คำสั่งนายกรัฐมนตรีที่ 5/2563 เรื่อง แต่งตั้งคณะที่ปรึกษาด้านธุรกิจภาคเอกชนในศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) เมื่อวันที่ 8 เมษายน หรือสัปดาห์ก่อน ถือว่าน่าสนใจ โดยเฉพาะสัดส่วนของคณะกรรมการ
มีจำนวน 16 คน โดยมี ทศพร ศิริสัมพันธ์ เลขาธิการสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ซึ่งมาจากภาครัฐเป็นประธาน
ครึ่งหนึ่งของคณะที่ปรึกษาด้านธุรกิจภาคเอกชนใน ศบค.มีผู้แทนภาคเอกชนถึง 8 รายเป็นกรรมการ ได้แก่ 1.ประธานสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย 2.ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย 3.ประธานสมาคมธนาคารไทย 4.ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย 5.ประธานสภาธุรกิจตลาดทุนไทย 6.ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย 7.ประธานสภาเกษตรกรแห่งชาติ และ 8.ประธานสภาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งประเทศไทย
ส่วนตัวแทนภาครัฐที่เข้ามานั่งมาเป็นกรรมการ ประกอบไปด้วย ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง, อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม, ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า, ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย, ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม
โดยมี ดนุชา พิชยนันท์ รองเลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เป็นเลขานุการ และนายสุริยนต์ ธัญกิจจานุกิจ ที่ปรึกษาด้านนโยบายและแผนงาน สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เป็นผู้ช่วยเลขานุการ
คณะที่ปรึกษา ชุดนี้มีอำนาจหน้าที่ ในการเข้าร่วมประชุมเพื่อให้คำปรึกษา ข้อเสนอแนะ การป้องกัน และแก้ไขปัญหาของภาคธุรกิจเอกชนที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โรคติดเชื้อโควิด-19
ข้อมูลและแนวคิด 2 ส่วนที่รัฐบาลอยากได้คือ ระยะสั้น ซึ่งจะใช้ปรับปรุงมาตรการสินเชื่อเอสเอ็มอี ที่อาจปรับเกณฑ์ให้รายย่อยเข้าถึงสินเชื่อง่ายขึ้น หรือปรับวิธีการช่วยเหลือให้เข้าเป้ามากกว่าเดิม และ ระยะยาว ที่ต้องการฟังความเห็นจาก เอกชน เพื่อใช้ฟื้นฟูธุรกิจหลังจากไวรัสโควิด-19 เบาบางลงไป
และโดยเฉพาะข้อเสนอแนะในการใช้วงเงินจากการออก พ.ร.ก.กู้เงิน 1 ล้านล้านบาทให้เกิดประโยชน์สูงสุด
ผลตอบรับหลังมีการแต่งตั้งคณะที่ปรึกษาด้านธุรกิจของ ศบค.ที่มี บิ๊กตู่-พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค.ค่อนข้างดี
ดีเพราะจะได้กำหนดมาตรการทางเศรษฐกิจได้ ตรงเป้า ตอบโจทย์ภาคเอกชน และประชาชนที่ได้รับผลกระทบอย่างแสนสาหัสตลอดระยะเวลาของการแพร่ระบาด
และจะได้ไม่มีปัญหาภายหลังเมื่อมีมาตรการออกมา เพราะเหล่านี้คือสิ่งที่เอกชนและประชาชนต้องการ มากกว่ารัฐบาลคิดเองฝ่ายเดียว ซึ่งนั่นอาจทำให้การแก้ปัญหาไม่ครอบคลุม
เพราะต้องอย่าลืมว่า ในช่วงของการแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 นั้น เกือบทุกภาคส่วนได้รับผลกระทบทั้งหมด การฟื้นฟูครั้งนี้ไม่ต่างอะไรจากการทำกายภาพบำบัดคนไข้ที่เพิ่งผ่านอาการโคม่า
ซึ่งเป็นการวางแผนตั้งแต่เนิ่นๆ โดยที่ไม่รู้ว่าเมื่อไหร่ โควิด-19 จะสร่างซา และคนทั่วไปสามารถกลับมาใช้ชีวิตได้อย่างปกติเช่นเดิม แต่อย่างน้อยก็ถือได้ว่ามีการเตรียมการเอาไว้
สำหรับคณะที่ปรึกษาดังกล่าวของ ศบค.ได้ประชุมนัดแรกกันแล้วเมื่อช่วงเช้าวันที่ 13 เมษายน มีการแบ่งคณะทำงานเป็น 5 ชุด ได้แก่ คณะทำงานชุดที่ 1 ให้ไปดูมาตรการที่รัฐบาลออกไปชุดที่ 1 2 3 ว่าภาคเอกชน ธุรกิจที่ดำเนินการอยู่ยังติดขัดอะไร ต้องการเสนออะไรเพิ่มเติม
คณะทำงานชุดที่ 2 ให้ไปพิจารณาธุรกิจบางอย่างที่สามารถกลับมาเปิดได้ เพื่อบรรเทาผลกระทบสภาพคล่องและการจ้างงาน การเพิ่มขยายการขนส่ง (โลจิสติกส์), คณะทำงานชุดที่ 3 ดูเรื่องระบบเกษตรกร เรื่องเร่งด่วนทำอย่างไรให้ผลผลิตสามารถขายได้, คณะทำงานชุดที่ 4 มาตรการดูแลผู้ประกอบการขนาดย่อม หรือเอสเอ็มอี โดยเฉพาะไมโครเอสเอ็มอีที่มีทุนต่ำกว่า 10 ล้านบาท ให้สามารถอยู่ได้ มีการจ้างงาน และคณะทำงานชุดที่ 5 เป็นคณะทำงานฟื้นฟูหลังวิกฤติโควิด เรื่องระบบดิจิทัลโซลูชัน
ในที่ประชุมมีการหารือกันมากมายหลายประเด็น และหนึ่งในนั้นมีการประเมินว่าช่วงนี้จะมีแรงงานภาพรวมทั้งหมดตกงาน 7 ล้านคน และหากสถานการณ์โควิด-19 ยืดเยื้อต่อไปอีก 2-3 เดือน โดยที่ไม่มีมาตรการดูแลผู้ประกอบการเพิ่มเติม จะทำให้มีคนตกงานเพิ่มเป็น 10 ล้านคน
เห็นได้ชัดว่าการดึงเอกชนเข้ามาร่วมงาน ทำให้รัฐได้รับรู้ปัญหาที่แท้จริงและหาทางแก้ได้ถูกจุด.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |