็นการโอนและถอนลักษณะปกติ พฤติการณ์ของจำเลยยังฟังไม่ได้ว่า จำเลยรู้หรือควรรู้ว่า “วิชัย” ได้เงินจากการทุจริต เมื่อจำเลยไม่รู้ จึงฟังไม่ได้ว่าจำเลยกระทำความผิดฐานฟอกเงิน พิพากษายกฟ้อง
    อย่างไรก็ตาม ในวันดังกล่าวหลังอ่านคำพิพากษาเสร็จ ผู้พิพากษาได้แจ้งด้วยว่า คดีนี้องค์คณะผู้พิพากษา (มี 2 คน) มีความเห็นต่างกันในการตัดสิน จึงได้นำความเห็นที่มีผลร้ายน้อยที่สุดกับจำเลยมาเป็นคำตัดสิน ขณะที่ความเห็นขององค์คณะอีกคนหนึ่งนั้นเห็นแย้งว่า จำเลยมีความผิด เห็นควรให้ลงโทษจำคุก 4 ปี ซึ่งก็จะมีการบันทึกไว้เป็นความเห็นแย้งท้ายคำพิพากษาด้วย หากคู่ความยื่นอุทธรณ์ ความเห็นแย้งนี้ในสำนวนก็จะขึ้นสู่ศาลอุทธรณ์ทราบเช่นกัน
    แต่ ณ วันนี้ เมื่ออัยการในฐานะโจทก์ไม่ยื่นอุทธรณ์แล้ว  “พานทองแท้” จำเลยที่ได้ยกฟ้องก็คงไม่อุทธรณ์แน่นอน แต่ขั้นตอนตามกฎหมายอยู่ที่ “ดีเอสไอ” ผู้ทำสำนวน จะเห็นแย้งกับอัยการหรือไม่ ถ้าเห็นด้วยกับที่อัยการไม่ยื่นอุทธรณ์ เท่ากับว่า “พานทองแท้” จะโล่งอก รอดหลุดพ้นจากคดีนี้ในที่สุด แต่ถ้าเกิด “ดีเอสไอ” เห็นแย้งต้องการให้อุทธรณ์ ก็จะต้องไปวัดการตัดสินใจกันต่อที่ “อัยการสูงสุด” คนปัจจุบันคือ “วงศ์สกุล กิตติพรหมวงศ์” จะตัดสินใจอย่างไรต่อไป
    ขณะที่ท่าทีของ “ดีเอสไอ” ภายใต้สังกัด “กระทรวงยุติธรรม” วันนี้ โอกาสที่จะเห็นแย้งอัยการยังไม่มีวี่แวว ยิ่งประกอบกับที่ “สำนักข่าวอิศรา” เปิดคำสั่งกระทรวงยุติธรรมที่ 109/2563 ลงนามโดย “สมศักดิ์ เทพสุทิน” รมว.ยุติธรรม ให้ย้าย “พ.ต.ท.กรวัชร์ ปานประภากร” รักษาการอธิบดีดีเอสไอ ซึ่งมีบทบาทสำคัญในคดีของ “พานทองแท้” กลับไปดำรงตำแหน่งผู้ตรวจราชการกระทรวงยุติธรรม จึงมีการวิพากษ์วิจารณ์ว่าเป็นสัญญาณไม่อุทธรณ์คดีนี้หรือไม่ โดยในส่วนของผู้ติดตามคดีอย่าง “วัชระ เพชรทอง” อดีต ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ ก็ได้ส่งหนังสือถามเรื่องนี้ถึง “สมศักดิ์” รมว.ยุติธรรม เมื่อวันที่ 8 เม.ย.2563 ว่ามีข้อเท็จจริงอย่างไรด้วย
    จากนี้จึงต้องรอดูกันว่า “สมศักดิ์” จะอธิบายอย่างไรต่อไปถึงกระแสข่าวดังกล่าว กับการวัดใจ “ดีเอสไอ” ที่จะเห็นด้วยหรือแย้งกับทางอัยการ ซึ่งเป็นการตัดสินใจครั้งสำคัญที่ “พานทองแท้” จะโล่งอก หรือต้องลุ้นต่อกันเลยทีเดียว หากมีพลิกล็อกไม่เป็นไปตามกระแสข่าวขึ้นมาด้วยการเห็นแย้ง การวัดใจก็ถูกส่งต่อไปที่อัยการสูงสุดอีกคนด้วย ตามขั้นตอนเช่นนี้เหมือนเป็นภาระของโจทก์และจำเลยที่จะต้องสู้คดีต่อไป ส่วนถ้าเห็นด้วยไม่อุทธรณ์นั้น แม้จะไม่เหนื่อย แต่อาจมีคำถามต่อความยุติธรรมได้ เพราะความเห็นแย้งของผู้พิพากษาศาลชั้นต้นคนหนึ่งที่ให้ลงโทษจำคุกก็จะค้างคาไป ไม่ได้รับการพิจารณาจากศาลอุทธรณ์ต่อ.
นายชาติสังคม


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"