ห้องแล็บอวกาศ "เทียนกง 1" ของจีนที่หยุดทำงานและสูญเสียการควบคุม กลับคืนสู่โลกแล้วเมื่อเช้าวันจันทร์ตามเวลาไทย โดยเผาไหม้เกือบหมด ชิ้นส่วนที่เหลือพุ่งลงสู่มหาสมุทรแปซิฟิกตอนใต้ใกล้กับสุสานขยะอวกาศ
เทียนกง 1 มองเห็นเป็นรูปเป็นร่างบนจอเรดาร์ของสถาบันฟรอนโฮเฟอร์ด้านเทคนิคเรดาร์และฟิสิกส์ความถี่สูงในเยอรมนี เครดิตภาพ Fraunhofer Institute FHR
เอเอฟพีรายงานอ้างคำแถลงของสำนักงานวิศวกรรมอวกาศที่มีมนุษย์ควบคุมของจีนเมื่อวันจันทร์ที่ 2 เมษายน 2561 ว่าห้องปฏิบัติการทดลองอวกาศ "เทียนกง 1" โดนเผาไหม้เป็นส่วนใหญ่เมื่อมันพุ่งผ่านชั้นบรรยากาศโลกเหนือมหาสมุทรแปซิฟิกเมื่อเวลา 08.15 น. ของวันจันทร์ตามเวลาปักกิ่ง ซึ่งตรงกับ 07.15 น.ของไทย แล้วตกลงใกล้กับสุสานขยะอวกาศก้นมหาสมุทรแปซิฟิกตอนใต้ แต่ยังไม่มีข้อมูลยืนยันได้ว่าชิ้นส่วนที่หลงเหลือนั้นอยู่ ณ จุดใด
"ชิ้นส่วนส่วนใหญ่ถูกเผาไหม้สลายตัวไป" เกิ้งซวง โฆษกกระทรวงการต่างประเทศของจีนกล่าวกับผู้สื่อข่าวที่กรุงปักกิ่ง และว่า จีนได้แจ้งสถานการณ์ต่อหน่วยงานด้านอวกาศขององค์การสหประชาชาติแล้ว "เท่าที่ข้าพเจ้าทราบ เราไม่พบว่าเกิดอันตรายใดๆ ต่อพื้นผิวของโลก"
แล็บอวกาศ "วังสวรรค์" ที่มีน้ำหนักราว 8 ตันลำนี้ ถูกส่งขึ้นสู่วงโคจรเมื่อเดือนกันยายน 2555 เพื่อใช้ทดสอบเตรียมความพร้อมสำหรับการสร้างสถานีอวกาศของจีนเองภายในปี 2565 แรกเริ่มนั้นจีนกำหนดใช้งานแล็บอวกาศลำนี้ 2 ปี ที่เทียนกง 1 ยังใช้การได้หลายปีหลังจากนั้นกระทั่งมันหยุดทำงานลงเมื่อปี 2559
นักบินอวกาศของจีนหลายคนขึ้นไปปฏิบัติหน้าที่บนแล็บอวกาศแห่งนี้หลายครั้ง ทั้งทำการทดลอง ฝึกการเทียบยาน หรือแม้แต่สอนหนังสือจากอวกาศถ่ายทอดไปยังโรงเรียนทั่วประเทศจีน
จรวดลองมาร์ช 2 เอฟ ของจีนนำโมดูลเทียนกง 1 ทะยานขึ้นจากฐานปล่อยเมื่อวันที่ 29 กันยายน 2554 แฟ้มภาพ AFP
เจ้าหน้าที่ด้านอวกาศของจีนกล่าวกันว่า การกลับเข้าสู่ชั้นบรรยากาศโลกของแล็บอวกาศที่มีความยาว 10.4 เมตรลำนี้จะแตกระเบิดเป็นลูกไฟอันเจิดจรัสเหมือนกับฝนดาวตก แต่การตกในดินแดนไกลโพ้นน่าจะทำให้ผู้ที่เฝ้ารอชมอดเห็นภาพอันน่าตื่นตาตื่นใจ
โจนาธาน แม็กดาวล์ นักดาราศาสตร์จากศูนย์ดาราฟิสิกส์ฮาร์วาร์ด-สมิธโซเนียน กล่าวกับเอเอฟพีว่า โมดูลอวกาศลำนี้พุ่งผ่านกรุงเปียงยางของเกาหลีเหนือและนครเกียวโตของญี่ปุ่นในช่วงรุ่งอรุณ จึงลดทอนโอกาสที่ชาวโลกจะได้เห็นมันก่อนจะตกสู่มหาสมุทรแปซิฟิก แต่ก็ถือว่าโชคดีที่มันไม่ได้สร้างความเสียหายใดๆ
เจ้าหน้าที่ของหน่วยงานด้านอวกาศเคยกล่าวเตือนไว้ก่อนหน้านี้ว่า เป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้ที่จะรู้จุดที่แน่นอนว่าโมดูลนี้จะเข้าสู่ชั้นบรรยากาศ ณ บริเวณใด จนกว่าใกล้ถึงช่วงเวลานั้นจริงๆ ความยากในการคาดคะเนนี้ทำให้นักวิทยาศาสตร์ด้านอวกาศของจีนทำนายพลาดในเวลาไม่นานก่อนที่เทียนกง 1 จะตกสู่แปซิฟิก โดยพวกเขาประกาศว่า แล็บอวกาศลำนี้จะเข้าสู่ชั้นบรรยากาศโลกเหนือนครเซาเปาลูของบราซิล และตกลงสู่มหาสมุทรแอตแลนติก
เครือข่ายเรดาร์และเซ็นเซอร์ของกองทัพสหรัฐยืนยันเช่นกันว่า เทียนกง 1 เข้าสู่ชั้้นบรรยากาศโลกเหนือมหาสมุทรแปซิฟิก ตามคำแถลงของกองบัญชาการผสมด้านอวกาศร่วมของสหรัฐ แต่ยังเป็นการยืนยันช้ากว่าการประเมินของทางการจีน 1 นาที
องค์การอวกาศแห่งยุโรป (อีซา) เคยกล่าวถึงความเป็นไปได้ที่คนบนพื้นโลกจะโดนเศษชิ้นส่วนจากเทียนกง 1 ตกใส่ว่า มีโอกาส "น้อยกว่าโอกาสที่จะโดนฟ้าผ่าในแต่ละปีถึง 10 ล้านเท่า"
เดิมนั้น เทียนกง 1 จะถูกกำหนดให้กลับเข้าสู่ชั้นบรรยากาศด้วยการควบคุมจากพื้นโลก แต่อีซากล่าวว่า ภายหลังมันหยุดทำงานเมื่อเดือนมีนาคม 2559 ทำให้ศูนย์ควบคุมจากภาคพื้นดินไม่สามารถสั่งการให้เครื่องยนต์จุดระเบิดได้ จึงไม่สามารถกำหนดได้ว่าโมดูลนี้จะกลับสู่ชั้นบรรยากาศที่ใด
ต่างจากกรณีของสถานีอวกาศเมียร์ของรัสเซีย ที่รัสเซียบังคับให้มันกลับสู่ชั้นบรรยากาศโลกเหนือมหาสมุทรแปซิฟิกเมื่อปี 2544.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |