“ในหลวง-พระราชินี” พระราชทานถุงพระราชทานแก่ประชาชนในชุมชนแออัดสู้ภัยโควิด-19 ตั้งแต่ 5 เม.ย. ยังความปลื้มปีติแก่พสกนิกรเป็นล้นพ้น “ประยุทธ์” ประชุม ศบค. ยันไม่มีปรับเวลาเคอร์ฟิวเพิ่ม สั่งเร่งพีอาร์ทำความเข้าใจทุกมาตรการ คนไทยติดเชื้อเพิ่ม 54 ราย ทำยอดรวมอยู่ 2,423 ราย ผู้ป่วยสูงอายุเสียชีวิตอีก 2 ราย หมอทวีศิลป์แจงยังไม่น่าพอใจ ย้ำรักษาระยะห่างช่วงสงกรานต์ เล็งหางบอุดหนุนให้คนไทยอยู่ต่างประเทศต่อ หลังตัวเลขจ่อเข้าไทยพรึ่บ “กทม.” สกัดปาร์ตี้สาดน้ำ ออกประกาศห้ามขายเหล้าตั้งแต่ 10-20 เม.ย.
เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 9 เมษายน พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี ทรงห่วงใยประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดจากโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ในพื้นที่ชุมชนแออัดกรุงเทพมหานคร (กทม.) ในโอกาสนี้ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมพระราชทานถุงพระราชทานแก่ประชาชนในพื้นที่ชุมชนแออัดในเขตต่างๆ ของ กทม. ซึ่งดำเนินการตั้งแต่วันที่ 5 เมษายน 2563 โดยมีจิตอาสาพระราชทานและประชาชนจิตอาสา หน่วยงานที่เกี่ยวข้องภาครัฐและเอกชน ร่วมช่วยบรรจุสิ่งของพระราชทาน และเชิญไปมอบแก่ประชาชน โดยเมื่อวันที่ 8 เมษายน ได้เชิญถุงพระราชทานไปมอบแก่ประชาชนในพื้นที่เขตบางพลัด กรุงเทพมหานคร จำนวน 41 ชุมชน อาทิ ชุมชนมัสยิดบางอ้อ, ชุมชนวัดดาวดึงษาราม, ชุมชนวัดเทพนารี, ชุมชนวัดพระยาศิริไอสวรรค์, ชุมชนบ้านญวน, ชุมชนซอยจรัญสนิทวงศ์ 72, ชุมชนวัดภคินีนาถ เป็นต้น เพื่อช่วยบรรเทาความเดือดร้อนในเบื้องต้น ยังความปลื้มปีติแก่ประชาชนและสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณเป็นล้นพ้น
ขณะที่ห้องประชุม 301 ตึกบัญชาการ 1 ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นประธานการประชุมศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค.ผ่านระบบวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ ไปยังกระทรวงต่างๆ เพื่อประเมินสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 หลังการประกาศเคอร์ฟิวในช่วงเวลา 22.00-04.00 น. ครบ 1 สัปดาห์ โดย พล.อ.ประยุทธ์ยังลงนามคำสั่งแต่งตั้งปลัดกระทรวงคมนาคมเป็นหัวหน้าผู้รับผิดชอบในการแก้ไขปัญหาสถานการณ์ฉุกเฉินด้านการคมนาคมและขนส่งทั่วราชอาณาจักรด้วย
ทั้งนี้ ในการประชุม นายกฯ ได้กล่าวขอบคุณทุกภาคส่วน หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และเจ้าหน้าที่ทุกคน ที่ทุ่มเทเสียสละ อดทนเพื่อการทำงานสำคัญครั้งนี้ ขอให้กำลังใจ และเข้าใจดีว่าการทำงานเพื่อประชาชนส่วนใหญ่ ประชาชนทั้งประเทศ ย่อมมีความยากลำบาก และเต็มไปด้วยอุปสรรค อาจมีทั้งผู้ที่มีเจตนาบริสุทธิ์ทั้งดีและไม่ดี จึงขอให้ทุกคนอดทน สร้างความเข้าใจชี้แจงประชาชนอย่างต่อเนื่อง ก่อนมีมาตรการใดๆ ออกมา
โอ่ไทยอัตราตายต่ำ
นายกฯ ยังกล่าวถึงการเดินทางเข้า-ออกประเทศไทยว่า ต้องทำให้เรียบร้อย มีประสิทธิภาพ ผ่านระบบการกักตัวทั้ง State Quarantine และ Home Quarantine เป็นไปตามที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ร่วมจัดการ เพื่อให้ประชาชนเข้าใจ และให้ความร่วมมือการคัดกรอง โดยกักกันต้องเข้มงวด ส่วนการประกาศเคอร์ฟิว 22.00-04.00 น. ยังไม่ปรับอะไรเพิ่มเติม ขอดำเนินการตามมาตรการที่ประกาศไปก่อน
“ขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องประสานเพื่อแจ้งให้ประชาชนที่เกี่ยวข้องทราบ ประเด็นที่เกี่ยวกับหน้ากากอนามัย หน้ากากอนามัยแบบปกติ ผลิตได้เพิ่มเป็น 2 ล้านชิ้นต่อวันแล้ว คิดว่าด้วยจำนวนการผลิตเท่านี้จะลดปัญหาขาดแคลนได้บ้าง ส่วนหน้ากาก N95 และชุด PPE ยังมีปัญหาต้องสั่งซื้อจากต่างประเทศ ซึ่งรัฐบาลจะเร่งดำเนินการ” นายกฯ กล่าว
ในการประชุม สธ.ได้รายงานว่าถึงการดูแลรักษาผู้ติดเชื้อ รวมถึงการค้นหาผู้ป่วย และกำหนดจุดเสี่ยง พร้อมทั้งระบุว่าไทยมีอัตราการเสียชีวิต 1.26%, อิตาลี 12.63%, อังกฤษ 11.03% ถือว่าไทย ซึ่งนายกฯ สั่งให้ควบคุมการดำเนินการให้ดียิ่งขึ้นให้จำนวนลดลงได้ ด้านจัดการคัดกรองและระบบกักตัวเพื่อเฝ้าระวัง ขอให้ทุกหน่วยงานจัดการโดยผ่านการบริหารแบบบูรณการที่ดี โดยเฉพาะอย่างยิ่งบุคคลที่เดินทางมาจากประเทศเสี่ยง ให้ทยอยเดินทางกลับ เพื่อรัฐบาลจะได้จัดระบบที่เหมาะสมรองรับ พร้อมให้แบ่งการเดินทางของคนเข้าประเทศเป็น 2 ประเภท คือคนไทยที่เดินทางจากต่างประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเทศเสี่ยง และชาวต่างชาติที่เดินทางเข้าไทย ต้องผ่านกระบวนการ State Quarantine ที่เหมาะสม
นายกฯ ยังได้สั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องพิจารณาการดูแลคนไทยที่พักอาศัยในต่างประเทศ แม้ไม่ประสงค์เดินทางกลับประเทศก็ต้องดูแลให้ดี และสั่งการให้กระทรวงกลาโหมและกระทรวงมหาดไทยพิจารณาเตรียมการร่วมกันด้านการจัดการ State Quarantine และขอให้บันทึกแนวทางการรักษา การเตรียมรับมือสถานการณ์ในรูปแบบต่างๆ ไว้ เพื่อเป็นประวัติศาสตร์และเป็นแนวทาง หากเกิดโรคระบาดใหม่ สิ่งที่บันทึกจะเป็นเสมือนคู่มือในการดำเนินการ รวมทั้งการใช้จ่ายงบประมาณ หลักเกณฑ์การเบิกจ่าย ข้อยกเว้นตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉิน และ พ.ร.บ.โรคระบาด
ในตอนท้าย นายกฯ ได้ขอบคุณทุกคน ทุกฝ่ายในทุกระดับ ที่มีส่วนร่วมมือสานต่อการทำงานอย่างเรียบร้อยในแต่ละด้าน สิ่งสำคัญคืออย่าให้สิ่งที่มีการสื่อสารตีความผิดพลาดถูกนำออกไปเป็นประเด็นทางการเมือง ให้เจ้าหน้าที่ทุกคน ทุกหน่วยงานมีความเข้มงวดในการบังคับใช้กฎหมาย และให้โฆษกกระทรวงต่างๆ ชี้แจงในส่วนที่เกี่ยวข้องกับหน่วยงานของตนเอง ควบคู่ไปกับการแถลงสถานการณ์ของโฆษก ศบค.ในแต่ละวัน
ยืนเคอร์ฟิวเท่าเดิม
และเมื่อเวลา 12.30 น. ภายหลังประชุม ศบค. พล.อ.ประยุทธ์ตอบคำถามสื่อสั้นๆ ถึงการขยายเวลาประกาศเคอร์ฟิวจากเดิมหรือไม่ว่า "ยังๆ" ก่อนชูมือสัญลักษณ์ไอเลิฟยูให้สื่อมวลชน และเดินขึ้นตึกไทยคู่ฟ้าไปทันที
ด้าน นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษก ศบค. แถลงว่า พล.อ.ประยุทธ์ได้กล่าวในที่ประชุมขอบคุณและชื่นชมทุกหน่วยงานที่ทำงานป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด-19 และสั่งให้ดูแลขวัญกำลังใจเจ้าหน้าที่ที่ทำงานที่มีความเสี่ยง โดยเฉพาะคนที่ทำงานเกี่ยวข้องกับผู้ป่วย นอกจากนี้ เมื่อวันที่ 8 เม.ย. ได้ไปตรวจเยี่ยมโรงแรมภัทรา พระราม 9 ซึ่งใช้เป็นสถานที่กักตัวของรัฐ เพื่อดูการทำงานและข้อติดขัดต่างๆ จึงอยากให้คนไทยเข้าใจว่าการที่โรงแรมต่างๆ มาช่วยเช่นนี้เป็นเรื่องดี เพื่อรองรับคนไทยที่จะเดินทางกลับมา หลังจากนี้จะปรับห้องพักจากห้องละ 2 คน ให้เหลือห้องละ 1 คน เพื่อให้มีมาตรฐานมากขึ้น
นพ.ทวีศิลป์กล่าวอีกว่า นายกฯ ยังได้กำชับการดำเนินการใน 6 ประเด็น ได้แก่ 1.การชี้แจงข้อมูลกับประชาชนให้เข้าใจถึงมาตรการต่างๆ ที่ออกมาต่อเนื่อง 2.การบริหารจัดการข้อมูลที่มีจำนวนมากและหลากหลายให้จัดระเบียบเพื่อนำมาวิเคราะห์ก่อนตัดสินใจอออกมาตรการต่างๆ และประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนรับทราบ 3.การเดินทางเข้า-ออกประเทศไทยที่ต้องมีสถานกักตัวในส่วนกลางและภูมิภาค ซึ่งต้องจริงจังและเข้มงวด โดยในส่วนของ กห.มีที่พัก 2,037 ห้อง ซึ่งยังไม่เพียงพอ กำลังจะเพิ่มให้ได้ 3,500 ห้อง ส่วน มท.มีสถานที่กักตัวของรัฐในต่างจังหวัด 460 แห่ง พักได้ 13,000 คน นายกฯ สั่งให้บูรณาการทำงานกัน 4.รัฐบาลยังไม่ปรับหรือขยายเวลาเคอร์ฟิว แต่ขอให้ประชาชนให้ความร่วมมือ แต่จะมีการผ่อนปรนให้ โดยนายวิษณุ เครืองาม รองนายกฯ กำลังรวบรวมอาชีพต่างๆ ให้เป็นกลุ่มก้อนเพื่อนำเสนอและอนุมัติเพิ่มเติมในทีเดียว ซึ่งมีกว่า 30 อาชีพ
5.หน้ากากอนามัย ขณะนี้ได้คลี่คลายปัญหาไปแล้ว ต้องจัดหาให้บุคลากรทางการแพทย์ก่อน ส่วนประชาชนสามารถใช้หน้ากากผ้าได้ โดย มท.ได้จัดหาแล้ว 50 ล้านชิ้น กระทรวงอุตสาหกรรม 20 ล้านชิ้น ขณะนี้ถึงมือประชาชนแล้ว ส่วนหน้ากากอนามัย N95 ที่สั่งซื้อไป วันนี้มาถึงไทยแล้ว 203,520 ชิ้น และยังมีข่าวดีว่าจากการวิจัยหน้ากากดังกล่าวสามารถนำมาใช้ซ้ำได้รวม 4 ครั้ง ส่วนยาฟาวิพิราเวียร์ ขณะนี้นำเข้ามาแล้ว 187,000 เม็ด ใช้ไปเพียง 4.6 หมื่นเม็ด คงเหลือ 1.3 แสนเม็ด ยืนยันถ้าไม่มีผู้ป่วยเพิ่มมีเพียงพอแน่นอน ซึ่งขึ้นอยู่กับจำนวนผู้ป่วย ที่ประชุม ศบค.ยังพูดถึงเรื่องโรงพยาบาลสนามสำหรับรองรับสถานการณ์ที่เลวร้ายที่สุด เรามีโรงพยาบาลสนามใน กทม.และปริมณฑล 98 แห่ง ปริมาณเตียงไอซียูที่ต้องการเพิ่ม 80 เตียง ซึ่งนายกฯ ได้สอบถามถึงงบประมาณและจะบูรณาการมาให้ ส่วนเครื่องช่วยหายใจเมื่อได้รับพระราชทานมาก็ถือว่าเพียงพอ และ 6.มาตรการเยียวยาช่วยเหลือประชาชน
ป่วยเพิ่มอีก 54 ราย
นพ.ทวีศิลป์ยังกล่าวถึงสถานการณ์ผู้ติดเชื้อในไทย ว่ามีผู้ติดเชื้อรายใหม่ 54 ราย ยอดสะสม 2,423 ราย ใน 67 จังหวัด หายป่วย 940 ราย เสียชีวิตเพิ่ม 2 ราย เสียชีวิตสะสม 32 ราย โดยรายที่ 31 เป็นชายชาวฝรั่งเศส อายุ 74 ปี เริ่มป่วยตั้งแต่วันที่ 21 มี.ค. มีอาการไข้ ไอ หอบเหนื่อย จึงเข้ารักษาตัวที่โรงพยาบาลใน จ.ชลบุรี มีอาการปอดอักเสบ ตรวจพบเชื้อโควิด-19 ต่อมาวันที่ 7 เม.ย. มีอาการหอบเหนื่อยมากขึ้น ต้องใช้เครื่องช่วยหายใจ และเสียชีวิตในวันเดียวกัน รายที่ 32 เป็นชายไทย อายุ 82 ปี เริ่มป่วยวันที่ 25 มี.ค. มีไข้อุณหภูมิ 38.5 ไอ เหนื่อย และเข้ารักษาในโรงพยาบาลใน จ.สมุทรปราการ จากนั้นวันที่ 30 มี.ค. มีอาการเหนื่อยหอบมากขึ้น ต้องใช้เครื่องช่วยหายใจ ไม่รู้สึกตัว และเสียชีวิตในวันที่ 8 เม.ย. โดยทั้งสองรายเป็นผู้สูงอายุ ทั้งนี้ จังหวัดที่มีอัตราผู้ป่วยเมื่อเทียบกับประชากรในจังหวัดนั้นๆ และมีตัวเลขที่สูง อันดับ 1 คือภูเก็ต รองลงมาคือ กทม. ยะลา นนทบุรี
“ตัวเลขผู้ป่วย 54 คนวันนี้ เรายังไม่พึงพอใจ ยังต้องเข้มงวดทุกมาตรการ ทั้งส่วนตัวและสังคม อย่ากะพริบตาเลยทีเดียว ในส่วนจำนวนบุคลากรทางแพทย์ที่ติดเชื้อโควิด-19 ย้อนกลับไปตั้งแต่เดือน ม.ค. ถึง 8 เม.ย. พบว่าติดเชื้อทั้งสิ้น 80 ราย แบ่งเป็นผู้ช่วยพยาบาล และพยาบาล 36 ราย เป็นแพทย์ 16 คน ในจำนวนนี้ติดเชื้อจากโรงพยาบาล 50 คน ติดในชุมชน 18 คน อยู่ระหว่างสอบสวนโรค 12 คน คนกลุ่มนี้จึงต้องระวัง ถ้าติดโรคขึ้นมาจะกระทบต่อการให้บริการประชาชน”
นพ.ทวีศิลป์ยังกล่าวถึงเทศกาลสงกรานต์ในปีนี้ ว่ากระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) ได้ออกประกาศเรื่องแนวทางที่เกี่ยวกับการปฏิบัติแล้ว เช่น งดเว้นการจัดสงกรานต์ในทุกระดับ งดเว้นการเดินทางกลับภูมิลำเนา งดเว้นการรดน้ำขอพรผู้ใหญ่ในทุกกรณี งดการเข้าร่วมกิจกรรมที่มีคนหมู่มาก ถ้าจะสืบสานประเพณีวัฒนธรรมให้สรงน้ำพระพุทธรูปที่บ้าน แสดงความกตัญญูด้วยการกราบไหว้โดยเว้นระยะห่าง 1-2 เมตร เพราะผู้สูงอายุเป็นกลุ่มเสี่ยง หรือขอพรทางออนไลน์ก็ช่วยได้
โฆษก ศบค.ยังกล่าวถึงผลการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ในช่วงประกาศเคอร์ฟิวเมื่อคืนวันที่ 8 เม.ย. ต่อเนื่องเช้าวันที่ 9 เม.ย. โดยมีด่านตรวจ 926 จุด มีการฝ่าฝืนออกนอกเคหสถาน 1,221 ราย รวมกลุ่มมั่วสุมที่เสี่ยงต่อการแพร่เชื้อ 114 ราย มีการดำเนินคดี 1,204 ราย ถือว่าเพิ่มขึ้น แสดงมีว่าการละเมิดกันมากขึ้น จึงขอให้ช่วยกันให้ตัวเลขลดลง ซึ่งถ้าจะดูตัวอย่างตัวเลขที่มีผู้ติดเชื้อลดลงต่อเนื่อง อยากให้ดูประเทศเยอรมนี เพราะคนของเขามีระเบียบวินัย ให้ความร่วมมือ แตกต่างจากคนไทย ที่มีคนเคยกล่าวไว้ว่าทำอะไรตามใจคือไทยแท้ ไม่อยากให้เป็นเช่นนั้น ไม่อยากให้เอาไปเป็นวัฒนธรรม จึงขอให้อยู่ในระเบียบวินัยกันอย่างเคร่งครัด
จัดงบให้อยู่ ตปท.ต่อ
นพ.ทวีศิลป์กล่าวอีกว่า ในที่ประชุม ศบค.มีการหารือเรื่องมาตรการเดินทางเข้า-ออกประเทศไทยกันนานมาก โดยกระทรวงการต่างประเทศ (กต.) รายงานว่ามีคนไทยรอกลับประเทศโดยทางเครื่องบิน 5,453 ราย ส่วนที่ด่านพรมแดนมีประมาณ 14,664 ราย เข้ามาแล้ว 12,771 ราย ซึ่งนายกฯ อยากให้การเข้ามาพอเหมาะกับศักยภาพที่จะดูแลเพียงพอคือ 200 คนต่อวัน เพื่อทำให้เราจัดหาที่พักได้ ยืนยันเรายินดีต้อนรับคนไทยทุกคน แต่ถ้าเห็นคิวยาว มีศักยภาพที่จะอยู่ต่างประเทศได้ ก็ขอให้อยู่ต่อไปก่อน เพราะการเดินทางจะมีความเสี่ยง หากใครจำเป็นต้องกลับก็ต้องดำเนินการตามขั้นตอนที่กักตัวก่อนเดินทาง 14 วัน มีใบรับรองแพทย์ เมื่อถึงไทยต้องกักตัว 14 วัน ส่วนใครที่อยู่ต่างประเทศแล้วเดือดร้อน รัฐจะหาจัดงบประมาณเพื่อให้อยู่อาศัยตรงนั้นได้ เพราะรัฐสนับสนุนให้อยู่กับพื้นที่ก่อน ส่วนจะให้การช่วยเหลือเท่าไรนั้น กำลังคิดกันอยู่
ส่วนที่กระทรวงสาธารณสุข นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ยังมีผู้ป่วยและผู้เสียชีวิตต่อเนื่อง โดยเฉพาะกลุ่มผู้สูงอายุและผู้ที่มีโรคประจำตัว ซึ่งในช่วงนี้ใกล้เทศกาลสงกรานต์ แม้ว่ารัฐบาลจะยกเลิกกิจกรรมและวันหยุดแล้ว แต่ในบางครอบครัวอาจมีกิจกรรมเล็กๆ ในเครือญาติ เพื่อรดน้ำดำหัวผู้สูงอายุ ซึ่งอาจเป็นสาเหตุในการได้รับเชื้อโควิด-19 ได้ จึงขอให้ประชาชนงดกิจกรรมดังกล่าว งดการเดินทางกลับภูมิลำเนา ลดการรวมกลุ่มใกล้ชิด หากผู้อยู่ร่วมบ้านเดียวกันกับผู้สูงอายุ จะกราบและขอพร ควรเว้นระยะห่าง 1-2 เมตร ส่วนเครือญาติที่อยู่ไกลกัน ควรใช้การโทรศัพท์มาขอพร ก็จะทำให้ลดความเสี่ยงในการติดเชื้อได้
นพ.สุวรรณชัยยังกล่าวว่า สถานการณ์โควิด-19 ทำให้มีประชาชนมีข้อสงสัยเกี่ยวกับโรคจำนวนมาก สายด่วนกรมควบคุมโรค 1422 เป็นช่องทางหนึ่งในการสอบถามข้อมูล ข้อสงสัย ความรู้ด้านสุขภาพ รวมถึงแจ้งผู้ที่มีอาการป่วยเข้าเกณฑ์สงสัย จึงเพิ่มจำนวนคู่สายด่วนจาก 30 คู่สาย เป็น 60 คู่สาย และยังเพิ่มช่องทางโซเชียลมีเดียที่หลากหลาย ได้แก่ h ttps://ddc.moph.go.th/viralpneumonia/ ช่องทาง Twitter, Facebook, Line official, Tik Tok, Instagram “ไทยรู้ สู้โควิด” และ Line official ChatBot 1422 “Kor-Ror-OK” และ Line@รู้กันทันโรค
นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวถึงกรณีมีข่าวระบุว่าพบคนไข้โควิด-19 ในพื้นที่ จ.ชัยภูมิ ที่หายดีแล้วกลับมาป่วยซ้ำ ว่าจากการดูประวัติไม่น่าติดเชื้อซ้ำ แต่เพื่อความปลอดภัย จึงให้คนไข้ไปนอนในหอผู้ป่วยเพื่อดูอาการต่อไป
นพ.ธนรักษ์ ผลิพัฒน์ รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวถึงกรณีเด็กทารกติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 จากมารดา ว่าการรักษาจะไม่แตกต่างจากผู้ป่วยรายอื่นๆ เพียงแต่ต้องเว้นระยะห่างระหว่างเด็ก และแม่ ซึ่งเบื้องต้นทราบว่าเด็กรายนี้อาการดี
นพ.ธนรักษ์ยังระบุถึงกรณีที่ในพื้นที่ 5 จังหวัดของภาคใต้มีผู้ติดเชื้อในจำนวนที่สูงขึ้นอย่างต่อเนื่องว่า การดูแลตามมาตรการต่างๆ ต้องประสานกันระหว่างมาตรการของ สธ.และจังหวัดนั้นๆ ซึ่งในส่วนของ จ.ภูเก็ต ตอนนี้มีทีมจากพังงาและนครศรีธรรมราช ได้เข้ามาช่วยสอบสวนและควบคุมโรค โดยเมื่อพบผู้ป่วย 1 คน และทราบตัวผู้สัมผัสใกล้ชิด ก็จะมีการติดตามทุกคนและนำไปสอบสวนโรคทันที ส่วนมาตรการเว้นระยะห่างทางสังคม มั่นใจว่าทุกจังหวัดมีการปฏิบัติตามอย่างเข้มข้น รวมถึงในเรื่องของการลดเคลื่อนย้ายบุคคลจำนวนมาก
10-20 เม.ย.ห้ามขายเหล้า
ส่วน นพ.โสภณ เมฆธน ประธานคณะกรรมการองค์การเภสัชกรรม (บอร์ด อภ.) กล่าวถึงความคืบหน้าการจัดหาหน้ากากอนามัย N95 ว่า นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกฯ และ รมว.สธ.ได้เจรจาขอแบ่งหน้ากาก N95 จากบริษัท สยาม โคเค็น จำกัด เป็น 50% หรือ 3 แสนชิ้นต่อเดือน หลังจากที่เจรจาขอแบ่งสำเร็จแล้ว 40% ซึ่งหากได้มาก็จะทำให้เรามีสต๊อกหน้ากาก N95 เพิ่มขึ้น โดยไทยต้องการจะสต๊อกหน้ากากอนามัยทั้งหมด 2 ล้านชิ้น เพื่อนำมาใช้ในช่วง 3-4 เดือนข้างหน้า โดยได้สั่งซื้อจากบริษัท 3M จำนวน 400,000 ชิ้น ได้รับแล้ว 60,000 ชิ้น ล่าสุดในวันที่ 10 เม.ย.จะส่งให้อีก 200,000 ชิ้น ส่วนภายในวันที่ 15 เม.ย. บริษัท สยามโคเค็นฯ จะส่งให้ อภ.อีก 100,000 ชิ้น และวันที่ 30 เม.ย.อีก 160,000 ชิ้น ส่วนวันที่ 27 เม.ย. ที่สั่งจากจีนก็จะมาถึง 400,000 ชิ้น รวมในเดือนเม.ย. ไทยจะมีปริมาณสำรองหน้ากาก N95 ประมาณ 860,000 ชิ้น
ร.ต.อ.พงศกร ขวัญเมือง โฆษกกรุงเทพฯ กล่าวว่า ปัจจุบันการแพร่กระจายของไวรัสโควิด-19 ทำให้หลายคนสงสัยและมีคำถามว่าติดหรือไม่ และเมื่อติดแล้วควรจะทำตัวอย่างไร และใครจะมาช่วยเหลือ ดังนั้น กทม.จึงได้จัดทำระบบบีเคเคโควิด-19 เพียงแค่เข้าเว็บไซต์ w ww.bkk.covid19.bangkok.co.th โดยระบบดังกล่าวจะทำการประเมินว่าติดเชื้อไวรัสโควิด-19 หรือไม่ และควรทำตัวอย่างไร รวมถึงใครจะช่วยเหลือท่าน
ช่วงเย็น พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้ลงนามประกาศกรุงเทพมหานคร เรื่องสั่งปิดสถานที่เป็นการชั่วคราว ฉบับที่ 6 มีคำสั่งดังนี้ 1.ให้ยกเลิกข้อ 2.1 และ 2.2 ของประกาศกรุงเทพมหานคร เรื่องสั่งปิดสถานที่เป็นการชั่วคราวฉบับที่ 5 ลงวันที่ 1 เมษายน 2563
2.ให้ปิดสถานที่ดังต่อไปนี้เป็นการชั่วคราว ตั้งแต่วันที่ 10 เมษายน 2563 ถึงวันที่ 30 เมษายน 2563
2.1 ร้านอาหารหรือเครื่องดื่มร้านอาหาร หรือเครื่องดื่มที่อยู่ในคูหารถเข็นและแผงลอยจำหน่ายอาหารหรือเครื่องดื่ม (ให้เปิดได้ตั้งแต่เวลา 04.01 น.ถึงเวลา 22.00 น. และเฉพาะการจำหน่ายอาหารหรือเครื่องดื่มเพื่อนำกลับไปบริโภคที่อื่นร้านอาหาร หรือเครื่องดื่มในโรงแรมที่ให้บริการเฉพาะผู้ที่พักอาศัยในโรงแรม หรือจำหน่ายอาหารหรือเครื่องดื่มเพื่อนำกลับไปบริโภคที่อื่น ยกเว้น ร้านอาหารหรือเครื่องดื่มที่ตั้งอยู่ในบริเวณสนามบิน และให้โรงอาหารในโรงพยาบาล สามารถจัดที่นั่งในการรับประทานอาหารได้)
2.2 ร้านสะดวกซื้อ ซูเปอร์มาร์เก็ต ร้านลักษณะเดียวกับร้านสะดวกซื้อ ให้ปิดตั้งแต่เวลา 22.00 น. ถึงเวลา 04.00 น.
3.ให้ปิดร้านค้าหรือสถานประกอบการขายสุราประเภทที่ 1 และประเภทที่ 2 ที่ได้รับใบอนุญาตให้จำหน่ายตามพระราชบัญญัติภาษีสรรพสามิต พ.ศ.2560 ตั้งแต่วันที่ 10 เมษายน 2563 ถึงวันที่ 20 เมษายน 2563 โดยสามารถจำหน่ายสินค้าประเภทอื่นได้
ทั้งนี้ สถานที่ที่ได้รับการยกเว้นตามประกาศนี้ หรือสถานที่อื่นนอกเหนือจากประกาศนี้ ให้ผู้เกี่ยวข้องปฏิบัติตามมาตรการป้องกันโรคตามที่ราชการกำหนด และข้อ 11 ของข้อกำหนดออกตามความในมาตรา 9 แห่ง พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 (ฉบับที่ 1) ลงวันที่ 25 มีนาคม 2563 ผู้ฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามอาจมีความผิดตามมาตรา 52 แห่ง พ.ร.บ.โรคติดต่อ พ.ศ.2558 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และอาจมีความผิดตามมาตรา 18 แห่ง พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสองปี หรือปรับไม่เกินสี่หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
"การออกประกาศฉบับนี้ เป็นไปตามมติที่ประชุมคณะกรรมการโรคติดต่อกรุงเทพมหานคร เนื่องจากมีความเห็นว่าถึงแม้ทางรัฐบาลจะประกาศยกเลิกการจัดงานสงกรานต์ไปแล้ว แต่ในช่วงเวลาดังกล่าวอาจจะมีกลุ่มคนบางกลุ่มอ้างว่าเป็นช่วงเทศกาลสงกรานต์ และมีการรวมกลุ่มนั่งดื่มสุรา ซึ่งอาจเป็นการเพิ่มการติดเชื้อ เพื่อป้องกันการรวมกลุ่มดื่มสุราทุกชนิด" ผู้ว่าฯ กทม.ระบุ.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |