สงครามโควิด-19 ต้องสู้กันอีกยาว


เพิ่มเพื่อน    

วิกฤติโควิด-19 ยังอีกยาว

ผ่อนปรนได้ แต่ต้องไม่เหมือนเดิม

        ช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา การแถลงตัวเลขผู้ติดเชื้อโควิด-19 ในประเทศไทย ในบางวันทำให้ประชาชนพออุ่นใจ มีความหวังได้บ้าง เพราะบางวันพบผู้ติดเชื้อในระดับหลักสิบ แต่บางวันตัวเลขก็กลับมาที่หลักร้อยต้นๆ  

        “รศ.(พิเศษ) นายแพทย์ทวี โชติพิทยสุนนท์ ผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ ผู้คร่ำหวอดในวงการแพทย์ที่ทำงานเกี่ยวกับโรคติดเชื้อมาหลายสิบปี ซึ่งวงการแพทย์ให้การยอมรับว่า เป็นหมอที่เชี่ยวชาญด้านโรคระบาดระดับโลก และปัจจุบันยังเป็นที่ปรึกษากรมการแพทย์และกรมควบคุมโรค” ย้ำว่า วิกฤติไวรัสโควิด-19 คนไทย-สังคมไทยยังต้องต่อสู้ และเผชิญหน้าปัญหานี้ไปอีกยาว อาจนานหลายเดือนหรือเป็นปี แต่ก็เห็นว่าในวิกฤติก็ยังมีโอกาส เช่น การใช้โอกาสนี้เพื่อส่งเสริมพัฒนาทางการแพทย์ ให้ไทยมีความพร้อมกับการรับมือโรคระบาดใหม่ๆ ที่อาจจะเกิดขึ้นอีก ซึ่งเชื่อว่าคงต้องเห็นแน่นอน

        ...เมื่อดูตัวเลขผู้ติดเชื้อโควิด-19 ในประเทศไทยในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา โดยเฉพาะบางวันที่มีผู้ติดเชื้อต่ำกว่าหลักร้อย ถือว่าสถานการณ์เวลานี้วางใจได้ระดับหนึ่ง ค่อนข้างน่าพอใจ แต่ยังต้องจับตาใกล้ชิดต่อไป แต่ก็บ่งบอกสัญญาณให้เห็นว่า การติดเชื้อของประเทศไทยไม่พุ่งเหมือนจรวดแล้ว เป็นการบ่งบอกให้เห็นว่ามาตรการของรัฐบาลและกระทรวงสาธารณสุขได้ผลในเชิงประสิทธิภาพที่เห็นเบื้องต้น

สิ่งที่ตามมาก็คือ หลายคนถามว่าแล้วมาตรการที่ใช้ต่อไปจะเข้มข้นกว่านี้หรือไม่ หลักของเราก็คือ เมื่อเข้มข้นระดับที่ใช้อยู่แล้วได้ผลดี เราก็คงต้องเก็บระยะความเข้มข้นแบบนี้ต่อไปอีกสักระยะ เพราะเรารู้อยู่แล้วว่าโรคพวกนี้มีระยะฟักตัวแพร่เชื้ออยู่ราวๆ ประมาณ 14 วัน ตัวเลข 14 วันดังกล่าว จึงเป็นตัวเลขในการประเมินที่ค่อนข้างดี อย่างไรก็ตาม เราจะเห็นว่าสถานการณ์แต่ละจังหวัด แม้แต่กระทั่งแต่ละอำเภอ จึงขึ้นอยู่กับมาตรการของแต่ละจังหวัดในการที่จะพิจารณาว่าจะใช้ความเข้มข้นมากขึ้นหรือจะใช้น้อยลง อยู่ที่แต่ละจังหวัดจะไปพิจารณา

“ผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ” กล่าวหลังเราถามว่า ปัจจัยที่ทำให้ตัวเลขผู้ติดเชื้อของไทยบางวันลดลงมามาก เช่น 7 เม.ย. เหลือแค่ 38 คน เกิดจากปัจจัยใด โดยให้ความเห็นว่า ปัจจัยสำคัญคือ เราได้รับความร่วมมือจากประชาชนมากขึ้น เรายังเห็นจุดบอดอยู่บ้าง ที่ยังมีบางกลุ่มไม่ให้ความร่วมมือ อันเป็นกลุ่มที่มีความเสี่ยงสูง โดยเฉพาะในจังหวัดท่องเที่ยว ที่หลายแห่งก็เริ่มใช้มาตรการที่เข้มข้นมาก โดยมาตรการอันหนึ่งที่เห็นว่าจะมีประโยชน์มากก็คือ การที่ป้องกันไม่ให้มีนักท่องเที่ยวเข้ามาเติม และอีกประเด็นที่ต้องจัดการปัญหาให้ดีๆ ก็คือ คนไทยที่จะเข้าไปเติม เช่น คนไทยที่เดินทางกลับภูมิลำเนา คนไทยที่เดินทางกลับจากกลุ่มประเทศเสี่ยงกลับมา พวกนี้ต้องมีการกำกับควบคุมแบบเข้มข้นอย่างมาก เพราะมีโอกาสที่จะพาเชื้อเข้าประเทศเรา

สำหรับแนวทาง Social distancing ในสังคมไทยถือว่าดีขึ้นในระดับที่เราเริ่มเห็นตัวเลขผู้ติดเชื้อโควิด-19 ลดลงในประเทศไทย แต่ไม่ได้หมายถึงว่า ทุกอย่างจบแล้วต่อไปให้กลับมาเจอกันใหม่ ยังไม่ใช่ครับ ผมยังอยากให้เก็บการรักษาระยะห่างแบบนี้ไว้ต่อไป แล้วค่อยๆ ผ่อนคลาย ซึ่งการตัดสินใจผ่อนคลายการใช้มาตรการต่างๆ เป็นเรื่องที่ภาครัฐกำลังพิจารณากันอยู่ร่วมกับทางการแพทย์-สาธารณสุข ว่าการผ่อนคลายจุดใดที่สามารถผ่อนคลายได้ แต่จริงๆ บางจุดเห็นว่าควรมีการเพิ่มความเข้มข้นในการใช้มาตรการควบคุมมากกว่าเดิม เพราะก็จะยังเห็นกลุ่มบุคคลที่ไม่ยอมปฏิบัติตามมาตรการที่ภาครัฐประกาศออกมา (เคอร์ฟิว) ยังมีการจับกลุ่มกินเหล้า ฉลองกัน การใช้มาตรการจึงควรต้องคงความเข้มข้นไว้ต่อไปก่อน และจริงๆ ควรเข้มข้นมากขึ้นด้วยซ้ำไป อย่างไรก็ตาม การผ่อนคลายการใช้มาตรการต่างๆ ก็ต้องยอมรับว่า ชีวิตความเป็นอยู่ของคนในประเทศเราที่ไม่ได้ร่ำรวยมาก เขาต้องทำงานหาเลี้ยงชีพ จุดนี้เมื่อการใช้มาตรการต่างๆ ดำเนินไปสักระยะ เมื่อเห็นว่ามีมาตรการทุกอย่างที่ดีพอแล้ว ก็อาจมีการผ่อนคลายได้บ้าง แต่จะผ่อนคลายแล้วให้ทุกอย่างกลับไปเหมือนเดิม โดยไม่มีการทำอะไรเลย ปล่อยตามอิสระ ให้ทุกอย่างเป็นไปแบบปกติ ผมคิดว่ายังไม่ถึงเวลา

นพ.ทวี ย้ำว่า ความเห็นจากผู้เชี่ยวชาญระดับคณาจารย์หลายคน รวมถึงตัวผมที่อยู่ในกรรมการกลุ่มนี้ เรามีประสบการณ์ในเรื่องโรคระบาดมาเป็นเวลาเกือบ 20 ปี แล้วโรคระบาดโควิด-19 เป็นโรคระบาดทางเดินหายใจ ที่เราเคยมีประสบการณ์มาแล้วเช่นสมัยโรค SARS เมื่อ 17-18 ปีที่แล้ว รวมถึงโรคไข้หวัดนก-โรคไข้หวัดใหญ่ 2009 ทำให้เรารู้ว่าโควิด-19 เป็นเชื้อไวรัสที่ทะลุทะลวง แล้วเดินทางไปทั่วโดยสร้างปัญหามากกว่าเชื้อตัวอื่นๆ ก่อนหน้านี้

        "เพราะฉะนั้นคำว่าสงบคงไม่มีทางแล้วที่จะให้มันสงบเอง มันก็คงเป็นแบบนี้ไปเรื่อยๆ ช้าๆ ประเทศไหนที่การควบคุมดูแลไม่ดี มันก็จะพุ่งเป็นจรวดขึ้นมา ก่อความสูญเสีย ความเสียหาย อัตราการตายต่างๆ มีเยอะมาก เชื้อตัวนี้การระบาดของโรคโควิด-19 จะยังอยู่กับเราอีกเป็นเดือน และหลายๆ เดือน และอาจจะเป็นปี จนกว่าวันหนึ่งเราจะมีอาวุธที่สำคัญที่สุดในการต่อสู้กับมันก็คือวัคซีน เมื่อใดที่เรามีวัคซีน เมื่อนั้นถึงจะสามารถที่จะจบปัญหานี้ได้"

        ...สำหรับประเทศไทย เรามีทรัพยากรที่ไม่ได้มากนัก เราจะไปเปรียบเทียบกับประเทศในยุโรป สหรัฐอเมริกา หรือในเอเชียอย่าง เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น สิงคโปร์ เราคงไม่สามารถเปรียบเทียบได้ เพราะพื้นฐานทางทรัพยากรทางสาธารณสุข ทางการแพทย์ เรายังมีข้อจำกัดในการต่อสู้ สิ่งที่ทางการแพทย์เราอยากได้มากที่สุด คือให้ปัญหามันเป็นไปเรื่อยๆ ช้าๆ อยู่กับมันนานๆ อยู่ให้ยาวๆ

การอยู่ยาวๆ ถามว่าตัดฉับเลยได้ไหม ตอบได้เลยว่า ทำไม่ได้ ไม่มีทาง แต่การอยู่นานๆ หมายถึงทำให้เราจะได้มีทรัพยากรพื้นฐานในการต่อสู้ เพราะเรารู้อยู่แล้วว่า คนที่ได้รับเชื้อ 80 เปอร์เซ็นต์ จะมีอาการค่อนข้างน้อย กินยา พักผ่อนที่บ้าน ก็หายเองได้ และอีก 15 เปอร์เซ็นต์ จะมีอาการปอดอักเสบ ปอดบวม ที่จะต้องนอนโรงพยาบาล มีการดูแล ดูดเสมหะ ส่วนอีก 5 เปอร์เซ็นต์ ต้องนอนไอซียู ที่เป็นส่วนสำคัญ เพราะหากการดูแลรักษาไม่ดี อัตราการเสียชีวิตจะสูงมาก และต้องใช้ทรัพยากรมาก ที่ไม่ใช่เรื่องของยา-เครื่องมือแพทย์ แต่เป็นเรื่องของ "คน" เพราะเราจะไปหาคนที่มีความชำนาญในการดูแลคนไข้หนักในห้องไอซียู จะพบว่ามีไม่มาก แม้แต่ในสหรัฐเองก็มีไม่มาก มีคนจำกัด เราจึงต้องจำกัดปัญหาแบบให้ค่อยเป็นค่อยไป เพื่อที่ทางการแพทย์ของเราจะได้รับมือได้

นพ.ทวี ย้ำไว้ว่า เมื่อคนไทยยังอาจต้องอยู่ในสภาพแบบนี้ไปอีกระยะหนึ่ง ดังนั้นอันดับแรกก็คือ ต้องมี ”สติ” และยอมรับว่าเรื่องโควิด-19 เป็นปรากฏการณ์ธรรมชาติ ไม่ใช่ครั้งนี้ครั้งแรกและครั้งสุดท้าย ยังมาอีก ยังมีโรคใหม่ๆ มาอีก แน่นอน ซึ่งจะมาเมื่อไหร่ เราตอบไม่ได้ แต่มีอีกแน่

เรื่องที่สองคือ หลังจากนี้เราต้องยอมรับว่าวิถีชีวิตเราต้องเปลี่ยน จากที่รัฐบาลนี้เคยบอกว่า ประเทศไทยต้องเป็นไทยแลนด์ 4.0 คือต้องเอาเรื่องของเทคโนโลยีเข้ามา ซึ่งตอนนี้เป็นโอกาสแล้วที่จะนำเรื่องเทคโนโลยี-ดิจิตอลต่างๆ เช่น เทคโนโลยีไร้สายเพื่อให้คนทำงานอยู่ที่บ้าน ตอนนี้คือโอกาสที่จะพัฒนา ดังนั้นคนที่ฉลาดและหัวคิดดีถึงจะอยู่ได้ จากนี้ต่อไปทุกอย่างจะไม่เหมือนเดิม ทุกคนต้องปรับตัว ผมบอกได้เลย ไทยแลนด์ 4.0 จะต้องก้าวไปอีก เช่น การพัฒนาเครื่องมือทางการแพทย์

เราเป็นประเทศแรกของโลก ที่นอกเหนือจากจีน ที่มีการเตรียมการรับมือตั้งแต่แรกๆ หลังมีการพบการแพร่ระบาดที่จีน โดยเมื่อวันที่ 3 มกราคม 2563 เราให้มีการตรวจคัดกรอง มีเครื่องตรวจที่สนามบินเลย และก่อนหน้านั้น วันที่ 2 มกราคม ช่วงหยุดปีใหม่ ยังไม่หมด ผมถูกเรียกให้ไปเข้าร่วมประชุมกลุ่มผู้เชี่ยวชาญตั้งแต่วันดังกล่าว ซึ่งในที่ประชุม เราเห็นกันแล้วว่า สงสัยจะมีปัญหาแล้ว ทุกคนลงความเห็นเหมือนกับวันนั้น จะมีปัญหาแน่นอน จริงๆ เราไม่ได้ช้า อันนี้คือเบื้องหลังที่ไม่ค่อยมีคนรู้ เรายกระดับการเตรียมการป้องกันเร็วกว่าประเทศอื่นๆ

-หากสถานการณ์ไม่ดีขึ้น มีโอกาสที่จะเคอร์ฟิว 24 ชั่วโมงได้หรือไม่ และหากจะถึงขั้นดังกล่าว จะมีจุดเปลี่ยนอย่างไรจนต้องใช้มาตรการเข้มข้นแบบนี้?

        หากมองดู ณ ขณะนี้ ความเห็นส่วนตัวผม ในฐานะดูแลเรื่องทางการแพทย์ เราค่อนข้างพอใจกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในระดับหนึ่ง แต่ว่ายังไม่ไว้วางใจ เพราะอย่างสัปดาห์นี้ ที่มีตัวเลขผู้ติดเชื้อลดลง 2 วันติดต่อกัน แต่ว่ายังไม่ได้ ต้องดูกันยาวๆ หากลดลงเป็นสัปดาห์ หรือสองสัปดาห์ติด แบบนี้สถานการณ์ไว้ใจได้แล้ว แสดงว่าของแท้ ของจริง โผล่มาให้เห็นแล้ว

...อย่างไรก็ตาม ยุทธศาสตร์จะมีการเปลี่ยนแปลง คือเพิ่มการตรวจหาเชื้อให้มากขึ้น โดยหลักการที่ทำให้คนไข้เข้ามาสู่ระบบคัดกรองจะหลวมขึ้น ซึ่งการที่หลวมขึ้น ไม่ใช่ว่าเพราะแต่ก่อนเราทำไม่ได้หรือไม่รู้ ยืนยันว่าแต่ก่อนเราก็รู้ แต่มันทำไม่ได้ เราก็อยากตรวจคนมากๆ เหมือนเกาหลีใต้ แต่เราทำไม่ไหว

ปัญหาอยู่ตรงที่ว่าเราตรวจไหวไหม ไม่ใช่อยู่ตรงว่าตรวจมากดีหรือไม่ เพราะการตรวจมาก ย่อมดีอยู่แล้ว แต่ตรวจไหวไหมสำคัญ เพราะตอนแรกน้ำยาตรวจ เราเพิ่งพัฒนา และแล็บตรวจต่างๆ ตอนที่เราสู้กัน ในช่วงต้นเดือน ก.พ. มีแค่ 12 แล็บทั่วประเทศเท่านั้นเอง ทำให้การทำงานตอนแรกก็ลำบาก แต่ยังดีที่การติดเชื้อยังไม่ได้กระจายออกไปต่างจังหวัด แต่ตอนนี้แล็บกระจายไปถึงเกือบทุกจังหวัด เพราะเชื้อก็เดินทางไปถึงเกือบทุกจังหวัดแล้ว ทำให้บางจังหวัดทำงานได้ดีขึ้น เราก็จะตรวจมากขึ้น แต่ต้องยอมรับกันว่าเมื่อตรวจมากขึ้น ก็ต้องเจอคนติดเชื้อมากขึ้น

 เพราะฉะนั้นในอีก 2-3 สัปดาห์ข้างหน้าต่อจากนี้ เราจะเห็นตัวเลขผู้ติดเชื้อกระโดดมากขึ้น ซึ่งพอเห็นแล้ว อย่าเพิ่งคิดว่าเราจะแย่แล้ว ไม่ใช่ เพราะเหมือนกับเรานำเสบียงไปช้อน เมื่อช้อนไปเรื่อยๆ แต่ก่อนเราได้ปลาใหญ่ ตอนนี้เราอาจได้ปลาซิวปลาสร้อยบ้าง ก็ขออย่าเพิ่งตกใจกับตัวเลขที่จะออกมา เพราะเราอยากให้ปลาซิวปลาสร้อยนั้น เข้ามาเพื่อไม่ให้พวกเขาไปแพร่เชื้อกับคนอื่นต่อไป ที่เมื่อเราทำแบบนี้ เราก็จะทำงานกันหนักมากขึ้น

โรคระบาดใหม่ๆ ยังจะมาอีก

      นพ.ทวี-ผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ ให้ข้อมูลว่า จากบทเรียนของโควิด-19 ครั้งนี้ ผมคิดว่าเราต้องพยายามลบประเด็นที่มีภาพติดอยู่ในคนไทยและผู้มีอำนาจต่างๆ ที่ว่า ซื้อเขาถูกกว่า ขอให้เอาออกไป เพราะไม่ว่าอะไรก็ตาม เมื่อเราพัฒนาเทคโนโลยีไป สุดท้ายก็มักจะคิดว่า ซื้อเขาถูกกว่า อย่าไปคิดทำเลย ที่ทำให้เราก็จะล้าหลังแบบนี้ไปเรื่อยๆ อันนี้เป็นโอกาสอันดีอย่างหนึ่งของการระบาดของโควิด ครั้งนี้ที่ทำให้ผมเห็นว่า มีหลายแห่งมีการพัฒนาเทคโนโลยีต่างๆ ออกมา ที่ควรนำมาทดลอง แล้วมาปรึกษาหารือกัน เพื่อจะได้พัฒนาต่อเนื่องต่อไป

...จึงได้เห็นว่า การที่มีโควิด-19 มันคือวิกฤติ แต่โอกาสคือมันได้มีการพัฒนาต่อไปเยอะเลย ที่หากภาครัฐ มองเห็นจุดนี้ ก็ต้องสนับสนุนการพัฒนาให้ทำต่อเนื่องในเรื่องเทคโนโลยีที่ยังมีช่องทางให้พัฒนาได้อีกมาก โดยเฉพาะการคิดค้นทางการแพทย์-วิทยาศาสตร์-วิศวกรรมทางการแพทย์ ที่เป็นเรื่องสำคัญ เพื่อที่จะทำให้ประเทศชาติเราไม่ได้มีแต่สูญเสียอย่างเดียว แต่เราควรได้บางอย่างกลับมา เพื่อเราจะได้เตรียมตัวสำหรับครั้งหน้า

      มีหลายคนถามว่า แล้วครั้งหน้าจะมีโรคระบาดอีกไหม คำตอบก็คือ "ไม่พลาด" จากนี้ต่อไป 10-15 ปี ก็จะยังมี โรคระบาดตามมาอีก ส่วนจะหนัก-เบา ก็ยังไม่แน่ แต่จากการที่ผมได้ทำงานเกี่ยวกับโรคระบาด โรคติดเชื้อ ที่ผมทำงานมา 40 กว่าปี ทำให้เห็นว่ามันต้องมาอีก เพราะวิถีชีวิต ธรรมชาติต่างๆ มันเปลี่ยนแปลงไปหมดแล้ว

ผมก็เห็นว่า ไม่มีความจำเป็นต้องยกระดับการใช้มาตราที่สูงกว่าที่ทำอยู่ แต่บางจังหวัดที่ยังมีปัญหาอยู่ ทางจังหวัดก็สามารถใช้มาตรการที่เข้มข้นมากขึ้นต่อไปได้ ที่ผ่านมา หลังมีการใช้ พ.ร.ก.สถานการณ์ฉุกเฉิน และการประกาศเคอร์ฟิว เริ่มเห็นผลแล้ว แต่เราก็อยากเห็นผลมากกว่านี้ ซึ่งไม่จำเป็นต้องใช้มาตรการทางกฎหมาย แต่ต้องเป็นมาตรการทางสังคม ทุกคนต้องร่วมกันช่วย

      สำหรับสถานการณ์การติดต่อแพร่เชื้อโควิด-19 ในประเทศไทย จะเป็นอย่างไร ในทางสาธารณสุข สิ่งชี้วัดที่สำคัญคือตัวเลขที่จะบอกว่าผู้ติดเชื้อหนึ่งคน จะแพร่เชื้อได้กี่คน ที่เรียกกันว่า ค่าอาร์ศูนย์-R0 : Basic Reproductive Number เรื่องนี้ นพ.ทวี-แพทย์ที่ทำงานเกี่ยวกับโรคติดเชื้อมาหลายสิบปี ให้ข้อมูลว่า ค่าอาร์-ศูนย์เป็นตัวเลขที่จะบ่งบอกว่า คนที่ติดเชื้อ 1 คน จะแพร่เชื้อไปยังคนอื่นๆ ได้กี่คน โดยเมื่อใดที่ค่าอาร์ศูนย์เกิน 1 ขึ้นไป ถือว่าระบาด อย่างของจีน ตอนที่เริ่มมีการระบาด ค่าอาร์ศูนย์อยู่ที่ 2.2-2.6 แต่หากเรามีการทำ social distancing และมีการควบคุมอย่างดี ค่าอาร์ศูนย์ก็จะค่อยๆ ลดลง เพราะการแยกห่างจะทำให้การแพร่ระบาดจากคนหนึ่งไปยังอีกคนหนึ่งเกิดขึ้นน้อยลง อาจมีระบาดในครอบครัวเดียวกันบ้าง แต่จะไม่ระบาดแบบข้ามครอบครัว

ขณะนี้พบว่า ค่าอาร์ศูนย์ในประเทศไทยกำลังลดลง โดยลดลงเหลือระดับ 1 กว่าๆ แต่เราอยากเห็นการลดลงต้องทำได้มากกว่านี้ ซึ่งมาตรการต่างๆ ที่ประเทศไทยใช้อยู่ โดยเฉพาะการแยกห่าง ที่ทำได้ประมาณ 70-80 เปอร์เซ็นต์ อย่างผมที่ศึกษาเรื่องทางการแพทย์และมาตรการเว้นระยะห่าง เห็นว่าหากเรื่อง social distancing ในประเทศไทยทำได้ในระดับมากกว่า 90 เปอร์เซ็นต์ จะดีมาก จะทำให้ค่าอาร์ศูนย์ออกมาต่ำกว่า 1 ซึ่งการให้ไปถึงระดับ 80-90 เปอร์เซ็นต์ได้ มันอยู่ที่สำนึกของแต่ละคนที่ต้องทำมากขึ้น หรือไม่เช่นนั้น มาตรการภาครัฐจะต้องออกมาให้เข้มข้นกว่านี้ เช่น ยกตัวอย่าง กลางวันก็ให้ถึงขนาดปิดด้วย แต่หากปิดกลางวันด้วย คนจำนวนมากก็ลำบาก ชีวิตคนจะอยู่กันไม่ได้ เพราะฉะนั้น

...ส่วนตัวผม เห็นว่ามาตรการที่ใช้ตอนนี้ค่อนข้างดี และน่าพอใจ และอยากให้อยู่ในระดับนี้ไปเรื่อยๆ จึงต้องเตรียมตัวเตรียมใจไว้ให้ยาวไว้ก่อน เพื่อจะได้ไม่ต้องมาปิดกลางวัน (เคอร์ฟิว) จะได้ไม่ต้องใช้มาตรการระดับเข้มข้นมาก เพราะก็จะพบว่า บางจังหวัดบางพื้นที่ เขาอาจประเมินแล้วว่าแม้จะใช้มาตรการต่างๆ แต่ก็ยังพบคนติดเชื้อ-คนไข้อยู่เรื่อยๆ ทำให้จะมีบางพื้นที่ในบางจังหวัดถึงขั้นไม่ให้คนเข้า-คนออก

ผ่อนปรนกฎเหล็กได้

แต่กลับไปเหมือนเดิมไม่ได้

- ระบบสาธารณสุขประเทศไทยจะสามารถถอดบทเรียนวิกฤติโควิด-19 ครั้งนี้ไปใช้ประโยชน์ในอนาคตได้อย่างไร?

      ต้องมีอยู่แล้ว อย่างตัวผมและคณาจารย์หลายคนที่มีประสบการณ์ในการต่อสู้กับโรคระบาดมาตั้งแต่ยุคโรค SARS เมื่อเกือบยี่สิบปีที่แล้ว ตอนนี้ทุกคนก็ยังมาเป็นชุดแบ็กอัพอยู่เบื้องหลังในการรับมือกับโควิด-19 ครั้งนี้เช่นการ ช่วยคิดนโยบาย วิธีการปฏิบัติให้กับคนที่ลงมือปฏิบัติงาน เพราะเรามีประสบการณ์ในอดีต การมีประสบการณ์เป็นเรื่องสำคัญสุดยอด เพราะประสบการณ์ก็คือ พิมพ์เขียวให้เราสามารถต่อสู้ยืนหยัดได้ดีพอสมควร 

      ..หากดูอัตราของแพทย์ต่อจำนวนประชากร อย่างที่สหรัฐอเมริกา คือแพทย์ 240-250 คนต่อประชากร 1 หมื่นคน ส่วนเกาหลีใต้ มีแพทย์ 71 คน ต่อจำนวนประชากร 1 หมื่นคน ประเทศเหล่านี้จึงมีศักยภาพสูงมากในการต่อสู้ ส่วนของไทย มีแพทย์ 6 คน ต่อจำนวนประชากร 1 หมื่นคน ไทยเราน้อยกว่าเกาหลีใต้ประมาณ 10-12 เท่า และน้อยกว่าสหรัฐเกือบ 30 เท่า แต่เราก็ยืนหยัดต่อสู้ได้

       - ประชาชนหลายกลุ่มเริ่มส่งเสียงสะท้อนความเดือดร้อน ไม่มีรายได้ อยากเรียกร้องให้ปลดล็อก ผ่อนปรนมาตรการต่างๆ เพราะอยู่ไม่ไหว ถ้าสุดท้าย ต้องผ่อนปรนลง จะทำให้ตัวเลขผู้ติดเชื้อกลับมาสูงขึ้นหรือไม่?

      แน่นอนว่าการผ่อนปรนคงจะต้องไม่กลับไปที่เดิม ที่ไม่มีการทำอะไรเลย เราคงไม่ปล่อยกลับไปที่เดิม เพราะเราเห็นชัดแล้วว่า ในช่วง 2-3 สัปดาห์ที่ผ่านมา มาตรการทางกฎหมายที่ออกมา ถือว่าเวิร์กดี

ผมจึงคิดว่าไม่น่าจะปล่อยกลับไปแบบเดิม การจะให้ทุกอย่างกลับไปเหมือนเดิม คงค่อนข้างยากแล้ว เราเห็นแล้วว่า บทเรียนที่ผ่านมาในช่วง 1-2 เดือน จุดไหนเป็นจุดที่เมื่อเป็นประกายไฟแล้ว มันเกิดการลุกไหม้ เราเห็นแล้ว แล้วเราจะปล่อยให้ประกายไฟนั้นกลับไปลุกไหม้แบบเดิมหรือ ต้องคำนึงกันให้ดีๆ คนที่เขาไม่มีรายได้ รัฐบาลก็ต้องเข้าไปช่วย เพราะต้องไม่ลืมว่า โรคนี้เป็นโรคของชุมชนเมือง จากเมืองใหญ่แล้วก็ไปสู่เมืองเล็กๆ ซึ่งชุมชนของบ้านเรา มีคนประมาณ 30 เปอร์เซ็นต์ ส่วนชนบทมีคนประมาณ 70 เปอร์เซ็นต์ ที่โรคยังไปไม่ถึง เพราะฉะนั้น เรื่องโควิด 19 งานนี้ยาว เมื่อยาว ก็ต้องปรับตัว ปรับใจ ปรับการใช้ชีวิตประจำวัน ปรับหมดเลย แม้แต่ช่องทางทำมาหากินนพ.ทวีสรุปตอนท้าย. 

 

การระบาดของโรคโควิด-19 จะยังอยู่กับเราอีกเป็นเดือน และหลายๆ เดือน และอาจจะเป็นปี.. การผ่อนปรน จะต้องไม่กลับไปที่เดิม ที่ไม่มีการทำอะไรเลย การจะให้ทุกอย่างกลับไปเหมือนเดิม ค่อนข้างยากแล้ว ..โควิด-19 งานนี้ยาว เมื่อยาว ก็ต้องปรับตัว ปรับใจ ปรับการใช้ชีวิตประจำวัน


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"