สภาพัฒน์ตั้งวงถกเอกชนเคาะแบ่ง 5 กลุ่มสรุปแนวทางเยียวยาภาคธุรกิจ เตรียมเสนอภาครัฐเร่งสรุปภายในสัปดาห์หน้า ห่วงหากลากยาว 2-3 เดือนกระทบคนตกงาน 10 ล้านคน ขอรัฐบาลออกคำสั่งปิดกิจการโรงแรม เพื่อให้ลูกจ้างได้รับเงินช่วยเหลือจากประกันสังคม
นายทศพร ศิริสัมพันธ์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หรือสภาพัฒน์ กล่าวภายหลังการประชุมคณะที่ปรึกษาด้านธุรกิจ ภาคเอกชน ในศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ว่า ที่ประชุมได้หารือเสนอข้อเสนอแนะจากภาคเอกชนในหลายเรื่อง ดังนั้นทาง สภาพัฒน์จึงขอให้คณะที่ปรึกษาฯ ที่เกี่ยวข้องจัดทําข้อเสนอประเด็นเฉพาะด้าน เพื่อเสนอที่ประชุมพิจารณาหารือในรายละเอียดในการประชุมครั้งต่อไปสัปดาห์หน้า
ทั้งนี้ โดยแบ่งเป็น 5 กลุ่ม และเมื่อได้ข้อสรุปจะเสนอเข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรีโดยเร็วที่สุดต่อไป การแบ่งกลุ่มที่ปรึกษา 5 กลุ่ม ประกอบด้วย 1.กลุ่มมาตรการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ (Soft loan) 2.กลุ่มมาตรการเพื่อการกลับมาเปิดธุรกิจใหม่จัดทำโดยหอการค้าไทย 3.กลุ่มมาตรการเพื่อธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) 4.กลุ่มมาตรการเพื่อภาคเกษตร ประกอบด้วย สภาเกษตรกรแห่งชาติ กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวง พาณิชย์ และ 5.กลุ่มมาตรการเพื่อการแก้ไขปัญหาด้วยดิจิทัล (Digital Solution)
ด้านนายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย กล่าวว่า การกู้เงินซอฟต์โลนของเอสเอ็มอียังมีเงื่อนไขไม่ชัดเจน ผู้ประกอบการต้องการให้บรรษัทประกันสินเชื่อขนาดกลางและขนาดย่อม (บสย.) เข้ามาค้ำประกันสินเชื่อ 80% ปรับลดค่าไฟฟ้า 5% ก็ยังไม่ได้ลดเงินสมทบประกันสังคมของนายจ้างจาก 4% เหลือ 1% เท่ากับลูกจ้าง เอกชนสามารถนำค่าใช้จ่ายสำหรับป้องกันโควิด-19 มาหักภาษีได้ 3 เท่า
นอกจากนี้ ขอให้รัฐบาลออกคำสั่งปิดกิจการโรงแรม เพื่อให้ลูกจ้างได้รับเงินช่วยเหลือจากประกันสังคม ขอให้ลดอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคลเอสเอ็มอี 2 ปี ขยายเวลาการส่งมอบงานจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐออกไป 4 เดือน และลดค่าจดจำนองโอนที่ดินเหลือ 0.01%
ส่วนสำคัญที่สุดที่ผู้ประกอบการต้องการให้รัฐบาลเร่งช่วยเหลือทันที ให้รัฐบาลเข้ามารับผิดชอบค่าจ้างแรงงานให้ผู้ประกอบการ 50% ของค่าจ้างขั้นต่ำ 15,000 บาท หรือให้รัฐช่วยจ่าย 7,500 บาทต่อเดือน ส่วนที่เหลือผู้ประกอบการจ่ายให้ 25% ให้นำไปหักภาษี 3 เท่า และลูกจ้างต้องยอมลดค่าจ้าง 25% เพื่อให้คงการจ้างงานประมาณ 10 ล้านคนต่อไปได้ รวมทั้งอนุญาตให้จ้างงานเหลือ 4 ชั่งโมงต่อวัน จาก 8 ชั่วโมงต่อวัน โดยไม่ผิดกฎหมาย
นายกลินท์ สารสิน ประธานสภาหอการค้าแห่งประเทศไทยกล่าวว่า เสนอให้บางธุรกิจบางกิจการกลับมาเปิดกิจการได้ การขนสินค้าสำคัญบางประเภทเพิ่มเติมที่ผ่านมารัฐบาลได้ผ่อนผันไปบ้างแล้ว ก็จะมีการศึกษาว่ามีธุรกิจใดบ้างที่จะเปิดได้เพิ่มเติม เช่น ห้างสรรพสินค้า, ร้านเสริมสวย ต้องดูวิธีการทำอย่างไร รวมทั้งปรึกษาหมอและศูนย์โควิดของรัฐบาลด้วย
ทั้งนี้ ยังขอให้รัฐบาลช่วยเรื่องภาษี กรณีที่นำผลขาดทุนไปเป็นรายจ่ายหักลดหย่อนภาษีได้ 5 ปี เป็น 7 ปี รวมถึงเวลาการบริจาคช่วยเหลือโควิดโดยไม่ต้องมีเพดานกำหนดว่านิติบุคคลห้ามเกิน 2% ของกำไร และบุคคลธรรมดาไม่เกิน 10% ของเงินได้
"ในส่วนของผู้ประกอบการประเมินว่าในช่วงนี้จะมีแรงงานภาพรวมทั้งหมดตกงาน 7 ล้านคน และหากสถานการณ์โควิดยืดเยื้อต่อไปอีก 2-3 เดือน โดยที่ไม่มีมาตรการดูแลผู้ประกอบการเพิ่มเติม จะทำให้มีคนตกงานเพิ่มเป็น 10 ล้านคน" นายกลินท์กล่าว
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ต่อจากนี้ สศช.จะได้ดําเนินการประมวลความต้องการจากทุกภาคส่วน รวมถึงการเปิดพื้นที่สาธารณะในการรับฟังความคิดเห็นผ่าน Facebook “ร่วมด้วยช่วยคิด” ซึ่งจะได้รวบรวม ประมวล และนําเสนอคณะรัฐมนตรีต่อไป โดยเรื่องใดดำเนินการเสร็จก่อนก็จะนำเสนอก่อน.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |