องค์กรต้านโกงบี้ ใช้'งบ'1.9ล้านล. ยุติธรรมโปร่งใส


เพิ่มเพื่อน    


         องค์กรต่อต้านโกงออกแถลงการณ์ เสนอให้รัฐบาลวางกรอบและกลไกตรวจสอบการใช้งบ 1.97 ล้านล้านบาท แก้วิกฤติโควิด-19 อย่างโปร่งใส ย้ำต้องไม่รั่วไหลตกหล่นสูญหายไปกับการคอร์รัปชัน 
         เมื่อวันที่ 12 เมษายน 2563 องค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) หรือ ACT ได้ออกแถลงการณ์เรื่อง การใช้งบ 1.97 ล้านล้านบาท เพื่อแก้วิกฤติโควิด-19 อย่าให้เป็นวิกฤติซ้อนวิกฤติ โดยในแถลงการณ์ระบุว่า     
       “ตามที่รัฐบาลมีนโยบายใช้งบประมาณ 1.97 ล้านล้านบาท เพื่อกอบกู้วิกฤติเศรษฐกิจและชีวิตความเป็นอยู่ที่ลำบากอย่างแสนสาหัสของคนไทยในทุกระดับ ที่เกิดจากการระบาดของไวรัสโควิด-19 อย่างเร่งด่วนนั้น องค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) ขอสนับสนุนและชื่นชมรัฐบาลในการทุ่มเททรัพยากรเพื่อให้สามารถแก้ปัญหาได้อย่างทันท่วงที และเป็นระบบ                                          
    อย่างไรก็ตาม องค์กรต่อต้านคอร์รัปชันฯ เห็นว่า งบประมาณจำนวนมหาศาลนี้ ไม่ว่าจะมาจากงบประมาณแผ่นดินหรือการกู้ยืม ก็เป็นเงินที่มาจากภาษีหรือเป็นภาระหนี้ที่ต้องจ่ายคืนด้วยภาษีของประชาชนทั้งสิ้น ดังนั้น เพื่อสร้างความมั่นใจกับประชาชนว่า เงินทุกบาททุกสตางค์จะถูกใช้ให้เกิดประโยชน์กับประชาชนเต็มที่  และถึงเป้าหมายตามวัตถุประสงค์ ไม่รั่วไหลตกหล่นสูญหายไปกับการคดโกง
    ในตอนท้าย องค์กรต่อต้านคอร์รัปชันฯ จึงขอเรียกร้องรัฐบาลให้กำหนดแนวทางการดำเนินงานและการเปิดเผยข้อมูลการใช้เงินต่อสาธารณะอย่างโปร่งใส มีการกำกับ ดูแล และกระบวนการตรวจสอบถ่วงดุลที่เหมาะสม และถือเป็นสัญญาประชาคมว่าหากมีการคอร์รัปชันเกิดขึ้น ทุกกรณีจะต้องถูกลงโทษอย่างเด็ดขาดรุนแรง เพื่อประโยชน์ของประชาชนคนไทยผู้เดือดร้อนทุกคน       
    "องค์กรต่อต้านคอร์รัปชันฯ พร้อมจะร่วมมือกับสังคมทุกภาคส่วน ทั้งรัฐบาล รัฐสภา องค์กรอิสระ หน่วยงานในกระบวนการยุติธรรม นักวิชาการ สื่อมวลชน และภาคประชาสังคม พร้อมกันนี้ขอเชิญชวนให้ประชาชนได้ร่วมกันติดตาม เสนอแนะ เพื่อให้การใช้จ่ายเงินครั้งใหญ่ที่สุดเท่าที่เคยมีมาให้เกิดประสิทธิภาพมากที่สุด ไม่ให้กลายเป็นวิกฤติซ้อนวิกฤติ ที่จะตอกย้ำความล่มสลาย แต่ให้เป็นจุดเริ่มต้นที่จะช่วยให้คนไทยทุกหมู่เหล่าได้มีโอกาสในการกอบกู้สร้างตนอีกครั้งหนึ่งอย่างแท้จริง”                 
    ด้านนายพิชัย นริพทะพันธุ์ อดีต รมว.พลังงาน กล่าวว่า ตามที่ได้เตือน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เรื่องการออก พ.ร.ก.ฉุกเฉิน อย่านำมาใช้เพื่อจัดการกับผู้ที่เห็นต่าง และรัฐบาลได้ส่งคนออกมาตอบโต้กับตน พร้อมทั้งยืนยันว่าจะไม่ทำอย่างเด็ดขาด แต่ยังไม่ทันไรรัฐบาลกลับส่งอีกคนออกมาข่มขู่ประชาชน โดยห้ามประชาชนโพสต์หมิ่นรัฐบาล มิเช่นนั้นจะโดนดำเนินคดีตามมาตรา 136 มีโทษขั้นสูงจำคุก 1 ปี หรือปรับ 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ เท่ากับเป็นการปิดปากประชาชนห้ามวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลใช่หรือไม่ ทั้งที่ตลอดเวลาที่ผ่านมารัฐบาลได้บริหารงานผิดพลาดมาโดยตลอด การวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลเป็นสิทธิของประชาชนที่จะทำได้ตามระบอบประชาธิปไตย ดังนั้นการข่มขู่ประชาชนจึงไม่ใช่สิ่งที่รัฐบาลควรจะทำ และสวนทางกับที่รัฐบาลได้เคยยืนยันไว้เอง
    นายพิชัยกล่าวต่อว่า นอกจากนี้ ยังมีการจะดำเนินคดีกับเพจแหม่มโพธิ์ดำ ทั้งที่เพจนี้เป็นคนเริ่มเปิดเผยการทุจริตและการกักตุนหน้ากากอนามัย แทนที่รัฐบาลจะต้องขอบคุณเพจแหม่มโพธิ์ดำนี้ ที่ช่วยเป็นหูเป็นตาสอดส่องการทุจริต และรัฐบาลควรจะต้องหาผู้กระทำผิดที่ทำให้หน้ากากอนามัย 200 ล้านชิ้นหายไปมาลงโทษ ซึ่งถึงตอนนี้ก็ยังหาผู้กระทำผิดไม่ได้ แต่กลับมาเอาผิดและดำเนินคดีกับเพจแหม่มโพธิ์ดำที่เปิดเผยการทุจริต เหมือนต้องการปิดปากไม่อยากให้มีการเปิดเผยการทุจริต นับเป็นเรื่องที่ประชาชนรับไม่ได้อย่างมาก
      รมว.พาณิชย์ยังได้แจ้งความดำเนินคดีกับคนที่เปิดเผยข้อมูลหน้ากากอนามัย 200 ล้านชิ้นที่หายไป โดยยังไม่ยอมเปิดเผยข้อมูลการส่งออกหน้ากากอนามัยและใบอนุญาตส่งออกหน้ากากอนามัยทั้งหมดตามที่ตนเรียกร้องแต่อย่างใด การอ้างว่าเป็นสิทธิตาม BOI หรืออ้างลิขสิทธิ์เพื่อส่งออกในภาวะวิกฤติ ไม่น่าจะใช่เหตุผล เพราะที่ไต้หวันเองก็สั่งห้ามส่งออกหน้ากากอนามัยทั้งหมดตั้งแต่ปลายปีที่แล้ว และล่าสุดสหรัฐก็สั่งห้ามบริษัท 3M ส่งหน้ากากอนามัย N95 ไปให้ประเทศอื่น นอกจากจะส่งใช้ในประเทศสหรัฐเท่านั้น เป็นต้น ซึ่งถ้าไม่มีการเปิดเผยเอกสารการอนุญาตส่งออกหน้ากากอนามัยออกมา ป่านนี้ก็น่าจะยังคงส่งออกกันอยู่ โดยเป็นห่วงว่าข้าราชการที่นำเอกสารนี้มาให้ตนเปิดเผยจะโดนเล่นงานเช่นกัน
      นายพิชัยกล่าวว่า แม้กระทั่งเรื่องการแจก 5,000 บาท ก็มีความพยายามที่จะดำเนินคดีกับผู้ที่เปิดเผยว่ามีคนได้รับทั้งที่มีฐานะดี แต่คนลำบากกลับไม่ได้รับ แทนที่จะไปแก้ไขระบบการจ่ายเงินที่อ้างว่าใช้ Ai กลั่นกรอง แต่กลับมีการแจกเงินอย่างผิดพลาดมาก การที่ประชาชนเปิดเผยอาจจะต้องการชี้ให้เห็นว่าระบบคัดกรองของรัฐบาลที่มีปัญหา ซึ่งรัฐบาลควรจะต้องนำไปปรับปรุงแก้ไขมากกว่าจะปิดปากคนเปิดเผย เพราะมีประชาชนที่ลำบากเป็นจำนวนมากที่ยังไม่ได้รับการช่วยเหลือ เพราะระบบคัดกรองของรัฐบาลไม่มีประสิทธิภาพ นอกจากนี้ยังมีการดำเนินคดีกับ ส.ส.พรรคก้าวไกล ที่ออกมาเปิดเผยการบริจาคเงินเข้ามูลนิธิป่ารอยต่อฯ ทั้งนี้ ก่อนหน้านี้ก็เคยถามรัฐบาลหลายครั้ง เรื่องข้อมูลที่ได้รับว่าบริษัทญี่ปุ่นหลายบริษัทที่ลงทุนในประเทศไทยถูกบังคับให้บริจาคเงินเข้ามูลนิธิเพื่อนำไปใช้หาเสียง ซึ่งรัฐบาลยังไม่เคยให้คำตอบในเรื่องนี้แต่อย่างใด โดยเรื่องนี้ทำให้นักลงทุนญี่ปุ่นเบื่อหน่ายและไม่อยากมาลงทุนในประเทศไทย
    นายพิชัยย้ำว่า รัฐบาลยังคงติดนิสัยการปิดปากประชาชนเพื่อปกปิดความผิดพลาดของรัฐบาล ซึ่งเป็นมาตั้งแต่ในอดีต หากจำกันได้ ขนาดนักศึกษาเดินทางไปอุทยานราชภักดิ์ยังถูกจับ คนอยากเลือกตั้งก็โดนฟ้อง เพจ CSI LA เปิดเผยเรื่องนาฬิกาก็โดนฟ้อง ขนาดวิจารณ์เศรษฐกิจที่ย่ำแย่ก็ยังถูกเรียกปรับทัศนคติและถูกฟ้อง ทั้งที่เศรษฐกิจไทยย่ำแย่มาตลอดตั้งแต่ก่อนมีการระบาดของไวรัสโควิด-19 แล้ว เป็นต้น
      รัฐบาลต้องเลิกแนวคิดที่จะปิดปากประชาชน และปิดกั้นการแสดงความคิดเห็นเหมือนในอดีตได้แล้ว และที่ผ่านมาการปิดกั้นความคิดเห็นกลับทำให้รัฐบาลบริหารงานได้อย่างย่ำแย่ ในหลายกรณีหากไม่มีเสียงท้วงติง รัฐบาลก็ยังคลำหาทางออกไม่เจอ และ เป็นห่วงว่าในอนาคตหากมีเรื่องการทุจริตในการอัดฉีดเงิน 1.9 ล้านล้านบาทที่รัฐบาลจะใช้ฟื้นเศรษฐกิจ ผู้เปิดเผยการทุจริตจะถูกดำเนินคดีอีกหรือไม่ และอาจจะไม่มีใครกล้าเปิดเผยเรื่องทุจริตอีก ทั้งนี้ การที่รัฐบาลใช้เงินจำนวนมหาศาลโอกาสจะเกิดการทุจริตก็เป็นไปได้สูง อีกทั้งอาจจะมีการใช้จ่ายเงินอย่างไม่มีประสิทธิภาพและอาจมีการเอื้อประโยชน์แก่คนบางกลุ่มด้วย.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"