สงครามราคาน้ำมันระหว่างซาอุดีอาระเบียกับรัสเซียแผ่วลงแล้ว หลังจากพันตูกันมาตั้งแต่ต้นเดือนมีนาคม...อาจจะต้องขอบคุณโควิด-19 อีกเช่นกัน
เพราะวิกฤติโรคระบาดไวรัสสายพันธุ์ใหม่ทำให้เศรษฐกิจโลกชะงักงันกะทันหัน...ผลที่ตามมาคือการใช้น้ำมันทั่วโลกลดฮวบฮาบไม่น้อยกว่าหนึ่งในสาม
เฉพาะสายการบินที่ต้องหยุดทำการไปเกือบทั้งโลก นั่นก็ทำให้การใช้น้ำมันเพื่อการบินพาณิชย์หดหายไปทันตาเห็น
ไม่ต้องพูดถึงโรงงานที่หยุดเดินเครื่อง การสัญจรไปมาของผู้คนที่ลดลงอย่างฮวบฮาบ ล้วนมีผลทำให้การใช้น้ำมันหดตัวลงอย่างหนัก
การที่ยักษ์ใหญ่สองประเทศอย่างรัสเซียและซาอุฯ เปิดศึกแห่งส่วนแบ่งตลาด ด้วยการเพิ่มผลผลิตและตัดราคากันอย่างบ้าระห่ำย่อมมีผลกระทบต่อรายได้ของตนเองอย่างยิ่ง
แต่เพราะอัตตาและความดื้อรั้น ทำให้ต่างฝ่ายต่างไม่ยอมเจรจายุติศึกสงคราม
จนโดนัลด์ ทรัมป์แห่งสหรัฐฯ เดือดร้อน ต้องเล่นบทผู้ไกล่เกลี่ยอยู่หลายสัปดาห์กว่าที่วลาดิเมียร์ ปูติน และ MBS มกุฎราชกุมารแห่งซาอุฯ จะยอมลงจากหลังเสือ
อเมริกาปล่อยให้สงครามราคาน้ำมันยืดเยื้อไปกว่านี้ไม่ได้ เพราะเมื่อราคาน้ำมันทั่วโลกหดตัว น้ำมันของสหรัฐฯ ที่ผลิตจากชั้นหินหรือ shale oil ซึ่งมีต้นทุนการผลิตค่อนข้างสูงเมื่อเทียบกับน้ำมันดิบของกลุ่มโอเปกและรัสเซียก็จะแข่งขันไม่ได้
ข้อตกลงเมื่อวานนี้ถือว่าเป็นประวัติศาสตร์ เพราะกลุ่มโอเปกและพันธมิตรยอมลดการผลิตลงวันละ 9.7 ล้านบาร์เรล โดยมีผลตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคมปีนี้
การต่อรองเจรจาเป็นไปอย่างเข้มข้น แม้สองชาติหลักจะตกลงกันได้เมื่อวันพฤหัสฯ แต่เม็กซิโกซึ่งเป็นหนึ่งในประเทศผู้ผลิตน้ำมันไม่เล่นด้วยอยู่หลายวัน
อเมริกา, บราซิล และแคนาดาจะยอมลดการผลิตน้ำมันลง 3.7 ล้านบาร์เรล
สมาชิกกลุ่ม G-20 จะลดการผลิตอีก 1.3 ล้านบาร์เรล
บางประเทศที่ยอมลดการผลิตนั้นไม่ได้เกิดจากความสมัครใจเท่าไหร่นัก
แต่เป็นเพราะความจำเป็นบีบบังคับ อันเนื่องมาจากการบริโภคของโลกที่ลดลงอย่างมากอยู่แล้ว
เรียกว่าแม้จะไม่มีการต่อรองเจรจา ผู้ผลิตน้ำมันทั้งหลายก็กำลังกระอักเลือดเพราะประเทศผู้ซื้อลดปริมาณการสั่งลงอย่างมาก ทำให้ราคาในตลาดโลกดิ่งเหวอย่างน่ากลัว
จากราคาบาร์เรลละ 50-60 เหรียญสหรัฐฯ ร่วงลงมาต่อเนื่องหลายสัปดาห์จนเกือบจะแตะ 20 เหรียญฯ
รายได้ของหลายประเทศทั่วโลกหล่นหายไปขณะวิกฤติเศรษฐกิจอันเกิดจากโควิด-19 ยังอาละวาดไม่หยุดหย่อน
ทันทีที่มีข่าวว่าซาอุฯ กับรัสเซียยอมเลิกทำสงครามราคาน้ำมัน ราคาในตลาดล่วงหน้าก็พุ่งขึ้นประมาณ 7% แต่ก็ร่วงกลับลงมาในระดับใกล้ๆ จุดเดิม เพราะตลาดประเมินแล้วการบริโภคทั้งโลกจะไม่กระเตื้องขึ้นในอนาคตอันใกล้นี้
ผู้นำโลกไม่ว่าจะเป็นทรัมป์หรือปูตินจะเด็ดเดี่ยวและดุดันแค่ไหนก็ต้องแพ้ Covid-19
เพราะไวรัสตัวนี้เป็นผู้กำหนดว่าปริมาณการใช้น้ำมันจะขึ้นหรือลงมากน้อยเพียงใด
และปริมาณการใช้จริงๆ จะเป็นตัวกำหนดราคาของตลาดโลก
นักวิเคราะห์หลายสำนักบอกว่าแม้ข้อตกลงครั้งนี้จะเป็นเรื่องใหม่ ไม่เคยสามารถหาข้อสรุปได้อย่างนี้มาก่อน แต่เอาเข้าจริงๆ ทุกฝ่ายที่ร่วมในการเจรจาจะยอมลดปริมาณการผลิตของตนได้อย่างเป็นรูปธรรมหรือไม่ นั่นยังเป็นคำถามใหญ่
เม็กซิโกสามารถต่อรองจนไม่ต้องลดวันละ 400,000 บาร์เรลตามข้อเสนอเดิม ท้ายสุดก็ยอมให้ลดการผลิตเพียง 100,000 บาร์เรล
ทรัมป์ต้องทั้งขู่ทั้งปลอบผู้นำซาอุฯ ก่อนที่จะตกลงกันได้
ทรัมป์ขู่ผู้นำซาอุฯ ว่าถ้าตกลงกันไม่ได้ อเมริกาอาจต้องใช้มาตรการภาษีและการลงโทษด้านอื่นๆ ถ้าประเทศนั้นไม่ลดปริมาณน้ำมันที่เทใส่ตลาดโลก
ทรัมป์ต้องหาทางให้คู่กรณีในความขัดแย้งครั้งนี้ตกลงกันให้ได้ เพราะหาไม่แล้วอุตสาหกรรมน้ำมันของสหรัฐฯ เองจะตกที่นั่งลำบากมาก
เศรษฐกิจโลกกำลังเผชิญวิกฤติไวรัสหนักหนาสาหัสสากรรจ์อยู่แล้ว ถ้าหากวิกฤติราคาน้ำมันลากยาวออกไปด้วย โลกทั้งใบจะเข้าสู่หายนะแน่นอน
แต่อย่าเพิ่งวางใจ...เพราะข้อตกลงเป็นเพียงกระดาษ อีกสองสัปดาห์ก่อนที่สัญญา "สงบศึก" นี้จะมีผลบังคับใช้ จะมีใครเบี้ยวหรือแหกกฎอย่างไรยังต้องจับตากันต่อไป.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |