ชี้ไทยห้ามการ์ดตก! 'ศบค.'เตือนแม้ผู้ป่วยลด สธ.โอดเหมือนริบอำนาจ


เพิ่มเพื่อน    


    นายกฯ ตรวจเยี่ยม รร.สถานที่กักตัว บอกคนไทยน่ารักจะตาย ขอบคุณ ปชช.ให้ความร่วมมือช่วงโควิดระบาด ย้ำหากไม่ปฏิบัติตามมาตรการจะกลับมาใช้ชีวิตปกติได้ยากขึ้น  โฆษก ศบค.เผยดีใจผู้ติดเชื้อใหม่ลดลงต่อเนื่องเป็น 33 ราย ปลุกคนไทยการ์ดห้ามตกเพราะรอบบ้านตัวเลขยังน่ากังวล เปิดสนามบินต้องดูสถานการณ์โลกประกอบ วอนอย่าว่าตนเลยเพราะต้องแถลงตามหน้าที่ สธ.เชิดชู อสม.ต่อสู้โควิดต่อช่วงสงกรานต์ มอบ 8 หมื่นกรมธรรม์ผู้ร่วมเฝ้าระวังกลุ่มเสี่ยง 14 วัน คำสั่ง "บิ๊กตู่" ยึดอำนาจจัดซื้อพัสดุเวชภัณฑ์ทำให้ สธ.โอดการจัดซื้อหยุดชะงัก  น้อยใจนายกฯ ไม่ไว้วางใจทั้งที่ทำงานเสี่ยงตาย
    เมื่อช่วงเช้าวันอาทิตย์ที่ 12 เมษายน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เข้าปฏิบัติหน้าที่ที่ทำเนียบรัฐบาล เพื่อติดตามงานและสถานการณ์  พร้อมทั้งกล่าวถึงสถานการณ์ทั่วไปหลังออกข้อกำหนดและขอความร่วมมือประชาชนงดกิจกรรมที่ต้องอยู่รวมกันเหมือนประเพณีสงกรานต์ที่ปฏิบัติสืบต่อกันมาและในปีนี้ขอให้เลื่อนออกไปก่อนว่า ขอบคุณประชาชนที่ให้ความร่วมมือกัน ช่วยเหลือกันอย่างดี ไม่กระทำการอะไรที่จะส่งผลให้เกิดการแพร่ระบาดไปสู่กลุ่มต่างๆ รับทราบสถิติการอยู่บ้านที่น่าพอใจ รวมไปถึงการปฏิบัติตัวภายในบ้านกันเองที่มีเด็กและผู้สูงอายุด้วย หลายครอบครัวได้มีแนวทางแสดงความเคารพผู้สูงอายุแทนการรดน้ำดำหัว ในรูปแบบที่ปลอดภัย สามารถแสดงความรักความห่วงใยได้อย่างเหมาะสมกับสถานการณ์ 
    “ที่สำคัญคือเจ้าหน้าที่ทหาร ตำรวจ พลเรือน และบุคลากรแพทย์และสาธารณสุข ที่ระดมสรรพกำลังร่วมกันปฏิบัติหน้าที่อย่างสุดกำลัง แม้เหน็ดเหนื่อยก็ไม่ย่อท้อ เพื่อให้พี่น้องประชาชนปลอดภัยทั้งจากเชื้อโควิดและความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินอื่นๆ ด้วย ในช่วงเวลานี้ หากเราละเลย ไม่ร่วมใจกันทำหน้าที่ของตัวเอง ช่วยเหลือกัน ทำตามแนวปฏิบัติ ข้อกำหนดและมาตรการอย่างเข้มข้น เราจะกลับมาใช้ชีวิตตามปกติที่เราเคยเป็น เคยทำ ได้ยากขึ้น และอาจไม่สามารถกลับมาดำรงชีวิตตามปกติอีกได้ และสิ่งที่เจ้าหน้าที่ทุกคนขอย้ำว่า ทุกคนที่ทุ่มเท ไม่เหน็ดเหนื่อย ไม่ย่อท้อ เพื่อรักษาทุกชีวิต และเป็นเหมือนการ์ดดูแลชีวิตพวกเราจากโรคร้ายนี้จะสูญเปล่าในทันที จึงขอให้ประชาชนช่วยกันแบบนี้ เข้มข้นแบบนี้ไปก่อน ความปลอดภัยของสุขภาพทุกคนขึ้นอยู่กับความร่วมมือและการปฏิบัติตนของทุกคน”
    นายกฯ กล่าวด้วยว่า จากการเดินทางไปตรวจเยี่ยมสถานที่ State Quarantine และออกตรวจการทำงานของด่านตรวจในช่วงเวลาเคอร์ฟิว มีความพอใจ และขอบคุณทุกคนที่ให้ความร่วมมือ และรับทราบข้อติดขัดและความต้องการของทั้งประชาชนและเจ้าหน้าที่ ซึ่งได้นำไปหารือ สั่งการ เพื่อแก้ไขโดยทันที เช่น การขออยู่ห้องละ 1 คนของผู้ที่ต้องกักกันสอบสวนโรค ที่ได้นำไปสู่การแก้ไขในบางสถานที่ได้แล้ว การย้ำให้เจ้าหน้าที่เข้มงวดตรวจตราในช่วงเคอร์ฟิวก็เช่นกัน 
    ช่วงบ่ายวันเดียวกัน พล.อ.ประยุทธ์เดินทางไปตรวจเยี่ยมการทำงานของเจ้าหน้าที่ที่สถานที่กักกันตัวเพื่อเฝ้าสังเกตอาการ (State Quarantine) ที่โรงแรม Elegant Airport Hotel ซึ่งเป็นไปด้วยความเรียบร้อย ยังมีห้องเหลือไว้รองรับผู้เข้าพักอยู่ ไม่มีปัญหาติดขัดอะไร ทุกคนให้ความร่วมมืออย่างดี พร้อมกันนี้นายกฯ ได้ทักทายประชาชนและทดลองตรวจวัดไข้ผู้ที่สัญจรผ่านด่านตรวจด้วยตัวเอง เมื่อเจ้าหน้าที่รายงานว่าประชาชนให้ความร่วมมือเป็นอย่างดี พล.อ.ประยุทธ์จึงกล่าวว่า “น่ารักจะตายไปคนไทย” เมื่อมีประชาชนบอกให้กำลังใจ พล.อ.ประยุทธ์จึงตอบกลับไปว่า “แต๊งกิ้ว”
    นางนฤมล ภิญโญสินวัฒน์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า นายกฯ ขอบคุณทุกภาคส่วน ไม่ว่าจะเป็นภาครัฐ ภาคเอกชน ประชาชน และจิตอาสาที่ให้ความร่วมมือปฏิบัติตามมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิดเป็นอย่างดี ทำให้จำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่มีจำนวนลดลงไปอย่างต่อเนื่อง แต่ขอให้ทุกคนอย่าชะล่าใจ เพราะเมื่อไหร่ที่ทุกคนไม่ให้ความร่วมมือ ไม่ปฏิบัติตามมาตรการป้องกัน จะกลายเป็นช่องโหว่ทำให้เชื้อไวรัสแพร่ระบาดติดต่อเพิ่มมากขึ้น จึงขอให้ทุกคนมีความอดทน รักษาวินัยอย่างเข้มแข็ง พร้อมเป็นกำลังใจให้เจ้าหน้าที่จิตอาสาที่ร่วมกันปฏิบัติหน้าที่อย่างขยันขันแข็ง และเป็นกำลังใจให้ประชาชนทุกคนมีกำลังใจร่วมต่อสู้วิกฤตินี้ไปด้วยกัน เนื่องในโอกาสช่วงเทศกาลสงกรานต์ ขออวยพรให้พี่น้องประชาชนทุกคนมีความสุข สุขภาพแข็งแรง ให้ความร่วมมืออยู่บ้าน หยุดเชื้อ เพื่อชาติ และเพื่อครอบครัว
ดีใจผู้ติดเชื้อใหม่ลดลงต่อเนื่อง
    เมื่อเวลา 11.30 น. ที่ทำเนียบรัฐบาล นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค. แถลงว่า สำหรับสถานการณ์ในประเทศไทย มีผู้ติดเชื้อรายใหม่ 33 ราย โดยในจำนวนนี้เป็นบุคลากรทางการแพทย์ 7 ราย สัมผัสผู้ป่วยยืนยันในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ 15 ราย และเจอในสถานที่กักตัวของรัฐใน จ.นราธิวาส ที่เดินทางกลับจากอินโดนีเซียอีก 2 ราย ป่วยสะสม 2,551 ราย ใน 68 จังหวัด หายป่วยสะสม 1,218 ราย เสียชีวิตเพิ่ม 3 ราย เสียชีวิตสะสม 38 ราย
    นพ.ทวีศิลป์กล่าวว่า ผู้เสียชีวิตรายที่ 36 เป็นชายไทย อายุ 74 ปี มีโรคประจำตัว เบาหวาน ไขมันในเลือดสูง มีประวัติไปตลาดนัด มีการรวมกลุ่มกันในบ้าน มีอาการป่วยตั้งแต่ 1 เม.ย. และเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลใน จ.นครศรีธรรมราช จากนั้นวันที่ 7 เม.ย. เข้ารักษาตัวอีกรอบ มีไข้สูง 39.4 เสียดท้อง ถ่ายสีดำเพราะมีเลือดออกในกระเพาะอาหาร ผลตรวจออกมายืนยันเป็นโควิด-19 ต่อมาในวันที่ 8 เม.ย. อาการแย่ลงเรื่อยๆ และเสียชีวิตในวันที่ 11 เม.ย., รายที่ 37 เป็นหญิงไทย อายุ 65 ปี มีโรคอ้วน ไขมันในเลือดสูง มีประวัติเดินทาง คือวันที่ 20-26 มี.ค. ไปเยี่ยมญาติที่ชุมพร ส่วนวันที่ 27-31 มี.ค. เริ่มมีอาการไข้ ไอ เหนื่อย เพลีย จากนั้น 1 เม.ย. เข้ารักษาตัวที่โรงพยาบาลใน จ.ชุมพร และ 2 เม.ย. มีอาการหอบมากขึ้น รู้สึกตัวลดลง จึงกลับมารักษาที่โรงพยาบาลเดิม รายนี้ถือว่าเข้ารับการรักษาตัวช้า แพทย์ต้องใช้เครื่องช่วยหายใจ ผลตรวจออกมาเป็นโควิด-19 อาการแย่ลงเรื่อยๆ จนเสียชีวิตในวันที่ 11 เม.ย., รายที่ 38 เป็นชายไทยอายุ 44 ปี ส่งตัวมาจากโรงพยาบาลเอกชนตั้งแต่ 28 มี.ค. มีอาการหนักตั้งแต่แรกรับ รักษาโดยใช้ยาหลายขนาน แพทย์พยายามดูแลทุกระบบในร่างกาย แต่อวัยวะล้มเหลวหลายส่วน ต้องล้างไตหลายครั้ง แต่ไม่ดีขึ้น และเสียชีวิตในเช้า 12 เม.ย.
    โฆษก ศบค.กล่าวว่า เมื่อเห็นตัวเลขผู้ติดเชื้อรายใหม่ 33 ราย รู้สึกดีใจมาก ถือเป็นข่าวดีในเทศกาลปีใหม่ไทยที่ตัวเลขค่อยๆ ลดลง แต่สถานการณ์ทั่วโลกยังไม่น่าสบายใจ อยากให้ติดตามต่อไป แม้สถานการณ์เราดีขึ้น แต่ประเทศต่างๆ และรอบข้างเรายังน่ากังวลอยู่ เพราะขณะนี้มีผู้ติดเชื้อทั่วโลก 1,780,314 ราย เสียชีวิต 108,827 ราย ทั้งนี้ ประเทศรอบข้างเราในกลุ่มอาเซียน ยังมีตัวเลขที่น่ากังวล โดยมาเลเซียมีผู้ติดเชื้อเพิ่ม 184 ราย, ฟิลิปปินส์ 233 ราย, สิงคโปร์ 191 ราย, อินโดนีเซีย 330 ราย ขณะที่ตัวเลขผู้เสียชีวิต สิงคโปร์ 8 ราย, อินโดนีเซีย 327 ราย, ฟิลิปปินส์ 247 ราย,  มาเลเซีย 73 ราย ส่วนประเทศใหญ่ๆ สหรัฐอเมริกา อังกฤษ ฝรั่งเศส ตัวเลขผู้ติดเชื้อยังพุ่งสูงอยู่ ส่วนฝั่งเอเชีย อินเดียและญี่ปุ่นมีผู้ป่วยรายใหม่พุ่งขึ้นสูงมากๆ ส่วนเกาหลีใต้กราฟผู้ติดเชื้อไม่สูง เรากับเกาหลีใต้อยู่ในระนาบเดียวกัน 
    “ที่มีคำถามว่าเราจะเปิดประเทศและสนามบินเมื่อไรนั้น จึงต้องดูกราฟเหล่านี้ประกอบการตัดสินใจด้วย จะดูแลคนในประเทศกับเศรษฐกิจอะไรต้องมาก่อนหลัง ตัวเลขเหล่านี้จะเป็นตัวบอก การ์ดเราจึงห้ามตก ภาษามวยใช้คำว่าต้องยกการ์ดเอาไว้อยู่ แม้จะดีใจทำคะแนนได้ดี 33 แต้ม แต่ต้องยืนระยะยาว เพราะมันไม่ได้หมดยกพรุ่งนี้มะรืนนี้ ดังนั้นเราต้องให้ความร่วมมือกับภาครัฐ 90 เปอร์เซ็นต์ และในระยะยาว” นพ.ทวีศิลป์กล่าว
ยันชี้แจงตามหน้าที่
    นพ.ทวีศิลป์กล่าวอีกว่า หากย้อนดูตัวเลขหลายๆ สัปดาห์ที่ผ่านมา จะเห็นว่าสิ้นสุดสัปดาห์ล่าสุดมีผู้ติดเชื้อรายใหม่ 383 ราย ถือเป็นตัวเลขที่ดีเยี่ยมมากๆ เมื่อเรานำตัวเลขดังกล่าวมาศึกษาพบว่าตั้งแต่ประกาศเคอร์ฟิวเมื่อวันที่ 3 เม.ย.จนถึง 11 เม.ย. เป็นระยะเวลา 9 วัน ตัวเลขผู้ติดเชื้อรายใหม่เราลดลงชัดเจน เนื่องจากเราควบคุมได้จากมาตรการต่างๆ ที่ออกมา และประชาชนให้ความร่วมมือ จึงเกิดผลแบบนี้ สำหรับผลการปฏิบัติงานของฝ่ายความมั่นคงในช่วงเคอร์ฟิวคืนวันที่ 11 เม.ย. ต่อเนื่องเช้าวันที่ 12 เม.ย. มีผู้ฝ่าฝืนออกจากเคหสถาน 926 คน ลดลงจากเมื่อวาน 139 คน ชุมนุม มั่วสุม 58 คน ลดลงจากเมื่อวาน 51 คน เป็นข้อมูลที่ชื่นใจ เพราะตัวเลขลดลง ซึ่งจะดีต่อสุขภาพท่านด้วย แต่ได้ข้อมูลเพิ่มเติมมาว่าความผิดส่วนใหญ่มีเรื่องดื่มสุราจำนวนมาก
    “เมื่อคืนวันที่ 11 เม.ย. นายกฯ ได้เดินทางไปให้กำลังใจเจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติงานในช่วงเคอร์ฟิว รับฟังปัญหาและดูสภาพที่แท้จริง อย่าว่าผมเลยว่าผมทำเกินหน้าที่ไปหรือเปล่า เพราะเป็นหน้าที่ของผมที่ต้องแจ้งให้ทราบว่าแต่ละศูนย์ใน ศบค.ทำอะไรบ้างและนายกฯ ในฐานะ ผอ.ศบค.ก็ทำภารกิจท่าน ทุกคนล้วนมีหน้าที่ ท่านก็ทำหน้าที่ของท่าน ผมก็ทำหน้าที่ของผม ย้ำว่าในฐานะโฆษกศบค. ต้องดูแลชุดข้อมูลที่มาจากศูนย์ต่างๆ ใน ศบค. ซึ่งมีศูนย์ย่อยหลายด้าน” นพ.ทวีศิลป์กล่าว
    ที่สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) นพ.ธเรศ กรัษนัยรวิวงศ์ อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ พร้อมเจ้าหน้าที่ ร่วมแถลงการรณรงค์การป้องกันการแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19  บทบาทของ อสม. ตามโครงการ “อสม.ร่วมใจ รณรงค์สงกรานต์ไทยปลอดภัยจากโควิด-19” และการร่วมมือกับเอกชนจัดระบบบริการรองรับประชาชน                
    โดย นพ.ธเรศกล่าวว่า เรามาถึงจุดนี้ด้วยความร่วมมือร่วมใจกัน อีกภาคส่วนที่มีความสำคัญคือ อสม. ที่ทั่วประเทศมีอยู่จำนวน 1,400,000 คน และในพื้นที่กรุงเทพฯ ที่มี อสม.อีก 15,000 คน ร่วมแรงร่วมใจเคาะประตูบ้าน สแกนกลุ่มเสี่ยง เยี่ยมให้ความรู้ความเข้าใจกลุ่มเสี่ยง ตั้งแต่ 2 มี.ค.-26 มี.ค. เคาะประตูไปแล้ว 3.3 ล้านหลังคาเรือน พบกลุ่มเสี่ยง 22,485 คน เป็นกลุ่มที่มาจากประเทศกลุ่มเสี่ยง ต่อมาเป็นคนที่เดินทางกลับจากกรุงเทพฯ ตั้งแต่ 27 มี.ค.-11 เม.ย. ได้ปรับโครงการ “14 วัน สแกนคนให้จบในพื้นที่” อสม.เคาะประตูบ้านเพิ่มอีก 8 ล้านหลังคาเรือน รวม 11.8 ล้านหลังคาเรือน พบกลุ่มเสี่ยงเฝ้าระวังกว่า 6 แสนคน พบว่าเดินทางมาทั้งจากต่างประเทศและกรุงเทพฯ และกลุ่มอื่นที่มาจากสนามมวย สถานบันเทิง และอื่นๆ อสม.สามารถติดตามได้ครบ 14 วัน กว่า 259,036 คน  
    “ทางรองนายกฯ อนุทิน ชาญวีรกูล และ ดร.สาธิต ปิตุเตชะ รมช.สธ. มอบให้กรมมอบขวัญกำลังใจให้กับ อสม. คือประสานกับหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ให้เจ้าหน้าที่ อสม.ที่มีคำสั่งร่วมเฝ้าระวังโรค ถ้าติดโรคสามารถใช้สิทธิได้ ถ้าเสียชีวิตจะได้รับการเยียวยา 4 แสน บาดเจ็บ 1 แสนบาท และล่าสุดมติ ครม.ให้ปรับเป็น 2 เท่า ล่าสุดรองนายกฯ ได้มอบให้กรมสนับสนุนฯ พูดคุยกับหลักประกันสุขภาพและ บ.ทิพยประกันภัยฯ สนับสนุน อสม.ที่ไปเฝ้าระวังกลุ่มเสี่ยง 14 วัน จำนวน 80,000 กรมธรรม์ ซึ่งสิทธิประโยชน์อยู่ระหว่างพูดคุยกัน” นพ.ธเรศกล่าว
    ด้าน นพ.โสภณ เอี่ยมศิริถาวร ผู้อำนวยการกองการโรคติดต่อทั่วไป กรมควบคุมโรค เผยว่า สถานการณ์ล่าสุดมีผู้ป่วยต่ำที่สุด ถือว่าการป้องกันมีผลดีระดับหนึ่ง แต่ไม่สามารถประมาทได้ เพราะโรคทางเดินหายใจติดต่อกันง่าย 33 คน ที่พบวันนี้ครึ่งหนึ่งเป็นผู้สัมผัสที่เฝ้าระวังอยู่ คำแนะนำเมื่อพบผู้ป่วยต้องรีบป้องกัน แม้ระยะแรกยังไม่ยืนยันผล ถ้ามีอาการไอแห้งๆ น้ำมูก จาม อาการน้อยๆ ต้องป้องกันด้วยการใส่หน้ากากอนามัย ยิ่งใกล้วันสงกรานต์ บางคนไปเยี่ยมญาติ ต้องใส่หน้ากาก เพราะผู้สูงอายุโอกาสป่วยตายสูง ต้องตระหนักถึงผู้สูงอายุ ส่วนบุคลากรทางการแพทย์ที่พบว่าติดเชื้ออยู่ เกิดขึ้นจากการปฏิบัติงาน 60 เปอร์เซ็นต์ และเหมือนประชาชนทั่วไป 20 เปอร์เซ็นต์ และการใช้ชีวิตประจำวันอีก 20 เปอร์เซ็นต์ แต่อย่างไรก็ตาม ปัญหาเรื่องอุปกรณ์ป้องกันคลี่คลายไปในทางที่ดีขึ้นแล้ว  
สธ.โอดนายกฯ ไม่ไว้วางใจ
     เมื่อถามว่าขณะนี้ไวรัสโควิดมีการกลายพันธุ์เป็น 3 สายพันธุ์ แล้วใช่หรือไม่ นพ.โสภณตอบว่า มีการวิจัยที่พบในไทยเป็นสายพันธุ์ย่อยคล้ายกับต่างประเทศ เพราะผู้ป่วยในไทยช่วงแรกมาจากต่างประเทศ และมาจากหลายทาง ทั้งจีน ยุโรป อเมริกา มีทั้งสายพันธุ์เอ 2 บี 1 และ บี 1.4 คล้ายกับที่พบต่างประเทศ เพราะมาจากหลายทิศทาง แต่ยังไม่มีข้อที่จะบอกระดับความรุนแรงมันต่างกัน เราต้องป้องกันรักษาติดตามต่อโดยใช้มาตรฐานเดียวกัน เพื่อให้ผู้ป่วยรอดชีวิตมากที่สุด
     ถามอีกว่า ไวรัสสามารถแพร่เชื้อทางน้ำได้หรือไม่ โดยเฉพาะถึงเทศกาลสงกรานต์แล้ว จะมีอันตรายหรือไม่ นพ.โสภณตอบว่า ปกติเชื้อไม่ชอบอยู่ในน้ำ แต่ถ้าเล่นสงกรานต์ที่ห่วงคือน้ำมูก น้ำลาย ส่วนน้ำที่ใช้ต้องสะอาดปลอดภัย และใส่หน้ากากอนามัยด้วย   
    พล.ท.คงชีพ ตันตระวาณิชย์ โฆษกกระทรวงกลาโหม (โฆษก กห.) เปิดเผยว่า พล.อ.ชัยชาญ ช้างมงคล รมช.กห. และ พล.อ.ณัฐ อินทรเจริญ ปลัด กห. ได้ประชุมร่วมกับเหล่าทัพ ณ ศาลาว่าการกลาโหม เพื่อติดตามการดำเนินงานของกองทัพในการสนับสนุน สธ. แก้ปัญหาโรคระบาดโควิด-19 โดยรับทราบรายงานความร่วมมือของกำลังพลทหารจากทุกเหล่าทัพที่เข้าร่วมบริจาคโลหิตให้กับสภากาชาดไทยไปแล้วปริมาณกว่า 1 ล้านมิลลิลิตร และมีแผนหมุนเวียนกำลังพลทหารจากทุกเหล่าทัพทั่วประเทศ ทยอยบริจาคโลหิตต่อเนื่องกันไป เพื่อลดภาวะการขาดแคลนโลหิตสำหรับผู้ป่วยทั่วประเทศในภาวะการระบาดของโรค
    นายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ รมว.ดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) เปิดเผยว่า ตามที่นายกรัฐมนตรีมอบหมายให้หน่วยงานต่างๆ สนับสนุนการปฏิบัติงานของบุคลากรทางการแพทย์อย่างเต็มที่เพื่อรับมือกับโรคโควิด-19 นั้น กระทรวงดีอีเอสได้รับมาดำเนินการหลายเรื่อง เช่น จัดส่งหน้ากากอนามัยให้แพทย์ พยาบาล และเจ้าหน้าที่ สนับสนุนการจัดทำแอปพลิเคชันช่วยแพทย์ตรวจสอบความเสี่ยงของผู้ป่วย และจัดเตรียมที่พักให้ฟรี เป็นต้น
    ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ภายหลัง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ลงนามในคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรี ที่ 9/2563 เรื่องแต่งตั้งคณะกรรมการเฉพาะกิจเกี่ยวกับการบริหารจัดการพัสดุสำหรับการป้องกัน ควบคุม หรือรักษาโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) จำนวน 33 คน เมื่อวันที่ 11 เม.ย.ที่ผ่านมา โดยสาระสำคัญให้คณะกรรมการชุดนี้ที่นายกฯ แต่งตั้งขึ้นตาม พ.ร
.ก.ฉุกเฉิน มีอำนาจกลั่นกรอง ควบคุม การบริการจัดการพัสดุและเวชภัณฑ์ หน้ากากอนามัย แทนการทำหน้าที่ของกระทรวงสาธารณสุข (สธ.)
    ล่าสุด แหล่งข่าวใน สธ.เปิดเผยว่า ขณะนี้การจัดซื้อพัสดุ เวชภัณฑ์ หน้ากากอนามัย ชุดป้องกันเชื้อไวรัส ชุดทดสอบ น้ำยา ฯลฯ เพื่อใช้ควบคุมโรคไวรัสโควิด-19 ในส่วนของ สธ.ได้หยุดชะงักทั้งหมด กระทบต่อการทำหน้าที่ของแพทย์และบุคลากรของกระทรวงสาธารณสุขในขณะนี้ ภายหลังมีคำสั่งดังกล่าวออกมา พร้อมทั้งยังได้สะท้อนความเห็นว่าคำสั่งนี้มีความลักลั่น เพราะคณะกรรมการทั้ง 33 คน มีหมอคนเดียวคือ นพ.รณภพ ปัทมะดิษ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีของนายวิษณุ เครืองาม รองนายกฯ ทำหน้าที่เลขานุการคณะกรรมการฯ ในขณะเดียวกันยังเป็นเจ้าของธุรกิจมหานครคลินิก และเชี่ยวชาญทางด้านผิวหนังเป็นอย่างยิ่ง
    “โดยไม่มีปลัด สธ. หัวหน้าฝ่ายสาธารณสุขของ ศบค. ไม่มีอธิบดีกรมควบคุมโรค ซึ่งเป็นหน่วยงานหลักทำหน้าที่ควบคุมการระบาดของเชื้อโรค และอธิบดีกรมการแพทย์ ซึ่งทำหน้าที่รักษาผู้ป่วย และอธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ร่วมเป็นคณะกรรมการด้วย”  
    แหล่งข่าวกล่าวว่า คณะกรรมการทั้ง 33 คนที่นายกฯ ตั้งขึ้นมาไม่มีใครมีองค์ความรู้และประสบการณ์การทำงานเกี่ยวกับโรคระบาด ทั้งที่โรคไวรัสโควิด-19 ถือว่าเป็นโรคอุบัติใหม่ที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนในประเทศไทยและในโลก แต่กลับตั้งคนเป็นหมอโรคผิวหนังไปนั่งเป็นเลขานุการฯ แม้จะบอกว่าให้มีผู้แทน อย. องค์การเภสัชกรรม กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ มาร่วมด้วยแล้ว แต่ก็ระบุให้เป็นระดับผู้แทน ไม่ได้กำหนดให้เป็นหัวหน้าหน่วยงาน และสุดท้ายการทำงานก็ต้องเรียกคนใน สธ.เข้าไปสอบถาม ทำให้เกิดความล่าช้า คำสั่งดังกล่าวจึงกระทบความรู้สึกของคนใน สธ. ที่ไม่ได้รับความไว้วางใจจากนายกฯ ทั้งที่ผ่านมาพวกเราทำงานหนักมาอย่างต่อเนื่อง และเสี่ยงเป็นเสี่ยงตาย.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"