ไม่ต้องเดินทางไกลข้ามน้ำข้ามทะเล ชาวกรุงเทพฯ ก็สามารถเรียนรู้วัฒนธรรมจากชาติต่างๆ ได้จากชุมชนชาว ต่างชาติที่กระจายทั่วทั้งกรุงเทพมหานคร ซึ่งได้เข้ามาพึ่งพาอาศัยภายใต้ร่มพระบารมีของพระมหากษัตริย์ไทยตั้งแต่อดีตตราบจนทุกวันนี้ นอกจากมีประวัติศาสตร์น่าสนใจแล้ว ยังมีเสน่ห์น่าเยี่ยมเยือน ถ่ายรูปกับชุมชนเก่า และชิมอาหารอร่อยที่สืบทอดมาแต่โบราณอีกด้วย
ในวาระครบรอบ 238 ปี กรุงรัตนโกสินทร์ การเรียนรู้ความหลากหลาย และเข้าใจประวัติศาสตร์การตั้งถิ่นฐานของชุมชนชาติพันธุ์ในกรุงรัตนโกสินทร์ เนื่องในโอกาสพิเศษนี้มีประโยชน์ต่อการอยู่ร่วมกันอย่างสงบสุข เพราะกรุงรัตนโกสินทร์ยังมีกลุ่มคนเชื้อชาติต่างๆ ที่มีส่วนในสร้างบ้านแปลงเมือง เช่น ชาวจีน แขก มอญ ญวน ลาว เวียดนาม และอีกมากมาย
ความหลากหลายทางชาติพันธุ์ยังมาจากชุมชนใหม่ที่เพิ่งเกิดขึ้นมาไม่นาน ทั้งชุมชนชาวญี่ปุ่น เกาหลี แต่ละชุนชมล้วนมีวิถีการดำรงชีวิตที่เป็นเอกลักษณ์ของตนเอง อยู่ร่วมกันตั้งแต่ยุคต้นกรุงรัตนโกสินทร์ ผ่านกระบวนการสืบทอดและพัฒนามาอย่างยาวนาน กลายเป็นชุมชนสำคัญที่มีความเข้มแข็งทางวัฒนธรรมสูง และเป็นที่รู้จักของคนไทย เช่น ชุมชนเยาวราช หรือไชน่าทาวน์เมืองไทย ย่านเก่าที่เต็มไปด้วยเรื่องราวทางประวัติศาสตร์อันยาวนาน
หวนกลับไปเมื่อพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช รัชกาลที่ 1 ทรงตั้งกรุงรัตนโกสินทร์เป็นราชธานีแห่งใหม่ โปรดเกล้าฯ ให้ชาวจีน ซึ่งอาศัยในพื้นที่รอบพระบรมมหาราชวัง ย้ายไปสร้างบ้านเรือนย่านสำเพ็ง บ้านของชาวจีนเหล่านี้ นอกจากเป็นที่พักอาศัย ยังถูกใช้เป็นร้านรวงค้าขายสินค้านานาชนิด จนกระทั่ง พ.ศ.2434 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯ ให้สร้างถนนเยาวราช หรือถนนสายมังกรจนกลายเป็นสัญลักษณ์ย่านชุมชนของชาวจีนที่ประกอบธุรกิจการค้าสำคัญที่มีพัฒนาการมาจนถึงวันนี้
ในประวัติศาสตร์ชุมชนชาวไทยเชื้อสายจีนย่านสำเพ็งตลอดจนถึงเยาวราช มีโอกาสเฝ้าฯ รับเสด็จชื่นชมพระบารมีในหลวงรัชกาลที่ 8 และในหลวงรัชกาลที่ 9 ล้นเกล้าทั้งสองพระองค์ ทรงห่วงใยพสกนิกรทุกหมู่เหล่า ตรัสถามสารทุกข์สุขดิบโดยไม่ถือพระองค์ และความปีติยินดีของกลุ่มคนไทยเชื้อสายจีนเกิดขึ้นอีกครั้งเมื่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 10 และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี เสด็จพระราชดำเนินไปทรงเยี่ยมชาวไทยเชื้อสายจีนย่านเยาวราชและสำเพ็ง เมื่อวันที่ 6 ธันวาคม 2562 ที่ผ่านมา นับเป็นประวัติศาสตร์ที่ต้องจารึกในรอบ 73 ปี ที่ พระมหากษัตริย์ไทยทรงเยือนถนนมังกรชุมชนเยาวราช ด้วยพระมหากรุณาธิคุณของพระมหากษัตริย์ไทยทำให้คนจีนที่อพยพมาอยู่ประเทศไทยมีความรัก ความสามัคคี และน้อมรำลึกถึงสมเด็จพระบูรพมหากษัตริยาธิราชเจ้า ในราชวงศ์จักรีทุกพระองค์
ตลอด 238 ปี กรุงรัตนโกสินทร์ยังมีชนชาติจามที่อพยพเข้ามาพึ่งพระบรมโพธิสมภารพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช โดยได้รับพระราชทานที่ดินจากรัชกาลที่ 1 มีมัสยิดหลังแรกของฝั่งพระนครสร้างที่ชุมชนแห่งนี้ สำหรับกลุ่มชาวจามที่เดินทางมายังประเทศไทย เป็นกลุ่มที่มีความสามารถด้านการทำประมง เชี่ยวชาญเดินเรือ ค้าขาย เพราะเมื่อก่อนสัญจรทางน้ำ วิถีชีวิตผูกพันกับแม่น้ำลำคลอง ทั้งยังมีภูมิปัญญาทอผ้าไหมพื้นเมืองติดตัวมา ซึ่งมีจิม ทอมป์สัน นักธุรกิจชาวอเมริกัน เข้ามาช่วยพัฒนาออกแบบลวดลายและสีสัน จนเป็นที่มาของบริษัทอุตสาหกรรมไหมไทย เป็นที่รู้จักระดับโลก ขณะที่วิถีคนบ้านครัวทอผ้าแบบดั้งเดิมหลงเหลือเพื่อส่งขายให้แก่บริษัท จิม ทอมป์สัน ร้านขายผ้าไหมชื่อดัง ปัจจุบันยังมีชุมชนของกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ จำนวนมากที่รุ่งเรืองและยังมีลมหายใจ กลายเป็นเอกลักษณ์ที่งดงามของกรุงรัตนโกสินทร์
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |