ดูเหมือนว่าหลายองค์กรกำลังเร่งปรับกลยุทธ์ทางธุรกิจเพื่อรับมือกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 โดยเฉพาะเรื่องของการบริหารด้านการเงินและลดต้นทุนต่างๆ เห็นได้จาก PwC ที่ได้ทำผลสำรวจ COVID-19 CFO Pulse Survey ขึ้นเป็นครั้งที่ 2 โดยทำการสำรวจความคิดเห็นและมุมมองของประธานเจ้าหน้าที่บริหารฝ่ายผู้บริหาร ฝ่ายการเงินในสหรัฐและเม็กซิโก เกี่ยวกับความกังวลจากผลกระทบทางเศรษฐกิจและธุรกิจที่เกิดขึ้นจากการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ (โควิด-19) พบว่ามีความกังวลเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดย 87% ของซีเอฟโอมีความกังวลมากว่าจะส่งผลกระทบต่อการดำเนินธุรกิจ ขณะที่ 80% คาดว่าไวรัสโควิด-19 จะส่งผลให้รายได้หรือกำไรปีนี้ลดลง
โดย 85% ของซีเอฟโอระบุว่า ได้มีการดำเนินการทางการเงินอันเป็นผลมาจากวิกฤติโควิด-19 โดยเน้นใช้มาตรการควบคุมต้นทุนคิดเป็น 67% และชะลอหรือยกเลิกแผนการลงทุนออกไปก่อน 58% นอกจากนี้ยังใช้กลยุทธ์ด้านอื่นๆ เช่น ทบทวนค่าใช้จ่ายด้านสิ่งอำนวยความสะดวก ค่าใช้จ่ายด้านการลงทุนเพื่อสินทรัพย์ทั่วไป รวมถึงค่าใช้จ่ายด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและบุคลากรอีกด้วย
นายทิม ไรอัน ประธานและหุ้นส่วนอาวุโส PwC สหรัฐอเมริกา กล่าวว่า ผู้นำธุรกิจเข้าใจว่าเป้าหมายขององค์กรก่อนเกิดวิกฤติไม่ใช่เรื่องสำคัญอีกต่อไป เพราะในเวลานี้ความสำคัญอันดับแรกคือ การนำพาองค์กรและพนักงานให้ผ่านสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่กำลังขยายวงกว้างไปให้ได้ โดยมีเพียง 16% ของซีเอฟโอที่ทำการสำรวจเท่านั้นที่พิจารณาแผนการเลิกจ้างในเดือนเมษายน ในทางตรงกันข้ามยังคงมุ่งเน้นไปที่การปกป้องสินทรัพย์ที่สำคัญที่สุด ซึ่งนั่นก็คือพนักงานและวิถีชีวิตความเป็นอยู่ ซึ่งนี่จะช่วยสนับสนุนเศรษฐกิจให้ฟื้นตัวกลับคืนมาโดยเร็ว
แม้ว่า 84% ของผู้บริหารทางการเงินจะมีความกังวลต่อภาวะเศรษฐกิจถดถอยทั่วโลกที่ใกล้เข้ามาทุกขณะ แต่ผู้ถูกสำรวจส่วนใหญ่ 76% ยังเชื่อมั่นว่าธุรกิจของตนจะสามารถกลับเข้าสู่ภาวะปกติได้ภายใน 3 เดือน หากสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 สิ้นสุดลง ส่วนผลกระทบที่มีต่อกลยุทธ์การควบรวมและซื้อกิจการนั้น ยังคงมีความไม่ชัดเจนในขณะนี้ โดยผู้บริหารทางการเงินส่วนใหญ่ยังคงประเมินสถานการณ์ หรือยังไม่เปลี่ยนแปลงแผนการดังกล่าว ซึ่ง 13% ของซีเอฟโอระบุว่า ยังคงมองหาโอกาสในการควบรวมและซื้อกิจการมากขึ้น
นายนิพันธ์ ศรีสุขุมบวรชัย หัวหน้ากลุ่มลูกค้าธุรกิจครอบครัว และหุ้นส่วนสายงานภาษีและกฎหมาย บริษัท PwC ประเทศไทย กล่าวว่า สำหรับผลสำรวจความคิดเห็นของซีเอฟโอครั้งที่ 2 นี้ยังได้จัดทำผลสำรวจฉบับอาณาเขตต่างๆ นอกเหนือไปจากสหรัฐและเม็กซิโก ซึ่งได้ทำการสอบถามมุมมองความคิดเห็นของซีเอฟโออีก 153 รายใน 8 อาณาเขตและประเทศอื่นทั่วโลก ประกอบด้วย บาห์เรน เนเธอร์แลนด์ ฟิลิปปินส์ โปรตุเกส กาตาร์ สวิตเซอร์แลนด์ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ และไทย พบว่า 82% ของซีเอฟโอในประเทศเหล่านี้มีความกังวลว่าการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 จะส่งผลกระทบต่อธุรกิจของพวกเขาอย่างมีนัยสำคัญ เปรียบเทียบกับ 87% ของซีเอฟโอในสหรัฐและเม็กซิโก ขณะที่เกือบ 1 ใน 3 หรือ 32% คาดว่ามีแผนเลิกจ้างพนักงาน ซึ่งถือเป็นเปอร์เซ็นต์ที่สูงกว่าสหรัฐและเม็กซิโกถึงเท่าตัว
ในส่วนของความกังวลสูงสุด 3 อันดับแรกจากผลกระทบวิกฤตโควิด-19 นั้น ซีเอฟโอในประเทศเหล่านี้มองว่า ภาวะเศรษฐกิจโลกถดถอยเป็นความกังวลอันดับแรก 67% ตามมาด้วยอันดับที่ 2 ผลกระทบทางการเงิน ซึ่งรวมถึงผลกระทบต่อการปฏิบัติงานในอนาคต สภาพคล่อง และแหล่งเงินทุน 61% และอันดับที่ 3 ผลกระทบต่อกำลังแรงงานและการลดลงของประสิทธิภาพการผลิต 44% แต่อย่างไรก็ดี ซีเอฟโอในประเทศเหล่านี้ส่วนใหญ่ 75% มั่นใจว่าธุรกิจของตนจะสามารถกลับเข้าสู่ภาวะปกติได้ภายใน 3 เดือน หากสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 สิ้นสุดลง
แน่นอนว่า ธุรกิจไทยกำลังเผชิญกับความท้าทายที่ยิ่งใหญ่ไม่แตกต่างจากธุรกิจทั่วโลก ซึ่งแม้จะเป็นเรื่องยากลำบากในการประคับประคองธุรกิจในสถานการณ์ที่ซัพพลายเชนตึงตัว ท่ามกลางกำลังซื้อที่ค่อยๆ หดหายตามการว่างงานที่เพิ่มขึ้น แต่ทุกองค์กรก็ทำงานอย่างดีที่สุดในการปรับกลยุทธ์ในทุกๆ มิติเพื่อรับมือสถานการณ์ที่คาดเดาได้ยากในเวลานี้ สำหรับธุรกิจไทย สิ่งแรกที่ต้องทำคือ จัดทำแผนบริหารความเสี่ยงในภาวะวิกฤติ สำรวจและประเมินสภาพคล่องในการดำเนินธุรกิจ และวางแผนบริหารจัดการต้นทุนทั้งในระยะสั้นถึงระยะกลาง และที่สำคัญที่สุด ดูแลพนักงานของตัวเองเพื่อให้พวกเขามั่นใจว่าจะได้รับการปกป้องและจะผ่านพ้นจากภาวะวิกฤติไปพร้อมๆ กับองค์กร.
รุ่งนภา สารพิน
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |