(สถานี BRT จัตุรัสเชาหยาง เขตชิงหนิง เมืองหนานหนิง)
ภารกิจตามหาถุงเท้าในตอนที่แล้วสำเร็จลงได้ชนิดเส้นผมบังภูเขา ร้านสะดวกซื้อใต้ตึกมีขายคู่ละ 12 หยวน ผมซื้อมาเพียงคู่เดียวเพราะเนื้อผ้าค่อนข้างบาง น่าจะเกินความสามารถในการดูดซับเหงื่อของคนเดินทั้งวัน หลังมื้อเช้าอย่างง่ายในโฮสเทลซึ่งเป็นบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปในถ้วยกระดาษ ที่ใส่เป้เดินทางมาด้วยกันพันกว่ากิโลเมตรจากคุนหมิง อ้อยอิ่งอยู่ได้สักพักก็ลงจากโฮสเทล แต่ก่อนจะตามหาถุงเท้าอีกรอบ ผมต้องตามหากาแฟก่อน
บริเวณใต้ตึกและพื้นที่ใกล้เคียงไม่มีร้านกาแฟแม้แต่ร้านเดียว ส่วนมากเป็นร้านชานมไข่มุก ร้านขายเบเกอรี่ก็ไม่ขายกาแฟ จำต้องซื้อกาแฟกระป๋องจากร้านสะดวกซื้อมาดื่มแก้ขัด นั่งรถไฟใต้ดินจากสถานี Macun ไปยังสถานี Chaoyang Square เด็กวัยรุ่นที่พักโฮลเทลเดียวกันบอกว่าเป็นย่านใจกลางเมือง
เดินเข้าห้าง Parkson หวังจะหามื้อเที่ยงแต่มีความรู้สึกว่าถ้ากินเมื่อไหร่จะต้องปวดท้องเข้าห้องน้ำแน่ๆ เลยเดินกลับออกมา ทำภารกิจหาถุงเท้าให้สำเร็จก่อน สุดท้ายก็เจอคุณป้าคนหนึ่งวางขายบนพื้นบาทวิถีอยู่หน้าห้างเล็กๆ ในย่านเดียวกัน เป็นแบบแพ็ก 3 คู่ แกพูดภาษาจีนออกมา เป็นประโยคที่เหมือนกันกับที่ได้ยินจากคุณป้าตาบอดที่ฉงชิ่ง ผมเข้าใจทันที 3 คู่ 10 หยวน คลำดูเนื้อผ้าก็รู้สึกว่าคุณภาพดีกว่าคู่ละ 12 หยวนในร้านสะดวกซื้อ
ใกล้ๆ กันมีร้านไก่ทอดแบบซื้อกลับบ้านอยู่ติดถนนแต่ตั้งอยู่ในตัวตึก ผมซื้อส่วนน่องมา 1 ชิ้น ราคา 7 หยวน รสชาติไม่ได้เรื่อง แถมแป้งที่ชุบทอดหลุดออกมาพร้อมหนังไก่ กินได้สองสามคำก็ทิ้งถังขยะ เดินไปซื้อน้ำเปล่าที่ร้านขายของชำ ขวดละ 2 หยวนมากลั้วคอ
บริเวณนี้มีสถานีรถ BRT ย่อมาจาก Bus Rapid Transit รถโดยสารประจำทางด่วนพิเศษ หรืออาจเรียกรถบัสเร็ว มีช่องจราจรเฉพาะให้วิ่ง (บางช่วงอาจใช้เลนร่วมกับรถชนิดอื่น) ทำให้ขนคนได้คราวละมากๆ ในเวลาที่รวดเร็ว มีประโยชน์อย่างยิ่งโดยเฉพาะในชั่วโมงเร่งด่วน อีกทั้งช่วยป้อนผู้โดยสารเข้าสู่ระบบขนส่งมวลชนหลักโดยเฉพาะรถไฟฟ้าใต้ดิน
(ย่านจัตุรัสเชาหยาง เขตชิงหนิง เมืองหนานหนิง)
ก่อนหน้านี้หนานหนิงเขตเมืองในชั่วโมงเร่งด่วนรถบัสปกติทำความเร็วได้แค่ประมาณ 10 กิโลเมตรต่อชั่วโมงเท่านั้น จนมีบริการบีอาร์ทีเมื่อไม่กี่ปีที่ผ่านมาสถานการณ์ก็ดีขึ้น สายของรถบีอาร์ทีหนานหนิงขึ้นต้นด้วยตัวอักษร B ตามด้วยตัวเลข
บ้านเราในกรุงเทพฯ ก็มีบีอาร์ที เริ่มเปิดใช้เมื่อราว 10 ปีก่อน จากถนนนราธิวาสราชนครินทร์ไปยังถนนราชพฤกษ์ หรือจากสาทรไปถึงท่าพระ ในช่วงแรกมีแผนจะดำเนินการต่ออีกหลายเส้นทาง แต่ก็คงไม่มีทางเกิดขึ้นแล้ว เพราะแค่เส้นทางแรกก็ดูจะไม่ประสบความสำเร็จ คนใช้รถอื่นๆ มักจะขับเข้าไปในเลนบีอาร์ทีทำให้รถยังติดอยู่เหมือนเดิม ผู้โดยสารก็มีไม่มาก ประสบภาวะขาดทุนสะสมทุกปี โครงการดีๆ ที่เคยแก้ปัญหาการจราจรได้ผลมาแล้วหลายเมืองทั่วโลกต้องประสบความล้มเหลวที่เมืองไทย
(สถานีขนส่ง “หลั่งตง” แห่งเมืองหนานหนิง (Langdong Coach Station) ให้บริการรถโดยสารระยะไกล)
เดินดูสถานีบีอาร์ทีแล้วผมก็เดินลงสถานีรถไฟใต้ดินนั่งไปสถานี Langdong Coach Station วัยรุ่นจากโฮสเทลแนะนำมาเช่นกัน หลังจากที่เมื่อคืนนี้ผมปรึกษาพวกเขาถึงวิธีการเดินทางไปเวียดนาม “หลั่งตง” คือสถานีขนส่งผู้โดยสารระยะไกลประจำเมืองหนานหนิง ให้บริการเดินทางข้ามมณฑลและข้ามประเทศ นอกจากเวียดนามแล้วยังมีรถไปถึงฮ่องกง มาเก๊า และไต้หวัน หน้าสถานีปลูกต้นโพธิ์ไว้ 2 แถว ใบกำลังเปลี่ยนเป็นสีเหลืองอ่อน น่าชมมาก
เคาน์เตอร์ลักษณะคล้ายจุดประชาสัมพันธ์ตั้งอยู่หลังประตูทางเข้าชั้น 2 ของสถานีขนส่ง มีเจ้าหน้าที่ผู้หญิงประจำอยู่ 2 คน ผมเดินเข้าไปถามว่าพูดภาษาอังกฤษได้หรือไม่ คนที่ว่างอยู่สะกิดให้เพื่อนอีกคนที่กำลังยุ่งเข้ามาช่วย ผมถามประโยคเดิมอีกครั้ง เธอตอบว่า “พอพูดได้ แต่ภาษาอังกฤษฉันไม่ดีนะ” ความจริงแล้วเธอพูดได้ดีทีเดียว และจากประสบการณ์ที่เคยเจอคนจีนออกตัวอย่างถ่อมตนแบบนี้มักจะพูดภาษาอังกฤษได้ดี
เคาน์เตอร์นี้นอกจากเป็นจุดประชาสัมพันธ์แล้วยังเป็นที่จำหน่ายตั๋วสำหรับชาวต่างชาติอีกด้วย คงเพราะในช่องขายตั๋วที่เรียงรายกันอยู่ด้านในไม่มีเจ้าหน้าที่พูดภาษาอังกฤษ มีรถเดินทางไปไฮฟอง ประเทศเวียดนามในวันพรุ่งนี้เวลา 9 โมงเช้า ค่าโดยสารคิดเป็นเงินไทยประมาณ 800 บาท ผมไม่มีเวลาพิจารณามากนัก ตอบตกลงซื้อตั๋วมา ทั้งที่ใจจริงอยากอยู่หนานหนิงต่ออีกวัน
จากนั้นลงรถไฟใต้ดินอีกครั้ง นั่งสายสีเขียวไปถึงสถานี Jinhu Square เปลี่ยนเป็นสายสีม่วง (หนานหนิงมีรถไฟใต้ดิน 3 สาย อีกสายคือสีแดง) ต่อไปที่สถานี Nanning Museum จ่ายครั้งเดียวแค่ 3 หยวนเท่านั้น ในสถานี Nanning Museum นี้ประดับภาพถ่ายของตัวอย่างสิ่งจัดแสดงในพิพิธภัณฑ์ไว้ให้รู้ว่าคุณมาถึงที่แล้ว โดยเฉพาะบริเวณสองฝั่งซ้ายขวาของบันไดเลื่อนทางขึ้นสู่พื้นถนน
แต่เมื่อขึ้นไปแล้วก็ไม่พบสัญลักษณ์อะไรที่บ่งบอกว่าจะมีพิพิธภัณฑ์อยู่ในละแวกนี้ มีเพียงถนนกว้างขวางและกลุ่มอาคารจำนวนหนึ่งที่น่าจะเป็นที่อยู่อาศัย เดินเข้าไปถามผู้ชายในยูนิฟอร์ม อาจเป็นได้ทั้งตำรวจและ รปภ. เขาพูดภาษาอังกฤษไม่ได้เลย อินเทอร์เน็ตที่ซื้อมาจากเมืองไทยหมดอายุไปแล้ว 2 วัน ผมให้ดูแผนที่ออฟไลน์ที่เซฟไว้ในมือถือ พูดคำว่า “หนานหนิงมิวเซียม” เพื่อให้เขาใช้นิ้วกดไล่หาในมือถือแต่เขาไม่เข้าใจความหมายของคำว่า “มิวเซียม” ผมไม่ได้ทำการบ้านคำนี้ในภาษาจีนมาก่อน นั่นก็คือ “โป๋วู่กวน” เพราะวันนี้ตั้งใจจะไปเยือนภูเขาชิงซิวมากกว่า สถานีรถไฟใต้ดินอยู่ห่างกันแค่สถานีเดียว
ลองเดินไปทางทิศตะวันออกประมาณ 100 เมตรถึงสี่แยก มองไปทางซ้ายเห็นอาคารสไตล์โมเดิร์น ไม่สูงแต่กินพื้นที่กว้าง คิดว่าน่าจะเป็นพิพิธภัณฑ์หนานหนิง อยู่ห่างออกไปประมาณ 500 เมตร เห็นว่าเกือบจะ 4 โมงเย็นแล้วจึงขอบาย
จะว่าไปแล้วหากต้องเลือกพิพิธภัณฑ์เพียงแห่งเดียวในหนานหนิงก็ควรจะเลือก “พิพิธภัณฑ์มานุษยวิทยากว่างซี” มากกว่า ตั้งอยู่ไม่ไกลจากภูเขาชิงซิวเช่นกัน แต่ไม่ได้อยู่ในเส้นทางผ่านของรถไฟใต้ดิน ในภาษาอังกฤษเรียกทั้ง Guangxi Museum of Nationalities และ Anthropology Museum of Guangxi จัดแสดงสิ่งสะสมที่สะท้อนวัฒนธรรมความเป็นอยู่ของชนกลุ่มน้อยในเขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วงจำนวน 12 กลุ่มชาติพันธุ์
(ภายในสถานี BRT จัตุรัสเชาหยางใช้ระบบตั๋วเหมือนรถไฟฟ้าทั่วไป)
ส่วนพิพิธภัณฑ์หนานหนิง (Nanning Museum) ที่อยู่ห่างออกไปครึ่งกิโลเมตรนี้หาข้อมูลภาษาอังกฤษในอินเทอร์เน็ตได้ยากมาก พบเพียงในเว็บไซต์ Lonely Planet บรรยายไว้ 4 บรรทัดว่า “เป็นพิพิธภัณฑ์ที่จะพาคุณย้อนประวัติศาสตร์ของเมืองหนานหนิงไปถึง ค.ศ.318 ไม่มีข้อมูลภาษาอังกฤษ แต่ก็รู้สึกได้ถึงมรดกทางวัฒนธรรมของหนานหนิงผ่านวัตถุโบราณที่จัดแสดงอยู่ภายในพิพิธภัณฑ์ รวมถึงการนำเสนอผ่านสื่อสมัยใหม่”
ผมเดินกลับลงสถานีรถไฟใต้ดิน นั่งไป 1 สถานี โผล่ขึ้นมาที่สถานี Qingxiushan รายละเอียดของการเดินเที่ยวบนเขาชิงซิวค่อนข้างยาว ขออนุญาตท่านผู้อ่านยกยอดไว้เล่าตอนหน้า
จบตอนนี้ลงดื้อๆ ทื่อๆ ไม่เปิดโอกาสให้ใครได้ทันตั้งตัว
*********************************
สัปดาห์ที่แล้วเนื้อหาในคอลัมน์นี้หายไปประมาณ 1 ใน 3 ของทั้งหมดเนื่องจากความผิดพลาดบางประการ รู้ตัวก็เมื่อพิมพ์ออกมาแล้ว ส่วนในเวอร์ชั่นเว็บไซต์นั้นแก้ไขทันหลังจากออนไลน์ไปประมาณ 4-5 ชั่วโมง ต้องกราบขออภัยท่านผู้อ่านด้วยนะครับ ผมได้นำส่วนที่ขาดหายไปมาลงในตอนท้ายของฉบับนี้เพราะเป็นเนื้อหาสาระและสีสันที่ตั้งใจจะเล่า
*********************************
............ทะเลสาบหนานหูนี้ในอดีตเป็นลำห้วยที่เชื่อมกับแม่น้ำยง ...........ส่วนพื้นที่สวนและลานกิจกรรมต่างๆ มีประมาณ 900 ตารางเมตร
ผมเดินข้ามสะพานโค้งที่มีช่องวงกลมด้านล่างสะพาน 9 ช่องไปฝั่งทิศใต้ มีขั้นบันไดให้ขึ้นไปยังลานกว้าง ตรงกลางคืออนุสาวรีย์สีแดงเรียกว่า “อนุสาวรีย์วีรชนไป่เซ่อ” สร้างขึ้นเพื่อรำลึกถึงการพลีชีพของชาวจ้วงในเมืองไป่เซ่อเมื่อปี ค.ศ.1929 พวกเขาสนับสนุนพรรคคอมมิวนิสต์ในการต่อต้านรัฐบาลสาธารณรัฐจีนของพรรคชาตินิยมจีนหรือก๊กมินตั๋งที่นำโดยจอมพลเจียง ไคเช็ก ในเวลานั้น
ไป่เซ่อเป็นเมืองเล็กๆ ทางตะวันตกของเขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วง อยู่ห่างจากหนานหนิงกว่า 200 กิโลเมตร เติ้ง เสี่ยวผิง ในวัย 25 ปี จัดตั้งสมาชิกในเมืองนี้ได้หลายพันคนในการเดินทางมาเยือนเมื่อเดือนกันยายน ค.ศ.1929 จนเกิดมีกองทหารขึ้น พวกเขาประกาศตัวเคลื่อนไหวต่อต้านรัฐบาลจีนคณะชาติ เริ่มต้นในวันที่ 11 ธันวาคมปีเดียวกัน ทว่าการต่อสู้ไม่เป็นไปดังหวัง มีคนต้องพลีชีพจำนวนมาก แต่ก็ยังมีผู้รอดชีวิตจำนวนหนึ่งได้เข้าร่วมในการเดินทัพทางไกลปี ค.ศ.1934 หรือที่เรียกว่า Long March อย่างไรก็ตามไป่เซ่อได้กลายเป็นฐานการปฏิวัติแห่งหนึ่งในเวลาต่อมา กระทั่งพรรคคอมมิวนิสต์โดยการนำของประธานเหมา เจ๋อตง เอาชนะและขับไล่จีนคณะชาติของเจียง ไคเช็ก จนต้องหนีไปยังเกาะไต้หวันในปี ค.ศ.1949
ที่ฐานของอนุสาวรีย์วีรชนไป่เซ่อมีตัวอักษรที่เขียนไว้โดยอดีตประธานาธิบดีเติ้ง เสี่ยวผิง ในพิธีเปิด เมื่อวันที่ 11 ธันวาคม ค.ศ.1981 วันครบรอบ 52 ปีของเหตุการณ์ แปลได้ว่า “เหล่าวีรบุรุษจะไม่มีวันถูกลืมเลือน” จากนั้นทุกๆ ปีจะมีการจัดงานรำลึกวีรกรรมขึ้น ส่วนที่ด้านหลังของอนุสาวรีย์คือพิพิธภัณฑ์การลุกฮือแห่งไป่เซ่อ
ไม่ทันที่จะหาคำตอบว่าเวลาเย็นเยี่ยงนี้พิพิธภัณฑ์ปิดไปหรือยังก็ต้องมีสิ่งมาเบี่ยงเบนความสนใจ กลุ่มสตรีผู้สูงอายุในชุดโทนสีแดงแบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม ร้องเพลงตอบโต้กันแบบท่อนต่อท่อน หรือเพลงต่อเพลงผมก็ไม่แน่ใจ เมื่อพิจารณาภาพที่เห็นอยู่นานเกือบชั่วโมงก็พอสรุปได้ว่าคงจะเป็นการพบปะในโอกาสพิเศษ หรือการนัดรวมญาติของชาวจ้วง พวกเขาน่าจะมาจากคนละเมืองกัน ถึงตอนจะลาก็ครวญเพลงอาลัยกันเนิ่นนาน ฝ่ายหนึ่งเดินไปก่อน อีกฝ่ายที่เดินตามก็ตั้งแถวหน้ากระดานร้องเพลงพร้อมกันขึ้นมา ผมรู้สึกว่าไพเราะน่าฟังอย่างกับคณะประสานเสียงมืออาชีพ ฝ่ายที่เดินล่วงไปก่อนสักสิบเมตรหันหน้ากลับมาฟังอย่างตั้งใจให้อีกฝ่ายร้องจบ จากนั้นก็ถึงคราวฝ่ายตัวเองตั้งแถวหน้ากระดานประสานบทเพลงกลับไปบ้าง
ฝ่ายนำหน้าร้องเสร็จก็หันกลับเดินต่อ ไม่ถึงนาทีหรอก ฝ่ายตามหลังร้องขึ้นมาอีก แล้วอีกฝ่ายก็ต้องร้องแก้กลับไป เป็นภาพที่ดำเนินอยู่อย่างไม่จบสิ้น ในเวลานั้นนอกจากผมแล้วก็คิดว่าไม่มีนักท่องเที่ยวจากต่างชาติอีก ทว่าแม้แต่ชาวจีนด้วยกันก็ให้ความสนใจ หยิบโทรศัพท์ขึ้นมาบันทึกภาพ หลายคนยิ้มหัวให้กับความน่ารักของคุณป้าคุณยายทั้งหลาย
มีข้อมูลทางประวัติศาสตร์มากมายที่ยืนยันได้ว่าชาวจ้วงนั้นมีบรรพบุรุษร่วมกับชาวไทและลาวมาตั้งแต่เกือบ 3 พันปีก่อน มีความเชื่อและวัฒนธรรมประเพณีหลายอย่างที่คล้ายคลึงกัน ภาษาพูดก็อยู่ในตระกูลเดียวกัน การนับเลขและการใช้คำเรียกชื่อบางอย่างตรงกันน่าเหลือเชื่อ เพียงแต่ว่าหากให้มานั่งพูดคุยกันในเวลานี้คงไม่สามารถสื่อสารกันรู้เรื่องแล้ว
ปัจจุบันชาวจ้วงอาศัยอยู่ในเขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วงมากกว่า 15 ล้านคน หรือประมาณ 32 เปอร์เซ็นต์ของประชากรทั้งหมดในมณฑลนี้ (ชาวจีนฮั่นเป็นประชากรส่วนใหญ่ที่ 62 เปอร์เซ็นต์) และชาวจ้วงถือเป็นกลุ่มชาติพันธุ์กลุ่มใหญ่ที่สุดหรือมีจำนวนมากที่สุดในสาธารณรัฐประชาชนจีน
ผมเดินข้ามสะพานกลับไปอีกฝั่ง ซื้อไส้กรอกปิ้งไม้ละ 5 หยวน มองดูในตู้แช่ไม่เห็นเบียร์ก็กินไส้กรอกกับน้ำเปล่า จากนั้นเดินไปยังทิศตะวันตกบนทางเท้าริมทะเลสาบ หันกลับมามองเห็นผู้สูงวัยอารมณ์ดียังคงปะทะประชันบทเพลงกันอยู่กลางสะพาน ไม่รู้ว่าสิ้นคืนนี้บรรดาผู้อาวุโสจะออกพ้นจากอุทยานหรือไม่ แต่ถึงจะไม่รีบร้อนก็ไม่เป็นไรเพราะอุทยานทะเลสาบหนานหูเปิดตลอด 24 ชั่วโมง.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |