มหาวิกฤติไวรัสโควิด-19 ที่กำลังแพร่กระจาย สร้างความเดือดร้อนไปทั่วโลกแบบที่ไม่มีใครคาดคิดมาก่อน ว่าความเสียหายที่มีต่อทั้งชีวิตมนุษย์และเศรษฐกิจจะสร้างผลกระทบมากถึงขนาดนี้ จำนวนผู้ป่วยที่ทะลุ 1.7 ล้านคนทั่วโลก และมีผู้เสียชีวิตมากกว่า 100,000 ราย เป็นการตอกย้ำว่าจากนี้ไปปัญหาเรื่องโรคระบาดรุนแรงที่มนุษยชาติไม่ได้ประสบพบเจอมากว่า 100 ปี นับแต่ “ไข้หวัดสเปน“ เมื่อปี 1918 จะกลายมาเป็นอีกหนึ่งเรื่องสำคัญที่ต้องมีการหยิบยกมาพูดถึง ในเรื่องของมาตรการการรับมือ และการเตรียมความพร้อมหากเกิดเหตุการณ์ลักษณะนี้อีก
นอกจากนี้ หลายภาคส่วนต่างได้รับผลกระทบ โดยเฉพาะในด้านเศรษฐกิจ ที่แม้ว่าจะมีบางธุรกิจที่ได้ประโยชน์บ้างจากการเกิดการระบาดในครั้งนี้ อย่างธุรกิจส่งพัสดุหรืออาหารแบบเดลิเวอรี แพลตฟอร์มการขายของออนไลน์ หรือบรรดานักวิดีโอสตรีมมิ่งทั้งหลาย หรือเรตติ้งทีวีดิจิทัลที่เพิ่มสูงขึ้นอันเป็นผลพวงมาจากมาตรการ “อยู่บ้านเพื่อชาติ” ของรัฐบาล แต่ก็เป็นเพียงแค่ส่วนน้อย แบบที่เทียบกันไม่ได้เลยกับธุรกิจที่ต้องสูญเสียรายได้
ขณะเดียวกัน สถานการณ์การเมืองไทยช่วงก่อนที่จะเกิดไวรัสโควิด-19 ที่กำลังร้อนฉ่า ก็กลับกลายเป็นถูกดับไปเสียสนิท จากไวรัสชนิดใหม่นี้เช่นกัน โดยเราจะมาย้อนดูกันว่าช่วงก่อนที่ไวรัสมรณะระบาด สนามการเมืองไทยนั้นมีอะไรเกิดขึ้นบ้าง
1.กระแสอภิปรายไม่ไว้วางใจ-บรรยากาศก่อนการอปภิปรายไม่ไว้วางใจครั้งแรกของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ในฐานะนายกรัฐมนตรี ถูกตีฆ้องร้องป่าวโดยบรรดาฝ่ายค้านว่า การอภิปรายในครั้งนี้มีหมัดเด็ด ที่ขนมาเตรียมจะน็อกรัฐบาลเซียงกงเพียบ คำโฆษณาดังกล่าวทำให้บรรดาประชาชนฝ่ายที่ไม่ชอบรัฐบาลประยุทธ์ต่างจับตารอดูอาการ “นอตหลุด” กลางสภา ของ พล.อ.ประยุทธ์ และคงมีไม่น้อยที่มีความหวังลึกๆ ว่า การอภิปรายครั้งนี้อาจจะเปลี่ยนแปลงรัฐบาลได้
เมื่อบวกกับกระแสการยุบพรรคอนาคตใหม่ก่อนหน้าเพียงไม่ถึงสัปดาห์ ยิ่งเป็นการ “สุมไฟ” ให้การอภิปรายครั้งนี้น่าสนใจเป็นพิเศษ แต่ปรากฏว่าพอถึงวันอภิปรายจริงกลับไม่ได้ดุเดือดอย่างที่คิด และยังมีเหตุการณ์ “ต้มกันเอง” ของฝ่ายค้าน โดยที่ยังไม่ทันจะได้อภิปราย “พี่ใหญ่” อย่าง พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ และ “พี่รอง” อย่าง พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา ก็ปรากฏว่าหมดเวลาเสียก่อน จนทำให้ อดีต ส.ส.อนาคตใหม่ 4 คน ต้องยกขโยงออกมาอภิปรายไม่ไว้วางใจนอกสภา ทำให้รสชาติความเผ็ดร้อนหายไปแทบจะหมดสิ้น โดยเฉพาะเรื่อง “มูลนิธิป่ารอยต่อ” ที่นายรังสิมันต์ โรม เตรียมจะมาน็อก พล.อ.ประวิตร กลางสภา แต่สุดท้ายกลายเป็นว่าฝ่ายค้านต้องกลับไปเคลียร์ใจกันเอง และถึงแม้ว่าอดีตกรรมการบริหารพรรคอนาคตใหม่ จะจัดอภิปรายไม่ไว้วางใจนอกสภาโดยเปิดหัวได้น่าสนใจอย่างเรื่อง 1mdb แต่สุดท้ายเจอกระแสโควิด-19 ทำให้ทุกเรื่องต้องหยุดไว้ก่อน
2.การปรับ ครม.-ผลพวงสืบเนื่องจากการอภิปรายไม่ไว้วางใจ ที่แม้ว่าบรรดา “รัฐมนตรีสายล่อฟ้า” ทั้ง 5 คนจะได้เสียงจากสภาหนุนให้ไปต่อได้ แต่การส่งสัญญาณบางอย่างของพรรคร่วมรัฐบาล โดยเฉพาะ 17 ส.ส.ของพรรคประชาธิปัตย์ ที่เรียกร้องให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม ปรับภาพลักษณ์ ครม.ใหม่ ภายหลังการอภิปรายไม่ไว้วางใจ โดยเฉพาะรัฐมนตรีที่มีข้อครหาในอดีต
นอกจากนี้ ยังมีรายงานข่าวอีกว่า ตำแหน่ง รมต.ที่เล็งว่าจะมีการปรับนั้นไม่ใช่ตำแหน่งในโควตาของพรรคร่วม หมายความว่าตำแหน่งที่จะมีการปรับเปลี่ยนนั้น จะเป็นในส่วนของ พปชร. โดยเฉพาะ รมต. ในโควตาของ นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ทั้งนายอุตตม สาวนายน รมว.การคลัง นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รมว.พลังงาน หรือ นายสุวิทย์ เมษินทรีย์ รมว.อุดมศึกษา ท่ามกลางเสียงโอดโอยของประชาชนที่โอดโอยถึงปัญหาเศรษฐกิจที่ยังคงแก้ไม่ตก และนโยบายการแก้ไขปัญหาของรัฐบาล ที่กลายเป็นว่า “ไม่ตรงปก” จากที่ได้หาเสียงไว้ แต่กระแสดังกล่าวต้องหยุดชะงักลงจากการแพร่ระบาดเสียก่อน และต้องจับตาดูกันต่อไปว่า เมื่อปัญหานี้คลี่คลายแล้ว รมต.คนไหนจะไม่ได้ไปต่อใน ครม. ประยุทธ์ 2/2
3.การยุบ-เกิดใหม่ของพรรคอนาคตใหม่ หลายคนมองว่าการยุบพรรคอนาคตใหม่ อาจจะเป็น ”ฟางเส้นสุดท้าย” ที่ทำให้การเมืองไทยกลับมาบนท้องถนนอีกครั้ง ความเชื่อดังกล่าวถูกตอกย้ำให้มีความเป็นไปได้มากยิ่งขึ้นเมื่อบรรดานักศึกษาจากมหาวิทยาลัยแทบจะทั่วประเทศออกมาจัดแฟลชม็อบ และโจมตีการทำงานของรัฐบาล สอดคล้องกับคำประกาศของอดีตแกนนำพรรคอนาคตใหม่ ที่โดนตัดสิทธิทางการเมือง ว่า พวกเขาเตรียมจะรณรงค์ทางความคิดทั่วประเทศ ภายใต้ชื่อ “คณะก้าวหน้า” ขณะที่ในสภานั้นจะเป็นการนำของ นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ อดีต ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ เบอร์ 4 พรรคอนาคตใหม่ ที่ก้าวขึ้นมาเป็นผู้นำในสภาในนาม “พรรคก้าวไกล” แทน อย่างไรก็ตาม กระแสการเปิดตัวทั้ง 2 ทีม ดูเหมือนว่าจะไม่ค่อยเป็นที่สนใจจากสังคมนัก เพราะในช่วงเวลาดังกล่าว คนทั้งประเทศกำลังให้ความสนใจกับปัญหาไวรัสโควิด-19 นั่นเอง
4.การแสดงออกของนักศึกษา-กลายเป็นปรากฏการณ์ทางการเมืองนอกสภาที่ต้องยอมรับว่า หนึ่งในผลพวงที่ทำให้นักศึกษาเหล่านี้ออกมารวมตัวกัน นอกจากการบริหารของรัฐบาลที่พวกเขามองว่าเป็นปัญหาแล้ว การที่ศาลรัฐธรรมนูญตัดสินยุบพรรคอนาคตใหม่จากปมเงินกู้ 191 ล้านบาท ก็เป็นอีกเหตุผลสำคัญที่สร้างความไม่พอใจให้กับพวกเขาเหล่านี้ ซึ่งมีไม่น้อยที่การเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมา พวกเขากาเลือกพรรคอนาคตใหม่ และสิ่งที่เกิดขึ้นทำให้นักศึกษาเหล่านี้รู้สึกว่าสิ่งที่เกิดขึ้นนั้นเป็นเป็นความอยุติธรรมที่เกิดขึ้นข้ามหัวของพวกเขา
ภาพของนักศึกษาในแต่ละมหาวิทยาลัยออกมาชุมนุมแฟลชม็อบจำนวนมาก ทำให้หลายคนคิดย้อนไปถึงเหตุการณ์เดือนตุลา.ทั้งปี 16 และปี 19 รวมทั้งเหตุการณ์ในเดือนพฤษภาคมปี 35 แม้ผลลัพธ์ของทั้งสามเหตุการณ์จะต่างกัน แต่ทั้งหมดล้วนนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงในบั้นปลายทั้งสิ้น อย่างไรก็ตาม “กระแสของการเปลี่ยนแปลง” ในปี 2563 กลับถูกแช่แข็งเอาไว้ก่อนหลังจากไวรัสระบาด และก็ยังไม่รู้ว่าเมื่อเหตุการณ์กลับมาเป็นปกติ นักศึกษาเหล่านี้จะยังคงออกมาชุมนุมกันอีกในจำนวนที่ใกล้เคียงเดิมหรือไม่ เพราะตอนนี้ ประเด็นที่หลายฝ่ายเพ่งเล็งไม่ใช่การบริหารงานของรัฐบาลแล้ว แต่เป็นประเด็นเฉพาะหน้าอย่างการจัดการวิกฤติโควิด-19 แทน หากทำได้ดี เชื่อว่าน่าจะลดกระแสต่อต้านจากกลุ่มนักศึกษาเหล่านี้ลงไปได้บ้าง.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |