หวั่นพ.ร.ก.เงินกู้ ใช้เบี้ยไปหาเสียง มท.หวงงบกลาง


เพิ่มเพื่อน    

    เลขาฯ สภาเผยร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายปี 64 เข้าสภา 4-5 มิ.ย.นี้ "คำนูณ" จับตา พ.ร.ก.เงินกู้ 4 แสนล้านบาท หวั่นนักการเมืองนำไปหาเสียงเป็นเบี้ยหัวแตก แนะออกระเบียบเข้มเทียบ รธน.ม.144 ป้องกันโกง "ศรีสุวรรณ" ข้องใจมหาดไทยตีความไวรัสโควิด-19 ไม่ใช่ "สาธารณภัย" สวนทางเจตนารมณ์กฎหมายหลายฉบับและเหตุผลประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน เชื่อหวังดึงงบกลางไว้ใช้เอง
    ที่รัฐสภา เกียกกาย วันที่ 9 เมษายน นายสรศักดิ์ เพียรเวช  เลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร เปิดเผยว่า สำหรับห้องประชุมคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2564 นั้น จะอยู่ทางทิศเหนือของอาคาร ซึ่งนายชวน หลีกภัย ประธานสภาฯ ได้แสดงความกังวลในส่วนนี้ เพราะเหลือเวลาอีก 2 เดือนจะต้องใช้ห้องดังกล่าวแล้ว จึงได้กำชับให้เร่งดำเนินการให้เสร็จ เพราะจากการพูดคุยกับวิปรัฐบาลอย่างไม่เป็นทางการ ทราบว่าเมื่อเปิดสมัยประชุมในเดือน พ.ค.จะมีกฎหมายสำคัญเข้าสู่สภาในวันที่ 27-28 พ.ค. จากนั้นวันที่ 4-5 มิ.ย. จะมีการพิจารณา พ.ร.บ.งบประมาณ 2564 ในวาระแรก ดังนั้นทางสภาต้องเร่งทำห้องประชุมให้เสร็จทันตามกำหนด 
    นายคำนูณ สิทธิสมาน สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) โพสต์เฟซบุ๊กเรื่อง จับตาเงิน 4 แสนล้านบาท - ระเบียบฯ ต้องเข้ม ป้องกันการโกงทุกรูปแบบ ระบุว่า ในจำนวนยอดเงินที่จะใช้กู้วิกฤติครั้งนี้ประมาณ 2 ล้านล้านบาท มีอยู่จำนวน 4 แสนล้านบาทที่น่าจับตาและติดตามเป็นพิเศษ หากย้อนดูตามแผนภูมิที่เผยแพร่ออกมาพร้อมมติคณะรัฐมนตรีก็จะอยู่ในช่องที่ 2 จากซ้ายเงิน 4 แสนล้านบาทนี่น้องๆ 'งบลงทุน' ในงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณแต่ละปีเลยนะครับ (งบลงทุนปีงบประมาณ 2563 ตั้งไว้ 6.55 แสนล้านบาท) เงินจำนวนนี้จะได้มาจากพระราชกำหนด(พ.ร.ก.) อนุญาตให้กระทรวงการคลังกู้เงินมาใช้นอกงบประมาณ 1 ล้านล้านบาทนี้ได้รับการกำหนดแยกชัดเจนไปเลยว่าจะลงไป 'ฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม' ในระดับ 'พื้นที่' ในชุมชนทั่วประเทศโดยตรง
    "ที่ว่าน่าจับตาก็คือวิธีการใช้เงินและการกำกับตรวจสอบการใช้เงินส่วนนี้ โดยหลักคือจะทำอย่างไรให้ถึงชาวบ้านในกิจกรรมที่เป็นประโยชน์จริง สามารถต่อยอดได้ พูดตามตรง ในเบื้องต้นจะต้องไม่ใช่แค่งบประมาณเพื่อหาเสียงหาคะแนนนิยมให้รัฐบาลและ ส.ส.ในพื้นที่ตามที่ผู้เชี่ยวชาญทางการเมืองในทางปฏิบัติที่เป็นจริงเขาห่วงกัน ต่อมาคือต้องไม่เป็นการใช้อย่างเบี้ยหัวแตก หรือใช้เหมือนเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจทั่วไป แบบว่าใช้หมดแล้วหมดไปไม่เหลือไว้เป็นฐานโครงสร้างให้ต่อยอด หรือไม่ก็ใช้ในโครงการแบบคุณพ่อรู้ดีที่หน่วยราชการกำหนดให้ไม่ว่าทางตรงหรือทางอ้อมให้ชุมชน และแน่นอนต้องอย่าให้มีการโกง หรือแม้แต่การขัดกันระหว่างผลประโยชน์ส่วนตนกับประโยชน์ส่วนรวม ตรงนี้ตัวช่วยสำคัญที่คือระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการใช้เงินกู้ก้อนนี้ทั้งก้อน 1 ล้านล้านบาท"
    นายคำนูณระบุอีกว่า เงินกู้ที่มาจาก พ.ร.ก.ลักษณะนี้เป็นเงินนอกงบประมาณแผ่นดิน กระทรวงการคลังใช้อำนาจกู้เงินตาม พ.ร.ก.ได้มาแล้วไม่ต้องส่งเข้าระบบ ตั้งบัญชีแยกไว้เฉพาะกิจ เพื่อให้หน่วยราชการเบิกไปใช้ตามโครงการที่รัฐบาลกำหนดได้เลย และรายการการใช้เงินตามโครงการก็ไม่ได้ผ่านกระบวนการพิจารณาและอนุมัติจากรัฐสภาอย่างเข้มข้น โดยเฉพาะตามรัฐธรรมนูญ 2560 ที่ยกระดับเข้มข้นขึ้นมากในมาตรา 144 วรรคสอง, สาม, สี่ ที่ในขั้นตอนพิจารณางบประมาณรายจ่ายประจำปี ห้ามรัฐมนตรีและสมาชิกทั้งสองสภา รวมทั้งเจ้าหน้าที่ของรัฐเข้าไปมีส่วน ไม่ว่าโดยทางตรงหรือทางอ้อมในการใช้งบประมาณ หากฝ่าฝืนมีโทษถึงพ้นจากตำแหน่งและถูกเรียกเงินคืน คงจะจำกันได้ว่าอาจารย์มีชัย ฤชุพันธุ์ เคยคุยนักคุยหนาว่านี่แหละรัฐธรรมนูญฉบับปราบโกง การใช้จ่ายเงินกู้ตาม พ.ร.ก.จะเป็นไปตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีเท่านั้น เป็นระเบียบฯ ที่ฝ่ายบริหารกำหนดโดยไม่ผ่านรัฐสภา
    "ในเบื้องต้นนี้จึงอยากให้ระเบียบนี้เข้มข้น อย่างต่ำๆ ต้องไม่แพ้เกณฑ์การใช้เงินในงบประมาณ ถ้าเป็นไปได้ ควรพิจารณานำกฎเกณฑ์ตามรัฐธรรมนูญ โดยเฉพาะมาตรา 144 มาประยุกต์บรรจุไว้ทั้งหมด หรือให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งอำนาจตรวจสอบของสมาชิกสภาทั้งสอง ป.ป.ช. และศาลรัฐธรรมนูญ" นายคำนูณระบุ
    ขณะที่นายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย เปิดเผยว่า ตามที่กระทรวงมหาดไทย (มท.)จัดการประชุมผ่านระบบวีดิทัศน์ทางไกล (VCS) เพื่อซักซ้อมความเข้าใจเกี่ยวกับหลักเกณฑ์การใช้จ่ายงบประมาณขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) สำหรับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา หรือโควิด-19 เมื่อวันที่ 7 เม.ย.63 ที่ผ่านมา โดยมีนายบุญธรรม เลิศสุขีเกษม รองปลัด มท. เป็นประธานการประชุม มีการตั้งคำถาม-คำตอบในที่ประชุมว่า อปท.จะสามารถใช้งบกลางในการช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากโรคติดเชื้อโควิด-19 ได้หรือไม่ 
    "กลับมีคำตอบว่ากรณีโรคโควิด-19 ที่แพร่ระบาดอยู่ในขณะนี้ ยังมิใช่สาธารณภัย จึงไม่สามารถเบิกจ่ายจากงบกลางได้ และต่อคำถามที่ว่าโรคติดเชื้อโควิด-19 เป็นโรคติดต่ออันตรายหรือโรคระบาดตามประกาศกระทรวงสาธารณสุขแล้วหรืออย่างไร แต่กลับได้รับคำตอบจากมหาดไทยว่า กระทรวงสาธารณสุขประกาศให้โรคไวรัสโคโรนาเป็นโรคติดต่ออันตราย เมื่อวันที่ 26 ก.พ.63 แต่ยังไม่ได้ประกาศให้เป็นโรคระบาดตาม พ.ร.บ.โรคติดต่อ 2558 จึงไม่จัดว่าเป็นสาธารณภัย”
    นายศรีสุวรรณกล่าวว่า คำตอบดังกล่าวสวนทางกับเจตนารมณ์ของกฎหมายหลายฉบับ อาทิ ตาม พ.ร.บ.ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย 2550 ได้ให้คำนิยามของคำว่า สาธารณภัย ใน ม.4 ว่าหมายความรวมถึงโรคระบาดในมนุษย์ อันมีผลกระทบต่อสาธารณชน ไม่ว่าเกิดจากธรรมชาติ มีผู้ทําให้เกิดขึ้น หรือเหตุอื่นใดซึ่งก่อให้เกิดอันตรายแก่ชีวิต ร่างกายของประชาชน อีกทั้งในระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยเงินทดรองราชการเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน 2562 ได้บัญญัติคำว่า ภัยพิบัติ หมายความว่า สาธารณภัย อันได้แก่ภัยอันเกิดจากโรคที่แพร่หรือระบาดในมนุษย์ ซึ่งก่อให้เกิดอันตรายแก่ชีวิต ร่างกายของประชาชน ในเหตุผลของคำประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินของนายกรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 25 มี.ค.63 ก็ระบุไว้ชัดเจนว่าโรคโควิด-19 เป็นโรคที่ติดต่อได้ง่ายและเป็นอันตรายอย่างมากต่อชีวิตของผู้ได้รับเชื้อ ซึ่งองค์การอนามัยโลกยังต้องประกาศให้การระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 เป็นการระบาดใหญ่ รัฐจึงต้องใช้มาตรการเข้มงวดและเร่งด่วนเพื่อควบคุมมิให้โรคแพร่ระบาดออกไปในวงกว้าง ฯลฯ แต่กระทรวงมหาดไทยกลับตีความว่าการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อโควิด-19 ไม่จัดว่าเป็นสาธารณภัย 
    "กรณีดังกล่าวเชื่อว่าอาจเป็นความพยายามของกระทรวงมหาดไทย ในการกีดกัน อปท.ในการนำงบกลางมาช่วยเหลือประชาชนในแต่ละท้องที่ เพื่อที่ตนจะได้ใช้งบกลางแต่เพียงผู้เดียวในการสร้างผลงานของตน โดยมีชาวบ้านเป็นตัวประกันนั่นเอง และยิ่งมีการเกลี่ยงบจากทุกกระทรวง 10% มาไว้เป็นงบกลางเพื่อแก้ปัญหาโควิด-19 นั้น จะแก้ปัญหาให้ถั่วถึงได้อย่างไร ซึ่งสมาคมไม่เชื่อว่าในยุค พล.อ.ประยุทธ์เป็นนายกรัฐมนตรี และมี พล.อ.อนุพงษ์เป็น รมว.มหาดไทย จะใช้เล่ห์ฉลหรือวิธีการบริหารบ้านเมืองเยี่ยงนี้ได้" นายศรีสุวรรณระบุ
    วันเดียวกัน นายฉัตรชัย พรหมเลิศ ปลัดกระทรวงมหาดไทย เปิดเผยว่า ด้วยสถานการณ์ปัจจุบันโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ได้มีการแพร่กระจายส่งผลกระทบต่อชีวิตประชาชนเป็นวงกว้างทั่วทั้งประเทศ ซึ่งกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นได้รับการหารือจากจังหวัดและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ถึงแนวทางในการใช้จ่ายงบประมาณของ อปท.ในการดำเนินการตามระเบียบ มท.ว่าด้วยค่าใช้จ่ายเพื่อช่วยเหลือประชาชนตามอำนาจหน้าที่ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ.2560 ในกรณีโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19
    นายฉัตรชัยกล่าวว่า เพื่อให้การช่วยเหลือประชาชนตามอำนาจหน้าที่ของ อปท.กรณีโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 เป็นไปตามระเบียบฯ ดังกล่าว มท.ได้แจ้งไปยังจังหวัดทุกจังหวัดซักซ้อมแนวทางปฏิบัติการใช้จ่ายงบประมาณของ อปท.กับผู้บริหาร อปท. และเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานที่เกี่ยวข้อง ดังนี้ 1.อปท.สามารถใช้จ่ายงบประมาณของ อปท.ในการให้ความช่วยเหลือประชาชนด้านสาธารณภัย  การให้ความช่วยเหลือประชาชนด้านการส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิต และการป้องกันและควบคุมโรคติดต่อ
    2.การใช้จ่ายงบประมาณของ อปท.กรณีดังกล่าว ให้ดำเนินการตามระเบียบฯ ในหมวดหลักเกณฑ์การช่วยเหลือประชาชน โดยใช้จ่ายงบประมาณรายจ่ายประจำปี งบกลาง ประเภทเงินสำรองจ่าย และหมวดอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง หรือเงินสะสม ตามที่ มท.ได้อนุมัติให้ยกเว้นการใช้จ่ายเงินสะสมตามหนังสือ มท. ด่วนที่สุด ที่ มท 0808.2/ว1608 ลงวันที่ 17 มีนาคม 2563 หรือเงินทุนสำรอง เงินสะสมหรือโอนงบประมาณไปตั้งจ่ายเป็นค่าใช้จ่ายในการดำเนินการดังกล่าว
    "กระทรวงมหาดไทยได้เน้นย้ำให้ทุกจังหวัดเร่งชี้แจงสร้างความเข้าใจแนวทางการดำเนินการตามระเบียบฯ ดังกล่าวกับผู้บริหารอปท.และผู้ปฏิบัติงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อสามารถดำเนินการช่วยเหลือประชาชนในพื้นที่ได้ และหากพบปัญหาในการปฏิบัติให้จังหวัดหารือมายังกระทรวงมหาดไทย" นายฉัตรชัยกล่าว. 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"