วิจารณ์กันให้แซด นายกฯ ยึดอำนาจกระทรวงสาธารณสุข เหตุคำสั่งตั้ง 33 อรหันต์บริหารจัดการพัสดุป้องกัน ควบคุม รักษาโรคติดเชื้อโควิด-19 ไร้เงาปลัด ศธ. ขณะที่โฆษกพรรคประชาธิปัตย์แจงเหตุ "จุรินทร์" ฟ้อง "อัจฉริยะ" ไม่ได้ปิดปาก แต่พูดไม่ตรงกับความเป็นจริง ย้อนในทางกลับกันถ้าพ่อแม่ถูกกล่าวหาจะไม่ใช้กระบวนการปกป้องสิทธิ์เลยหรือ
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ภายหลัง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ลงนามในคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรี ที่ 9/2563 เรื่องแต่งตั้งคณะกรรมการเฉพาะกิจเกี่ยวกับการบริหารจัดการพัสดุสำหรับการป้องกัน ควบคุม หรือรักษาโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) จำนวน 33 คน
โดยสาระสำคัญ ให้คณะกรรมการชุดนี้ที่นายกฯ แต่งตั้งขึ้นตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉิน มีอำนาจกลั่นกรอง ควบคุม การบริการจัดการพัสดุ และเวชภัณฑ์ หน้ากากอนามัย ที่น่าสนใจ อาทิ ข้อ 2 พิจารณากลั่นกรองการกำหนดราคากลางในการจัดซื้อพัสดุสำหรับการป้องกัน ควบคุม หรือรักษาโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) และเวชภัณฑ์ป้องกัน ตลอดจนสินค้าหน้ากากอนามัยของส่วนราชการและหน่วยงานของรัฐให้เหมาะสม
ข้อ 3 พิจารณากลั่นกรองการนำเข้าสินค้าหน้ากากอนามัยเข้ามาในราชอาณาจักร และคำขอรับหนังสืออนุญาตการส่งออกสินค้าหน้ากากอนามัยไปนอกราชอาณาจักร พร้อมเอกสารหลักฐานของผู้ขออนุญาตให้เป็นไปตามประกาศสำนักงานคณะกรรมการกลางว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ เกี่ยวกับหลักเกณฑ์วิธีการ และเงื่อนไขในการขออนุญาต การอนุญาต แบบหนังสืออนุญาต และวิธีการส่งออกสินค้าหน้ากากอนามัย
ข้อ 6 พิจารณากลั่นกรองเอกสาร หลักฐาน ข้อมูลเกี่ยวกับปริมาณการผลิต และปริมาณการจำหน่ายพัสดุสำหรับการป้องกัน ควบคุม หรือรักษาโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) และเวชภัณฑ์ป้องกัน ตลอดจนสินค้าหน้ากากอนามัย รวมทั้งความต้องการในแต่ละภาคส่วนเพื่อประกอบการพิจารณาของเลขาธิการคณะกรรมการกลางว่าด้วยราคาสินค้าและบริการในการอนุญาตให้ผู้ผลิตกระจายพัสดุสำหรับการป้องกัน ควบคุม หรือรักษาโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) และเวชภัณฑ์ป้องกัน ตลอดจนสินค้าหน้ากากอนามัยให้ทั่วถึง
และข้อ 12 ให้คณะกรรมการเฉพาะกิจเกี่ยวกับการบริหารจัดการพัสดุสำหรับการป้องกัน ควบคุม หรือรักษาโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) เป็นที่ปรึกษาตามมาตรา 8 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548
ทั้งนี้ เป็นที่น่าสังเกตว่า ประกาศฉบับนี้ ไม่มีปลัดกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งเป็นหัวหน้าฝ่ายสาธารณสุขของ ศบค. ไม่มีอธิบดีกรมควบคุมโรค ซึ่งเป็นหน่วยงานหลักทำหน้าที่ควบคุมการระบาดของเชื้อโรค และอธิบดีกรมการแพทย์ ซึ่งทำหน้าที่รักษาผู้ป่วย ร่วมเป็นคณะกรรมการด้วย
อีกทั้งอำนาจหน้าที่ที่กำหนดไว้ในประกาศ มีลักษณะที่ทำให้เข้าใจได้ว่า คณะกรรมการชุดนี้มีอำนาจพิจารณากลั่นกรองการจัดซื้อพัสดุและเวชภัณฑ์ ป้องกัน ควบคุม และรักษาโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา หรือ Covid-19 ซึ่งเคยเป็นอำนาจหน้าที่ของกระทรวงสาธารณสุข จนมีการวิจารณ์กันในกระทรวงสาธารณสุข ว่า ศบค.ได้ยึดอำนาจกระทรวงสาธารณสุขไปแล้ว
ที่พรรคประชาธิปัตย์ นายราเมศ รัตนะเชวง โฆษกพรรคประชาธิปัตย์ แถลงกรณีนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ แจ้งความดำเนินคดีกับนายอัจฉริยะ เรืองรัตนพงศ์ ทนายความ ในข้อหาหมิ่นประมาทและกระทำผิด พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ ว่าการกระทำครั้งนี้ของนายจุรินทร์ ไม่ได้เป็นการฟ้องเพื่อปิดปาก หรือเพื่อให้หยุดตรวจสอบ แต่เป็นกระบวนการใช้สิทธิ์เมื่อมีการกล่าวหาด้วยข้อความอันเป็นเท็จ สิทธิขั้นพื้นฐานก็ต้องใช้กระบวนการตามที่กฎหมายกำหนด ใครจะเป็นคนผิดหรือถูก จะมาว่ากันในชั้นต่างๆ ทั้งตำรวจ อัยการ และศาล
“นายอัจฉริยะพูดทุกวัน ข้อมูลจริงบ้าง เท็จบ้าง แต่ส่วนใหญ่ไม่ตรงกับความเป็นจริง ในทางกลับกัน ถ้ามีคนในบ้านของคุณ เป็นพ่อ เป็นแม่ ถูกกล่าวหา จะไม่ใช้กระบวนการปกป้องสิทธิ์หรือ ในส่วนของพรรค ท่านไม่เรียกชื่อพรรคประชาธิปัตย์ เรียกชื่ออย่างอื่น ถามว่าเป็นคำพูดที่มนุษย์ที่ดีพูดกันใช่หรือไม่ ถ้าเกิดมีคนมาด่าพ่อกับแม่คุณ คุณจะไม่ออกไปตอบโต้แทนพ่อแม่ของคุณหรือ ไม่ช้าไม่เร็วจะปรากฏออกมาว่าข้อมูลที่คุณพูดเป็นเท็จมากน้อยเพียงใด” โฆษก ปชป.กล่าว
นายราเมศยืนยันว่า การออกประกาศต่างๆ ของคณะกรรมการกลางว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ (กกร.) เป็นตามกระบวนการและขั้นตอนของกฎหมายทั้งหมด รวมทั้งกรณีที่มีการกล่าวหาว่านายจุรินทร์ลงนามให้ส่งออกหน้ากากอนามัยนั้น ก็ไม่เป็นความจริง ทั้งนี้ ตนยินดีที่จะให้ตรวจสอบ เพราะนั่นคือการตั้งต้นให้มีการเมืองที่สุจริต
“ขอเรียกร้องให้นายอัจฉริยะแสดงหลักฐานข้อมูลมา วันนี้นายอัจฉริยะไม่มีราคาที่จะต้องออกตอบโต้ แต่ที่ต้องมาพูดก็ตามเหตุผลและหลักการ ว่าข้อมูลแต่ละเรื่องที่นายอัจฉริยะพูดไม่ตรงกับความเป็นจริง แม้กระทั่งตัวเลขส่งออกหน้ากากในเดือนมกรา.และกุมภา. เรื่องนี้กรมศุลกากรจะเป็นผู้ตอบคำถามนี้ได้ดีที่สุด ซึ่งตัวเลขไม่ตรงกับที่นายอัจฉริยะพูด” นายราเมศกล่าว และว่า ส่วนกระบวนการจัดสรรหน้ากากจำนวน 5 แสนชิ้น และ 7 แสนชิ้น เชื่อว่าเราได้ดำเนินการอย่างเต็มที่แล้ว รวมทั้งกรณีความต้องการของประชาชนเพิ่มมากขึ้น ก็ทำกันอย่างเต็มที่แล้วเช่นกัน ทั้งนี้ ขอเรียกร้องไปยังนายอัจฉริยะ หยุดทำลายผู้อื่นด้วยข้อความอันเป็นเท็จ เชื่อว่าทุกคนอดทนมามากพอ จะนัดเวทีไหนก็ได้แล้วเรามาพูดความจริงอย่างตรงไปตรงมา
นายเชาว์ มีขวด อดีตรองโฆษกพรรคประชาธิปัตย์ โพสต์ Facebook Chao Meekhuad เรื่อง “เครื่องฉีดพ่นฆ่าเชื้อโควิด-19 ไม่ได้ แต่ทำไมหน่วยงานรัฐจึงจัดซื้อ” มีเนื้อหาระบุว่า ตอนนี้ หลายหน่วยงานมีการนำเครื่องฉีดพ่น สารเคมี ไปฉีดพ่นตามสถานที่ต่างๆ เพื่อฆ่าเชื้อไวรัสโควิด-19 ตนก็ซื้อตามเขามา 4 เครื่อง แต่ก็ไม่ได้ใช้เลย เนื่องจากได้ข้อมูลจากสำนักการแพทย์ กทม. ว่าจะกลายเป็นการทำร้ายมากกว่าได้ประโยชน์ และควรใช้วิธีเช็ดถูน้ำยาทำความสะอาดจะดีที่สุด เนื่องจากการฉีดพ่นสารเคมีมีความเสี่ยงที่จะทำให้เชื้อโรคติดมากับละอองฝอยและฟุ้งกระจาย ทำให้เพิ่มความเสี่ยงที่จะทำให้เชื้อแพร่ระบาดไปยังประชาชนทั่วไปเป็นวงกว้าง แทนที่จะเป็นการฆ่าเชื้อ กลับเพิ่มเชื้อมากขึ้น
"ความจริงกรมควบคุมโรคก็เคยออกมาแนะนำวิธีการทำความสะอาดเพื่อฆ่าเชื้อโรคที่ถูกต้อง และระบุด้วยว่า การฉีดพ่นมีผลเสียที่อาจทำให้เชื้อโรคฟุ้งกระจายเป็นวงกว้างมากขึ้น แต่น่าแปลกใจว่าเหตุใดหน่วยงานราชการจำนวนมากจึงเร่งจัดซื้อเครื่องพ่นละอองฝอย ทั้งๆ ที่รู้อยู่แล้วว่าเป็นปัญหา จนอดเกิดคำถามไม่ได้ว่ามีการเอื้อประโยชน์ให้บริษัทผู้จำหน่าย กัดกินภาษีประชาชนเข้ากระเป๋าบนความทุกข์ของชาวบ้านหรือไม่" นายเชาว์ระบุ.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |