ผุดที่ปรึกษาศก.สู้'โควิด' เยียวยา'เกษตรกร'ไม่จบ


เพิ่มเพื่อน    

    "บิ๊กตู่" ระดมบุคคลระดับมันสมองตั้งทีมที่ปรึกษาด้านธุรกิจเอกชน รับมือผลกระทบโควิด-19 เข็นมาตรการเพิ่มเติมเพื่อการปรับตัวและฟื้นฟูเศรษฐกิจ "ไพบูลย์" เผยเตรียมเสนอแผนเศรษฐกิจ "ออกจากมาตรการ Lock-down" “อุตตม” แจงยังไม่ได้ข้อสรุปมาตรการเยียวยาเกษตรกร ถกอีกทีสัปดาห์หน้า คลังแจงยอดลงทะเบียนรับเงิน 5,000 บาทเยียวยาโควิด-19 พุ่งแตะ 26 ล้านคน 
    เมื่อวันที่ 10 เมษายน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ลงนามคำสั่งนายกรัฐมนตรี ที่ 8/2563 เรื่องแต่งตั้งคณะที่ปรึกษาด้านธุรกิจภาคเอกชนในศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ลงนามเมื่อวันที่ 8 เม.ย.63 เพื่อให้การปฏิบัติงานของศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดเป็นไปด้วยความรอบคอบและมีประสิทธิภาพ อาศัยอำนาจตามคำสั่งนายกรัฐมนตรีที่ 5/2563 เรื่องการจัดตั้งหน่วยงานพิเศษเพื่อปฏิบัติหน้าที่ตามพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 ลงวันที่ 25 มีนาคม 2563 ข้อ 2 นายกรัฐมนตรีจึงแต่งตั้งคณะที่ปรึกษาด้านธุรกิจภาคเอกชนในศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19)
    เพื่อทำหน้าที่ในการเข้าร่วมประชุมเพื่อให้คำปรึกษา ข้อเสนอแนะ การป้องกัน และแก้ไขปัญหาของภาคธุรกิจเอกชนที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โรคติดเชื้อโควิด-19 โดยมีองค์ประกอบ ดังนี้ 1.เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เป็นประธาน 2.ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง เป็นกรรมการ 3.อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม เป็นกรรมการ 4.ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า เป็นกรรมการ 5.ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย เป็นกรรมการ
    6.ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม เป็นกรรมการ 7.ประธานกรรมการสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย เป็นกรรมการ 8.ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย เป็นกรรมการ 9.ประธานสมาคมธนาคารไทย เป็นกรรมการ 10.ประธานสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย เป็นกรรมการ 11.ประธานกรรมการสภาธุรกิจตลาดทุนไทย เป็นกรรมการ 
    12.ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย เป็นกรรมการ 13.ประธานสภาเกษตรกรแห่งชาติ เป็นกรรมการ 14.ประธานสภาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งประเทศไทย เป็นกรรมการ 15.นายดนุชา พิชยนันท์ รองเลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เป็นเลขานุการ 16.นายสุริยนต์ ธัญกิจจานุกิจ ที่ปรึกษาด้านนโยบายและแผนงาน สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เป็นผู้ช่วยเลขานุการ
    ทั้งนี้ มีรายงานว่า ในวันจันทร์ที่ 13 เม.ย. เวลา 09.30 น. คณะที่ปรึกษาด้านธุรกิจภาคเอกชนฯ จะประชุมครั้งแรกที่สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เพื่อหารือรับฟังความเห็นและข้อเสนอแนะต่อมาตรการดูแลและเยียวยาผลกระทบโควิด-19 ต่อเศรษฐกิจไทยทั้งทางตรงและทางอ้อม ระยะที่ 3 และแนวทางปฏิบัติที่มีประสิทธิผล รวมถึงหารือข้อเสนอแนะมาตรการเพิ่มเติมเพื่อการปรับตัวและฟื้นฟู เศรษฐกิจ ทั้งในระยะสั้น ระยะปานกลาง และระยะยาว
    นายไพบูลย์ นลินทรางกูร ประธานกรรมการ สภาธุรกิจตลาดทุนไทย (FETCO) ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กว่า จันทร์หน้า (วันสงกรานต์พอดี) ภาครัฐนัดระดมสมองภาคธุรกิจเอกชนชุดใหญ่เป็นครั้งแรก เพื่อรับมือกับสถานการณ์โควิด-19 และช่วยกันหาวิธีฟื้นฟูเศรษฐกิจ ขอบคุณที่ไม่ลืมภาคตลาดทุนครับ
    ผมจะเสนอให้รัฐเริ่มเตรียมทำแผน “Exit Strategy” หรือ “กลยุทธ์การออกจากมาตราการ Lock-down” ไว้ล่วงหน้าเลย เพื่อที่จะได้ไม่สับสนอลหม่านและโกลาหลเหมือนช่วงแรกๆ ของการใช้มาตรการ Lock-down ต้องเตรียมคิดและวางแผนตั้งแต่ตอนนี้เลย ว่าจะกลับไปเปิดเศรษฐกิจ (open up the economy) อย่างไร เมื่อไหร่ ธุรกิจไหนควรได้เปิดก่อน เปิดหลัง ธุรกิจไหนยังมีความเสี่ยง ควรออกกฎหมายให้ทุกคนใส่หน้ากากหรือไม่ ฯลฯ
    ปัจจัยเสี่ยงที่น่ากลัวที่สุด คือการระบาดรอบสอง หรือรอบสาม โจทย์สำคัญของการทำ Exit Strategy คือจะทำอย่างไรให้ไม่เกิดการระบาดอีกครั้ง เพราะการต้องกลับไป Lock-down ประเทศอีกรอบ หรือหลายรอบ จะสร้างความเสียหายอย่างมหาศาลต่อระบบเศรษฐกิจ ภาครัฐเองก็ไม่น่าจะเหลือกระสุน หรือ Policy Space มากพอที่จะช่วยประคองเศรษฐกิจไปได้เรื่อยๆ
    นายอุตตม สาวนายน รมว.การคลัง กล่าวภายหลังการหารือร่วมกับธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เกี่ยวกับมาตรการเยียวยาดูแลเกษตรกร เพิ่มเติมจากที่ผ่านมาที่รัฐบาลมีมาตรการดูแล เยียวยาอาชีพอิสระ ผ่านการลงทะเบียน w ww.เราไม่ทิ้งกัน.com ที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ว่า ขณะนี้ยังไม่ได้ข้อสรุป ยังต้องหารือกันอีกครั้ง เนื่องจากยังมีอีกหลายตัวเลขที่ต้องคุยกันให้ได้ข้อยุติเสียก่อน
    ด้านนายอภิรมย์ สุขประเสริฐ ผู้จัดการ ธ.ก.ส. กล่าวว่า ที่ประชุมยังไม่ได้มีการสรุปตัวเลขสำคัญที่จะดำเนินการ ทั้งวงเงินที่จะจ่ายให้เกษตรกรว่าจะจ่ายเท่าไหร่ จ่ายอย่างไร จะจ่ายครั้งเดียวหรือทยอยจ่าย โดยมีการหารือกันเพียงว่าเกษตรกรกลุ่มไหนบ้างที่จะเข้าข่ายได้รับเงินเยียวยา และจะใช้เกณฑ์อะไรในการประเมิน โดยการจ่ายเงินเยียวยาในครั้งนี้ เป็นการเยียวยาผลกระทบทางเศรษฐกิจ
    สำหรับมาตรการเยียวยาดูแลเกษตรกร ยังมีเวลาในการพิจารณาอีกมาก เพราะมาตรการจะเริ่มดำเนินการได้ภายหลังจากพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) กู้เงิน 1 ล้านล้านบาทมีผลบังคับใช้ และจะต้องมีการตั้งคณะกรรมการกลั่นกรองขึ้นมาพิจารณาโครงการต่างๆ ก่อน ดังนั้นมาตรการเยียวยาดูแลเกษตรกรนี้จะมีผลช้าหรือเร็ว จึงขึ้นอยู่กับการกู้เงินว่าจะผ่านเมื่อไหร่ เพราะวงเงินที่ใช้ดำเนินการมาจากการใช้เงินกู้ทั้งหมด
    ทั้งนี้ ระหว่างนี้กระทรวงการคลังและ ธ.ก.ส. ต้องมาเตรียมข้อมูลว่าจะช่วยเกษตรกรอย่างไรบ้าง เพราะมีข้อมูลหลายส่วน โดยจะมีการเรียกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาร่วมประชุม อาทิ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์การยางแห่งประเทศไทย (กยท.) สำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาล และทุกส่วนงานที่มีการขึ้นทะเบียนเกษตรกรมาร่วมหารือ ในวันอังคารที่ 14 เม.ย.นี้ โดยเบื้องต้นมีการประเมินว่ามีเกษตรกรที่เข้าข่าย 8.5 ล้านครอบครัว และหลักการที่จะจ่ายเงิน จะจ่ายเป็นครอบครัว ส่วนวงเงินที่จ่ายจะเป็น 1.5 หมื่นบาทต่อครอบครัวหรือไม่ ยังต้องไปหารือในรายละเอียด
    นายอภิรมย์กล่าวว่า หลักการจะต้องไม่มีการจ่ายเงินซ้ำซ้อนกัน โดยหากมีการได้รับเงินเยียวยา 5,000 บาทจากอาชีพอิสระไปแล้ว ก็อาจไม่ได้รับความช่วยเหลือในส่วนนี้อีก
    "กระทรวงการคลังต้องการช่วยเป็นครอบครัว เช่น ถ้าสามีไปปลูกข้าว ภรรยาไปปลูกอ้อย ก็จะได้เพียง 1 สิทธิ์ หลักการจะเป็นแบบนี้ แต่รายละเอียดยังไม่ได้มีการสรุป หรือถ้าลูกไปปลูกข้าว แต่มีทะเบียนบ้านคนละหลัง ก็จะได้รับสิทธิ์ด้วย ต้องไปดูรายละเอียดของครอบครัว ซึ่งจะต้องอิงข้อมูลจากกระทรวงมหาดไทยเป็นหลักด้วย โดยกระทรวงการคลังอยู่ระหว่างการหาแนวทางอ้างอิงว่าจะวัดจากอะไร จะอิงตามที่เกษตรกรบอก หรืออิงตามข้อมูลของมหาดไทย ทั้งหมดยังไม่ได้สรุป แต่ที่ชัดเจนแล้วคือจะช่วยเหลือเกษตรกรทุกกลุ่ม 8.5 ล้านครัวเรือน ซึ่งเป็นการตัดยอดจากที่กระทรวงเกษตรฯ มีการขึ้นทะเบียนทุกปี และการแจกเงินจะใช้หลักเกณฑ์เท่าเทียมและยุติธรรม" นายอภิรมย์กล่าว
    อย่างไรก็ตาม แนวทางการให้ความช่วยเหลือเป็นครอบครัว เพราะเกษตรกรในแต่ละกลุ่มผลผลิตทางการเกษตร รัฐบาลจะมีมาตรการดูแลเฉพาะอยู่แล้ว และถ้าช่วยเป็นรายคนก็จะซ้ำซ้อนกับมาตรการอื่น แต่การช่วยเป็นรายครอบครัวจะตอบโจทย์ผลกระทบทางเศรษฐกิจมากกว่า เพราะครัวเรือนจะกลับมาอยู่ที่บ้าน ทำให้ครัวเรือนมีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น การช่วยตรงนี้จะเป็นการเยียวยาระยะสั้น
     ขณะที่นายลวรณ แสงสนิท ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) เปิดเผยว่า ยอดลงทะเบียนรับเงินเยียวยาผลกระทบโควิด-19 ผ่านเว็บไซต์ www.เราไม่ทิ้งกัน.com ล่าสุด ณ วันที่ 10 เม.ย. มีผู้ลงทะเบียนรวมทั้งสิ้นกว่า 26 ล้านคน โดยการตรวจสอบคุณสมบัติรอบแรกที่ได้จะรับโอนเงินระหว่างวันที่ 8-10 เม.ย. ยังอยู่ที่ตัวเลข 1.6 ล้านคน ซึ่งวันที่ 10 เม.ย. จะมีจำนวนผู้ที่จะได้รับเงินประมาณ 5.03 แสนคน
    ส่วนการตรวจสอบผู้ลงทะเบียนทั้งหมด 26 ล้านคน เพื่อแบ่งกลุ่มคนที่ได้รับเงิน ไม่ได้รับเงิน หรือต้องขอข้อมูลเพิ่ม ยืนยันว่าจะแล้วเสร็จภายในสัปดาห์นี้ โดยในกลุ่มที่ไม่เข้าข่าย และจะไม่ได้รับเงินแน่นอน จะทยอยแจ้งผลผ่านทางเอสเอ็มเอส หรืออีเมลภายในวันที่ 11-12 เม.ย.2563 เท่านั้น ดังนั้นเอสเอ็มเอสที่ทยอยส่งในช่วงวันที่ 8-10 เม.ย. จะแจ้งเฉพาะผู้ที่ได้รับเงิน และผู้ที่มีการแจ้งข้อมูลไม่ถูกต้องเท่านั้น
    ทั้งนี้ การแจกเงินให้กับกลุ่มที่ผ่านคุณสมบัติจะเริ่มโอนเงินอีกครั้งในวันจันทร์ที่ 13 เม.ย.2563 ส่วนผู้ที่ได้รับเอสเอ็มเอสแจ้งว่า “หมายเลขนี้ไม่สามารถรับสิทธิเนื่องจากเลขบัตรประชาชนไม่ตรงกับที่ลงทะเบียนไว้” ยังไม่ได้สรุปว่าจะได้รับหรือไม่ได้รับเงินเยียวยา 5,000 บาท ขอให้ผู้ลงทะเบียนไม่ต้องตกใจ จะต้องกลับไปลงทะเบียนซ้ำใหม่อีกรอบ ซึ่งเน้นว่าไม่ต้องกรอกคำนำหน้าชื่อ และหมายเลขด้านหลังประชาชนไม่ต้องใส่เครื่องหมายขีด (-) เป็นต้น.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"