12 เม.ย.63 - ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รองอธิการบดี ม.รังสิต ภาคีสมาชิกราชบัณฑิตยสภา เขียนบทความบนเฟซบุ๊กในหัวเรื่อง วิกฤตโควิด กับเศรษฐกิจพอเพียง มีเนื้อหาดังนี้
เมื่อคราววิกฤตต้มยำกุ้ง ปี 2540 เราได้เห็นความสำคัญของชนบทและภาคเกษตร ที่รองรับคนว่างงานจากภาคอุตสาหกรรมและภาคบริการ ความลำบากในยามนั้น ทำให้เราคิดกันได้ว่า เงินทองนั้นเป็นเพียง “มายา” ข้าวปลาอาหารต่างๆ คือ “ของจริง” แม้อยาก “ทันโลก” อยาก “รุ่งเรือง” ปานใด ก็จะทิ้งภาคเกษตร-อาหารไม่ได้
วิกฤตโควิด-19 เที่ยวนี้ ก็ทำให้เราได้เห็นความสำคัญของความ “พอเพียง” อีกครั้งหนึ่ง ในแง่ที่จะอาศัยแต่ตลาดโดยเฉพาะตลาดโลกมาจัดหาหยูกยา วัคซีน วัสดุ อุปกรณ์ และเครื่องมือทางการแพทย์ ไม่ได้ ในยามที่วิกฤตเกิดทั้งโลกนั้น ถึงเรามีเงิน เขาก็ต้องเก็บ”ของ” ไว้ใช้เอง ไม่ยอมขายเรา เงินทองเป็น “มายา” อีกรอบ “หยูกยา” ต่างหากคือ “ของจริง”
สักวันสองวันที่ผ่านมานี้ ก็มีข่าวดีว่ากองทัพเรือประดิษฐ์ห้องความดันต่ำสำหรับผู้ป่วยโควิด-19 ได้ เป็นแบบง่ายๆ อาศัยประสบการณ์ของทหารเรือในการทำอุปกรณ์ดำน้ำ ผมลองคุยกับหมอๆ ทั้งหลายดู ไม่แน่ใจนะครับว่า เขาจะยอมใช้ “ของใน” กันแทน ”ของนอก” ง่ายๆ ไหม
ก็ด้วยธรรมชาติเดิม นั่นแหละ แทนที่จะพากันตื่นเต้น และวางแผนให้เกิดห้องความดันต่ำแบบ “เมด อิน ไทยแลนด์” ให้จงได้ แพงหน่อยก็ต้องทำ รัฐต้องวางแผนสนับสนุน แม้ไม่ดีหน่อย เราก็ให้โอกาส ให้ปรับปรุงกันไป ทำให้การแพทย์-สาธารณสุขของไทยไม่เพียงจะ “ทันสมัย” หรือ “เก่งระดับโลก” อย่างที่คุยกันอยู่ แต่ยังจะ ”พอเพียง-พึ่งตนเอง” ได้มากขึ้น ด้วย แน่นอน ครับ เราย่อมไม่ปิดกั้นการเอาต่างชาติมาร่วมทำร่วมลงทุน เพียงเราต้องเป็นหุ้นใหญ่ และผลิตใช้ในประเทศเป็นสำคัญ ในยามคับขัน ก็ห้าม “ส่งออก” ได้ และ เรานั้นไม่ปฏิเสธ “ ตลาด” แต่ก็ไม่อาศัยแต่เพียง “ตลาด” และระบบ “โลกาภิวัตน์” มาจัดหาหรือจัดสร้างเครื่องมือและอุปกรณ์การแพทย์-สาธารณสุขที่สำคัญ
ก่อนหน้าเรื่องนี้ ก็มีอีกเรื่องหนึ่ง คือ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าลาดกระบัง ผลิตเครื่องช่วยหายใจแบบง่ายๆ ขึ้นมาได้ มีคนชื่นชมและให้กำลังใจมากมาย แต่ก็มีคุณหมอจำนวนหนึ่ง ทั้งที่ยังไม่เห็นเครื่อง ก็อดเป็นห่วงก่อนว่ามาตรฐานอาจจะไม่ถึง ช่วยชีวิตไม่ได้จริง ครับ หากคิดแบบเดิม คุณหมอ และพยาบาล ย่อมไม่ค่อยอยากลอง เพราะ ยัง”สู้ของนอกไม่ได้”
เรามีวิศวกร ช่างฝีมือ นักประดิษฐ์ที่มีความสามารถไม่น้อย วิกฤตโควิดแทบทั้งโลกเช่นนี้ รัฐบาลและสังคมต้องเปลี่ยนหลักคิด พลิกวิกฤตมาเป็นโอกาส เวลานี้เห็นชัดแล้วว่าเราอยู่แถวหน้าของโลกทางอาหารและทางแพทย์-สาธารณสุข อีกในไม่กี่เดือนข้างหน้านี้ อาหารรวมทั้งข้าวจะแพง หายากกันทั้งโลก ถ้าเราทำเป็น ทำทัน อย่าจมอยู่กับไวรัสอย่างเดียว เร่งทำการเพาะปลูก จะมีรายได้มหาศาลกัน แต่อย่าลืม: คนไทยเองต้องมีอาหารพอเพียงด้วย ขณะเดียวกัน ได้เห็นแล้วว่าการแพทย์-สาธารณสุขของเรานั้นดีจริง แต่ต้องเปลี่ยนให้ “พึ่งตนเอง” ให้ได้มากขึ้น
สุดท้าย ภาคท่องเที่ยว ที่เคยทำรายได้ให้ประเทศมากมายนั้น ก็ต้องฟื้นขึ้นมา อย่าปล่อยให้ฟุบอยู่นานเกินไป เฉพาะหน้านี้ อาจทำ “ท่องเที่ยวเชิงสุขอนามัย” เป็นที่กักเก็บตัวคนชั้นกลางชั้นสูงทั่วโลก โดยชี้ให้โลกเห็นว่า นักท่องเที่ยวเหล่านั้น อยู่กับระบบการแพทย์และสุขอนามัยที่ดีในระดับโลก
ทั้งหมดนี้มีรายละเอียด ซึ่งต้องคิดกันต่อไป ฝรั่งมักจะพูดว่าถ้าจะตามหา “พระเจ้า” มาช่วยทำเรื่องแสนยากแสนยุ่งให้เกิดขึ้นได้นั้น จะไปหาท่านได้ที่ไหน คำตอบ: ท่านสถิตย์อยู่ในสิ่งที่เรียกว่า “รายละเอียด” ไง ครับ ช่วยกันคิดต่อไปด้วยนะครับ
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |