ยาแรง 'เคอร์ฟิว' เริ่มแสดงผลลัพธ์ การ์ดห้ามตก 'สงกรานต์' ต้องเฉียบ


เพิ่มเพื่อน    

 

        เหมือนทุกอย่างเริ่มจะเข้าที่เข้าทางมากขึ้น สำหรับมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโควิด-19

        เทียบกับในช่วงสถานการณ์รุนแรงใหม่ๆ ที่รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เหมือนมวยเมาหมัด มาถึงตรงนี้ถือว่าเข้ารูปเข้ารอย

        เห็นได้ชัดจากกระแสวิพากษ์วิจารณ์มาตรการของรัฐบาลในช่วงแรกๆ แม้แต่ กองเชียร์ ยังรู้สึกส่ายหน้า แต่มาวันนี้สร่างซาลงไปเยอะ

        โดยเฉพาะตั้งแต่มีการจัดตั้งศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค. ซึ่งหัวหน้าฝ่ายต่างๆ ใน ศบค.ล้วนเป็นปลัดกระทรวง ซึ่งเป็นข้าราชการประจำ ผลต้อนรับจากประชาชนดูจะมีดีกว่าฝ่ายการเมือง

        รวมถึงการให้ข้อมูลข่าวสารดูเป็นเอกภาพมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นที่ ศบค. ที่ให้ นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน ซึ่งเป็นบุคลากรทางการแพทย์ และเป็นจิตแพทย์ มาเป็นโฆษก ศบค. หรือที่กระทรวงสาธารณสุข ซึ่งให้บุคลากรในกระทรวงมาเป็นผู้แถลง ทำให้ได้รับความน่าเชื่อถือจากประชาชน

        ทำให้แรงเสียดทาน และแรงกดดันที่เคยถาโถมใส่รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ก่อนหน้านี้บรรเทาลงไปเยอะ และแปรเปลี่ยนเป็นคำชมมากขึ้น

        ขณะเดียวกัน ในส่วนของการทำงานตั้งแต่มี “ศบค.” ซึ่งเกิดขึ้นมาภายหลังรัฐบาลตัดสินใจประกาศพระราชกำหนดบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน หรือ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ทำให้การต่อสู้กับไวรัสโควิด-19 มีแบบแผน ไม่ซับซ้อน

        มาตรการต่างๆ ที่ใช้ดำเนินการ ทั้ง พ.ร.ก.ฉุกเฉิน และการไต่ระดับสู่การประกาศเคอร์ฟิวทั่วราชอาณาจักร ตั้งแต่เวลา 22.00-04.00 น. เริ่มแสดงผลลัพธ์ไปในทิศทางที่ดีขึ้น แม้จะยังไม่ได้อยู่ในจุดที่ พล.อ.ประยุทธ์ และทุกฝ่ายพึงพอใจก็ตาม

        ย้อนกลับไปเมื่อวันที่ 24 มีนาคม ที่รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์เริ่มใช้ยาแรงคือ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน โดยมีผลบังคับใช้ในวันที่ 26 มีนาคม ยอดผู้ติดเชื้อรายใหม่ยังอยู่ในระดับสูงอยู่ หรือหลักร้อย

         โดย 2 วัน ในช่วงที่ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ยังไม่มีผลบังคับใช้ แต่เป็นวันที่รัฐบาลเปิดเผยว่าจะใช้มาตรการดังกล่าวคือ วันที่ 24 มีนาคม พบว่า ประเทศไทยมีผู้ติดเชื้อรายใหม่ 106 ราย ผู้ป่วยสะสม 827 ราย, วันที่ 25 มีนาคม ผู้ติดเชื้อรายใหม่107 ราย ผู้ป่วยสะสม 934 ราย  

        ขณะที่ วันที่ 26 มีนาคม ซึ่งเป็นวันแรกที่ พ.ร.ก.ฉุกเฉินมีผลบังคับใช้แล้ว พบว่า ประเทศไทยมีผู้ป่วยรายใหม่ 111 ราย ผู้ป่วยสะสม 1,045 ราย, วันที่ 27 มีนาคม มีผู้ป่วยรายใหม่ 91 ราย ผู้ป่วยสะสม 1,136 ราย, วันที่ 28 มีนาคม มีผู้ป่วยเพิ่ม 109 ราย ผู้ป่วยสะสม 1,245 ราย

        วันที่ 29 มีนาคม มีผู้ป่วยรายใหม่ 143 ราย ผู้ป่วยสะสม 1,388 ราย, วันที่ 30 มีนาคม มีผู้ป่วยรายใหม่ 136 ราย ผู้ป่วยสะสม 1,524 ราย, วันที่ 31 มีนาคม มีผู้ป่วยรายใหม่ 127 ราย ผู้ป่วยสะสม 1,651 ราย, 1 เมษายน ผู้ป่วยรายใหม่ 120 ราย ผู้ป่วยสะสม 1,771 ราย, วันที่ 2 เมษายน มีผู้ป่วยรายใหม่ 104 ราย ผู้ป่วยสะสม 1,875 ราย

        ผ่าน 7 วันสำหรับการประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ตัวเลขดังกล่าวไม่เป็นที่พึงพอใจของฝ่ายบริหารนัก เพราะตัวเลขผู้ติดเชื้อยังแตะ “หลักร้อย” อยู่ และในวันที่ 2 เมษายน พล.อ.ประยุทธ์ ในฐานะ ผอ.ศบค. จึงยกระดับความเข้มข้นขึ้นอีก ด้วยการประกาศ “เคอร์ฟิว” ทั่วราชอาณาจักร ตั้งแต่เวลา 22.00-04.00 น. โดยมีผลบังคับใช้ในวันที่ 3 เมษายน เพื่อให้ประชาชนได้ปรับตัวและเตรียมตัว

        สำหรับตัวเลขผู้ติดเชื้อรายใหม่ นับตั้งแต่วันที่ 3 เมษายน ที่การประกาศเคอร์ฟิวมีผลบังคับใช้ จนถึงวันที่ 10 เมษายน ค่อนข้างลดลงอย่างเห็นได้ชัดมากขึ้น แม้บางวันจะพุ่งสูงกลับมาบ้าง โดยลดลงต่ำสุดในหลายสัปดาห์ คือ ในวันที่ 7 เมษายน ที่พบผู้ป่วยรายใหม่เพียง 38 ราย ก่อนจะกลับมาพุ่งสูงขึ้นถึงหลักร้อยอีกครั้งในวันที่ 8 เมษายน จำนวน 111 คน แต่ในจำนวนนั้นมีถึง 42 คน ที่เดินทางกลับมาจากประเทศอินโดนีเซีย

        โดยวันที่ 3 เมษายน มีผู้ติดเชื้อรายใหม่เพิ่ม 103 ราย ผู้ป่วยสะสม 1,978 ราย, วันที่ 4 เมษายน ผู้ป่วยรายใหม่ 89 ราย ผู้ป่วยสะสม 2,067 ราย, 5 เมษายน ผู้ป่วยรายใหม่ 102 ราย ผู้ป่วยสะสม 2,169 ราย, 6 เมษายน ผู้ป่วยรายใหม่ 51 ราย ผู้ป่วยสะสม 2,220 ราย, 7 เมษายน ผู้ป่วยรายใหม่ 38 ราย ผู้ป่วยสะสม 2,258 ราย

        8 เมษายน ผู้ป่วยรายใหม่ 111 ราย ผู้ป่วยสะสม 2,369 ราย, 9 เมษายน ผู้ป่วยรายใหม่ 54 ราย ผู้ป่วยสะสม 2,423 ราย และ 10 เมษายน ผู้ป่วยรายใหม่ 50 ราย ผู้ป่วยสะสม 2,473 ราย

        สำหรับจำนวนผู้เสียชีวิตสะสมในประเทศไทย (ถึงวันที่ 10 เมษายน) มีจำนวน 33 ราย ขณะที่มีผู้หายป่วยกลับบ้านได้แล้วถึง 1,013 ราย

        จะเห็นว่า การเคอร์ฟิวที่มีจุดมุ่งหมายลดการเคลื่อนย้ายประชากร ห้ามออกจากเคหสถานในเวลา 22.00-04.00 น. หรือในบางจังหวัดที่เข้มข้นถึงขั้น “ล็อกดาวน์” สามารถดึงตัวเลขของไทยให้กลับมาอยู่ที่ “หลักหน่วย” ได้อีกครั้ง

         จุดที่แสดงให้เห็นว่า รัฐบาลค่อนข้างพอใจกับมาตรการดังกล่าวคือ การยังไม่ขยายเวลาประกาศเคอร์ฟิวจาก 6 ชั่วโมง ออกไปหลังครบ 7 วัน แต่ยังคงใช้กรอบเวลานี้อยู่ ซึ่งปกติจะมีการประเมินผลมาตรการกันทุกๆ 7 วัน หลังใช้มาตรการใดมาตรการหนึ่งออกมา

        แต่อย่างไรก็ตาม แม้ตัวเลขผู้ติดเชื้อจะลดลง แต่ยังถือเป็นปริมาณที่มาก และไม่สามารถไว้วางใจสถานการณ์ได้ เพราะมีปัจจัยหลายอย่างที่สุ่มเสี่ยงจะทำให้ตัวเลขกลับมาพุ่งขึ้นได้อีก โดยเฉพาะการเดินทางกลับมาจากต่างประเทศ ซึ่ง นพ.ทวีศิลป์เคยเน้นย้ำเรื่องนี้แล้วว่า ห้ามชะล่าใจเด็ดขาด

        “การ์ดห้ามตก ตกเมื่อไหร่ก็โดนต่อย โดนกระทุ้ง น็อกได้เลยทีเดียว จึงต้องตรึงแบบนี้ตลอดไป เพราะทั่วโลกยังเป็นแหล่งรังโรค อาจเป็นพาหะมาสู่เรา เราไม่ใช่ให้รังเกียจ แต่ให้ระมัดระวัง ต้องยืนระยะยาวๆ ถ้าตัวเลข 38 (วันที่ 7 เมษายน) ถือว่าดี ลดลงไปกว่านี้จะยิ่งดี ยืนระยะไปเรื่อยๆ เราก็จะชนะ”

        ขณะเดียวกัน ในช่วงสุ่มเสี่ยงที่จะมีการแพร่เชื้อได้ รัฐบาลก็อัดยาแรงเข้าไปกันตั้งแต่เนิ่นๆ เช่น ช่วงเทศกาลสงกรานต์ ที่แม้กระทรวงวัฒนธรรมจะประกาศให้งดจัดงานทุกระดับ แต่หลายจังหวัดก็ได้ออกมาตรการสกัดทันทีตั้งแต่สัปดาห์ที่ผ่านมา โดยเฉพาะการห้ามจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เพื่อไม่ให้ประชาชนจับกลุ่มสังสรรค์

        โดยข้อมูลจนถึงวันที่ 10 เมษายน กรุงเทพมหานครและจังหวัดอื่นๆ รวม 11 จังหวัด สั่งห้ามจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ซึ่งในส่วนของกรุงเทพมหานคร ได้สั่งห้ามตั้งแต่วันที่ 10-20 เมษายน ครอบคลุมช่วงเทศกาลสงกรานต์ไปเลย ซึ่งจังหวัดอื่นๆ ก็จะทยอยประกาศตามกันมา

        เพราะแม้จะไม่มีการจัดกิจกรรม แต่เทศกาลสงกรานต์ หรือปีใหม่ไทยในทุกๆ ปี ล้วนเป็นวันที่บรรดาญาติพี่น้องจะมาพบปะกัน หรือมักนิยมจับกลุ่มดื่มสังสรรค์ ซึ่งถือเป็น “จุดเสี่ยง” ที่อาจทำให้การแพร่ระบาดเกิดขึ้น หรือทำให้ตัวเลขทะยานกลับมาสูงอีกครั้ง

        ดังนั้น จึงต้องตัดไฟตั้งแต่ต้นลม

        ขณะรัฐบาลพยายามคุมเข้มจุดเสี่ยงทุกอย่างออก หลังตัวเลขผู้ติดเชื้อแต่ละวันอยู่ในระดับที่น้อยลงเรื่อยๆ เพื่อไม่ให้สถานการณ์กลับไปเลวร้าย อย่างกรณีคนไทยเดินทางกลับจากต่างประเทศ ยังจำกัดปริมาณที่แค่ 200 คนต่อวัน เพื่อให้สามารถรองรับได้ ทั้งสถานที่กักตัวของรัฐและบุคลากร

         เมื่อเข้มแล้วได้ผล จึงต้องตรึงต่อไปให้ประเทศกลับสู่สภาวะปกติโดยเร็วที่สุด แต่สิ่งสำคัญคือ ลำพังมาตรการของรัฐไม่อาจเพียงพอ หากไร้ความร่วมมือจากประชาชน

        การฝ่าฝืนประกาศเคอร์ฟิว ออกจากเคหสถานยังมีอยู่มากในแต่ละวัน การจับกลุ่ม มัวสุ่ม การตั้งวงดื่มสุรา ยังมีให้เห็นตลอด

        งานนี้ปรบมือข้างเดียวไม่ดัง ประชาชนต้องเอาด้วย.

 

       "เมื่อเข้มแล้วได้ผล จึงต้องตรึงต่อไปให้ประเทศกลับสู่สภาวะปกติโดยเร็วที่สุด แต่สิ่งสำคัญคือ ลำพังมาตรการของรัฐไม่อาจเพียงพอ หากไร้ความร่วมมือจากประชาชน"


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"